ร่องรอย “ผู้หญิงเป็นใหญ่” ในตำนานไท-ลาว

ร่องรอย “ผู้หญิงเป็นใหญ่” ในตำนานไท-ลาว

ปู่สังกะสาย่าสังกะสี ในตำนานลาว ภาพจาก https://esan108.com/

“ฟรีดริช เอ็งเงิลส์” (Friedrich Engel ค.ศ.๑๘๒๐-๑๘๙๕) นักปรัชญา นักประวัติศาสตร์ นักทฤษฎีสังคมนิยมวิทยา-ศาสตร์ นักรัฐศาสตร์ นักหนังสือพิมพ์ และนักปฏิวัติชาวเยอรมัน ไม่เพียงแต่เป็นที่รู้จักในฐานะเพื่อนร่วมอุดมการณ์ผู้ใกล้ชิด คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) และผู้เขียนร่วม (co-author) “แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์” (The Communist Manifesto) เค้าโครงแม่แบบของทฤษฎีมาร์กซ์ที่มีอิทธิพลต่อการปฏิวัติในประเทศต่าง ๆ เช่น สหภาพโซเวียต จีน เวียดนาม คิวบา ฯลฯ ในช่วงศตวรรษที่ ๒๐ หากในช่วงเวลาเดียวกันเขายังได้รับการชื่นชมจากบรรดานักสตรีนิยม (Feminists) ในยุโรปและอเมริกาว่าเป็นผู้เปิดโลกใหม่ให้แก่ทฤษฎีสตรีนิยมด้วย โดยความคิดสตรีนิยมของเขาได้ปรากฏอยู่ในหนังสือเรื่องกำเนิดครอบครัว ทรัพย์สินส่วนตัว และรัฐ (The origin of the family, private property and the state) หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ใน ค.ศ.๑๘๘๔ ได้รับการแปลเป็นภาษาไทย โดย กุหลาบ สายประดิษฐ์ ใน ค.ศ.๑๙๘๑

สังคมแม่เป็นใหญ่หรือผู้หญิงเป็นใหญ่ (Matriarchy)

ในเอเชียโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่สัมพันธ์กับไทคดีศึกษา นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยา โบราณคดี ภาษาศาสตร์ คติชนวิทยา ฯลฯ จำนวนหนึ่งเชื่อว่าสังคมไท-ลาว (คนที่พูดภาษาตระกูลไท-ลาว) ในสมัยโบราณเมื่อครั้งยังนับถือผี (เทพ/แถน/พระเจ้า-ในภาษาอังกฤษใช้คำเดียวกันคือ Animism) ไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ เคยเป็นสังคมที่มีแม่เป็นศูนย์กลางหรือแม่เป็นใหญ่ ดังที่ ปราณี วงษ์เทศ นักมานุษยวิทยาสตรีนิยมสายวัฒนธรรม ได้เคยกล่าวว่า“สังคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออุษาคเนย์สมัยโบราณก่อนรับพุทธศาสนาเข้ามานั้นเป็นสังคมที่ใช้ระบบการนับญาติ ซึ่งพบว่าแม้มีการให้ความสำคัญกับญาติทั้งฝ่ายพ่อและแม่เท่า ๆ กันในหลักการ แต่โครงสร้างเศรษฐกิจที่มีเกษตรกรรมเป็นพื้นฐานทำให้ความสำคัญของญาติทางฝ่ายแม่มีมากกว่า…”

เชื่อกันว่าแถนสร้างมนุษย์ไว้ในน้ำเต้าปุง เมื่อน้ำเต้าปุงถูกเจาะมีผู้คนต่างสีผิวและต่างภาษาออกมามากมาย ภาพโดย ไพบูลย์ ธรรมเรืองฤทธิ์

ตำนานการสร้างโลก : ปู่สังกะสาย่าสังกะสี

ตำนานปู่สังกะสาย่าสังกะสีเป็นตำนานพื้นบ้านแถบแม่น้ำโขง พบในไทขึน (รัฐฉาน) ไทลื้อ (สิบสองปันนา) ไทยวน (ล้านนา) และลาวอีสานชื่อของปู่สังกะสาย่าสังกะสีแตกต่างกันไปตามพื้นที่ คนลาวอีสานเรียกว่าปู่สังกะสาย่าสังกะสี คนไทขึนเรียกว่าปู่สังกะสีย่าสังกะไส้หรือปู่สังไคย่าสังไค คนไทยวนเรียกว่าปู่สองศรีย่าสองไส้หรือปู่สังสะย่าสังไส้ คนไทลื้อเรียกว่าปู่ส่างสีย่าส่างไส้ ส่วนคนจ้วง (ที่นักวิชาการเชื่อว่ามีบรรพชนร่วมกับคนไท-ลาว) เรียกว่าปู้โลโถแม่โล่กั๊บ เนื้อหาของตำนานปู่สังกะสาย่าสังกะสีของคนไท-ลาวกลุ่มต่าง ๆ มีเหตุการณ์หลักเกี่ยวกับการสร้างโลกและการสร้างมนุษย์คู่แรก แต่แตกต่างกันไปในรายละเอียดปลีกย่อย เช่น อาจเป็นเรื่องของปู่สังกะสาย่าสังกะสีสร้างโลก ปู่แถนย่าแถนสร้างโลก หรือปู่สังกะสาย่าสังกะสีถูกส่งลงมาเป็นมนุษย์คู่แรกของโลก หรือปู่สังกะสาย่าสังกะสีเอาดินมาปั้นเป็นมนุษย์ โดยปู่ย่าทั้งสองคนช่วยกัน

