บันทึกการเดินทางในลาว ครั้งยังเป็นภาคอีสาน : เอเจียน แอมอนิเย ตอนที่ 1

บันทึกการเดินทางในลาว ครั้งยังเป็นภาคอีสาน : เอเจียน แอมอนิเย ตอนที่ 1

บันทึกการเดินทางในลาว (ดินแดนภาคอีสาน) เอเจียน แอมอนิเย (ผู้บันทึกการสำรวจ) ปี พ.ศ.2438-2440 ตอนที่ 1 จากจำปาสักไปพิมูล
เรียบเรียงโดย: Kay Intarasopa

ภาพประกอบ เป็นภาพหอโฮงเจ้าเมืองอุบล ตามบันทึกของคณะสำรวจคณะหนึ่ง

ผู้บันทึกเล่าว่า “ตามคำบอกเล่าของพวกพื้นเมือง พิมูล (พิมูลมังสาหาร) ตั้งอยู่ตรงไปทางทิศตะวันตก ห่างจากหมู่บ้านด่าน เมืองจำปาสักโดยการเดินเท้า 3 วัน ต้นไม้ผลซึ่งยังไม่โตนัก บ่งบอกว่าสร้างขึ้นมาใหม่ ๆ ดังที่ได้สังเกตเห็น เมืองดังกล่าวซึ่งตั้งขึ้นมาได้ 22 ปีก่อนหน้าผมมา ในราวปี ค.ศ.1861 โดยพระยายมราช ข้าหลวงใหญ่จากบางกอก ซึ่งได้มาที่อุบลในสมัยนั้น และได้แยกเมืองออกหลายเมือง พิมูลมีกระท่อม 150 หลัง และวัด 3 วัด ซึ่งมีพระไม่มากนัก เมืองดังกล่าวขึ้นกับเมืองอุบลซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งใต้แม่น้ำมูล ซึ่งเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ ไร่นาที่อยู่ใกล้ลำน้ำนั้นอุดมสมบูรณ์ แต่ผลการเก็บเกี่ยวมีเสียหายบ้างในฤดูที่น้ำมูลขึ้นท่วมมากเกินไป สรุปแล้วการผลิตข้าวไม่เพียงพอ พวกชาวบ้านไปหามาจากเมืองจำปาสัก โดยขนส่งทางเกวียน แต่ว่าพิมูลเป็นเขตเลี้ยงงัวควายมากมาย คนที่ขึ้นทะเบียนในเมืองไว้มี 2,000 คน ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 3,000 คน จ่ายค่าภาษีส่วนตัวคนละ 2 บาท การเสียภาษีประจำปีทั้งหมดตกเป็นเงิน 640 บาท”

เจ้าเมืองพิมูลมังสาหาร ที่แต่งตั้งโดยสยามมีชื่อว่า พระบำรุงราษฎร ประชาชนของเมืองล้วนเป็นคนลาว

คณะผู้สำรวจเดินทางออกจากเมืองจำปาสักผ่านเมืองเก่ากอกซึ่งในอดีตคือที่ตั้งเมืองจำปาสักเดิม อยู่ตรงหน้าปากน้ำเซโดน ภายหลังจึงย้ายมาตั้งอยู่ที่ตั้งเมืองปัจจุบัน เมืองเก่ากอกนี้พบว่าประชาชนสุภาพเรียบร้อย “คนลาวจะต้มเหล้าสำหรับครอบครัวเหมือนกันหมด สามารถกล่าวได้ว่าการผลิตและการดื่มสุรามีบทบาทสำคัญมากต่อการดำรงชีวิตของคนลาว” ผู้บันทึกกล่าว

นอกจากนี้ยังเล่าถึงบรรยากาศงานศพว่า มีพระมาสวดพระอภิธรรมทุกคืน พวกหนุ่มสาวพากันมาพูดคุยหยอกล้อเฮฮากัน สนุกสนานและเกี้ยวพาราสี มีดนตรีบรรเลงตลอดและมีการพนันทุกประเภท พวกลูก ๆ ของผู้ตายไม่แต่งชุดไว้ทุกข์

