มัณฑเลย์… สะ พา น ข้า ม กา ล เ ว ลา ตอนจบ

พอได้มามัณฑเลย์ครั้งที่สอง จึงไม่พลาดที่จะเข้าชมพระตำหนักไม้ วันนี้คนน้อยจึงเป็นการเดินชมที่บรรยากาศดีมาก ที่ว่าคนน้อยก็เพราะว่ายังเป็นช่วงที่พม่าประกาศเคอร์ฟิวเนื่องจากมีเรื่องมีราวกันของคนต่างศาสนา แล้วมีแนวโน้มบานปลายเกินจากประเด็นส่วนตัวของคู่กรณี ทำให้กลายเป็นความขัดแย้งของชาวพุทธกับมุสลิมที่ยกพวกมาปะทะกัน การประกาศเคอร์ฟิวที่พม่า สำหรับคนที่รู้จักพม่าแต่ในข่าวหรือไม่เคยมา อาจจะกังวลถึงขั้นยกเลิกการเดินทางไปเลย ได้มามัณฑเลย์ช่วงนี้จึงเป็นช่วงคนน้อยเที่ยวสบาย ราคาตั๋วเครื่องบินที่ซื้อไว้จะไปเมืองพุกามในอีกสองวันข้างหน้าก็ราคาถูกมากแล้วพอมาจริง ๆ ได้เห็นทหารพม่าอยู่เฉพาะโดยรอบรันเวย์สนามบิน  พวกเขายืนเว้นระยะกันมองเห็นไกล ๆ ส่วนชีวิตในเมืองก็ดูสงบเป็นปกติมีแต่ห้ามออกจากบ้านช่วงหัวค่ำถึงรุ่งเช้า

ภายในพระตำหนักไม้สัก เรียกได้ว่ามีการแกะสลักทั้งหลัง ด้านในยังมองเห็นทองคำที่ปิดไว้อร่ามงามตา พระเจ้ามินดงเป็นกษัตริย์ผู้สร้างพระราชวังมัณฑเลย์ (พ.ศ.๒๔๐๐) พระตำหนักแห่งนี้จึงทรงคุณค่าอย่างมาก หลังจากพระองค์สวรรคตในพระตำหนักนี้ (พ.ศ.๒๔๒๑) พระเจ้าธีบอ พระราชโอรส ผู้เป็นกษัตริย์องค์สุดท้าย ได้รับสั่งให้รื้อนำมาประกอบใหม่ ถวายให้กับวัดเมื่อย้ายนำมาประกอบใหม่ ทางวัดได้มีการดัดแปลงด้วยการนำพระพุทธรูปมาประดิษฐานไว้บนบุษบกที่จำลองแบบมาจากสีหาสนบัลลังก์การที่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเดินชมได้ นับว่าเป็นช่วงเวลาน่าประทับใจกับการได้เดินไปกับร่องรอยของประวัติศาสตร์ ได้เดินบนพื้นไม้ก้าวข้ามธรณีประตูในแต่ละบาน ท่ามกลางลวดลายแกะสลักเรื่องราวชาดกที่รายล้อมอย่างละลานตา

