รางวัลอุรังคธาตุทองคำ ครั้งที่ ๑ : ภาษาและวรรณกรรม กับการก้าวข้ามพรมแดนรัฐชาตินิยม
ท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ในสังคมไทย สมาพันธ์วรรณกรรมแม่น้ำของ ได้ถูกก่อตั้งขึ้น โดยนักเขียนกลุ่มหนึ่งที่นำโดยชัชวาลย์ โคตรสงคราม เพื่อเปิดพื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรม กิจกรรมทางปัญญาและบูรณาการอัตลักษณ์ ให้งานวรรณกรรมอยู่นอกเหนือจากการผูกขาดด้านวิธีคิดรัฐชาตินิยม ที่ครอบงำงานศิลปะ วัฒนธรรม และระบบการศึกษา
ตำนานอุรังคธาตุ หรือ ตำนานสร้างธาตุพนม เป็นแม่บทของวรรณกรรมตำนานพระธาตุและพระบาทในล้านช้างและแถบลุ่มแม่น้ำโขง ตำนานนี้กล่าวถึงเรื่องราวการเสด็จมาประทับรอยพระบาทไว้ในดินแดนสองฝั่งแม่น้ำโขงในสมัยพุทธกาล ในตำนาน พุทธพยากรณ์ระบุไว้ว่า พระพุทธองค์สั่งให้ พระมหากัสสปะ เถระอัครสาวก กับเจ้านครรัฐ ๕ พระองค์ ประกอบไปด้วย เมืองหนองหานน้อย กับ เมืองหนองหานหลวง ในพื้นที่บริเวณอุดรธานีและสกลนคร เมืองแกวสิบสองจุไท ในดินแดนเวียดนาม เมืองศรีโคตรบูร หรือ มรุกขนคร ในดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และ เมืองอินทปัต ในดินแดนเขมร มารวมกันสร้างพระธาตุ อัญเชิญอุรังคธาตุพระพุทธเจ้ามาบรรจุ
การก่อตั้งรางวัลอุรังคธาตุ จึงหมายถึงการให้ความสำคัญกับงานศิลปะ วัฒนธรรม เหนือการกำเนิดอำนาจรวมศูนย์ของรัฐชาตินิยมสมัยใหม่ที่รวมอำนาจทางด้านการเมือง การศึกษา เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม มาไว้ที่ส่วนกลาง ด้วยอุรังคธาตุเป็นตำนานที่เห็นภาพความสัมพันธ์ดินแดนลุ่มแม่น้ำโขงที่มีมาแต่โบราณ และอำนาจแท้จริงของวรรณกรรมอันประกอบสร้างจากเรื่องราววิถี วัฒนธรรม ที่เคารพรากในตัวตน เป็นสมบัติของมวลมนุษยชาติ และเหนือกว่าเส้นพรมแดนชาติรัฐใดจะครอบครองด้วยยึดเอาแต่วัฒนธรรมตนเป็นที่ตั้ง
โดยการมอบรางวัลอุรังคธาตุ ประจำปี ๒๕๖๑ ได้จัดขึ้นในวันเสาร์ที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๖๒ ณ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อมอบรางวัลอุรังคธาตุเกียรติยศ ให้แก่ คำสิงห์ ศรีนอก หรือ “ลาว คำหอม” นักเขียนเจ้าของผลงานรวมเรื่องสั้นอันอมตะ “ฟ้าบ่กั้น” ซึ่งส่วนหนึ่งในคำประกาศเกียรติคุณผู้ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติรับรางวัลอุรังคธาตุเกียรติยศ ประจำปี ๒๕๖๒ ได้กล่าวว่า
“ท่านคำสิงห์ ศรีนอก คือนักปราชญ์คนสำคัญที่มีแนวคิดทางสังคมและผลงานครอบคลุมมโนทัศน์สุนทรียศาสตร์ชาติพันธุ์ ในบริเวณสองฝั่งแม่น้ำโขงต่อจากท่านมหาสิลา วีระวงส์ อย่างชัดแจ้ง ด้วยเหตุนี้ฟ้าบ่กั้น จึงเป็นงานทางความคิดเรื่องสำคัญต่อจากมหากาพย์ท้าวฮุ่งท้าวเจือง สังข์สิลป์ชัย สารลึบ่สูรย์ และกาพย์เมืองพวน รวมทั้งบทเพลงดวงจำปา และถือได้ว่าทั้งหมดนี้เป็นส่วนปรากฏการณ์สำคัญยิ่งใหญ่ทางประวัติศาสตร์สังคมการเมืองครั้งที่ ๕ ต่อจากการกำเนิดนักปราชญ์ วรรณกรรมและประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ๔ ครั้ง คือ ๑.การสถาปนานครหลวงพระบาง ๒.การย้ายเมืองหลวงมาเวียงจันทน์ ๓.การกู้ชาติต่อสู้กับศักดินาสยามและฝรั่งเศส และ ๔.