แม่ผู้เพาะต้นกล้าภาษา และวัฒนธรรมไทยในสวิส

แม่ผู้เพาะต้นกล้าภาษา และวัฒนธรรมไทยในสวิส

ต้นกล้า ธนากร คอมมอทที ลูกชายครูต้อม
เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดโรงเรียนสอนภาษาไทยที่รัฐอาร์เกา สวิส

“แม่ ใจเย็น ๆ แม่รอคิวก่อน”

เสียงเด็กชายหน้าตาฝรั้งฝรั่ง จับมือแม่บอกแม่ใจเย็น ๆ ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่ท่าตูม เมืองสุรินทร์ หรือที่กรุงเทพ ย่อมไม่แปลก แต่ที่แม่ลูกยืนคุยกันอยู่นั้นคือที่ เมืองเวททิงเง่น รัฐอาร์เกา สวิตเซอร์แลนด์

ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ หรือสมาพันธรัฐสวิส เราเรียกสั้น ๆ สวิส ดินแดนสวยงามแห่งหนึ่งของโลกอยู่ในทวีปยุโรป ใครจะไปคิดอยู่ถึงสวิสสุดขอบฟ้าไกลโพ้น จะมีเด็กชายหน้าตาฝรั้งฝรั่งพูดภาษาไทยได้ งงเด้

**

จากสุรินทร์บินสู่สวิส

ศศิธร ลาภจิตร (ต้อม) เกิดที่อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ ไปเติบโตที่บ้านพ่อ อำเภอท่าตูม เมืองช้าง จังหวัดสุรินทร์ เมื่อเล็กไม่เคยรู้จักสวิสไม่เคยคิดฝันว่าจะได้ไปใช้ชีวิตอยู่ในสวิส

จนกระทั่งน้าสาวได้ไปทำงานเป็นผู้ช่วยพยาบาลที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เอ่ยชวนต้อมที่อยู่ท่าตูมสุรินทร์ ให้เตรียมตัวไปอยู่สวิสด้วยกัน ซึ่งแม่ก็อยากให้ไป จึงเข้ามาเรียนต่อการศึกษาผู้ใหญ่ ในกรุงเทพฯ ทำงานไปเรียนไป น้าให้ไปเรียนภาษาเยอรมันที่เกอเธ่ ครั้งอยู่ที่ถนนพระอาทิตย์ บางลำพู เพราะเหตุสวิสใช้ภาษาเยอรมัน เรียนภาษาเยอรมันจนใช้การได้ทั้งพูดและเขียน

จากแดนอีสานบ้านเกิดเมืองนอน มาเล่นละครบทชีวิตหนัก จากพ่อแม่มาพบพาคนไม่รู้จัก

จึงจำลาสุรินทร์บินไปสวิสเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๑ อายุ ๒๐ ปีต้น ๆ ตามความปรารถนาดีของน้า ไปเรียนภาษาหนึ่งปี น้าส่งให้ไปอยู่หมู่บ้านเล็ก ๆ กับครอบครัวสวิส เพื่อเรียนรู้ภาษาและวิถีชีวิตถ้าอยู่กับน้าจะไม่รู้จักวิถีสวิสที่สัมผัสได้ ประหยัดมัธยัสถ์ ปลูกผัก ทำอาหารกินเอง ไม่นิยมกินอาหารนอกบ้าน รู้จักกันทั้งเมืองคือ สวิสชน

ห่างไกลน้าหนึ่งปี เป็นหนึ่งปีแห่งความอึดอัด สวิสแม้สวยงามแต่เหงานัก สวิสยามนั้นคนไทยน้อยมาก อยู่จนครบปีแล้วไม่มีสิทธิ์อยู่ต่อต้องกลับ ถ้าจะอยู่ต่อต้องแต่งงานกับคนสวิส บ่มักบักสีดา กลับสุรินทร์ดีกว่า

แต่แล้ว ๑๖ มกรา ๒๕๓๒ ฟ้าก็ส่งสวิสชนคนที่ใช่มาดูแลหัวใจ ศศิธร ลาภจิตร จึงเป็น ศศิธร คอมมอทที ลาภจิตร มาจนบัดนี้ คิดฮอดบ้านมื้อใด ได้แต่มายามตอนสงกรานต์ หรือตอนลูกปิดเทอมเท่านั้น โอละหนอ

