พิณ แคน ซอ โปงลาง โหวด

พิณ แคน ซอ โปงลาง และโหวด เป็นดนตรีพื้นเมืองอีสานที่ใช้บรรเลงประกอบกับการละเล่นต่าง ๆ มีบทบาทเป็นที่นิยมของคนทั่วไปโดยเฉพาะ “แคน” ถูกยกให้เป็น “ราชาแห่งดนตรีพื้นเมืองอีสาน” “พิณ” เป็น “ราชินีแห่งดนตรีพื้นเมืองอีสาน”

แคน เป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นที่สุด มีชื่อเสียงควบคู่คนอีสานมายาวนานเหมือนคำที่ว่า “คนอีสานไม่เคยขาดแคน” ยุคสมัยแรก ๆ ที่คนอีสานเดินทางมาแสวงโชคในกรุงเทพฯ ที่เรียกว่า “มาค้ากำปั้น” มีแค่ ๒ มือกับ ๑ แรงกาย หลายคนมีแคนติดตัวมาเป็นเพื่อน มีงานทำห่างบ้านห่างอีสานมานาน ก็เอาแคนมาเป่าเป็นเพื่อน บางคนจากอีสานมานานได้ยินเสียงแคนถึงกับน้ำตาไหล “คึดฮอดบ้าน” เลยทีเดียว

เลิกงานตกเย็นย่ำค่ำมืด จะมานั่งล้อมวงสังสรรค์ อาจมี “บักสองซาว” บ้างพอเป็นกระไสยา เวลาเป่าแคน ใครพอลำได้ก็ลำปรบมือเพื่อคลายคิดถึงบ้าน จนเป็นภาพชินตาชินหูของคนกรุงเทพฯและคนภาคอื่น ช่วงเทศกาลปีใหม่คนกรุงเทพเขาจะไปเที่ยวงานท้องสนามหลวง งานวังสราญรมย์ คนอีสานที่มาทำงานในกรุงเทพเป็นกรรมกรบ้าง ถีบสามล้อบ้าง จะรวมตัวกันเป่าแคน ตบมือ เดินไปเที่ยวงานที่ท้องสนามหลวงก็ตั้งวงรำแคนกัน

แคน มีบทบาทโดดเด่นขึ้นเมื่อถูกนำมาเป่าใส่เพลงบันทึกแผ่นเสียง เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๐ กว่านักร้องนักแต่งเพลงลูกอีสาน ครูเฉลิมชัย ศรีฤาชา เป็นคนแรกที่นำเอาแคนเต้าเดียวมาเป่าใส่เพลงและมีกลองโทนหนึ่งใบตีจังหวะรำโทน อัดแผ่นเสียงขายดีเป็นที่นิยมต่อมา ครูเบญจมินทร์ นักร้องนักแต่งเพลงลูกอีสานอีกคน ก็นำแคนมาเป่าใส่เพลง “ชายฝั่งโขง” และต่อมา สุรพล สมบัติเจริญ ก็นำมาเป่าใส่เพลง “น้ำตาลาวเวียง” ทำให้เสียงแคนที่ไพเราะเป็นที่ประทับใจของคนภาคอื่นมาแต่บัดนั้น

สมัยนั้นคนอีสานที่มาอยู่กรุงเทพฯ ที่มีความชำนาญเป่าแคนมีน้อย การหาหมอแคนไปเป่าประกอบเพลงยาก การเป่าแคนประกอบเพลงก็ใช้แค่เป่าขึ้นหัวอินโทรเพลงเท่านั้น จึงยังไม่โดดเด่นเท่าที่ควร

