เป็นเวลา ๓ ปี นับจากพระเทพวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ) ได้มอบสรีระสังขารเพื่อเป็นครูใหญ่ให้กับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อเสร็จสิ้นการศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่นจึงมีมติให้จัดพิธีพระราชทานเพลิงศพ โดยใช้จารึกการส่งสการด้วยเมรุนกหัสดีลิงค์ตามอริยะประเพณีอีสาน ในการนี้ จึงเป็นประเด็นที่ควรได้เปิดผ้าม่านกั้งเกี่ยวกับเมรุนกหัสดีลิงค์ของพระเทพวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ)
นกหัสดีลิงค์ในจังหวัดนครราชสีมา
เรื่องราวของนกหัสดีลิงค์ มีปรากฏในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา อันเป็นดินแดนมาตุภูมิขององค์หลวงพ่อคูณ งานวิจิตรศิลป์ที่งดงามเกี่ยวกับนกหัสดีลิงค์นี้ ได้ถูกบรรพชนสร้างสรรค์เป็นภาพลายรดน้ำอยู่บนบานประตูหอไตรกลางน้ำวัดหน้าพระธาตุ บอกเรื่องราวเกี่ยวกับนกหัสดีลิงค์โฉบพระมารดาของพระเจ้าอุเทน อันเป็นเนื้อความในนิทานธรรมบท ภาพลายรดน้ำนี้แสดงให้เห็นลักษณะของนกหัสดีลิงค์ที่ชัดเจนว่า เป็นนกที่มีงวงงาเหมือนช้าง ไม่ใช่นกที่มีหัวเป็นช้าง
นอกจากนี้ยังพบว่า เคยมีการสร้างเมรุนกหัสดีลิงค์ที่จังหวัดนครราชสีมา โดย ช่างคำหมา แสงงาม ครูช่างนกหัสดีลิงค์แห่งเมืองร้อยเอ็ด ปรากฏหลักฐานเป็นภาพถ่าย ระบุว่าจัดที่วัดจันทรังสีมุนีวงศ์ เสมาใหญ่ อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. ๒๕๐๑ ในพิธีพระราชทานเพลิงสรีระสังขาร พระครูจันทรสรคุณ (หลวงปู่เสี่ยง) อดีตเจ้าคณะอำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา เมรุนกหัสดีลิงค์หลังนี้ มีการสร้างตัวนกที่สามารถชักลากได้ บนหลังตั้งหีบเอวขัน แล้วชักลากเข้าไปในหอแก้วที่ติดตั้งไว้เป็นการถาวร นับได้ว่าเป็นเมรุนกหัสดีลิงค์รุ่นแรก ๆ ของช่างคำหมา แสงงาม ที่เปลี่ยนจารีตจากการทำเป็นเมรุนกหัสดีลิงค์เทินบุษบกหอแก้วไว้บนหลัง มาเป็นแบบหอแก้วครอบนกหัสดีลิงค์
การประกอบชิ้นส่วนเมรุนกหัสดีลิงค์
พญาปริสุทธเศวตหัสดีลิงค์
กรอบแนวคิดในการจัดสร้าง
ด้วยพินัยกรรมขององค์หลวงพ่อที่ให้จัดพิธีอย่างเรียบง่าย คณะกรรมการดำเนินงานจึงได้ใช้เป็นกรอบในการจัดสร้างเมรุนกหัสดีลิงค์ให้สอดคล้องกับพินัยกรรม คือสะท้อนถึงความเรียบง่ายและสง่างามสมเกียรติ ซึ่งต้องคำนึงถึงขนบจารีตในการปลงศพด้วยเมรุนกหัสดีลิงค์ที่ปรากฏบนแผ่นดินอีสาน ภายใต้แนวคิดว่า ไม่หลงของเก่า ไม่เมาของใหม่ และให้เป็นรูปแบบที่สะท้อนถึงเมรุที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะสำหรับองค์หลวงพ่อคูณ