สงครามปลดปล่อยเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในปี ๒๕๑๘ แม้ว่าโดยที่สุดแล้วดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขง ได้ตกอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของสยามหรือรัฐชาตินิยมไทยมาจนถึงปัจจุบันอย่างทราบกันดี” และได้มอบรางวัลอุรังคธาตุยอดเยี่ยม ประจำปี ๒๕๖๑ แก่ ประยงค์ มูลสาร หรือ “ยงค์ ยโสธร” เจ้าของผลงานวรรณกรรมเรื่อง “คำอ้าย”
มาโนช พรหมสิงห์ ผู้แทนสมาพันธ์วรรณกรรมแม่น้ำของมอบรางวัลอุรังคธาตุ ให้กับคำสิงห์ ศรีนอก (“ลาว คำหอม”)
มาโนช พรหมสิงห์ ผู้แทนสมาพันธ์วรรณกรรมแม่น้ำของมอบรางวัลอุรังคธาตุให้กับประยงค์ มูลสาร (“ยงค์ ยโสธร”)
ปาฐกถา “พลังชีวิตและปัญญาในอุรังค ธาตุ” ของ มาโนช พรมสิงห์ นักเขียนเจ้าของรวมเรื่องสั้น “สายลมบนถนนโบราณ” และบรรณาธิการ “ชายคาเรื่องสั้น” ซึ่งมีสาระว่า
“ในยุคโบราณของโลกมนุษย์ มนุษย์ผนึกรวมตัวกันแล้ววิวัฒนาการเป็นสังคมบุพกาล เชื่อมตัวร้อยรัดเป็นกลุ่มก้อน เป็นชุมชน เป็นชนเผ่า เป็นชาติพันธุ์ ก็ด้วยเหตุมาจากการหาอยู่หากิน การเกษตรกรรม/ปศุสัตว์ รวมถึงการป้องกันตัวจากการแย่งชิงอาหาร/การขยายดินแดน
แหละการอยู่รวมกันของสังคมมนุษย์นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความรักความผูกพัน การสร้างเสริมภูมิปัญญาในด้านต่าง ๆ มีการ สร้างสัญญะ (sign) เพื่อการสื่อความระหว่างกัน ทั้งสื่อเพื่อรับรู้โดยตรง และสื่อถึงความสุนทรีย์/ความงาม รวมทั้งอารมณ์ความรู้สึกทุกชนิด สัญญะจึงเป็นทั้ง รอยสัก รูปเคารพ อนุสาวรีย์ พระพุทธรูป เรื่องเล่า ตำนาน พิธีกรรม ขนบประเพณี ไปจนถึง สัญญาณไฟ รหัสมอส เครื่องหมายคณิตศาสตร์ เป็นต้น
นอกจากนี้ สิ่งที่จะยึดโยงความเป็นปึกแผ่น/สังคมหรืออารยธรรมที่อุดมสมบูรณ์และสันติสุขได้ ก็ต้องเสริมสร้างพลังความรัก/ความศรัทธาขึ้นในหมู่ชนเหล่านั้น
กล่าวให้เฉพาะเจาะจงลงไป ชุมชนเก่าของชาติพันธุ์ลาวสองฟากฝั่งลำน้ำโขงนั้น มีความรักแห่งญาติมิตรและศรัทธาแห่งศาสนา เป็นพลังผลักดันให้เกิดการประกอบสร้างสัญญะต่าง ๆ ขึ้นเป็นวาทกรรมครอบคลุมวิถีชีวิตผู้คนทุกผู้ทุกนาม อันได้แก่ วรรณกรรมมุขปาฐะ วรรณกรรมลายลักษณ์อักษร มหากาพย์ และเป็น วรรณกรรมร่วมสมัยในปัจจุบัน แหละด้วยเครื่องมือที่ชื่อวรรณกรรมนี้ ประชาชนจึงบันทึกพลังแห่งชีวิตและปัญญาทั้งของชุมชนของสังคมและของตนในฐานะปัจเจก ให้ดำรงอยู่อย่างตราตรึงในหัวใจคนในสังคมประเทศชาติ
ซึ่งศาสนาผี ฮีตข่าคองขอม ทำให้เกิดมหากาพย์ ‘ท้าวฮุ่ง ขุนเจือง’ แต่งขึ้นช่วง พ.ศ. ๑๘๐๐-๑๙๐๐ ช่วงเดียวกับการสร้างแปงกรุงศรีอยุธยา และ ‘สังข์สินไซ’ ก็สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นในยุคเดียวกันนี้
ศาสนาพุทธ กับการสร้างสัญญะศูนย์รวมความศรัทธาชื่อ พระธาตุพนม ซึ่งบรรจุอุรังคธาตุอันเป็นอัฐิส่วนหน้าอกของพระพุทธเจ้า ทำให้เกิดหนังสือ ‘พื้นเวียง’ บทเพลงลาวแพน ซึ่งมีส่วนสำคัญยิ่งที่ก่อให้เกิดกบฏผีบ้าผีบุญ ในเมืองอุบลราชธานี อันเป็นที่ตั้งของที่ทำการการปกครองมณฑลอีสานกับอีกหลายหัวเมืองอีสาน ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ โดยคณะราษฎร พลังของชีวิตและปัญญาปรากฏเด่นชัดในงานวรรณกรรมอีกครั้งในช่วงกึ่งพุทธกาล ๒๕๕๐ เรื่อยมา งานที่มีพลังแหลมคมที่สุด (และมีพลังสืบเนื่องยาวนานมากระทั่งปัจจุบัน) คือ รวมเรื่องสั้น ‘ฟ้าบ่กั้น’ ของ ‘ลาว คำหอม’ นามจริง คำสิงห์ ศรีนอก และงานเรื่องสั้นบางชิ้นของ ‘รมย์ รติวัน’ หรือ ทวี เกตะวันดี
