ยุทธศาสตร์ประชาชน
งานวัฒนธรรมมีความสำคัญเป็นเอก ภายใต้สถานการณ์ในประเทศและของโลกขณะนี้ ยิ่งชี้ให้เห็นชัดว่า งานด้านวัฒนธรรมเหมาะสำหรับนำพางานด้านความมั่นคงและการสรรสร้างนำทางเศรษฐกิจ ดังนั้น กระทรวงวัฒนธรรมจึงสำคัญเป็นกระทรวงอันดับหนึ่ง นักการเมืองผู้ประกาศอุทิศตนทำงานเพื่อบ้านเมือง จึงต้องชิงกันขันอาสาเข้าไปเป็นเจ้ากระทรวงนี้
ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของ คสช. ได้ตั้งงบประมาณจากภาษีประชาชนให้กระทรวงวัฒนธรรมใช้จ่ายเกือบ 90,000,000,000 ล้านบาท (เก้าหมื่นล้านบาท) ด้วยงบประมาณมหาศาลหากยุทธศาสตร์ถูกต้อง บุคลากรมีคุณภาพประสิทธิภาพ และธรรมาภิบาล รับรองว่าชาวบ้านอยู่อุ่นกินอิ่มกันถ้วนหน้า ประชาชาติเจริญรุ่งเรืองทัดเทียมอารยประเทศแน่นอน
บุคลากรกระทรวงวัฒนธรรมทุกระดับ โดยเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งวัฒนธรรมจังหวัดซึ่งเกาะติดอยู่กับพื้นที่ ต้องไม่วางตัวเป็นเจ้าคนนายคน เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ศรัทธารากเหง้าบรรพบุรุษตน เทิดทูนภูมิปัญญาบรรพชนในพื้นที่ที่ปฏิบัติงานเข้าใจลึกซึ้งประ วัติศาสตร์ชาติพันธุ์วรรณนา ฮีตคอง และยกชูสถานะศิลปะการแสดงประจำถิ่นให้สูงเด่น อีกทั้งในการสนองรับราชการซึ่งเปี่ยมด้วยเกียรติ สวัสดิการต่าง ๆ แล้ว เจ้าพนักงานทุกชั้นยศที่ทำงานด้านวัฒนธรรม ผู้นำจากสำนึกด้านภายในที่ดีงาม ต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน
กิจกรรมรูปธรรมทุกอย่างต้องให้ชาวบ้านชาวเมืองเข้ามามีส่วนรู้เห็น เป็นเจ้าข้าวเจ้าของ ชาวบ้าน ชาวเมืองมีบทบาทเป็นพระเอกนางเอกในทุกงานพิธีมีภาพมีเสียงได้เผยแพร่ทางวิทยุโทรทัศน์อย่างโดดเด่น รายรับรายจ่ายในการจัดงานโปร่งใส ผลประโยชน์ทุกบาททุกสตางค์ที่เกิดมีเป็นของส่วนรวมจัดสรรแบ่งปันให้ทั่วถึง สัมฤทธิผลจากการศึกษาสืบสาน ต่อยอดองค์ความรู้ด้านงานวัฒนธรรม ผลเบื้องต้นย่อมสร้างพลังชีวิตทุกชีวิตให้กระตือรือร้นสร้างความรักสามัคคีให้ชุมชนเข้มแข็ง ผลต่อมาทุกคนจะเกิดแรงคิด ร่วมมือกันการสร้างสรรค์อย่างเต็มเปี่ยมด้วยความสุข
ที่สำคัญอย่างยิ่ง ต้องให้นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีทุกกระทรวง รวมถึงสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด ตระหนักถึงบทบาทที่ใหญ่หลวงของงานวัฒนธรรม งานด้านวัฒนธรรมไม่ใช่ไม้ประดับ ถ้าจะสรุปย่อหน้าสุดท้าย
ถึงยุทธศาสตร์ประชาชนด้วยสำนวนฝ่ายยุทธศาสตร์รัฐ ต้องเขียนว่าทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็…
“…เพื่อให้การขับเคลื่อนบรรลุผลอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม มุ่งไปสู่การสร้างความ มั่นคง มั่งคั่ง
ยั่งยืน อย่างเป็นธรรมและทั่วถึงสืบไป”