ลักษณะลาว

. ความหมายของคำว่า ลาว

คำถามที่เกิดขึ้นกับคนโดยทั่วไป เช่นคำถามที่ว่า อะไรคือ ลาว อย่างไรจึงเป็นลาว หรือ อะไรคือ ไทย อย่างไรจึงเป็นไทย คำถามเหล่านี้ดูน่าสนใจ แต่ยากที่จะให้คำตอบที่ได้ความชัดเจน เนื่องจากคำตอบมักจะผูกพันกับความเป็นรัฐ เป็นชาติ (nationstate) ซึ่งเป็นอิทธิพลของฝรั่งชาติตะวันตกที่นำไปเผยแพร่ทั่วโลก คนไทยได้รับแนวคิดนี้มาปรากฏชัดเจนนับตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ (พ.ศ. ๒๓๙๔-๒๔๑๑) เป็นต้นมา พระองค์ได้ทรงสร้างความเป็นตัวตนและลักษณะเฉพาะของความเป็นสยาม-ไทย เพื่อรวมกันให้เกิดสำนึกความเป็นชาติแทนความเป็นราชอาณาจักรแบบโบราณ ที่ประกอบด้วยคนหลายกลุ่มหลายชาติพันธุ์ หลายภาษา หลายวัฒนธรรม ซึ่งมารวมอยู่ภายใต้ศูนย์กลางอำนาจร่วมกัน และในปลายรัชสมัยจึงเริ่มมีการปักปันเขตแดนทางทิศตะวันตกกับอังกฤษที่ครอบครองพม่าเพื่อแสดงอาณาเขตที่ชัดเจน

*คัดมาจากหนังสือ “ประวัติศาสตร์นอกขนบ” – ชุมนุมบทความด้านประวัติศาสตร์ สังคม ของนักวิชาการร่วมสมัย, อภิราดี จันทร์แสง บรรณาธิการ. สำนักพิมพ์อินทนิล คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, พ.ศ. ๒๕๕๕.

ความเป็นรัฐไทยดูจะเป็นรูปร่างชัดเจนมากยิ่งขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ (พ.ศ. ๒๔๑๑-๒๔๕๓) ที่ได้ทรงดำเนินนโยบายการสร้างและปรับปรุงประเทศต่อจากพระราชบิดา คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ความสำเร็จที่เห็นได้ชัดเจน คือ การปฏิรูปประเทศให้ทันสมัย โดยเฉพาะการตั้งกระทรวงขึ้น ๑๒ กระทรวงใน พ.ศ. ๒๔๓๕ และพระปรีชาที่สามารถรวบรวมพื้นที่ต่าง ๆ ที่ยังไม่แน่นอน เข้ามาเป็นพื้นที่ของประเทศสยาม รวมทั้งทรงมีบทบาทที่สามารถพาสยามรอดพ้นจากการตกเป็นเมืองขึ้นของมหาอำนาจตะวันตก ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวสยามและคนไทยในเวลาต่อมาภาคภูมิใจในเกียรติภูมิดังกล่าวด้วยเหตุนี้ภายใต้ความเป็นรัฐชาติ กลุ่มคนหลายกลุ่มชาติพันธุ์ หลายภาษา หลายวัฒนธรรม จึงถูกนับรวมเป็นคนกลุ่มเดียวกัน คือ คนสยามหรือคนไทยในเวลาต่อมา ทั้งที่เดิมในดินแดนสยามมีผู้คนหลายกลุ่ม มีความแตกต่างกัน เคยอาศัยอยู่ร่วมกันมาก่อน โดยเฉพาะคนกลุ่มใหญ่คือกลุ่มลาว ซึ่งอยู่บริเวณภาคเหนือและภาคอีสานของประเทศไทยในปัจจุบัน เมื่อเกิดความคิดแบบรัฐชาติ ผู้นำไทยจึงได้พยายามหาความเฉพาะที่ทำให้คนที่อ้างชื่อว่าเป็นพวกเดียวกันได้ปฏิบัติในทิศทางเดียวกัน

การกระทำดังกล่าวมีผลให้ผู้คนกลุ่มเดียวกันหรือต่างกลุ่มในอดีต มุ่งไปให้ความสำคัญกับความเป็นคนไทยแท้ ลาวแท้ หรือพยายามมุ่งเน้น ไปที่เชื้อชาติซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดและเป็นไปได้ยาก แทนการอธิบายด้วยวัฒนธรรมอย่างไรก็ตามในบทความนี้พยายามที่จะอธิบายคำว่า “ลาว” ตามบริบทของความเป็น ลาวอีสาน ในลักษณะของการให้ความสำคัญทางวัฒนธรรม มิใช่ให้ความสำคัญกับลาวที่หมายถึงผู้คนที่เป็นเชื้อชาติลาวในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ในปัจจุบัน