ตำนานการสร้างโลก : น้ำเต้าปุง

ตำนานการสร้างโลกที่บอกว่ามนุษย์มาจากน้ำเต้าพบในตำนานของลาว ไทดำ ไทขาว ไทใหญ่ ไทอาหม และจ้วง การมีถิ่นฐานอยู่บริเวณใกล้เคียงกันทำให้การดำเนินเรื่องและการใช้สัญลักษณ์ในตำนานน้ำเต้าปุงของลาว ไทดำและไทขาว มีความคล้ายคลึงกันมาก ส่วนตำนานของไทใหญ่ ไทอาหม และจ้วงพบว่ามีการดำเนินเรื่องและการใช้สัญลักษณ์ที่แตกต่างกันออกไปเล็กน้อย ตำนานน้ำเต้าปุงโดยภาพรวมกล่าวถึงเหตุการณ์หลังจากน้ำท่วมโลกแล้วแถน (ผี/เทพ/พระเจ้า) มอบน้ำเต้าให้แก่โลกซึ่งในน้ำเต้านั้นมีมนุษย์อยู่

ผู้หญิงเป็นนาย ผู้ชายเป็นบ่าว การแต่งงานในสังคมไทดำ/ผู้ไท/ลาวโซ่ง ภาพจาก https://www.facebook.com/816514705074960/posts/2159347504125000/

ภาษา : ร่องรอยของสังคมแม่เป็นใหญ่หรือผู้หญิงเป็นใหญ่

ร่องรอยของสังคมแม่เป็นใหญ่หรือผู้หญิงเป็นใหญ่ในวัฒนธรรมไท-ลาวสมัยโบราณที่ยังปรากฏให้เห็นจนถึงทุกวันนี้ก็คือ คำเรียกผู้ชายว่า “เจ้าบ่าว” และเรียกผู้หญิงว่า “เจ้าสาว” คำว่า “บ่าว” “สาว” ในภาษาลาวอีสานมีสองความหมายหลัก ความหมายแรกที่รับรู้เป็นการทั่วไปคือบ่าวแปลว่า ชายหนุ่ม ส่วนสาวแปลว่า หญิงสาว ส่วนอีกความหมายหนึ่งนั้นบ่าวแปลว่าผู้รับใช้ดังปรากฏคู่กับคำว่า บ่าวไพร่ ส่วนสาวนั้นหมายถึงเจ้าของบ้านหรือที่ดิน ดังนั้นการ แต่งงานในวัฒนธรรมไท-ลาวที่เจ้าบ่าวเข้าไปอยู่ในบ้านหรือที่ดินของเจ้าสาวจึงหมายถึงการที่ผู้ชายต้องเข้าไปเป็นผู้รับใช้หรือผู้ช่วยครอบครัวผู้หญิงทำไร่ทำนานั่นเอง ธรรมเนียมของคนผู้ไท (ไทดำ-ไทขาว) ในเวียดนามเหนือเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในเรื่องนี้ เพราะมีข้อกำหนดให้ผู้ชายคือ “บ่าว” ไปทำงานรับใช้ในบ้านผู้หญิง “สาว” เป็นระยะเวลาหนึ่งซึ่งอาจกินเวลาหลายปีเพื่อพิสูจน์ตนเองว่าขยันทำมาหากินก่อนจะเป็นที่ยอมรับของเครือญาติฝ่ายหญิง แต่ถ้าไม่ได้รับการยอมรับก็จะถูกขับไล่ออกจากบ้านไปแล้วฝ่ายหญิงก็จะเลือกผู้ชายหรือ “บ่าว” คนใหม่เข้ามาทดลองอีก ซึ่งลักษณะที่ผู้ชายต้องเข้าไปทำงานในไร่นาให้บ้านฝ่ายหญิงนี้เกิดขึ้นในสังคมไทลื้อที่สิบสองปันนาด้วย

******

อ่านบทความ ร่องรอย “ผู้หญิงเป็นใหญ่” ในตำนานไท-ลาว ฉบับเต็มได้ใน

นิตยสารทางอีศาน ฉบับที่ ๑๐๗  เดือนมีนาคม ๒๕๖๔

Related Posts

“คารคี” ฤๅษีหญิงแห่งโลกตะวันออก
ร่องรอยหลักฐาน
แม่ผู้เพาะต้นกล้าภาษา และวัฒนธรรมไทยในสวิส
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com