ฟอสซิลปลาโบราณ “ภูน้ำจั้น” บ้านดงเหนือ ต.เหล่าใหญ่ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์
ฟอสซิลปลาโบราณ “ภูน้ำจั้น” บ้านดงเหนือ ต.เหล่าใหญ่ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์
ทัวร์วัฒนธรรมอีศาน – แห่งเดียวในเมืองไทยซากปลาหลายล้านปี
มีการค้นพบ ฟอสซิลปลาโบราณกว่า 100 ซาก และถือว่าเป็นการค้นพบฟอสซิลปลาโบราณครั้งแรกในประเทศไทย โดยปลาที่พบเป็น’ปลาเลปิโตเทสิ’ ปลาน้ำจืดมีความยาวประมาณ 30–60 ซม. ซึ่งมีชีวิตอยู่เมื่อ 65 ล้านปีที่แล้วและสูญพันธุ์ไปพร้อมไดโนเสาร์ โดยซากฟอสซิลปลาโบราณส่วนใหญ่สภาพสมบูรณ์ ก๊าซออกซิเจนเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้แบคทีเรียเติบโตไม่สามารถเข้าถึงซากปลาได้ ซากปลาจึงไม่เน่าและถูกเก็บรักษาไว้ในชั้นหิน
บริเวณภูน้ำจั้นในปัจจุบันนี้ เมื่อ 150 ล้านปีก่อนเป็นบึงขนาดใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์ น้ำลึกกว่า 3 เมตร มีปลาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จากบึงที่เคยอุดมสมบูรณ์กลับเกิดความแห้งแล้งขึ้นฉับพลัน น้ำแห้งลงอย่างรวดเร็ว สัตว์ที่เดินหรือคลานได้พากันอพยพไปที่อื่น ส่วนปลาต่าง ๆ ก็พยายามดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอด โดยมุดลงไปฝังตัวอยู่ใต้โคลนก้นบึง แต่ก็ต้องตายลงทั้งหมดเพราะท้ายที่สุดแล้วน้ำได้เหือดแห้งหมดสิ้น
หลายพันปีต่อมาพื้นที่นี้ทรุดตัวลงไปเรื่อย ๆ กลายเป็นท้องแม่น้ำ เกิดกระบวนการสะสมตะกอนต่อเนื่อง ตามมาด้วยการยกตัวของเทือกเขาภูพานบริเวณ อ.เขาวง บีบดันจนชั้นหินมีลักษณะเป็นโครงสร้างรูปประทุน ซึ่งมีปลายเรียงทั้งสองข้างมุดลงใต้ดินคล้าย ๆ กับเรือแจวที่มีหลังคาประทุน เรียกกันว่าโครงสร้างรูปกุฉินารายณ์ ต่อมาบริเวณตอนกลางที่เสมือนหลังคาประทุนที่โป่งขึ้นมาถูกกัดเซาะจนกลายเป็นหุบเขา ทำให้เห็นวงของภูเขารอบด้าน ซึ่งล้วนแล้วแต่มีชั้นหินที่ออกจากศูนย์กลาง
ภูน้ำจั้น เป็นแหล่งที่พบซากดึกดำบรรพ์ชนิดปลากินพืช ‘เลปิโดเทส พุทธบุตรเอนซิส’ ตั้งชื่อตามวัดป่าพุทธบุตรที่เป็นที่เก็บรวบรวมตัวอย่างพบเป็นจำนวนมากถึง 250 ตัวอย่าง ลักษณะทั่วไปของปลา มีเกล็ดเรียบเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนที่แข็งหนาและมันวาวปกคลุมลำตัว มีความยาว 40-50 ซ.ม. ลักษณะที่ใช้จำแนกชนิดคือกระดูกแก้มที่มากกว่าเลปิโดเทสชนิดอื่น รวมทั้งฟันซี่เล็กแหลมที่พบติดกับขากรรไกร เป็นหลักฐานถึงการใช้ฟันครูดพืชเป็นอาหาร นอกจากนั้นพบซากดึกดำบรรพ์’ปลาอิสานอิกทิส พาลัสทริ’ส เป็นปลาสกุลใหม่ ชนิดใหม่ ที่ชื่อสกุลมีความหมายว่าปลากระดูกแข็งจากอิสาน เป็นปลากินเนื้อขนาดใหญ่ ลำตัวยาวเรียว ความยาว 96 ซ.ม. พบเพียงตัวเดียวในแหล่งภูน้ำจั้น และยังพบ ‘ปลาปอด เฟอร์กาโนเซอราโตคัส มาร์ตินิ’ พบความสมบูรณ์ของแผ่นฟันจากขากรรไกรล่างกับขากรรไกรบนเชื่อมติดกับแผ่นกระโหลกพบเพียงตัวเดียว โดยแผ่นฟันที่พบแสดงการใช้งานจนสึกกร่อน พื้นที่ประกอบด้วยหินทรายสีน้ำตาล สีม่วงแดง เม็ดละเอียดถึงปานกลาง การคัดขนาดไม่ดี สลับหินทรายแป้งและหินโคลน สีน้ำตาลแกมแดงเนื้อไมก้า มีชั้นเม็ดปูนและชั้นซิลิกา อยู่ในหมวดหินภูกระดึง
พ่อใหญ่สมนึก ใจศิริ ผู้ใหญ่บ้านดงเหนือ หมูที่ 2 ต.เหล่าใหญ่ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ เล่าว่า ตาน้ำที่ภูน้ำจั้นนี้มีรสชาติจืดสนิท หอมกลิ่นสมุนไพรและแร่ธาตุ ชาวบ้านได้ไปอาศัยดื่มเมื่อเข้ามาประกอบอาชีพเกษตรในป่าภูโหล่ย ปริมาณน้ำส่วนเกินไหลลงห้วยมะนาว หล่อเลี้ยงแปลงนาข้าวของชาวบ้านตำบลเหล่าใหญ่ ก่อนจะไหลลงลำน้ำยัง สาขาลำน้ำชี สุดท้ายของหยดน้ำของภูน้ำจั้นจะไหลลงน้ำโขง
จากหยดน้ำน้อย ๆ ของภูน้ำจั้นรวมกันเป็นล้าน ๆ หยด สามารถหล่อเลี้ยงมนุษยชาติจากต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ดังนั้น หากความหลากหลายทางชีวภาพในป่าภูโหล่ยไม่ลดลง ความสมดุลของดินน้ำป่าจะยังคงอยู่ตลอดไป
น้ำจั้น คือ น้ำที่ไหลออกมาจากผนังถ้ำ เชิงภูเขาหรือตลิ่งแม่น้ำระหว่างก้อนหิน อัตราการไหลมากน้อยขึ้นกับฤดูกาลและสภาพป่าบริเวณใกล้เคียง มักจะมีชื่อเรียกตามสถานที่นั้น ๆ เช่น จั้นกกบาก จั้นป่าตอง จั้นดานใหญ่ เป็นต้น ที่ป่าภูโหล่ย อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ บริเวณที่พบซากปลาโบราณพบว่ามีแหล่งตาน้ำ เรียกว่า ภูน้ำจั้น.