พระแซกคำ
พระแซกคำ พระพุทธรูปสำคัญซึ่งปัจจุบันประดิษฐานอยู่ ณ วัดคฤหบดี แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กทม. นั้น คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า เป็นพระพุทธรูปจากประเทศลาว(ล้านช้าง) แต่จากประวัติศาสตร์ลาว มีบันทึกชัดเจนว่า พระเจ้าโพทิสาราช (โพธิสารราช) พระราชบิดาของพระเจ้าไชยเชถถาทิราช (ไชยเชษฐาธิราช) ขอไปจากนครเชียงใหม่-ล้านนา
และพระแก้วมรกต ก็เคยประดิษฐานอยู่ที่วัดเจดีย์หลวง เชียงใหม่ และวัดพระแก้ว เชียงราย ก่อนที่พระเจ้าไชยเชถถาทิราชจะทรงนำไปประดิษฐานที่ล้านช้าง
หนังสือภาษาลาวเรื่อง ความเป็นมาของลาว หรือ เล่าเรื่องชาติลาว เขียนโดย อู่คำ พมวงสา จัดพิมพ์โดยยุวสมาคมแห่งประเทศลาว พ.ศ. ๒๕๐๑ บันทึกเรื่องพระแซกคำไว้ดังต่อไปนี้
พระเจ้าโพทิสาราช (พ.ศ. ๒๐๖๓ – ๒๐๙๐)
เสนาอำมาตย์จึงเชิญเจ้าโพทิสาราชกุมารขึ้นครองราชสมบัติ ทรงพระนามว่า พระเจ้าโพทิสาราชาทิบดี พระองค์ทรงทำนุบำรุงบ้านเมือง และทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนายิ่งนัก ทรงสร้างวัดวิชุนราชต่อจากสมเด็จพระราชบิดาและทรงบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นการใหญ่ ในสมัยรัชกาลของพระองค์ไพร่ฟ้าประชาราษฎรมีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข มีเหตุการณ์ที่สำคัญ ๆ คือ
1. ทรงมีพระราชกำหนดให้เลิกการนับถือผี การทรงเจ้าเข้าผี ทั่วราชอาณาจักร
ให้ยึดมั่นถือมั่นในพระพุทธศาสนาแต่อย่างเดียว? ทรงรับสั่งให้รื้อศาลเจ้าหลวง ศาลเจ้าผีเสื้อเมือง ทรงเมือง ในพงศาวดารล้านช้างว่าอยู่ที่สันดง แล้วสร้างวัดขึ้นแทน วัดที่สร้างขึ้นแทนศาลเจ้านั้นเรียกว่า วัดสุวันเทวะโลก แต่อย่างไรก็ตามประเพณีการนับถือผีซึ่งมีมาแต่โบราณและไดฝังแน่นในจิตใจของราษฎรตลอดจนไพร่ฟ้าประชาชนมาหลายพันปีนั้นจะให้เลิกเด็ดขาดไม่ได้ เหตุนี้ประเพณีการนับถือผี การทรงเจ้าเข้าผี จึงยังคงมีสืบมาตราบเท่าทุกวันนี้
2. พระแซกคำเสด็จมาสู่พระบรมโพธิสมภาร
พระแซกคำซึ่งสถิตอยู่ในวิหารเมืองเชียงใหม่กรุงล้านนา? ได้เสด็จมาร่วมพระบรมโพธิสมภารของพระเจ้าโพทิสาราชด้วยการเสด็จเข้าไปอยู่ในวัดวิชุนราชอันเป็นที่สถิตของพระบาง ฝ่ายพระเจ้าพรหมราช เจ้าครองนครเชียงใหม่ (ยังไม่แน่ใจว่าคือ พระเมืองแก้ว หรือ พระเมืองเกษเกล้า…… โชติช่วง นาดอน) ทราบว่าพระแซกคำหายไป