การลุกขึ้นของประชาชนเพื่อโค่นล้มเผด็จการในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม และช่วงก่อนการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย คำพูน บุญทวี ได้เขียนนวนิยายสัจนิยมบริสุทธิ์ ‘ลูกอีสาน’ และได้รับรางวัลซีไรต์ที่จัดขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ.๒๕๒๒
หลังป่าแตก คนป่าคืนเมือง ในจำนวนนั้นคนที่เป็นนักเขียน ก็จะเขียนงานต่อเนื่องกันอย่างคึกคักเข้มข้น หนึ่งในนั้นมี ประยงค์ มูลสาร นามปากกา ‘ยงค์ ยโสธร’ ผู้เขียนนวนิยาย ‘คำอ้าย’ ใน พ.ศ. ๒๕๓๑ ซึ่งเขากล่าวว่างานนี้เป็นตัวแทนความคิด จิตใจ และอารมณ์ความรู้สึกของตน ที่มีต่อแผ่นดินอีสานบ้านเกิด ต่อพี่น้องผองญาติผู้ยากไร้ ซึ่งเป็นรากฐานชีวิตของตน และได้รับรางวัลวรรณกรรมบัวหลวงในปี ๒๕๓๒
พลังแห่งชีวิตและปัญญาที่สุกสว่างดั่งแสงดาวนำทางของประชาชนและนักเขียนอีสานทั้งมวล ซึ่งถูกประกอบสร้างรังสรรค์อยู่ในงานวรรณกรรมทั้งหมด ที่กล่าวมาแต่ต้นนั้น คือผลพวงแห่งการผนึกชีวิตและปัญญาเป็นหนึ่งเดียวของคนอีสาน ผู้ทระนงในเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อันน่าจะเป็นผลมาจากพลังของความเชื่อมั่นศรัทธาอุรังคธาตุในพระธาตุพนม โดยจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม
ที่สำคัญยิ่งก็คือ นักเขียนที่เอ่ยนามมาแต่ต้นนั้น ได้สร้างแบบอย่างให้กับนักเขียนทั่วทั้งภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและนักเขียนทั้งประเทศ นั่นคือ พันธกิจในการหลอมรวมตัวตนให้เป็นหนึ่งเดียวกับอุดมคติในงานเขียนของตนอย่างไม่เคยแปรเปลี่ยน คือยืนหยัดในความดี ความงาม ความจริง ยืนหยัดเคียงข้างประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ไม่ได้รับการเหลียวแล เป็นพลเมืองชั้นสอง เป็นดั่งต่างด้าวในแดนตนซึ่งถูกกระทำย่ำยีจากมายาคตินานามาช้านาน
พลังชีวิตและปัญญาเยี่ยงนี้แหละ จึงจะเป็นแสงดาวแห่งหวังและศรัทธา นำพาประชาชนไปสู่อนาคตงดงามจนตราบนิรันดร์”
งานในวันนั้นมีผู้เข้าร่วมงานอย่างอบอุ่น อันประกอบไปด้วยนิสิต นักศึกษา ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี นักคิด นักเขียน ทั้งในพื้นที่และเดินทางไกลจากหลายภาค อาทิ มาริสา พละสูรย์, สมพร ประเสริฐสังข์, โกเมส มาสขาว, ธีร์ อันมัย, คำหอม ศรีนอก, แม่น้ำ เรลลี่ (ดุษฎี ปัญญา), จุฬา ละคร, เมฆ ครึ่งฟ้า, ชนวีร์ คำมงคล, รอนฝัน ตะวันเศร้า
ในช่วงของภาคบ่ายมีกิจกรรมดนตรีและอ่านบทกวีที่ ร้านหนังสือฟิลาเดลเฟีย ของนักเขียนหนุ่ม วิทยากร โสวัตร และเสวนาเปิดตัวหนังสือรวมบทกวี “โรงเรียนที่ไม่มีประตูและลืมล้อมรั้ว” ของกวีหนุ่ม ภิรเดช แก้วมงคล และบรรเลงขับกล่อมอ่านบทกวี ด้วยกิจกรรม “ขับกวีศรีจำปาระย้าย้อย” ไปตลอดบ่ายจนถึงเย็นย่ำวันนั้น