ในหมู่บ้านมีการปลูกกระท่อมไว้หลังหนึ่ง (น่าจะเป็นศาลปู่ตา) ตามประเพณีคนลาวจะจัดดอกไม้ หน่อกล้วยและต้นอ้อยไปมัดติดเสาที่กั้นห้องระหว่างห้องนอน ส่วนเครื่องกรอฝ้ายและเส้นไหมอีกเล็กน้อยก็จะมัดที่เสาบนหัวนอน เขาทำการไหว้วอนเทพเทวดาทั้งหลาย ขอพรให้คุ้มครองบ้านช่องและผู้คนที่อาศัยอยู่ คนลาวเรียกพิธีดังกล่าวว่า “ค้ำคูณเฮือน”

จากนั้นผู้บันทึกเดินทางผ่านบ้านโจด บ้านเหียง บ้านพูตาก บ้านแห เมืองสะไพ บ้านสมาน บ้านเวินคำ บ้านด่านปากมูล ผู้บันทึกเล่าว่า ฝั่งแม่น้ำมูลมีหินทรายโผล่ขึ้นเป็นเนินเขาเตี้ย ๆ อุดมไปด้วยป่าไม้เป็นแนวยาว กั้นลำน้ำมูลออกจากแม่น้ำโขง เรียกชื่อเป็นภาษาเขมรว่า “พนมดังแร็ก” (พนมดงรัก) แปลว่าภูเขาแห่งภัยพิบัติ หรือพนมแวง แปลว่าภูเขาใหญ่ ซึ่งบริแวณนี้จะเริ่มเห็นถึงความแตกต่างของระดับน้ำทั้งสองแห่ง ราวกับว่าเทือกเขาเป็นกำแพงใหญ่ น้ำมูลนำพาน้ำไหลจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก จากโคราชไปอุบลฯ

จากนั้นจึงเดินทางต่อมาถึงบ้านสักเมือง บ้านด่าน กระทั่งถึงเมืองพิมูล (พิมูลมังสาหาร)

ผู้บันทึกยังได้เล่าถึงการปรับไหม ผู้ชายที่ละเมิดฝ่ายหญิง ซึ่งเชื่อว่าเป็นการกระทำผิดผีบ้าน ต้องจ่ายค่าปรับไหมเป็นเงิน 5 บาท กับงัวอีกหนึ่งตัว ซึ่งมีราคา 4 บาท เพื่อปลอบใจผีบ้าน ที่เมืองพิมูลนี้ เงินลาด 10 ลาดเป็น 1 สลึง แต่บางหมู่บ้าน 1 สลึงเท่ากับ 8 ลาด

ต่อไปจะได้เล่าถึงเมืองอุบล ซึ่งเป็นเมืองสำคัญ และเหตุการณ์สำคัญในกรณีขัดแย้งกของพระวอพระตากับพระเจ้าสิริบุญสาร จนนำมาซึ่งการผิดข้องหมองใจของคนลาวสองฟากฝั่ง ว่าแท้ที่จริงแล้วต้นเหตุน่าจะมาจากสาเหตุใด

 

อ่านในเว็บ e-shann.com
ตอนที่ 1 จากจำปาสักไปพิมูล
ตอนที่ 2 จากพิมูลไปอุบล
ตอนที่ 4 จากมุกดาหารไปสกลนคร หนองหาน
ตอนที่ 5 จากหนองหานไปหนองคาย เวียงจันทน์
ตอนที่ 6 จากอุบลไปยโสธร
ตอนที่ 7 ประวัติความเป็นมาเมืองยโสธร
ตอนที่ 8 จากยโสธรไปกุดสิน ธาตุพนม

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com