ภาพฝัน  โดย สมคิด สิงสง

ชิ้นงานจิตรกรรมภาพเขียนสีน้ำ บนกระดาษ Renaissance Watercolor Fine Art Series 300 GSM. ๓๗๕x๕๕๕ มม. เมื่อ ๑๒/๖/๒๕๖๕ คือภาพฝันนั้น

ผมตั้งชื่อสวนว่า “วนเกษตรอินทรีย์วิถีคนกับควาย เฮือนดินตีนภู” เพราะมันเป็นพื้นที่ทำการเกษตรแบบผสมผสาน ในเนื้อที่ ๓๐ ไร่ที่พ่อแม่แบ่งปันให้เป็นที่ทำกิน

คุณตาสมนึก ชื่นใจ (๒๔๘๒-๒๕๖๓) น้องชายคนหนึ่งของแม่ผม เขียนเรื่องราวของบ้านซับแดง ในเรื่อง “แม่ขาวเล่าให้ฟัง” รวมพิมพ์ในหนังสือ “๖๘ วงปีชีวิตสมคิด สิงสง ๔๕ ปีคนกับควาย” ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อปี พ.ศ.๒๕๖๑ ความว่า…

“พ่อสมบูรณ์เกิดที่บ้านห้วยอึ่ง อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น แต่งงานครั้งแรกกับหญิงสาวชาวบ้านห้วยอึ่ง จนมีลูกด้วยกัน ๒ คน แต่เลิกร้างกัน แล้วมาแต่งงานกับแม่ขาว ชาวบ้านวังแสง ประมาณ พ.ศ.๒๔๗๐ ได้ลูกคนแรกเป็นชาย ราว พ.ศ.๒๔๗๒ คือนายเลื่อน ชื่นใจ (ต่อมาเปลี่ยนเป็นวิวัธน์)

การอพยพเคลื่อนย้ายมาตั้งหลักแหล่งแห่งใหม่จนกลายมาเป็นบ้านซับแดง เกิดจากความจำกัดของพื้นที่ซึ่งเป็นนาขอบเหล็ก คือขยายออกไปด้านใดก็ไม่ได้ ประกอบกับอยู่พื้นที่ลุ่มริมฝั่งแม่น้ำชี มักประสบสถานการณ์น้ำท่วมขังในฤดูน้ำหลาก สร้างความเสียหายแก่นาข้าว

กองเกวียนอพยพรอนแรมข้ามฝั่งแม่น้ำชี ผ่านบ้านโคก บ้านโพธิ์ไชย มุ่งหน้าสู่เทือกภูผาแดงทางทิศตะวันตก ผ่านป่าดงจนถึงบ่อน้ำซับ

ตามเส้นทางที่ผ่านมา ที่ดินที่เป็นป่าดงมีคนจับจองไว้หมดแล้ว เป็นของชาวบ้านหนอง หญ้าปล้อง หนองหญ้ารังกา  บ้านหินตั้ง เป็นต้น จึงข้ามโคกบ่อน้ำมาหยุดอยู่ที่ตั้งที่เป็นหมู่บ้านซับแดงในเวลานี้ ซึ่งที่ทางยังไม่มีผู้จับจอง

เหตุที่เลือกภูมิสถานที่นี่เป็นที่ตั้งถิ่นฐานแห่งใหม่ เพราะอยู่ใกล้แหล่งน้ำซับ ที่มีต้นแดงใหญ่ขนาด ๓ คนโอบอยู่ใกล้ ๆ จึงพากันขนานนามบ่อน้ำซับแห่งนี้ว่า “น้ำซับแดง” และได้อาศัยใช้น้ำนี้ในการบริโภคอุปโภคเรื่อยมา จนถึงเวลานี้มีการจัดตั้งสถานศึกษาระดับมัธยมขึ้นบนพื้นที่โคกซับแดง ขนานนามว่า “โรงเรียนซับสมบูรณ์พิทยาลัย” สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น

แม่เล่าต่ออีกว่า ราว พ.ศ.๒๔๗๔ หมู่บ้านซับแดงได้รับการประกาศจัดตั้งอย่างเป็นทางการ เป็นท้องที่หมู่ที่ ๙ ตำบลโพธิ์ไชย อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น มีพ่อสมบูรณ์ ชื่นใจ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก

พ่อสมบูรณ์ในวัยเยาว์ เมื่ออายุถึงเกณฑ์ได้เข้ารับราชการเป็นทหารเกณฑ์ เป็นพลทหารอยู่ใต้บังคับบัญชาของนายสิบ นายร้อย จึงเมื่อพ้นเกณฑ์ทหารออกมาแล้ว และเมื่อมีครอบครัวจึงคิดจะให้ลูก ๆ ได้รับการศึกษา จะได้มีโอกาสเป็นเจ้าคนนายคน