พ.ศ.๒๕๑๖ เพลง “อีสานลำเพลิน” เป็นเพลงแรกที่นำเอาทั้งแคนและพิณ มาบรรเลงประกอบเพลงผสมกับดนตรีสากลได้อย่างกลมกลืน และดัง เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ต่อมาเพลงที่มีเสียงพิณบรรเลงเป็นที่นิยมคือเพลง “คอยรักจากเสียงพิณ” โดย นกน้อย อุไรพร ต่อมาเพลงที่มีพล็อตหรือบรรยากาศเกี่ยวกับอีสานต้องมีเสียงพิณ เสียงแคนประกอบจนเป็นที่นิยมหมอแคนที่เป่าใส่เพลงช่วงนั้นก็มี “สมัย อ่อนวงศ์” “บุญล้อม คอมพิวเตอร์” หมอแคนพิการตาบอดจากวงดนตรี “ทิดโส ลำเพลิน” เนื่องจากอาจารย์บุญล้อมพิการตาบอด แต่มีความจำเป็นเลิศ มีความชำนาญในการเป่าแคน แต่เวลาไปเป่าใส่เพลงบันทึกเสียงในห้องอัดเสียงร่วมกับดนตรีสากลอื่น ๆ เวลาผู้เรียบเรียงประสานให้สัญญาณมือให้เริ่มบรรเลง อ.บุญล้อมไม่เห็น ถ้าจะใช้เสียงบอกก็ไม่ได้ ผมจึงใช้วิธีสะกิดไหล่เป็นสัญญาณให้เป่าได้ ด้วยประสาทฉับไว และความจำแม่นยำนี้เอง ผมจึงตั้งชื่อให้ว่า “บุญล้อมคอมพิวเตอร์” เพราะใช้นิ้วสัมผัส

และมือพิณอันดับหนึ่งในตอนนั้นคือ ทองใสทับถนน มือพิณประจำวงดนตรี “เพชรพิณทอง”

เมื่อ แคน พิณ ราชาและราชินี แห่งดนตรีอีสาน มาโด่งดังคู่กับเพลงลูกทุ่งอีสาน ต่อมาก็มีผู้นำเอาซออีสาน มาบรรเลงใส่เพลงลูกทุ่งก็ดังเป็นที่รู้จักคือเพลง “คิดฮอดเสียงซอ” ขับร้องโดย สุภาพ ดาวดวงเด่น หมอซอยุคนั้นคือ ทองฮวด ฝ่ายเทศ ต่อมาก็มีโปงลางตามมาคือเพลง “คึดฮอดเสียงโปงลาง” ขับร้องโดย สัญญา เพชรเมืองกาฬ ตามมาด้วยเสียงโหวด แต่เพลงบรรเลงด้วยเสียงโหวดยุคแรก ๆ ไม่มีเพลงดัง

“โปงลาง” กับ “โหวด” ดนตรี ๒ ชนิดนี้มีข้อจำกัดคือเปลี่ยนคีย์เสียง ยกเสียงสูงเสียงต่ำไม่ได้ จึงเป็นอุปสรรคกับการบันทึกเสียงไม่เข้ากับนักร้อง โปงลางกับโหวด จึงไม่โดดเด่นเท่าที่ควร

พิณ แคน ซอ เป็นดนตรีอีสานที่ปรับเสียงสูงต่ำเข้ากับเสียงนักร้องได้จึงถูกนำมาบรรเลงกับเพลงลูกทุ่งมากที่สุด และเป็นที่นิยม

พ.ศ.๒๕๒๐ อาจารย์พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ได้สร้างและกำกับภาพยนตร์เรื่อง “มนต์รักแม่น้ำมูล” เรื่องราวหนุ่มสาวอีสานสมัยนั้นที่ใฝ่ฝันอยากเป็นนักร้อง จึงดิ้นรนเข้ากรุงเทพฯ ไปเผชิญโชคและล่าฝันจนประสบความสำเร็จเป็นนักร้องดังมีชื่อเสียง มีเพลงประกอบภาพยนตร์ ๑๐ เพลง ผู้กำกับมอบหมายให้ผมเป็นโปรดิวเซอร์ควบคุมการผลิตเพลง เพลงส่วนมากจะเป็นแนวเพลงลูกทุ่งอีสาน ผมจึงนำหมอแคน คือ อาจารย์บุญล้อม คอมพิวเตอร์ และหมอพิณ อาจารย์สุดใจ พึ่งกิจ และหมอซอ จากวงดนตรีทิดโสลำเพลินมาร่วมบรรเลง เพลงลูกทุ่งที่ประกอบดนตรีอีสานส่วนมาก จะมีแคน พิณ ซอ ร่วมบรรเลงเพียงเล็กน้อย เช่น ขึ้นหัวเพลงหน่อย หรือไปโซโล่ตอนกลางเพลง ไม่ได้ร่วมบรรเลงกันเต็ม ๆ ทั้งเพลง