คณะทำงานได้ทำการศึกษารูปแบบงานสร้างเมรุนกหัสดีลิงค์จากอดีตถึงปัจจุบัน ขนบจารีตในการสร้าง และพิธีกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยมีครูช่างเมรุนกหัสดีลิงค์ ประกอบด้วย พระครูสีลสาราภรณ์ (หลวงปู่สมสิทธิ์ รักขิตสีโล) ครูช่างเมรุนกหัสดีลิงค์แห่งวัดป่าสักดาราม บ้านท่าม่วง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ร่วมกับ พ่อครูช่างคล้าย บุญยู้ และพ่อครูช่างสวัสดิ์ ไปดง สองศิษย์ต้นคนสำคัญในการทำเมรุนกหัสดีลิงค์ของพ่อครูช่างคำหมา แสงงาม มาเป็นที่ปรึกษา การก่อสร้างเมรุนกหัสดีลิงค์รวมถึงพิธีกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง คณะศิลปกรรมศาสตร์ นำโดย รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ คณบดี เป็นผู้อำนวยการจัดสร้าง และมอบหมายให้ ดร.ยุทธพงศ์ มาตย์วิเศษ ดำเนินการจัดสร้าง รวมถึงดำเนินการในส่วนของพิธีกรรมให้เป็นไปตามแบบแผนจารีต
จากการศึกษาพบว่า เมรุนกหัสดีลิงค์ในอีสานมี ๓ รูปแบบ คือ เมรุนกหัสดีลิงค์เทินบุษบกหอแก้ว เมรุนกหัสดีลิงค์เทินบุษบกหอแก้วและมีบุษบกครอบ และเมรุนกหัสดีลิงค์ครอบด้วยบุษบก โดยรูปแบบเมรุนกหัสดีลิงค์เทินบุษบกหอแก้วเป็นรูปแบบที่เก่าแก่ที่สุด จึงนำมาเป็นรูปแบบในการก่อสร้าง แต่ได้มีการเพิ่มฐานเอวขันปากพานตามอย่างฐานสิม (โบสถ์) ให้กับบุษบกหอแก้วบนหลังนกหัสดีลิงค์ เพื่อให้บุษบกหอแก้วมีความสมบูรณ์
ส่วนรูปแบบหลังคาและยอดบุษบกหอแก้ว ได้ปรับจากแบบของเมรุนกหัสดีลิงค์พระอริยกวี (อ่อน ธมฺมรกฺขิโต) หลักคำเมืองอุบลราชธานี ที่มีการบันทึกภาพไว้เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๖ นับว่าเป็นเมรุนกหัสดีลิงค์เทินบุษบกหอแก้วที่เก่าแก่ที่สุดในแผ่นดินอีสานที่มีการบันทึกภาพไว้ โดยยังรักษาส่วนประกอบของยอดหอแก้ว ทรงโบราณอีสานที่มีปากขัน หลังคาลาดเป็นชั้นเวสน์ ๒ ชั้น (สองชั้นเชิงกลอน) แต่ตัดส่วนองค์ระฆังประกอบบันแถลงเป็นจตุรมุขออก และปรับบัวกลุ่มให้เป็นลักษณะหม้อกลศซึ่งเป็นส่วนประกอบสูงสุดของยอดปราสาทหินพิมาย รองรับเจดีย์บัวเหลี่ยมอย่างวัฒนธรรมล้านช้าง ๕ ยอด มีฉัตรขาวประดับที่ส่วนยอดเจดีย์
ศิลปกรรมอีสานสำคัญที่ถูกทำมาเป็นส่วนประกอบในเมรุนกหัสดีลิงค์เทินบุษบกหอแก้วประกอบด้วย หัวนกหัสดีลิงค์ยึดตามแนวของภาพลายรดน้ำที่บานประตูหอไตรวัดหน้าพระธาตุ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา โดยมีหัวเป็นนกสอดรับกับคติของครูช่างอีสาน แต่มีลักษณะพิเศษคือการทำงา ๔ งา ตามลักษณะงาช้างที่ขุดพบซากดึกดำบรรพ์ในจังหวัดนครราชสีมา ส่วนหงอนของหัวนกใช้ลายขดของเกสรดอกคูณเพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ ลายหางใช้แบบจากหางหงส์ไม้แกะสลักประดับสิมวัดพระธาตุขามแก่น
