รักนั้นเป็นฉันใด
ทางอีศาน ฉบับที่๑๐ ปีที่๑ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๖
คอลัมน์: ในเครื่องแบบ
Column: In uniform
ผู้เขียน: สมพงษ์ ประทุมทอง
กุมภาพันธ์ เป็นเดือนแห่งความรัก สังคมบ้านเราได้รับเอากิจกรรมของฝรั่งไว้เป็นวัฒนธรรมของตัวไปเรียบร้อยแล้ว
๑๔ กุมภาฯ วันวาเลนไทน์-วันแห่งความรักทางโหราศาสตร์เรียกเดือนนี้ว่า ราศีกุมภ์ เป็นธาตุลม อันหมายถึงการเคลื่อนไหวไหลลื่นที่ไม่ปรากฏตัวตน ลมหรืออากาศที่ไม่อาจมองเห็นได้ มีสัญลักษณ์เป็นรูปผู้ชายถือหม้อน้ำ ซึ่งดูแล้วไม่เห็นจะเกี่ยวกับความรักตรงไหน แต่เพราะมีเหตุการณ์ที่มีการแสดงออกถึงการยึดถือความรักเป็นสรณะ เดือนนี้เลยกลายเป็นเดือนแห่งความรัก
เพื่อให้สอดคล้องกับเดือนแห่งความรัก ผมขอร่วมส่วนด้วยการนำนิยามแห่งความรักของปราชญ์มานำเสนอต่อท่านผู้อ่าน ลำพังตัวผมไม่มีสติปัญญาพอจะสรุปเป็นนิยามเองได้ เหมือนนักวิจัยที่อ้างทฤษฎี หลักการ วรรณกรรม มาสรุปเป็นคำตอบสุดท้ายในงานวิจัยนั้นแหละครับ
วรรณกรรมไทยจะมีเทพที่เกี่ยวข้องกับความรัก การที่ชายหญิงมีความรักความใคร่ต่อกันไม่ได้เกิดขึ้นเอง หากแต่มีเทพเจ้าองค์หนึ่งชื่อ กามเทพอันเป็นเทพเจ้าแห่งความรักเป็นผู้กำหนด ตรงกับนิยายโรมันโบราณที่มี คิวปิด (Cupid) เป็นผู้ทำให้ชายหนุ่มหญิงสาวเกิดความรักกัน โดยวิธีแผลงศรไปปักที่ดวงใจของชายหญิง
แล้วรักนั้นเป็นฉันใด
บทละครพูดคำฉันท์เรื่อง มัทนะพาธา หรือตำนานแห่งดอกกุหลาบ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.๖) ในบทที่พระกาละทรรศิน อาจารย์ที่อยู่ในป่าหิมะวันบอกแก่ โสมะทัต ลูกศิษย์ กับศุภางค์ นายทหารคนสนิทของท้าวชัยเสน เกี่ยวกับความรักที่กามนิตมีต่อนางวาสิฏฐี ว่า
“ความรักเหมือนโรคา บันดาลให้ตามืดมนไม่ยินและไม่ยล อุปะสัคคะใด ๆความรักเหมือนโคถึก กำลังคึกผิขังไว้ก็โลดจากคอกไป บ่ยอมอยู่ ณ ที่ขัง”
วรรณกรรมเรื่อง กามนิต ภาคพื้นดิน บนลานอโศก วาสิฏฐี ได้พูดเป็นปรัชญาเกี่ยวกับความรักไว้ว่า “ความรักที่แท้จริงไม่ใช่สีแดง ย่อมมีสีดำดั่งสีนิล เหมือนดังสีศอพระศิวะ เมื่อทรงดื่มพิษร้ายเพื่อรักษาโลกไว้ให้พ้นภัย ความรักแท้จริงต้องสามารถต้านทานพิษแห่งชีวิต…ความรักย่อมเต็มใจเลือกเอาสีนิลคือความขมขื่นไว้ ดีกว่าจะเลือกเอาสีอื่น ๆคือมุ่งแต่จะหาความบันเทิงสุขอย่างเดียว”
นิยายของ “ศรีบูรพา” ที่สร้างเป็นภาพยนตร์คือเรื่องข้างหลังภาพ ให้ภาพความรักของนพพรกับหม่อมราชวงศ์กีรติ ไว้ตอนจบเรื่องว่า
“ความรักของผมเกิดที่นั่น” ข้าพเจ้าตอบ
“ความรักของเรา นพพร” พูดแล้วเธอหลับตาและพูดต่อไปอย่างแผ่วเบาเหลือเกิน
“ความรักของเธอเกิดที่นั่น และก็ตายที่นั่นแต่ของอีกคนหนึ่งยังรุ่งโรจน์อยู่ในร่างที่กำลังจะแตกดับ”
ก่อนหน้าจะสิ้นใจเธอขอดินสอกับกระดาษเธอต้องการพูดประโยคสุดท้ายกับข้าพเจ้า แต่หมดเสียง หมดแรง เธอจึงเขียนลงบนกระดาษว่า “ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน แต่ฉันก็อิ่มใจว่า ฉันมีคนที่ฉันรัก”
นิยามความรักอีกแบบที่ผู้ใช้ชื่อว่า “นิรนาม” เขียนเป็นบทกลอนไว้อย่างน่าสนใจคือ
“คือน้ำผึ้ง คือน้ำตา คือยาพิษ คือหยดน้ำอมฤตอันชื่นชุ่ม คือเกสรดอกไม้ คือไฟรุม คือความกลุ้ม คือความฝัน นั่นแหละรัก”
ความรักเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่มีเงื่อนไขตามภาวะวิสัย และไม่เลือกชาติพันธุ์วรรณะใดไม่ว่า “สูงสุดฟ้า ต่ำจนหญ้าบัง” (เพลงเด็ดดอกรัก, ชรินทร์ นันทนาคร ขับร้อง)
ผญาปรัชญาอันเกิดจากภูมิปัญญาของคนอีสาน ในบทที่ว่าด้วยความรักของหนุ่มสาวยุคสมัยอันไกลโพ้น ที่สื่อสารด้วยการเป่าเขาสัตว์หรืออาศัยควันไฟแจ้งต่อกัน ต้องอาศัยธรรมชาติ อันประกอบด้วย ดวงดาว ท้องฟ้า ดวงตา เพื่อสื่อสารความรักความคิดถึงกันว่า “ถ่าแม้นเจ้าคึดฮอดอ้ายให้แหงนเบิ่งเดือนดาว สองตาเฮาสิจ้องกันอยู่เทิงฟ้า”
ความรักก็เป็นดังที่ว่ามานี้แหละครับ.