ขณะนักเรียนผู้ปกครองร่วมเรียนรู้ภาษาไทยในห้องเรียน
คิดเพาะต้นกล้าภาษาไทย

เธอต้องพึ่งตัวเองให้ได้ เมื่อเวลาที่ฉันไม่อยู่ จะได้ช่วยเหลือตัวเองได้ สามีบอก

ตัดสินใจเริ่มต้นที่ตัวเอง ตั้งชื่อลูกเป็นภาษาไทยว่า ต้นกล้า ชื่อจริง ธนากร ตั้งใจพูดภาษาไทยกับลูกทุกวัน ตั้งแต่วันที่ลูกเริ่มพูดได้ จนลูกเรียกแม่ตลอด ไม่ได้เรียก มัทเทอร์ ภาษาเยอรมันไม่ได้เรียก มามี้ ภาษาสวิส คิดต่อมาจะทำอย่างไรให้ลูกอ่านเขียนภาษาไทยได้ดี ต้องมีโรงเรียน เปิดโรงเรียนสอนภาษาไทยให้ลูกครึ่งไทยสวิส ในเมืองเวททิ่งเง่น ได้มาเรียนรู้ภาษาไทยของคนไทย ภาษาไทยของแม่

ครูอาสาสอนและทำกิจกรรมที่โรงเรียนของรัฐอุนเตอร์โบเด้นสถานที่ปัจจุบัน
โรงเรียนภาษาไทยต้นกล้า

โรงเรียนภาษาไทยต้นกล้า อยู่ที่เมืองเวททิงเง่น รัฐอาร์เกา ชื่อโรงเรียนคือชื่อลูกชายเป็นโรงเรียนสอนภาษาไทย แรกเริ่มเปิดสอนที่บ้านครูต้อมเอง ต่อมาใช้ร้านอาหาร โอลด์ สยามของเพื่อนคนไทยเป็นที่เรียน แต่เมื่อนักเรียนมากขึ้นร้านอาหารย่อมไม่สะดวก จึงไปติดต่อฝ่ายการศึกษาอำเภออุนเตอร์ซิกเก้นทาล เมืองที่อยู่ทางการอนุญาตให้ใช้โรงเรียนรัฐในระดับประถมศึกษา ชื่อ อุนเตอร์โบเด้น ของหมู่บ้านได้ที่โรงเรียนนี้รัฐเปิดให้ชุมชนมาใช้สอนภาษาของชุมชนจีน สเปน ศรีลังกา และไทย สำหรับชุมชนไทยให้ใช้ ๒ ห้องเรียน เพื่อสอนภาษาไทยให้กับลูก ๆ ครอบครัวจะได้อบอุ่น รัฐสนับสนุนเต็มที่แต่มีข้อแม้ว่าครูต้องผ่านการอบรมการเรียนการสอนให้เรียบร้อยจึงมาสอนนักเรียนได้

โรงเรียนภาษาไทยต้นกล้าตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๗ สอนในวันเสาร์ สามโมงเช้าถึงเที่ยง ค่าเล่าเรียนคนละ ๓๐๐ ฟรังก์สวิส (๑ ฟรังก์ = ๓๓ บาท) ครูอาสาไม่มีเงินเดือนให้ หลักสูตรสอนภาษาไทยเบื้องต้นถึงชั้นสูง ใช้เวลาเรียน ๖ ปี ปิดเทอมตรงกับโรงเรียนในสวิส มีสอนแกะสลักผักผลไม้ รำไทย อาหารไทย วันพ่อ วันแม่ ชวนพ่อแม่นักเรียนมาร่วมงานขอบคุณพ่อแม่นอกจากนั้นครูต้อมยังเป็นครูอาสาสอนทำอาหารไทย แกะสลักผักผลไม้ ให้กับโรงเรียนมัธยมในเมืองเวททิงเง่น รัฐอาร์เกา อีกด้วย

เรียงความ “ลอยกระทง” ผลงานของ กัญญาณัฐ จันทีนอก ลายมืองามนัก

แม่น้องกัญญาณัฐ จันทีนอก บอกว่า “แม่กลัวลูกจะพูดภาษาเยอรมันไม่ได้ จึงพูดเยอรมันกับลูก ไม่ได้พูดภาษาไทยเลย เมื่อกลับบ้านที่สกลนคร ลูกอึดอัดเครียด เพราะพูดกับญาติ ๆ พี่น้องคนไทยไม่ได้ เมื่อน้องมาเรียนที่โรงเรียนต้นกล้าจนสามารถพูดเขียนภาษาไทยได้ พอไปสกลนครอีก คราวนี้ลูกพูดคุยกับญาติได้ ลูกมีความสุขไม่เครียด แม่ก็มีความสุข ขอบคุณโรงเรียนต้นกล้าที่สอนให้ลูกรู้ภาษาไทย พูดภาษาของแม่ได้”

อ่านบทความ แม่ผู้เพาะต้นกล้าภาษา และวัฒนธรรมไทยในสวิส ฉบับเต็มได้ในคอลัมน์ ไผว่าอีศานฮ้างนิตยสารทางอีศาน ฉบับที่ ๑๐๗  เดือนมีนาคม ๒๕๖๔

Related Posts

“คารคี” ฤๅษีหญิงแห่งโลกตะวันออก
ร่องรอยหลักฐาน
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับแนวคิดสตรีนิยมนักคิดสตรีนิยม และสตรีนิยมสายต่าง ๆ
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com