พระตำหนักไม้สักเพียงหนึ่งเดียวที่มีเหลืออยู่ถึงปัจจุบัน

อีกแห่งหนึ่งในมัณฑเลย์ที่ได้หยุดเวลาไว้แม้ว่าโลกจะไม่เคยหยุดหมุน และเวลาไม่เคยย้อนกลับ คือวัดพระมหามัยมุนี สถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัยทรงเครื่องกษัตริย์ ความสูง ๓.๘ เมตร วัดแห่งนี้ชาวบ้านเรียกว่าวัดยะไข่ รัชสมัยพระเจ้าปดุงแห่งราชวงศ์คองบอง ทรงตีเมืองยะไข่ได้ พระองค์ได้อัญเชิญพระมหามัยมุนีออกจากยะไข่มาในปี พ.ศ.๒๓๒๗ ทุกเช้ามืดเวลาตีสี่จะมีพิธีล้างพระพักตร์ให้องค์พระ ท่านเจ้าอาวาสจะนำน้ำมาล้างพระพักตร์ แปรงพระทนต์ จากนั้นจะนำผ้ามาเช็ดพระพักตร์ ทุกวันจะมีคนมาเข้าร่วมพิธีทั้งคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวมากันเต็มวัด ผ้าเช็ดพระพักตร์ที่มีคนนำมาถวายถือเป็นของมงคลศักดิ์สิทธิ์ หลังพิธีจะนำกลับไปบูชา ครั้งแรกที่ดิฉันไปมัณฑเลย์ไม่ได้ไปร่วมชมพิธีนี้ เพราะตอนนั้นรู้สึกเหมือนไม่ค่อยสบาย จึงไม่ไปกับเพื่อนจากนั้นอีกสองปีก็มาอีกครั้ง ก็ไม่ได้เห็นพิธีอีกเนื่องจากการประกาศเคอร์ฟิว ห้ามคนออกจากบ้านตั้งแต่หัวค่ำถึงเช้า จึงได้ไปวัดในตอนสาย

ทุกครั้งที่นึกถึงวัดพระมหามัยมุนี ก่อนอื่นความทรงจำดิฉันจะได้กลิ่นหอมของดอกมหาหงส์หรือดอกสะเลเต หอมมาก คนพม่าเค้านิยมร้อยกับด้ายเป็นมาลัยสาย เวลาถวายพระจะบูชาด้วยมาลัยมหาหงส์หลายสาย ยามสายของวัดผู้คนยังคงหนาตา บริเวณหน้าองค์พระมหามัยมุนี มีคนนั่งไหว้เต็มไปหมด องค์พระมีสีทองเหลืองอร่ามจากการที่มีคนเข้าไปปิดทององค์พระตลอดเวลา โดยมีขอบเขตให้ผู้ชายเท่านั้นที่สามารถเข้าไปปิดทองสัมผัสองค์พระ

เฉพาะผู้ชายที่สามารถเข้าไปปิดทององค์พระมหามัยมุนีได้

ดอกไม้ถวายพระแบบพม่า

วัฒนธรรมการบูชาดอกไม้ของคนพม่าน่าสนใจมาก ถ้าไปเดินตลาดสด แผงขายดอกไม้ค่อนข้างจะใหญ่โต ใช้พื้นที่มากจนสะดุดตา มีทั้งดอกไม้และใบไม้อีกหลายชนิด วัฒนธรรมการบูชาดอกไม้ถวายพระในพม่า นิยมจัดเป็นช่อและมีการร้อยเป็นมาลัย ดอกไม้ที่ใช้มีดอกมะลิดอกมาลุลี ดอกมหาหงส์ แล้วจะนิยมถวายมาลัยดอกไม้ทีละหลาย ๆ เส้นในคราเดียว ในการจัดช่อดอกไม้ นิยมใช้กิ่งและใบหว้า มาสักการะบูชาพระพุทธเจ้า เนื่องจากต้นหว้าเป็นไม้มงคลของพม่า ใบอ่อนสีออกแดงเรื่อเป็นส่วนของดอกหว้าโดยจะจัดถวายเป็นช่อร่วมกับดอกไม้หลากชนิดหลากสีสันตามแต่จะจัดหามา อาทิเช่น ดอกบุนนาค ดอกแกลดิโอลัส ดอกเข้าพรรษา ดอกกุหลาบ ดอกบัว ดอกบานชื่น ช่อดอกมะพร้าว ดอกลิลลี่ เป็นต้น