ก็ให้บ่าวไพร่เที่ยวสืบหามาถึงกรุงล้านช้าง ได้เห็นพระแซกคำสถิตร่วมกับพระบางอยู่ในโบสถ์วัดวิชุนราช จึงได้คิดอ่านพากันลักเอาพระแซกคำกลับคืนไปเชียงใหม่ พอถึงเวลาสามยามก็พากันเข้าไปในโบสถ์ลักยกเอาพระแซกคำลงจากแท่น พระแซกคำก็แสดงปาฏิหารย์ให้เป็นที่อัศจรรย์บันดาลให้เลกวัด(คือผู้รักษาวัด)พากันตื่นขึ้น แล้วากันล้อมจับเอาชาวเชียงใหม่ที่คิดมิชอบนั้นได้ แล้วนำขึ้นกราบทูลพระเจ้าโพทิสาราช เมื่อพระองค์ทราบเรื่องแล้วก็ไม่ทรงเอาโทษ และส่งให้ชาวเชียงใหม่ท้งหมดกลับคืนไป ส่วนพระแซกคำยังคงให้รักษาไว้ในโบสถ์วัดวิชุนราชนั้น
(ตอนนี้ กรรมการวรรณคดีให้บันทึกมาว่า ตามหลักฐานแท้จริงพระแซกคำมิได้เสด็จมาเอง พระโพทิสาราชได้แต่งราชทูตไปขอเอา ทางเชียงใหม่ได้แต่งพระเทพมงคลเถร เป็นผู้นำมาพร้อมด้วยคัมภีร์พระไตรปิฎก ๖๐ คัมภีร์ ดังนี้)
3. เป็นบ้านพี่เมืองน้อง(คือผูกสัมพันธไมตรี) กับกรุงล้านนานครเชียงใหม่
ฝ่ายชาวนครเชียงใหม่ที่กลับไปนั้นได้นำความทั้งปวงที่เกิดขึ้นนั้นกราบทูลต่อพระเจ้าเชียงใหม่ เมื่อพระองค์ได้ทราบว่าพระแซกคำเสด็จไปสู่พระบรมโพธิสมภารของกรุงล้านช้างก็ดีพระทัย จึงแต่งพระราชสาส์นเครื่องราชบรรณาการไปเจริญสัมพันธไมตรีกับพระเจ้ากรุงล้านช้างและได้ส่งพระนางยอดคำทิพราชธิดา พร้อมด้วยข้าทาสบริวารถวายให้เป็นมเหสีของพระเจ้ากรุงล้านช้าง กรุงล้านนา(นครเชียงใหม่)กับกรุงล้านช้าง(กรุงสีสัตนาคนะหุต) จึงได้เป็นสัมพันธไมตรีเป็นบ้านพี่เมืองน้องสนิทสนมกันแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
ประวัติพระแซกคำทางฝ่ายไทยนั้น มักจะเข้าใจกันว่าเป็นพระพุทธรูปลาว-ล้านช้าง หรือไม่ก็ให้ตำนานย้อนไปถึงยุคพระนางจามเทวีโน่นเลย ในความเห็นของผู้เขียน คิดว่าพระแซกคำเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นที่เชียงใหม่ในช่วงเดียวกับการก่อสร้างวัดเจดีย์หลวง รัชสมัยพญาแสนเมืองมา (พ.ศ. 1928 – 1945)
ในหนังสือแนะนำวัดคฤหบดี มีตำนานพระแซกคำเล่าไว้ว่า
เมื่อประมาณปี 2500 พระญาณรังษี อดีตเจ้าอาวาสวัดคฤหบดี ในขณะนั้นมีสมณศักดิ์เป็น พระครูธรรมาภิรมย์ ได้ปรารภถึงหลวงพ่อแซกคำว่า ผู้ใดเป็นผู้สร้างกันแน่ ด้วยพระพุทธรูปมาจากเวียงจันทน์ มีอายุราว 900 ปี ในสมัยสุโขทัยตอนปลายถึงสมัยพระนางจามเทวีสร้างเมืองหริภุญชัย ทั้งนี้ พระนางจามเทวี พระธิดาของกษัตริย์แห่งอาณาจักรลาวปุระ ได้ไปเป็นนางกษัตริย์ครองเมืองหริภุญชัย