รากเหง้าวัฒนธรรมอาเซียน?

ทองแถม นาถจำนง
2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2559

อารยธรรมไป่เยวี่ย แหล่งอารยธรรมดึกดำบรรพ์อีกแหล่งหนึ่งของโลก
เรื่องที่จะเขียนต่อไปนี้ มันเป็นเรื่องเมื่อ ๑ หมื่นปีถึงสามพันปีที่แล้ว
ก็ไม่รู้ว่าจะมีประโยชน์อะไรสำหรับคนอื่นหรือเปล่า
แต่มันเป็นข้อสรุปตอบปัญหาที่ผมข้องใจ ค้นคว้ามาทั้งชีวิต

แหล่งอารยธรรมไป่เยวี่ยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีนปัจจุบัน (ในภาพ คำ viet เป็นภาษาเวียดนาม คือว่าจีนว่า “เยวี่ย” นั่นเอง)

อะไรคือรากเหง้าวัฒนธรรมอาเซียน ?

คำตอบคือ “วัฒนธรรมดึกดำบรรพ์ของชนพื้นเมืองในดินแดนตั้งแต่ใต้แม่น้ำแยงซีเกียง (ภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีนปัจจุบัน)ลงมาจนถึงอาเซียน”

เราจำเป็นต้องยืมชื่อที่คนจีนแท้ (หัวเซี่ย – ลุ่มแมน้ำหวงเหอ) เขาจดบันทึกไว้มาใช้ นั่นคือคำว่า “เยวี่ย” 越 , 粵 “ไป่เยวี่ย”(พวกเยวี่ยร้อยจำพวก)

ไป่เยวี่ย เป็นชื่อกลุ่มวัฒนธรรม ไม่ใช่ชื่อชนเผ่า (ทำนองเดียวกับคำว่า “ขอม”)

รากฐานที่สุดของวัฒนธรรมไป่เยวี่ยคือวัฒนธรรมข้าว (ข้าวเมล็ดป้อม)นาลุ่ม พบหลักฐานการปลูกข้าวเก่าที่สุดถึงเกือบหนึ่งหมื่นปี

“กลุ่มวัฒนธรรมไป่เยวี่ย” เป็นหนึ่งในแหล่งอารยธรรมเก่าแก่ของโลก

ในระหว่างหนึ่งหมื่นปีถึงสามพันปีที่แล้ว มันเป็นวัฒนธรรมที่แพร่กระจายออกไปเป็นรากฐานวัฒนธรรมของหลายภูมิภาค

หากถือเอาบริเวณลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงเป็นใจกลาง การกระจายตัวของกลุ่มวัฒนธรรมไปเยวี่ยไปในทิศทางต่าง ๆ มีดังนี้

๑. ด้านทิศเหนือ มันร่วมประสมกับวัฒนธรรมหัวเซี่ย(จีนแท้) จนกลายเป็นส่วนสำคัญ ๑ ใน ๓ ของวัฒนธรรมประชาชาติจีนปัจจุบัน
๒. ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มันร่วมประสมกับวัฒนธรรมตงอี๋(ศูนย์กลางอยู่แถบซานตง) กระจายไปถึงคาบสมุทรเกาหลีและญี่ปุ่น (จากการศึกษาโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ในไต้หวัน)
๓. ด้านทิศตะวันออก แพร่ไปทางทะเล กระจายไปเป็นวัฒนธรรมของกลุ่มชนในตระกูลภาษาออสโตรนีเซียนทั่วมหาสมุทรแปซิฟิก โดยเฉพาะกลุ่ม มาลาโย-โปโลนีเซียน [ปัจจุบันนักภาษาศาสตร์เริ่มยอมรับแล้วว่า ตระกูลภาษาไท-กะได กับออสโตรนีเซียนเป็นตระกูลภาษาเดียวกัน โดยเรียกว่าตระกูลภาษาออสโตร-ไท]
๔. ด้านทิศใต้ มันเป็นรากของวัฒนธรรมประชาชาติจีนในภาคใต้ของประเทศจีนปัจจุบัน มันเป็นรากฐานวัฒนธรรมของชนชาติในตระกูลภาษา ม้ง-เหมี่อน(เย้า) , ชนชาติในตระกูลภาษาไท-กะได
๕. ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ มันมีอิทธิพลและกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของชนชาติในตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก(มอญ เขมร) และตระกูลภาษาจีน-ธิเบต ที่อยู่แถบยูนนาน

 

 

ชนตระกูลภาษาออสโตรนีเซียนแพร่กระจายไปจากดินแดนแถบไต้หวัน

แต่เดิมนั้น ผมสนใจศึกษาเรื่องไป่เยวี่ยแต่เพียงในด้านที่บรรพชนของชนเผ่าไทเป็นส่วนหนึ่งของไป่เยวี่ย มาถึงตอนนี้เรื่องไปเยวี่ย กลายเป็นเรื่องของแหล่งอารยธรรมดึกดำบรรพ์ของโลก เช่นเดียวกับวัฒนธรรมอียิปต์ วัฒนธรรมเมโสโปเตเมีย วัฒนธรรมจีนแม่น้ำหวงเหอ

ในอนาคตอันใกล้นี้ หัวข้อวิจัยเกี่ยวกับ “กลุ่มวัฒนธรรมไป่เยวี่ย” จะได้รับความสนใจจากชาวโลก นักเรียนไทยที่ได้เรียนภาษาจีนอยู่ขณะนี้ หากชอบประวัติศาสตร์โบราณคดี ร่ำเรียนแล้วค้นคว้าวิจัยเรื่องนี้ จะได้เป็นนักวิชาการระดับโลก

สำหรับผมค้นคว้ามาสามสิบปี ได้ข้อสรุปเบื้องต้นเพียงเท่านี้

 

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com