บทบรรณาธิการนิตยสารรายเดือน “ทางอีศาน” ปีที่ 11 ฉบับที่ 126 ตุลาคม 2565

ภ า ษ า : มงกุฎวัฒนธรรม

• ร้อยพันหมื่นมือไม้กายสื่อสาร

นับแสนล้านเสียงส่งบ่งความหมาย

กี่เส้นขีดตวัดม้วนล้วนลวดลาย

ตกผนึกจึงบรรยายร่ายเรื่องราว

• อัศจรรย์สระพยัญชนะ

อักขรทุกสมัยให้สืบสาว

รุ่นต่อรุ่นรับขานมานานยาว

ยุคสู่ยุคบอกกล่าวน้าวหากัน

• ทุกภาษาคุณค่าเกินประเมินค่า

งามมงกุฎเพชรสง่าพาเฉิดฉัน

ประดับยอดวัฒนธรรมล้ำรำพัน

มิ่งขวัญงานเสกสรรมวลมนุษย์

ภาษาคือสุดยอดการสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมของผู้คน ในแต่ละยุคแต่ละชุมชนทางการค้าผู้คนจากหลากหลายเผ่าพันธุ์จะรับรองใช้ภาษาหลักสื่อสารร่วมกัน เจ้าอาณานิคมเข้าครอบครองแผ่นดินใดได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดก็ด้วยการลบกลืนภาษาถิ่นนั้นให้สิ้นซาก อารยชนใดด้อยค่าปล่อยทิ้งภาษาของตนก็จะเป็นเช่นผงธุลีที่ปลิวคลุ้งให้คนต่างด้าวท้าวต่างแดนเข้าเหยียบย่ำ

ภาษาไท ที่ยังไม่มี ย.ยักษ์ ที่ผู้คนชนเผ่าไทนับร้อย ๆ ชนเผ่าในแดนอุษาคเนย์เคยใช้ร่วมกันมา วันนี้เหลือไม่ถึงร้อยละยี่สิบที่คนไทใช้สื่อสารกันรู้เรื่อง ใต้ต่ำแม่น้ำแยงซีเจียงลงมาก็ผสมปนกับภาษาฮั่น ทางลุ่มแม่น้ำแดงแม่น้ำดำก็ผนวกเข้ากับภาษาเวียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางลุ่มแม่น้ำพรหมบุตรชาวไทอาหมก็ได้สูญเสียภาษาไทของตนไปนานแล้ว ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก็รับเอาภาษาบาลีสันสกฤต รับเอาภาษาเขมร เข้ามามากขึ้น ๆ และที่เพิ่มขึ้นจนจดเพิ่มเข้าพจนานุกรมไม่ทันคือภาษาจากโลกตะวันตก

ภาษาในลุ่มแม่น้ำมูน แม่น้ำซี แม่น้ำสงคราม แม่น้ำเลย ของคนไทร่วม 30 กว่าเผ่าพันธุ์วรรณนา วันนี้เหลือความเป็นไทแท้ร้อยละเท่าใด จำนวนความหลากหลายมากมายของภาษา รวมถึงสำเนียงเสียงที่แตกต่าง ย่อมเป็นการแสดงออกถึงระดับการพัฒนาทางวัฒนธรรม และแสดงถึงความงดงามร่วมกันแห่งอารยธรรมมนุษย์.

***

*ส่องซอด : “ในปัจจุบันชนชาติไทกระจายตัวอยู่หลายประเทศ ในมลรัฐอัสสัม อินเดีย ประเทศพม่า ประเทศไทย ประเทศจีนตอนใต้ สปป.ลาว และประเทศเวียดนาม ชนชาติไทใช้ภาษาตระกูลไท ตระกูลภาษาเดียวกัน มีจำนวนรวมกันประมาณมากกว่า 100 ล้านคน ประกอบด้วยชาวไทตะวันตกเฉียงใต้ ประมาณ 85 ล้านคน คือชาวไทยในประเทศไทย 67 ล้านคน ชาวไทดำ ไทขาวและไทอื่นในสิบสองจุไท เวียดนาม 5 ล้านคน ชาวลาวใน สปป.ลาว 5 ล้านคน ชาวไทลื้อในสิบสองพันนา 1 ล้านคน ชาวฉานหรือไทใหญ่ในพม่าและจีน 5 ล้านคน ชาวไทอาหม – ใช้ภาษาไทเฉพาะในพิธีกรรม – และไทอื่นในอัสสัม 3 ล้านคน และยังมีชาวไทอื่นในประเทศจีนตอนใต้อีกกว่า 20 ล้านคน คือ ไทจ้วงในมณฑลกวางสี 17 ล้านคน ต้งในมณฑลกุ้ยโจว 3 ล้านคน ปู้ยี ก่ำ สุย เก้อหล่า และหลี่ ในมณฑลยูนนาน กุ้ยโจว และไหหลำ รวมหลายล้านคน”.

[ฉัตรทิพย์ นาถสุภา. การศึกษาชนชาติไทกับความเข้าใจสังคมไทย. (ปาฐกถาบรรจบ พันธุเมธา ครั้งที่ 11 มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม วันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2565)]

Related Posts

บทที่ 7 บทเรียนล้ำค่า
ปิดเล่ม ทางอีศาน ๑๒๖
ภาพฝัน โดย สมคิด สิงสง
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com