ตามความเข้าใจโดยทั่วไป “ลาว” คือคนกลุ่มหนึ่ง หรือบางครั้งให้ความสำคัญกับ “คนไท” ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณแม่น้ำโขง คนไทกลุ่ม นี้เกี่ยวข้องใกล้ชิดกับกลุ่มคนไทที่เรียกตัวเองว่า สยาม ซึ่งมีอำนาจบริเวณลุ่มแม่นํ้าเจ้าพระยา กลุ่มคนลาวได้อาศัยปะปนอยู่กับคนกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ และต่อมาได้ขยายตัวและสามารถมีอำนาจเหนือคนหลายกลุ่มโดยได้สร้างอาณาจักรล้านช้าง และอาณาจักรล้านนาขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๙

ในระยะแรก ๆ อาณาจักรล้านช้างมีศูนย์กลางที่นครหลวงพระบาง (และต่อมาได้สถาปนานครเวียงจันทน์ และจำปาศักดิ์) เป็นมิตรไมตรีอันดีกับผู้คนในลุ่มแม่นํ้าเจ้าพระยาคืออาณาจักรอยุธยา ในขณะที่อาณาจักรล้านนาได้ทำสงครามกับอยุธยาเป็นเวลานาน จนถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๔ สมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (ตากสิน) ได้ทรงรวบรวมหัวเมืองล้านนาไว้ในอำนาจสยามและทำให้เกิดความเป็นมิตร จนล้านนาได้ช่วยสยามในการทำศึกกับพม่าในเวลาต่อมา

ในขณะเดียวกันความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรล้านช้างกับสยามเป็นไปในด้านลบมากขึ้นเมื่อกองทัพของสยามได้ทำสงครามกับจำปาศักดิ์และเวียงจันทน์ ตลอดจนได้ครอบครองหลวงพระบาง ทำให้อาณาจักรล้านช้างได้ตกอยู่ในอำนาจของสยามใน พ.ศ. ๒๓๒๒

ความสัมพันธ์ระหว่างลาวล้านช้างและสยามได้เลวร้ายลงเมื่อเกิดเหตุการณ์เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ ซึ่งพยายามปลดแอกจากอำนาจสยามใน พ.ศ. ๒๓๖๙-๒๓๗๑ กองทัพสยามได้ชัยชนะและทำการเผาเพื่อทำลายนครเวียงจันทน์ รวมทั้งกวาดต้อนผู้คนจากฝั่งซ้ายแม่นํ้าโขงเข้ามายังฝั่งขวาแม่นํ้าโขงและได้กระจายผู้คนลาวไปยังดินแดนส่วนต่าง ๆ ของสยาม

ในพุทธศตวรรษที่ ๒๕ อาณาจักรล้านนาได้รวมกับราชอาณาจักรสยาม ในขณะที่อาณาจักรล้านช้างได้ตกอยู่ในอำนาจของฝรั่งเศส

ปัจจุบันชาวสยามหรือผู้คนในประเทศไทย ยังคงเรียกผู้คนในภาคอีสานว่า “ลาว” ในขณะที่คนล้านนาสามารถสลัดความเป็นลาวออกไปและกลายเป็น “คนเมือง”

มีผู้ให้ความหมายคำว่า “ลาว” แตกต่างกัน จิตร ภูมิศักดิ์ อธิบายคำว่า ลาว ในอดีตอาจหมายถึง “คน” ที่มีฐานะสูงส่ง ในสังคม เป็นกลุ่มผู้ปกครอง เป็นเจ้า เป็นขุน ดังกษัตริย์บริเวณอาณาจักรโยนกเชียงแสน ซึ่งกษัตริย์หรือผู้ปกครองนำหน้าด้วยคำว่า ลาว เช่น ลาวเม็ง ลาวเกลือ ลาวเกา ดังนั้น “ชนชาติลาวจึงไม่ค่อยติดอกติดใจคำว่า ไท เท่าใดนัก”  นอกจากนี้ในแบบเรียนรุ่นเก่าของสยามให้ความเห็นคำว่าลาว ว่าหมายถึง กลุ่มคนที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของประเทศไทยปัจจุบัน และมีความเจริญน้อย ดังที่กล่าวไว้ว่า