งานศิลปกรรมทั้งหมดจะใช้สีขาวเพื่อสะท้อนถึงความเรียบง่าย อีกทั้งเป็นสีบริสุทธิ์สอดคล้องกับนามขององค์หลวงพ่อที่ว่า “ปริสุทโธ” และนำลายจากเกสรดอกคูณ และกลีบดอกคูณ อันเป็นไม้พ้องนามกับองค์หลวงพ่อ มาเป็นส่วนประกอบในการสร้างสรรค์
ลายรดน้ำรูปนกหัสดีลิงค์ที่วัดหน้าพระธาตุ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา
การก่อสร้างเมรุนกหัสดีลิงค์เทินบุษบกหอแก้ว
การก่อสร้างเมรุนกหัสดีลิงค์เทินบุษบกหอแก้ว ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๖๑ โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้จัดพิธี เบิกฟ้า ขอขมาแถนไท้ ยกอ้อ ยอคาย ถวายครู บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตามอริยะประเพณีอีสาน เพื่อเป็นการไหว้ครูช่างในการสร้างเมรุนกหัสดีลิงค์เทินบุษบกหอแก้ว สำหรับพิธีพระราชทานเพลิงสรีระสังขารพระเทพวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ)
นับว่าเป็นการเริ่มต้นการก่อสร้างอย่างเป็นทางการ โดยมีการเชิญชวนช่างจิตอาสามาร่วมในการก่อสร้าง ภายใต้ชื่อกิจกรรม “ตุ้มโฮมศรัทธา จิตอาสาสามัคคี”
งานก่อสร้างโครงสร้างหลักดำเนินการที่จังหวัดร้อยเอ็ดแล้วจึงเคลื่อนย้ายไปยังพื้นที่บึงสีฐาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อให้จิตอาสาได้มีส่วนร่วมเช่น การติดกระดาษ การตกแต่งรายละเอียด และการลงสี เป็นต้น
การดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม ๒๕๖๑ รวมใช้ระยะเวลา ๖ เดือน ชิ้นส่วนต่าง ๆ ของเมรุนกหัสดีลิงค์จึงแล้วเสร็จ ประกอบด้วยชิ้นงานสำคัญ ได้แก่ ตัวนกหัสดีลิงค์ บุษบกหอแก้ว หีบเอวขัน และบุษบกธรรมาสน์ นอกจากมียังมีนาคราวบันไดและสัตว์หิมพานต์ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการก่อสร้างอีกด้วย จากนั้นในเดือนมกราคม ๒๕๖๒ จึงเคลื่อนย้ายชิ้นงานส่วนต่าง ๆ มาติดตั้งในสถานที่จริง บริเวณพุทธมณฑลจังหวัดขอนแก่น
พญาปริสุทธเศวตหัสดีลิงค์
การประกอบเมรุนกหัสดีลิงค์เทินบุษบกหอแก้วดำเนินการระหว่างวันที่ ๘ – ๑๔ มกราคม ๒๕๖๒ เป็นเมรุนกหัสดีลิงค์เทินบุษบกหอแก้ว ขนาดกว้าง ๘ เมตร สูง ๒๔ เมตร ยาว ๑๒ เมตร สีขาวบริสุทธิ ที่ฌาปนสถานชั่วคราววัดหนองแวง พระอารามหลวง ภายในเกาะกลางน้ำด้านหลังพุทธมณฑลอีสาน ต.ศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น จากนั้น ดร.ยุทธพงศ์ มาตย์วิเศษ จึงได้ประกอบพิธีเบิกเนตรทดสอบกลไกการทำงาน โดยให้นกสามารถเคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆ ประกอบด้วย คอที่หมุนได้ ปีกที่กระพือได้ ตาที่กระพริบได้ งวงที่ม้วนได้ ปากบนที่เผยอได้ ปากล่างที่ขยับได้ และหูที่กระดิกได้ แล้วจึงสถาปนานามนกตัวนี้ว่า “พญาปริสุทธเศวตหัสดีลิงค์” อันมีความหมายว่า “พญานกหัสดีลิงค์ขาวผู้บริสุทธิ์” สำหรับพิธีพระราชทานเพลิงสรีระสังขารพระเทพวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ) ในวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๖๒