ขอกล่าวถึงดอกบุนนาค ก่อนหน้านี้ดิฉันไม่เคยรู้จักเลย ลักษณะของดอกบุนนาคแลดูคล้ายไข่ดาว ดอกมหาหงส์ก็ไม่รู้จักมาก่อน ดอกมหาหงส์กลิ่นหอมมาก ไม่เฉพาะนำมาถวายพระตามสี่แยกไฟแดงก็มีขาย ถ้าเหมาแท็กซี่เที่ยว เราจะเห็นว่าคนขับเค้าจะซื้อมาแขวนในรถเป็นกลิ่นน้ำหอม

การถวายใบหว้ามาจากคัมภีร์พุทธศาสนามักกล่าวถึงถิ่นเกิดของพระพุทธเจ้าในชมพูทวีปว่าคือ ดินแดนแห่งต้นหว้า ต้นหว้ามักจะมีส่วนใกล้ชิดกับพระพุทธองค์ในช่วงเจริญสมาธิ ในวัฒนธรรมพม่าจึงได้กำหนดให้ต้นหว้าเป็นไม้มงคลด้านความสำเร็จและชัยชนะจากกิเลสนอกจากนี้จะมีสิ่งประดิษฐ์จากกระดาษหลากสีที่ถวายบูชาพร้อมกัน พบได้ทั้งการสักการะและใช้ในงานเฉลิมฉลองอันเป็นมงคล ได้แก่ ร่มเงิน ร่มทอง ตุงไส้หมู ธงสามเหลี่ยม พัด

ขณะที่เข้าไปในโถงห้องใกล้กับองค์พระมหามัยมุนี ดิฉันเลือกนั่งใกล้ส่วนที่จัดดอกไม้บูชารู้สึกเพลิดเพลินตื่นตาตื่นใจ มองผ่านมวลดอกไม้เห็นองค์พระสีทองอร่าม งดงามมาก แม้ว่าจะไม่ให้สตรีเข้าไปใกล้สัมผัสองค์พระ แต่ก็สามารถเห็นองค์พระได้ระยะใกล้โดยอ้อมด้านนอกมองเข้าไปทางประตูด้านข้าง ศิลปะการสร้างองค์พระของพม่าสวยงามจับใจจริง ๆ

วิถีชีวิตริมแม่น้ำอิรวดี

หลังจากไหว้พระ เราจะไปเที่ยวนอกเมืองกัน พิจารณาทำเลที่ตั้งของมัณฑเลย์ จะเห็นว่ามีแม่น้ำสายประวัติศาสตร์ที่คนไทยคุ้นชื่อมากคือแม่น้ำอิรวดี ความกว้างของแม่น้ำบางช่วงคือยืนอยู่ฝั่งนี้จะมองไม่เห็นคนเดินอีกฝั่ง แม่น้ำอิรวดีเป็นมหานทีมีความยาวถึง ๑,๖๐๐ กม. ต้นน้ำคือเทือกเขาหิมาลัยที่มีหิมะปกคลุมทั้งปี อยู่ทางตอนเหนือของรัฐคะฉิ่น สภาพภูมิประเทศแถบนั้น ผู้ที่เคยไปเยือนบอกว่าสวยงามอย่างที่สุดเป็นเพชรเม็ดงามของพม่า เป็นเพราะปัญหาการสู้รบของรัฐบาลกลางพม่ากับกลุ่มชาติพันธุ์คะฉิ่นยังไม่สงบ ทำให้เรายังไปเที่ยวเล่นหิมะในพม่ากันไม่ได้สักที จากต้นน้ำแม่น้ำอิรวดีไหลผ่านเมืองมัณฑเลย์ เมืองพุกาม เมืองแปร จนมาถึงปากแม่น้ำที่อ่าวเมาะตะมะ

