พระพุทธเจ้าเสวยข้าวอะไร ?

“ข้าว” ที่มนุษย์กินกันอยู่ทั้งโลกขณะนี้เป็นพันธุ์ข้าวเอเชีย ข้าวเอเชียสองประเภทใหญ่คือ ข้าวเมล็ดป้อม Sinica หริอ Japonica กับข้าวเมล็ดเรียว Indica ชื่อภาษาอังกฤษก็บอกถิ่นกำเนิดอยู่แล้ว

ข้าวเมล็ดป้อมเป็นสายพันธุ์ข้าวเหนียว หลักฐานโบราณคดีพบแหล่งปลูกข้าวในดินแดนจีนภาคใต้เก่าแก่ถึงหนึ่งหมื่นปี ในประเทศไทยพบหลักฐานเพาะปลูกเก่าที่สุดที่ถ้ำปุงฮุง จังหวัดแม่ฮ่องสอน อายุ ๕,๕๐๐ ปี

ข้าวเมล็ดเรียวเป็นสายพันธุ์ข้าวจ้าว หลักฐานโบราณคดีพบแหล่งปลูกข้าวเมล็ดเรียวในอินเดียใต้เก่าแก่แค่ ๔-๕ พันปี

ข้าวเป็นอาหารหลักของชาวทราวิท ชนพื้นเมืองในอินเดียใต้ ส่วนชาวอารยันในอินเดียตอนบนนั้นกินข้าวบาร์เลย์ ข้าวสาลี – Wheat เป็นหลัก

ในสมัยพุทธกาลนั้น พระพุทธเจ้าเสวยข้าวอะไร ?

 


พันธุ์ข้าวเม็ดป้อม (Japonica) ปลูกในเขตอบอุ่น เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี
ที่มาของภาพ : rices.com


ภาพข้าวบาสมาติ – Basmati ของอินเดีย (ข้าวที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของโลก) เป็นพันธุ์ข้าวเมล็ดยาว (Indica) เช่นเดียวกับข้าวหอมมะลิ – Jasmine rice ของไทย
ที่มาของภาพ : pramoda

ปัญหานี้ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ให้คำตอบไว้ดังนี้

“ได้เคยตั้งปัญหามาแล้วในบทก่อนว่า พระพุทธเจ้าเสวยข้าวอย่างที่เรากินกันอยู่ในเมืองไทยหรือข้าวอะไร ที่ตั้งปัญหาเช่นนี้ก็แพราะได้พยายามค้นดูในพระไตรปิฎกและอรรถกถาฎีกาแล้วไม่พบคำที่แปลว่า ข้าวจ้าวหรือข้าวเหนียว อย่างที่ฝรั่งเรียกว่า Rice อันแน่นอนสักคำเดียว

ในพระอรรถกถามีกล่าวถึงรวงข้าวไว้สามชนิดคือ “สาลีเสสํ, ยวฺ, โคธุมเสสํ” ข้าวสองชนิดหลังนั้นรู้จักแน่ ยวฺ ที่พระอาจารย์ในเมืองไทยท่านเคยแปลว่าข้าวเหนียวนั้น ตามความจริงคือข้าวพันธุ์หนึ่งที่ฝรั่งเรียกว่า Barley เป็นคนละตระกูลกับข้าวจ้าวข้าวเหนียวในเมืองไทย โคธุม นั้นได้แก่ข้าวที่ฝรั่งเรียกว่า Wheat ภาษาไทยในปัจจุบันเรียกว่า ข้าวสาลี

ส่วนคำว่า “สาลีเสสํ” นั้นก็มิใช่ข้าวจ้าวข้าวเหนียวอีก แต่น่าจะเป็นข้าวโพดในภาษาไทย ภาคเหนือในปัจจุบันนี้ก็ยังเรียกข้าวโพดว่าข้าวสาลี และยังมีเพลงกล่อมเด็กอีกเพลงหนึ่ง มีความว่า