จากการที่ห่างบ้านเมืองมาทำให้พระนางรำลึกถึงพระคุณแม่พระชนกชนนี พระนางจึงมีพระราชประสงค์จะสร้างพระพุทธรูป 3 องค์ คือ พระเสริม พระสุก พระใส รุ่งขึ้นเช้า พระนางเสด็จพระราชดำเนินมายังมณฑลพิธี เพื่อทรงเปิดงานสมโภช ขณะกำลังนมัสการพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์อยู่นั้น พลันปรากฏพระพุทธรูปทององค์หนึ่งลอยมาจากอากาศ ลงมายังบริเวณมณฑลพิธีเข้าประดิษฐานแทรกอยู่ท่ามกลางพระพุทธรูปทั้ง 3 พระองค์
พระพุทธรูปทององค์นี้ถูกต้องตามตำรามหาปุริสลักษณะและสวยงามมาก เมื่อมาแสดงปาฏิหาริย์ปรากฏต่อพระพักตร์พระนางจามเทวีและชนทั้งหลาย ณ มหาสโมสรนั้น พระนางก็ทรงโสมนัส ให้มีพิธีสมโภชพระพุทธรูปทั้ง 4 องค์ด้วยเหตุที่พระพุทธรูปที่ลอยมาจากเบื้องนภากาศ และเข้าประดิษฐานแทรกอยู่กลางพระพุทธรูปอีก 3 องค์ จึงพระราชทานนามว่า “พระแซก” แต่เนื่องจากเป็นทองจึงมีชื่อต่อว่า คำ เป็นนามว่า พระแซกคำ ซึ่งเป็นชื่อเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ตลอดมา
พระแซกคำ เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่เป็นที่เคารพบูชาและเป็นพระพุทธรูปที่ประวัติเกี่ยว ข้องกับพระแก้วมรกตมาตลอด เมื่อพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชอัญเชิญพระแก้วมรกตมาจากนครเชียงใหญ่ กลับไปยังล้านช้าง ซึ่งตรงกับช่วงกลางสมัยกรุงศรีอยุธยา ทรงประดิษฐานพระแก้วมรกตไว้คู่กับพระแซกคำองค์นี้ ต่อมาเมื่อทรงย้ายพระราชธานีจากหลวงพระบางลงมายังเวียงจันทน์ ก็โปรดให้เชิญพระแก้วมรกต พระบางและพระแซกคำ ลงไปประดิษฐาน ณ ราชธานีใหม่ด้วย พระแซกคำจึงนับเป็นพระพุทธรูปที่สำคัญองค์หนึ่งยิ่ง
ในรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ไปทำศึกเวียงจันทน์ ได้อัญเชิญพระแซกคำกลับมาถวายสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้ประดิษฐานไว้ที่ฐานชุกชีที่วัดอรุณราชวราราม ต่อมา พระยาราชมนตรี (ภู่) ต้นสกุลภมรมนตรี ซึ่งเป็นข้าราชบริพารเก่าแก่มาตั้งแต่ครั้งยังทรงกรม สร้างวัดคฤหบดีขึ้นน้อมถวายเป็นพระอารามหลวง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงได้พระราชทานพระแซกคำไว้เป็นพระประธานในพระอุโบสถ
พระแซกคำ เป็นพระพุทธรูปที่มีชาวบ้านให้ความเลื่อมใส มีความศักดิ์สิทธิ์ เชื่อกันว่าผู้ใดมีความทุกร้อนก็มักไปกราบไหว้บนบาน ของที่นิยมถวาย ได้แก่ ข้าวเหนียว ลาบเนื้อ ปลาร้า ไข่เป็ด 100 ฟอง พวงมาลัยและทองคำเปลว ส่วนมหรสพที่ถวายมักเป็นละครชาตรี หมอลำ หรือแอ่วลาว