แต่คราวนี้ผมให้หมอแคน หมอพิณ หมอซอ นำเพลงไปซ้อมจนขึ้นใจ จำเพลงได้ทั้งหมดเพื่อจะให้บรรเลงร่วมไปกับดนตรีสากลตลอดเพลง เป็นครั้งแรกของวงการ

เมื่อมาร่วมบันทึกเสียง พิณ แคน ซอ จะดีด เป่า สี เริ่มแต่หัวเพลงคลอทำนองเพลงไปจนจบ สอดรับกับเครื่องดนตรีสากลที่มีทั้ง แซกโซโฟน ทรัมเป็ต ไวโอลิน และแอคคอร์เดียน เรียกว่าบรรเลงเคียงบ่าเคียงไหล่กันเต็ม ๆ เพลงไปเลย

ปรากฏว่าเพลงชุดนี้ที่มีเครื่องดนตรีพื้นเมืองอีสานบรรเลงร่วมแบบเต็ม ๆ เพลง ได้รับความนิยมมีเพลงดัง เช่น เพลง “มนต์รักแม่น้ำมูล” “ลูกทุ่งคนยาก” “ลำกล่อมทุ่ง” “ฝากใจไว้ที่เดือน” และ “แต่งงานกันเด้อ” ส่งให้ภาพยนตร์ได้รับความนิยม เปิดฉายรอบปฐมทัศน์วันแรกโรงแตกเพราะคนดูล้นโรงเป็นประวัติศาสตร์ของวงการหนังไทยอีกเรื่องหนึ่ง เพลงประกอบภาพยนตร์ก็ดังเป็นอมตะมาจนปัจจุบันนี้

พูดถึงหมอแคน นอกจากหมอแคนที่ชำนาญด้านเป่าประกอบเพลงบันทึกเสียงแล้วยังมีหมอแคนที่ชำนาญด้านการโชว์บรรเลง ในยุคนี้คืออาจารย์สมบัติ  สิมหล้า หมอแคนพิการตาบอดเช่นกัน ที่ได้ฉายา “หมอแคนขั้นเทพ” เพราะมีพัฒนาการเป่าแคนให้หลากหลายลีลาขึ้น

ช่วง พ.ศ.๒๕๔๐ เป็นต้นมา มีเครื่องดนตรีใหม่เข้ามาพร้อมกันกับคอมพิวเตอร์ สามารถจะปรับเสียงเลียนแบบเสียงดนตรีได้ ในเพลงลูกทุ่งยุคนี้จึงได้ยินเสียงโหวด เสียงโปงลางเกิดขึ้นเพราะใช้คอมพิวเตอร์มาเลียนเสียงได้ แต่เสียงแคนคอมพิวเตอร์ไม่สามารถเลียนเสียงได้ไพเราะนุ่มนวลเท่าของจริง

 ก่อนจบเรื่องราวเสน่ห์เสียงดนตรีพื้นเมืองอีสาน มีข้อปรารภจากผู้เขียนนิดหนึ่งว่าเสียงแคนนั้นมีดี มีเสน่ห์อยู่ในเสียงแล้ว ไม่อยากเห็นผู้เป่าทำท่า (ขออนุญาตใช้คำศัพท์ภาษาอีสานว่า) “กระเด้า” โชว์ให้คนทั่วไปหรือออกสื่อโทรทัศน์ เพราะผู้เขียนมองว่าการทำแบบนั้นมันลดเสน่ห์ของเสียงแคนอันเป็นราชาแห่งดนตรีอีสานลงไปเยอะ เหมือนคนสวยอยู่แล้วไม่ต้องโป๊ก็สวยได้ ถ้าอยาก “กระเด้า” ก็ขอให้แสดงในกลุ่มชุมชนก็พอ ฝากถึงครูบาอาจารย์ผู้รู้ได้แก้ไขด้วย

 


ภาพโดย : สมศักดิ์ มงคลวงศ์ 

Related Posts

วัฒนธรรมแถน (๖) พิธีส่งแถน
บทกวี โบยบินจากความกลัว
ที่นี่…เมืองบางขลัง : ปฐมบทแห่งชาติไทย
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com