“วัดเอ๋ยวัดโบสถ์ ปลุกข้าวโพดสาลี ลูกเขยตกยาก แม่ยายก็พรากลูกสาวหนี ฯลฯ” แสดงให้เห็นว่า ข้าวโพดและข้าวสาลีนั้นเป็นข้าวชนิดเดียวกันในภาษาไทย


ข้าวโพดสาลี, ข้าวสาลี(เหนือ) เป็นข้าวโพดเหนียว นิยมปลูกในภาคเหนือและอีสาน ความเหนียวหนึบคล้ายข้าวเหนียว คนทางเหนือเรียกข้าวสาลี มีทั้งสีเหลืองอ่อนออกขาว สีม่วงแบบข้าวไรซ์เบอร์รี่ (Riceberry) และม่วงขาวปนกันไป ในภาพเป็นข้าวโพดของขอนแก่น
ที่มาของภาพ : sadoodta.com

ชาวอริยะที่อพยพเข้ามาในชมพูทวีปแต่เดิมนั้น อาจได้นำพันธุ์ข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์ ตลอดจนพันธุ์ข้าวโพดติดตัวมาด้วยจากประเทศหนาว แล้วนำมาเพาะปลุกในภาคเหนือและภาคตะวันตกเฉียงเหนือซึ่งมีภูมิประเทศและอากาศอันเหมาะสม

ในถิ่นที่พระบรมศาสดาประสูติคือเชิงเขาหิมาลัยนั้นเหมาะแก่การปลูกข้าวบาร์เลย์และข้าวสาลีทั้งสิ้น ข้าวจ้าวข้าวเหนียวนั้นเป็นพืชเมืองร้อน ชาวทราวิทซึ่งอยู่ในภาคกลางและภาคใต้ของชมพูทวีปคงจะได้ปลูกกันมาก่อนแล้ว เพราะแถวนั้นมีพื้นที่ลุ่มต่ำ และได้รับฝนมรสุมเต็มที่


ข้าวสาลี Wheat
ที่มาของภาพ : global.britannica.com


ข้าวบาร์เลย์ Barley
ที่มาของภาพ : fairwaymarket.com

แต่ในสมัยพุทธกาล ข้าวจ้าวและข้าวเหนียวคงจะยังไม่เป็นที่แพร่หลายนักในหมู่ชาวอริยะ ข้าวสาลีนั้นเอามาสีซ้อมให้เป็นเมล็ดไม่ได้ ต้องบดเป็นแป้งหมี่ออกมาเลยทีเดียว เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องเอามาทำเป็นขนมปังของฝรั่ง ซึ่งอาจเป็นเช่นเดียวกับ ปิณฑะ ของอริยะหรือทำเป็นโรตีอย่างที่รู้จักกันอยู่แล้ว หรือมิฉะนั้นก็ต้องเอามาหมักให้ขึ้น แล้วก็นึ่งเป็นซาลาเปาไม่มีไส้ ที่จีนเรียกว่า หม่านโถว ส่วนข้าวบาร์เลย์นั้นสีซ้อมออกมาเป็นเมล็ดได้ ข้าวมธุปายาสของนางสุชาดาที่หุงต้มด้วยนม แล้วถวายพระพุทธเจ้าเป็นปฐมบิณฑบาตนั้น ฟังดูออกจะเป็นข้าวบาร์เลย์มากกว่าข้าวจ้าว เพราะข้าวบาร์เลย์เมล็ดแข็งกว่าข้าวจ้าว ถ้าเอาข้าวสุกมาต้มในนมโคอีกครั้งหนึ่งตามที่ท่านได้อธิบายกันมาแล้ว น่ากลัวว่าจะเละเป็นแป้งเปียกไป แต่เรื่องนี้เป็นปัญหาที่ขอให้ท่านที่มีปัญญาและความรู้ได้พิจารณากันต่อไป

เรื่องนี้ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องเล็ก ก็ยังเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะรายละเอียดที่เกี่ยวกับพระบรมศาสดาของเรานั้น ยิ่งรู้กันได้มากเท่าไรก็ยิ่งดี”

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com