ผู้เขียนมีรกรากอยู่ปลายคลองบางจาก ใกล้วัดบวรมงคล(วัดลิงขบ) เลยไปทางปลายน้ำอีกนิด ก็ถึงวัดคฤหบดี – บ้านปูน โรงเหล้าบางยี่ขัน วัดเสาประโคน(วัดดุสิตาราม) เมื่อหกสิบปีที่แล้ว บ้านเรือนหนาแน่นอยู่เฉพาะแถบริมแม่น้ำเท่านั้น ลึกเข้าไปเป็นพื้นที่สวนผลไม้
ก่อน พ.ศ. 2485 ผลไม้ที่มีชื่อเสียงของบริเวณนี้คือ เงาะ, มังคุด, กระท้อน แต่สวนผลไม้ถูกน้ำท่วมตายเมื่อปี พ.ศ. 2485 (รวมทั้งสวนของครอบครัวผู้เขียนด้วย) พื้นที่บริเวณนั้นมีความสำคัญมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ คือเป็นชุมชนของชาวล้านช้าง(ลาว)ชั้นสูงเชื้อพระวงศ์สายเวียงจัน มีวังเรียกกันว่า วังบางยี่ขัน
สำหรับวัดคฤหบดี สถานที่ประดิษฐานพระแซกคำนั้น?? พื่นที่เดิมเป็นบ้านของพระยาราชมนตรี(ภู่)? ท่านเป็นขุนนางฝ่ายคลังคู่พระทัยของรัชกาลที่สาม(จึงพระราชทานแพให้พำนัก อยู่ใกล้ท่าพระคือแถบท่าช้าง) พระยาราชมนตรีท่านถวายที่ดินบ้านเดิมสร้างเป็นวัด ได้นามว่า วัดคฤหบดี รัชกาลที่สามทรงพระราชทานพระแซกคำมาประดิษฐาน ณ วัดนี้
4. ธิดาของพระยาราชมนตรีคนหนึ่งมีชื่อเสียงเป็นกวีดาวเด่น คือ คุณพุ่ม
คุณพุ่มมีชื่อเสียงด้านปฏิภาณกวี และความกล้าเก่งตอบโต้กลอนสดกับพระราชวงศ์และขุนนางใหญ่ เดิมถวายตัวทำราชการฝ่ายใน ได้เป็นตำแหน่งพนักงานพระแสง(จะต้องสวยมาก) แต่ต่อมาไม่สบายทูลลากลับออกไปอยู่บ้านบิดาแต่ยังสาว คณพุ่มเห็นจะชอบแต่งกลอนมาก่อนแล้ว แต่มามีชื่อเสียงในการแต่กลอนต่อเมื่อกลับออกมาอยู่นอกวัง ด้วยเมื่อในรัชกาลที่ ๓ ชอบเล่นเพลงยาวและดอกสร้อยสักวากันแพร่หลาย คุณพุ่มอยู่แพที่หน้าบ้านบิดาข้างเหนือท่าพระ มักมีเจ้านาย คือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
บทกวีของคุณพุ่ม ที่มีคุณค่าในแง่บันทึกประวัติศาสตร์มาก คือ เรื่อง นิราศวังบางยี่ขันซึ่งบันทึกสภาพของพื้นที่บริเวณบางยี่ขันและวัดคฤหบดี , เพลงยาวเฉลิมพระเกียรติพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งบันทึกเรื่องราวประวัติส่วนตัวของคุณพุ่มไว้ด้วย
ปัจจุบันพระแซกคำ และวัดคฤหบดี เป็นที่สนใจของฝรั่งนักท่องเที่ยวจำนวนมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเลย ผู้เขียนเห็นด้วยตนเองเพราะบ้านอยู่แถวนั้น