จากตัวเมืองมัณฑเลย์มีถนนแคบ ๆ เลียบมากับแม่น้ำอิรวดี ในเส้นทางไปเมืองมิงกุน ดิฉันรู้สึกสบายตาหายใจคล่องกับทิวทัศน์ที่มองเห็นต้นไม้ใหญ่ที่มีอยู่มากมาย จุดสนใจที่สะกดสายตาคือแม่น้ำกว้าง น้ำใสสะท้อนกับแสงยามเช้า ภาพหนึ่งที่ชอบมากคือ ภาพของต้นนุ่นยักษ์ริมแม่น้ำ มองเห็นเรือ เห็นชายคนหนึ่งนุ่งโสร่งกำลังเดินอยู่แถวนั้น เขาดูเป็นมนุษย์ตัวเล็กมากเมื่อเทียบกับขนาดของต้นไม้

จากเมืองมัณฑเลย์ไปถึงเจดีย์มิงกุน ทางรถยนต์ใช้เวลาประมาณ ๒ ชั่วโมง เจดีย์ที่เห็นเป็นเพียงส่วนฐานของเจดีย์ ไม่ใช่จากการพังทลายที่ทำให้ไม่เห็นยอดเจดีย์ แต่เกิดมาจากการสร้างไม่เสร็จตามความตั้งใจของพระเจ้าปดุง

แรกสร้างคือ พ.ศ.๒๓๓๓ การออกแบบคือต้องการให้เป็นเจดีย์ที่มีความสูงที่สุดในโลก ทั้งยังได้เตรียมสร้างระฆังยักษ์ไว้รอ (ขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก) เล่ากันว่ามีคำทำนายว่าถ้าพระองค์สร้างเสร็จจะมีอาถรรพ์ทำให้สวรรคต

ด้านหน้าเจดีย์มีภาพน่าดูของเกวียนเทียมวัวขนาดกะทัดรัดรอรับนักท่องเที่ยว เจดีย์นี้ให้นักท่องเที่ยวปีนขึ้นไปชมวิวด้านบนได้ สำหรับคนสูงอายุจะมีเด็กวัยรุ่นมาอาสาช่วยเหลือพยุงขึ้นไป แลกกับค่าทิป ช่วงเดินขึ้นไปตามด้านข้างเจดีย์ บางจุดมองเห็นธูปเป็นจำนวนมาก มีคนมาปักค้ำไว้ตามซอกหลืบเจดีย์ นั่นเป็นไปตามความเชื่อให้ชีวิตมีแต่ความมั่นคง ทิวทัศน์ของแม่น้ำอิรวดีจากมุมสูง มองแล้วก็เพลินตาดี

จากมิงกุนไม่ไกลกัน เพียงข้ามแม่น้ำทางเรือหางยาว เราจะได้เยือนเมืองอังวะกัน พอเอ่ยนามชื่อเมืองนี้ขึ้นมา รู้สึกสะดุดใจมาก เพราะคุ้นกับชื่อเมืองนี้มาตั้งแต่เด็ก ๆ เพราะเมื่อก่อนในทีวีมีการแสดงลิเก แม่กับยายชอบเปิดดู ชื่อเมืองอังวะได้ยินบ่อยจนคุ้นหู

เมืองอังวะช่วงที่พม่าเริ่มเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ได้กลายเป็นวินาทีความทรงจำ ทันทีที่เรือหางยาวเข้าเทียบฝั่งเมืองอังวะ ก้าวขึ้นท่าเรือเหยียบบนแผ่นดินในนิยาย ได้มองเห็นตนเองอยู่ในฉากหนึ่งที่ยืนอยู่ท่ามกลางสถานีรถม้ากับสายตาหลายสิบคู่ที่มองมาแวบหนึ่งคือ นี่ฉันอยู่ในช่วงปีสองพันสามร้อยหรืออย่างไร รู้สึกเข้าใจความรู้สึกของตัวละครที่จู่ ๆ ไปโผล่ย้อนเวลาในอดีต คนอ่านจะสนุกตื่นเต้น แต่ตัวละครเค้ากลัว กลัวไม่ได้กลับไปอยู่ในที่ของตนเอง อารมณ์นี้น่าจะเกิดมาจากบางสิ่งที่คนท้องถิ่นเค้าเก็บอดีตและความเป็นท้องถิ่นของเค้าไว้อย่างบริสุทธิ์ สายตาการมองคนแปลกหน้าต่างถิ่น มีการดูท่าทีและอยากสื่อสาร ซึ่งในกลุ่มสารถีรถม้ากลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ โดยจะมีเพียงคนเดียวที่พอสื่อสารได้