พิธีกรรมฆ่านกหัสดีลิงค์พระเทพวิทยาคม
วันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๖๒ คณะทำงานได้จัดขบวนอาญา ๔ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อเดินทางมาเชิญ “เจ้านางสีดา” ที่บ้านด้ามพร้า ต.ขามใหญ่ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี เพื่อไปทำพิธีรำฆ่านกหัสดีลิงค์ ในพิธีพระราชทานเพลิงศพหลวงพ่อคูณ ซึ่งผู้เป็นนางเทียมเจ้านางสีดาคือ น.ส.เมทินี หวานอารมณ์ นับว่าเป็นนางเทียมเจ้านางสีดารุ่นที่ ๖ สืบจากญาแม่งัวเป็นต้นมา
คณะอาญา ๔ ที่แต่งตั้งนั้น ประกอบด้วยเจ้าเมือง, อุปราช, ราชวงศ์ และราชบุตร พร้อมมเหสี รวม 8 คน ได้นำเครื่องคายเชิญประกอบด้วยทองคำแท้หนัก 10 บาท เงินคายหน้า ๑๕ ตำลึง คายหลัง ๑๒ ตำลึง เมื่อเจ้านางสีดาได้ตรวจเครื่องคายว่าครบถ้วนแล้ว ได้รับคำเชิญที่จะไปฆ่านกหัสดีลิงค์ อันเป็นพิธีกรรมสำคัญก่อนการเผานกหัสดีลิงค์พร้อมกับสรีระสังขารพระเทพวิทยาคม
พระครูสีลสาราภรณ์ ดร.ยุทธพงศ์ มาตย์วิเศษ และพ่อครูช่างคล้าย บุญยู้ ประกอบพิธียกอ้อ ยอคาย ถวายครู สร้างเมรุนกหัสดีลิงค์ ๓๐ เม.ย. ๖๑
อาญาสี่เข้าเชิญนางสีดามาปราบพญาปริสุทธเศวตหัสดีลิงค์ ตามจารีตประเพณี
สมมุติส่งสู่วิมุตติ
จารีตการปลงศพด้วยนกหัสดีลิงค์ที่เคลื่อนคลายจากการปลงศพอาญาสี่ มาสู่การปลงศพพระมหาเถระ ล้วนเต็มไปด้วยข้อธรรมเพื่อพิจารณาเข้าใจในสมมุติแห่งพิธีกรรมครั้งนี้ นับตั้งแต่การสร้างนกหัสดีลิงค์ซึ่งเป็นสัตว์สมมุติในตำนานให้เป็นสิ่งมีชีวิตที่เคลื่อนไหวได้ และต้องสมมุติให้มีพิธีกรรมฆ่าตามตำนานอีกเช่นกัน นอกจากนี้ในรายละเอียดพิธีกรรม ยังต้องสมมุติอาญาสี่ซึ่งไม่มีแล้วในปัจจุบันเพื่อทำหน้าที่เชิญเจ้านางสีดาตามขั้นตอนโบราณ อีกทั้งยังต้องนำงานศิลปกรรมจากพื้นที่ต่าง ๆ ที่ถูกสมมุติว่าเป็นอีสานมาสร้างเป็นพญาปริสุทธเศวตหัสดีลิงค์ นามสมมุติของพญานกผู้รับหน้าที่สำคัญในพิธีกรรม
ข้อถกแถลงต่าง ๆ จากนานาทัศนะ ทั้งรูปแบบ พิธีกรรม วิธีการ เกี่ยวกับพญาปริสุทธเศวตหัสดีลิงค์นี้ คงเป็นเรื่องตอบโต้ไปไม่มีวันจบสิ้น หากยังไม่เข้าใจว่าทั้งสิ้นทั้งปวงล้วนเป็นเรื่อง “สมมุติ” แต่แก่นแท้แห่งสารัตถะที่ควรตรึกตรองถกแถลง คือภาระของสิ่งสมมุติที่นำส่งองค์หลวงพ่อสู่วิมุตติ อันเป็นรหัสทางวัฒนธรรมที่สืบสานผ่านกาลเวลามาหลายพันปี ที่รอให้คนรุ่นปัจจุบัน “ลึกซึ้งรากเหง้า เข้าใจปัจจุบัน รู้ทันอนาคต”