ขณะที่ลูกชายคนโต นายเลื่อน (วิวัธน์) ชื่นใจ ได้ไปเรียนต่อชั้นมัธยมที่อำเภอชนบท พอจบ ม.๕ (เทียบ ม.๓ ในปัจจุบัน) พ่อสมบูรณ์ก็เสียชีวิตลง เมื่อคราวไปค้าดอกฝ้ายที่เมืองเลย พำนักอยู่กับน้องชาย คือนายกอง ชื่นใจ ซึ่งเป็นพนักงานขับรถกรมทางหลวง เหตุเสียชีวิตทราบจากลูกแหล่ง (ลูกน้อง) ที่ไปด้วยกันว่า เกิดจากอาการท้องร่วงเนื่องจากอาหารเป็นพิษ

พ่อสมบูรณ์ ชื่นใจ ผู้ใหญ่บ้านซับแดงคนแรก เสียชีวิตใน พ.ศ.๒๔๘๙ หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สงบลงปีหนึ่ง

เมื่อพ่อตาย พี่เลื่อนหรือวิวัธน์ จบ ม.๕ ต้องหยุดเรียน มาอยู่บ้าน ๑ ปี ด้วยเหตุอยากเรียนให้จบ ม.๖ จึงหนีจากบ้านไปจังหวัดอุดรธานี สมัครเข้าเรียนโรงเรียนอุดรพิทยานุกูล จบ ม.๖ เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไปพักอยู่กับน้าชาย (น้องชายแม่ขาว) ซึ่งเป็นนักการภารโรงที่กรมทางหลวง แล้วสอบเข้าเรียนต่อโรงเรียนจ่าทหารเรือและโรงเรียนของกรมไปรษณีย์โทรเลข

ผลการสอบเข้าได้ทั้ง ๒ แห่ง กรมไปรษณีย์เรียกตัวก่อนทหารเรือ จึงเข้าเรียนโรงเรียนการไปรษณีย์ฯ หลักสูตร ๖ เดือน จบออกมาทำงานครั้งแรกที่ไปรษณีย์ฯ เมืองพล และส่งน้อง ๆ ที่จบ ป.๔ แล้วเรียนต่ออีก ๓ คน คือนายสมจิตร นายสมนึก และนายสมหวัง ชื่นใจ

จนทุกคนเรียนจบรับปริญญาตรี ๒ คน คือนายสมจิตร หรือยุทธพล ชื่นใจ จบ กศ.บ. ประสานมิตรรุ่นแรก รับราชการกระทรวง ศึกษาธิการ เกษียณอายุราชการในตำแหน่งหัวหน้าหมวดวิชาคณิตศาสตร์ โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน

นายสมนึก ชื่นใจ จบคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รับราชการกรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย เป็นประชาสงเคราะห์จังหวัด ๘ จังหวัด เกษียณอายุราชการในตำแหน่งประชาสงเคราะห์จังหวัดชัยภูมิ ปัจจุบันเป็นข้าราชการบำนาญและประธานเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านอำเภอโคกโพธิ์ไชย

ส่วนนายสมหวัง หรือระวี ชื่นใจ จบ พ.กศ. รับราชการครูที่จังหวัดอุดรธานี ปัจจุบันเกษียณอายุราชการเป็นข้าราชการบำนาญ…”

เวลานี้คุณตาสมนึก ชื่นใจ และพี่น้องร่วมท้องเสียชีวิตหมดทุกคนแล้ว

ย้อนกลับไปในยุคสมัยเริ่มตั้งรกรากถิ่นฐานที่นี่ ย้อนหลังกลับไปไม่น้อยกว่า ๙๓ ปี (ปีนี้ พ.ศ.๒๕๖๕) คุณตาสมบูรณ์ ชื่นใจ ได้จับจองพื้นที่ทำกินไว้ราว ๒๐๐ กว่าไร่ และเป็นมรดกตกทอดมาถึงลูกหลาน คือแม่เสี่ยน-พ่อลอด สิงสง เป็นผู้ได้รับมรดกในที่ดินผืนนี้ แล้วก็แบ่งปันให้ลูก ๆ เกือบทุกคน (บางคนไม่ขอรับสิทธิ์ เพราะได้โอกาสทางการศึกษา และไปสร้างครอบครัวใหม่ มีที่ดินทำกินเพียงพอแล้ว) ผมในฐานะลูกคนหนึ่ง (คนโต) ได้รับส่วนแบ่งด้วยราว ๓๐ ไร่