แม้จะขลุกขลักบ้าง แต่ท้ายที่สุดเราก็ได้นั่งรถม้าชมเมือง เนื่องจากเราไปกันสามคนจึงต้องมีหนึ่งคนมานั่งข้างคนขับหนุ่ม ท่าทางเป็นมิตรพอไปได้เล็กน้อย เขาก็เรียกเด็กน้อยมานั่งคั่นกลาง เราแซวกันเองขำ ๆ ว่า เค้าคงกลัวชาวบ้านครหานินทาว่ามานั่งข้างผู้หญิงต่างถิ่น เมืองอังวะนี้ดูเป็นชนบทมากเมื่อเทียบกับฝั่งมัณฑเลย์ บ้านเรือนล้วนเป็นแบบโบราณ คนใช้จักรยานเป็นพาหนะกัน แม้จะไม่เห็นโบราณสถานขนาดใหญ่เหมือนกับเมืองอื่น แต่ความน่าสนใจอยู่ที่ความเป็นธรรมชาติไม่ได้ตกแต่ง ได้เห็นเจดีย์องค์เล็ก ๆ กระจายตัวกันอยู่เป็นระยะ แม้จะดูเก่าแต่เมื่อมองที่ยอดฉัตร ได้เห็นของมีค่าด้วยความศรัทธาถวายแด่พระพุทธเจ้าครอบไว้ด้านบน มีต้นไม้ใหญ่มากมาย ในที่แห่งหนึ่งมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่อยู่ใต้ต้นไม้ยักษ์ ตรงเจดีย์ขนาดเล็กอีกแห่งในกลุ่มโบราณสถานยาดามามีฉากหลังเป็นดงตาล ภาพแบบนี้เหมือนในภาพสเก็ตช์ของฝรั่งนักสำรวจในสมัยที่ยังไม่มีกล้องถ่ายรูปใช้กันแพร่หลาย ใกล้กับวัดบากะยา วัดที่สร้างด้วยไม้สักตามหนองบึงมีพืชน้ำขึ้นเต็ม มีใบและดอกลอยเป็นแพ ส่วนที่เว้นมองเห็นผิวน้ำ ได้ปรากฏภาพสะท้อนในน้ำเป็นเจดีย์สีทอง

เจดีย์องค์เล็กโบราณสถานในเมืองอังวะ

เกวียนรับจ้างหน้าเจดีย์มิงกุน

ในสวนสวยร่มรื่นของเมืองพินอูลวิน

วิถีชีวิตผู้คนในเมืองพินอูลวิน

จากมัณฑเลย์ยังสามารถข้ามกาลเวลาต่อไปยังเมืองพินอูลวินหรือเมย์เมียว อยู่ห่างจากมัณฑเลย์ประมาณ ๖๗ กม. สามารถเหมารถเที่ยวแบบไปเช้าเย็นกลับได้ เมืองนี้คนไทยยังไปกันน้อย เส้นทางเข้าเมืองเป็นทางลดเลี้ยวขึ้นภูเขา สำหรับคนที่คุ้นเคยกับเส้นทางภาคเหนือของไทย จะบอกว่าไม่ได้น่ากลัวอะไร การเหมารถคนขับมีภาพจุดแวะเที่ยวใส่ไว้ในมือถือให้ลูกค้าดู ถ้าอยากแวะที่ไหนเพิ่มก็บอกเขา เพื่อจะได้ทำเวลาเที่ยวได้ครบ เมืองนี้มีความเก๋ไก๋กับรถม้ารับจ้าง แม่บ้านที่นี่ไปจ่ายตลาด นั่งรถม้าแบบตู้โดยสารดูหรูไปเลย ที่สะดุดตาอีกอย่างหนึ่งคือคนขับรถม้าของเมืองนี้มีหน้าตาเป็นแขก เกิดมาจากสมัยที่อังกฤษปกครองพม่า ได้ใช้เมืองนี้เป็นฐานบัญชาการปราบปรามกลุ่มต่อต้าน อังกฤษเข้ามาอยู่พร้อมกับได้นำทหารรับจ้างมาจากอินเดีย เนปาล ที่เรียกกันว่าทหารกุรข่านมาคอยรับใช้ พอพม่าได้เอกราช ทหารรับจ้างกลุ่มนี้ไม่ยอมกลับ ได้แต่งงานกับคนท้องถิ่นมีลูกมีหลานกลายเป็นพลเมืองของพม่า

สาเหตุที่อังกฤษเลือกทำเลเมืองนี้ มาจากสภาพอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี ปัจจุบันเป็นแหล่งปลูกดอกไม้เมืองหนาว ช่วงฤดูหนาวมีผลสตรอเบอร์รี่มากมายขายกันในราคาถูก ในเมืองเราจะเห็นรูปแบบบ้านอาคารหลายหลังเป็นสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก เข้าเมืองจะเห็นหอนาฬิกาเพอร์เซลล์เป็นสัญลักษณ์เมือง จุดท่องเที่ยวที่ร่มรื่นในเมืองอยู่ที่สวนพฤกษศาสตร์กันดอว์จี สร้างขึ้นใน พ.ศ.๒๔๕๘ มีการออกแบบให้คล้ายกับสวนในประเทศอังกฤษ ปัจจุบันยังคงโดดเด่นมีความสวยงาม แสดงให้เห็นถึงการได้รับการดูแลเป็นอย่างดี ดิฉันสังเกตดูคนงานดูแลต้นไม้ เขามีความละเอียดกระทั่งดอกไม้ที่ดูไม่สวยก็เล็มออก คนเมืองนี้โชคดีมากที่มีที่หย่อนใจสบายตา คนที่มากันเป็นกลุ่มใหญ่ เดินเที่ยวแล้วมักจะมานั่งล้อมวงกินข้าวที่จัดเตรียมมา เป็นบรรยากาศครอบครัวใหญ่ที่มีความสุขอบอุ่น

ช่วงเวลาที่ดิฉันเที่ยวเมืองนี้เป็นเดือนสิงหาคม เป็นช่วงฤดูฝน มีบางเวลาฝนตกลงมาบ้างแต่ไม่มาก ยังสามารถแวะเที่ยวน้ำตกได้ น้ำตกปเวก๊อกหรือน้ำตกแฮมเชียร์ เป็นที่ยอดนิยมของจุดแวะเที่ยวของคนพม่า น้ำตกนี้มองมุมกว้างสวยดี มีการทำสะพานโค้งให้เดินไปได้ใกล้ ๆ และที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับพม่าคือ การมีเจดีย์องค์เล็กตั้งไว้มุมหนึ่ง อีกน้ำตกหนึ่งที่น่าเที่ยวชมคือ ถ้ำน้ำตกมหานาธมุ ชื่อนี้มาจากที่ภายในถ้ำมีการสร้างสถูปเจดีย์ไว้ในโถงห้องที่มีแอ่งน้ำศักดิ์สิทธิ์และประดิษฐานพระพุทธรูปไว้นับร้อยองค์ มีการสร้างทางให้เดินได้ภายในถ้ำ ปากถ้ำเป็นธารน้ำไหลออกมาเป็นน้ำตก หลายคนลงอาบน้ำตกในชุดสวย ๆ กันแบบนั้นเลย ดูน่าสนุกและเป็นสิริมงคลด้วย