ผมวาดฝันไว้ว่า อยากทำให้ “สวนป่าเฮือนดินตีนภู” เป็นแหล่งเรียนรู้ร่วมกันเรื่องวนเกษตรอินทรีย์เพื่อคุณภาพชีวิต การบริหารจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่าไม้ แบบบูรณาการ (Integrated Water Resource Managment : IWRM) เป็นแหล่งแสดงผลงานทางศิลปะ เช่นชิ้นงานทางวรรณศิลป์ ผลงานหนังสือ ชิ้นงานจิตรกรรมภาพเขียนสีน้ำ เป็นศาลาเกียรติยศที่จัดแสดงเกียรติบัตร โล่รางวัล เหรียญ ฯลฯ มีห้องสมุดให้บริการแก่สมาชิก และ/หรือผู้มาเยือน มีมุมนิทรรศการถาวรแสดงเรื่องราว (Story) ของหมู่บ้านซับแดง : แหล่งตำนาน (Sabdaeng : Legendary Village) มีระเบียงนั่งดื่มน้ำชา กาแฟ ชมวิวทิวทัศน์เชิงภูเขา จำหน่ายผลผลิตเกษตรอินทรีย์ ผลิตภัณฑ์ สิ่งของที่ระลึก ฯลฯ บริการที่พักสไตล์เฮือนดิน และสถานที่กางเต็นท์พักแรม

นี่คือภาพรวมของแหล่งเรียนรู้ “สวนวนเกษตรอินทรีย์วิถีคนกับควาย เฮือนดินค้ำฟ้า ศาลาเกียรติยศ พื้นที่ศิลปะ_อาศรมเคียวเกี่ยวดาว Human & Buffalo Art Space & Gallery”

มันมีความเป็นมาว่าที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิน้ำและคุณภาพชีวิต ครั้งที่ ๑/๒๕๖๔ เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ มีมติให้สนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินงานของแหล่งเรียนรู้ร่วมกันของสมาคมวนเกษตรอินทรีย์วิถีคนกับควาย ที่ “สวนวนเกษตรอินทรีย์วิถีคนกับควาย เฮือนดินค้ำฟ้า ศาลาเกียรติยศ พื้นที่ศิลปะ_อาศรมเคียวเกี่ยวดาว Human & Buffalo Art Space & Gallery” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “สวนป่าเฮือนดินตีนภู” ซึ่งดำเนินงานโดย นายสมคิด สิงสง นายกสมาคมวนเกษตรอินทรีย์วิถีคนกับควาย และรองประธานคนที่ ๑ มูลนิธิน้ำและคุณภาพชีวิต ที่ท้องที่หมู่ที่ ๕ ซับแดงแหล่งตำนาน ตำบลซับสมบูรณ์ อำเภอโคกโพธิ์ไชย จังหวัดขอนแก่น ภายใต้พันธกิจ (Mission) ของมูลนิธิฯ ในการสนับสนุนและส่งเสริมให้มีศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตรกรรม ด้านคุณภาพชีวิต พลังงาน สิ่งแวดล้อม ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่ใช้ประโยชน์จากโครงการ เพื่อเป็นศูนย์ศึกษาและดูงาน เพื่อขยายผลไปสู่วงกว้าง

สวนป่าเฮือนดินตีนภูนี้ ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมากว่า ๑๐ ปี นับแต่ พ.ศ.๒๕๕๔ ขณะที่เจ้าของสวนมีอายุครบ ๖๐ ปีในเวลานั้น ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในด้านต่าง ๆ เรื่อยมา รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ สถานศึกษา และหน่วยราชการระดับอำเภอ เป็นต้น แต่ก็ยังไม่สมบูรณ์เพียงพอที่จะทำให้แหล่งเรียนรู้ร่วมกันแห่งนี้สามารถพึ่งตนเองได้ในระดับที่น่าพอใจ และมีศักยภาพสูงพอที่จะให้บริการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านเกษตรอินทรีย์และคุณภาพชีวิตได้อย่างแท้จริง

ออกบ้านไปสวนทุกครั้ง ซึ่งจะต้องมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน ผมต้องผ่านทุ่งนาตีนบ้าน หลายครั้งที่อดใจไม่ได้ ต้องจอดรถจักรยานยนต์ หยิบสมาร์ทโฟนออกจากกระเป๋าเสื้อ จับภาพทิวทัศน์เบื้องหน้า