หากมองตามที่ตั้งของเมืองพินอูลวิน คือน่าจะอยู่เขตรัฐฉานแล้ว แต่การปกครองยังขึ้นอยู่กับมัณฑเลย์ อีกสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงมากคือ สะพานก๊อกเต๊ก เป็นสะพานเหล็กข้ามหุบเขาและเหวลึก จากเมืองพินอูลวินไปเมืองสีป่อ กล่าวกันว่าเป็นทางรถไฟที่มองเห็นทิวทัศน์ได้สวยงามตื่นตาตื่นใจที่สุดของพม่า ตอนดิฉันไปพินอูลวิน น่าเสียดายที่ยังไม่ได้มีแผนเที่ยวเพื่อนั่งรถไฟข้ามสะพานสายประวัติศาสตร์นี้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ดูหนังไทยชื่อว่า ถึงคน…ไม่คิดถึง (From Bangkok to Mandalay) เป็นหนังรักที่ดูแล้วอิ่มใจทั้งกับนักแสดงทุกคน ทีมงานเบื้องหลังและผู้สร้างหนังไทยเรื่องนี้ชนะใจประชาชนคนพม่า ให้ชักชวนกันไปดูทุกเพศทุกวัยเต็มทุกรอบ ทำรายได้แบบถล่มทลาย ฉากหนึ่งได้ฉายภาพสะพานแห่งนี้ได้สวยงามตกตะลึงพรึงเพริดหนังเรื่องนี้พล็อตเรื่องก็คือการข้ามกาลเวลาจากความทรงจำกับความรักของผู้หญิงคนหนึ่ง ผ่านทางจดหมายที่มอบให้เป็นมรดกกับหลานสาวความรักได้ก่อตัวขึ้นระหว่างการเดินทางไปในสถานที่ต่าง ๆ กับชายคนรัก ท่ามกลางฉากสวยงามของประเทศพม่า แต่แล้วเมื่อทั้งคู่กลับมาสู่โลกแห่งความเป็นจริงที่ความรักต้องมีความเหมาะสมมีการยอมรับจากคนในครอบครัว ทั้งคู่จึงต้องจากกันแบบค้างคาใจ เวลาผ่านไปห้าสิบปีพร้อม ๆ กับที่พม่าเปิดประเทศ หลานสาวได้ตามรอยจดหมายของย่าไปทุกหนแห่งในสถานการณ์คล้ายกันกับชายแปลกหน้าผู้อาสานำทาง เธอเดินทางไปด้วยความพยายามเข้าใจความรู้สึกของย่าพร้อมกับความรู้สึกหวั่นไหวที่ตนเองยากจะเข้าใจ การสะท้อนภาพกันในสองยุคเป็นงานศิลปะบนแผ่นฟิล์ม ซึ่งเรื่องนี้ทำได้น่าประทับใจ

การท่องเที่ยวแบบเพลิดเพลินไปกับเรื่องราว ตามรอยอดีต ดึงภาพดึงกาลเวลาคลุกเคล้าไปกับจินตนาการ แม้ช่วงเวลาการเดินทางในสถานที่แห่งนี้จะใช้เวลาเพียงไม่กี่วัน แต่การเดินทางมักจะไม่จบลงเพียงแค่นั้น เพราะใจของเรายังคงกระตือรือร้นแสวงหาเรื่องราวในตอนต่อ ๆ ไป

หน้าถ้ำน้ำตกมหานาธมุ

น้ำตกปเวก๊อก

สถูปองค์เล็กในถ้ำน้ำตก

****

นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๗๕
ปีที่ ๗ ประจำเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๑
นิตยสารรายเดือนของชาวอีสานและคนไททุกภูมิภาค
ลึกซึ้งรากเหง้า เข้าใจปัจจุบัน รู้ทันอนาคต

Related Posts

ขี้ลืม
การเรียนรู้และการสืบทอดภูมิปัญญา (๑)
การ์ตูนข่วงบักจุก : จุกชายคา ทางอีศาน 75
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com