บางเช้าหลังฝนพรำมาทั้งคืน ดวงตะวันยังไม่โผล่พ้นหมู่หลังคาบ้านเรือนที่เพิ่งคล้อยหลังมา มองข้ามผืนนาเขียวขจีเบื้องหน้า ทิ้งสายตาข้ามทิวป่าโคกกลาง มองเห็นทิวเขาภูผาแดงเป็นฉากหลังที่จุดสุดสายตา บางส่วนแหว่งหายไปเพราะถูกบดบังด้วยสายหมอก ทำให้ทัศนียภาพของภูเขาดูแปลกตาไป

ในฤดูเก็บเกี่ยว ท้องทุ่งจะเป็นสีเหลืองทอง ใต้โค้งฟ้าเจิดจ้าสว่างไสว ทิวทัศน์เทือกภูผาแดงจะขึงแนวตัดกับเส้นขอบฟ้าอย่างกระจ่างชัด

ภาพหุบเขาจะเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล ให้ความรู้สึกเจริญตาเจริญใจได้ตลอดทั้งปี

ข้ามทุ่งนาตีนบ้านขึ้นโคกกลางจะเป็นเขตแดนในกรรมสิทธิ์ของบรรพบุรุษเราในอดีตที่จับจองเป็นไร่สวนเรือกนา เนื้อที่กว่า ๒๐๐ ไร่ ซึ่งเวลานี้ได้แบ่งสรรให้ลูกหลานถือครองทำกิน ตกประมาณคนละ ๓๐ ไร่

“สวนวนเกษตรอินทรีย์วิถีคนกับควาย เฮือนดินค้ำฟ้า ศาลาเกียรติยศ พื้นที่ศิลปะ_อาศรมเคียวเกี่ยวดาว Human & Buffalo Art Space & Gallery” ก็มีพื้นที่ราว ๓๐ ไร่ ตั้งอยู่มุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ที่ผมลงหลักปักฐานและสร้างฝันมากว่า ๑๐ ปีแล้ว แต่ยังไปไม่ถึงไหน จวบจนวันเวลาล่วงเลยมาถึงวงรอบปีที่ ๗๒ ของอายุขัยในปีนี้ ซึ่งจะบรรจบครบรอบ ๖ รอบวงปีนักษัตรในวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๖๕ ที่จะถึงนี้

จึงน่าจะถึงเวลาเสียทีที่จะ “ยกเสาเอก” หรือจัดวางก้อนอิฐดินดิบก้อนแรก ในกรณีที่ตัวอาคาร “เฮือนดิน” อาจไม่จำเป็นต้องมี “เสา” เพื่อที่จะก่อสร้างฐานที่มั่นในฝันแห่งนี้ ทำให้ “สวนป่าเฮือนดินตีนภู” เป็นแหล่งเรียนรู้ร่วมกันเรื่องวนเกษตรอินทรีย์เพื่อคุณภาพชีวิต การบริหารจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่าไม้ แบบบูรณาการ (Integrated Water Resource Managment : IWRM) เป็นแหล่งแสดงผลงานทางศิลปะ เช่นชิ้นงานทางวรรณศิลป์ ผลงานหนังสือ ชิ้นงานจิตรกรรมภาพเขียนสีน้ำ เป็นศาลาเกียรติยศที่จัดแสดงเกียรติบัตร โล่รางวัล เหรียญ ฯลฯ มีห้องสมุดให้บริการแก่สมาชิก และ/หรือผู้มาเยือน มีมุมนิทรรศการถาวรแสดงเรื่องราว (Story) ของหมู่บ้านซับแดง : แหล่งตำนาน (Sabdaeng : Legendary Village) มีระเบียงนั่งดื่มน้ำชา กาแฟ ชมวิวทิวทัศน์เชิงภูเขา จำหน่ายผลผลิตเกษตรอินทรีย์ ผลิตภัณฑ์ สิ่งของที่ระลึก ฯลฯ บริการที่พักสไตล์เฮือนดิน และสถานที่กางเต็นท์พักแรม ฯลฯ ตามที่ฝันไว้

****

นิตยสาร “ทางอีศาน” ปีที่ ๑๑ ฉบับที่ ๑๒๖ ประจำเดือนตุลาคม ๒๕๖๕ ฉบับ “สมคิด สิงสง ๖ รอบวงปีนักษัตร กึ่งศตวรรษคนกับควาย”

Related Posts

บทที่ 7 บทเรียนล้ำค่า
ปิดเล่ม ทางอีศาน ๑๒๖
บทวิจารณ์แนวอรรถสาระ~สัจจนิยม~ชาติพันธุ์วรรณนา “ทาง”…หมาเก้าหาง ดั้นเมฆฟ้า (๓)
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com