…ลาวมีภูมิลำเนาอยู่ทางแผ่นดินสูงทางเหนือแถวลุ่มแม่น้ำโขงตั้งแต่เขาบรรทัดต่อแดนเขมรขึ้นมา และทางมณฑลพายัพก็เป็นลาวเดิม…ส่วนพวกลัวะ ละว้า เป็นพวกลาวเดิม เดี๋ยวนี้อยู่ตามป่าตามเขาในมณฑลที่เป็นลาวเดิม ส่วนไทยนั้นมีหลายพวก คือ โท ไทย ผู้ไทย พวน ฉาน เฉียง เงี้ยว ลื้อ เขิน เหล่านี้ล้วนแต่พูดภาษาไทยทั้งนั้น จึงนับว่าเป็นพวกไทยชาวไทย ในมณฑลพายัพ อุดร และนครราชสีมา ก็เป็นพวกไทยที่สืบเนื่องมาแต่ตอนเหนือด้วยกันทั้งนั้น

อาจสรุปได้ว่า คำว่า “ลาว” อาจมีความหมายแตกต่างกันได้หลายความหมาย ประการแรกหมายถึงดินแดนที่เป็นประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) นอกจากนี้ยังหมายถึงผู้คน วัฒนธรรม และศิลปะ

Photo by “เอื้อยนาง” http://www.thongthailand.com/

.๑ “ลาว” หมายถึง ดินแดน

ประการแรก ลาว หมายถึง ดินแดน ซึ่งในปัจจุบันคือ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ตั้งอยู่ริมฝั่งซ้ายแม่นํ้าโขงตรงข้ามกับภาคเหนือและภาคอีสานของประเทศไทย โดยมีเนื้อที่ ๒๓๖,๘๐๐ ตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ ๔.๒ ล้านคน ประเทศนี้ไม่มีส่วนติดกับทะเล แต่ยังอุดมสมบูรณ์ด้วยป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ

.๒ “ลาว” หมายถึง ผู้คนสองฝั่งแม่นํ้าโขงทั้งในประเทศ สปป. ลาว และในภาคอีสานของไทย

ประการที่สอง “ลาว” หมายถึงผูค้ นหลายกลุ่มหลายชาติพันธุ์ โดยที่คนที่มีอำนาจคือคนเผ่าไท คนกลุ่มนี้พูดภาษาไท มีตัวอักษรไท และต่อมาเรียกตนเองว่า ลาว คนเผ่าไท-ลาว สามารถสร้างบ้านเมืองเป็นอาณาจักรประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙

โดยมีศูนย์กลางที่เมืองเซ่า หรือนครเชียงทอง หรือนครหลวงพระบางในปัจจุบัน และต่อมาใน พ.ศ.๒๑๐๓ ได้สร้างศูนย์อำนาจอีกแห่งหนึ่งคือนครเวียงจันทน์ ต่อมาประมาณ พ.ศ. ๒๒๕๖ กลุ่มลาวที่เวียงจันทน์ได้อพยพผู้คนไปตั้งนครจำปาศักดิ์ในทางใต้ ทำให้ลาวมีศูนย์กลางอำนาจสามแห่ง คือหลวงพระบาง เวียงจันทน์และจำปาศักดิ์ ปกครองผู้คนกลุ่มต่าง ๆ ทั้งที่เป็นลาวลุ่ม ข่า (ลาวเทิง) แม้วและชาวเขาเผ่าต่าง ๆ รวมทั้งกลุ่มผู้ไท ย้อ ในอดีตอำนาจของลาวสามารถรวบรวมผู้คนสองฝั่งแม่นํ้าโขง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้คนภาคอีสานประเทศไทยในปัจจุบัน

ในปัจจุบันผู้คนในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ใหญ่ ๆ หลายกลุ่ม คือกลุ่มไท-ลาว หรือเรียกว่า ลาวลุ่ม ประมาณ ๑/๓ กลุ่มลาวสูงหรือชาวเขาเผ่าต่าง ๆ อีกประมาณ ๑/๓ และกลุ่มลาวเทิง หรือพวกข่า อีกประมาณ ๑/๓ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ อีกมากมาย ได้รวมเรียกคนเหล่านี้ว่า คนลาว

สำหรับผู้คนในภาคอีสานของประเทศไทยปัจจุบันเป็นที่รู้จักว่า คนลาว เช่นกัน ในอดีตคนสยามหรือคนไทยมีความรู้สึกและรับรู้คำว่า “ลาว” ในลักษณะที่เป็นกลุ่มคนที่ “ด้อย” กว่าตน ในแบบเรียนของไทยนับตั้งแต่อดีตได้อธิบายว่า คำว่า “ลาว” มาจากคำว่า “ละว้า” ซึ่งหมายถึงผู้คนที่ไม่เจริญ อาศัยอยู่ตามป่าตามเขา และบางทีเรียกว่าลาวเดิม อย่างไรก็ตามมีนักวิชาการได้ให้ความเห็นแตกต่างกัน เช่น จิตร ภูมิศักดิ์ อธิบายว่า “ลาว” หมายถึง คนที่มีฐานะสูงส่ง เป็นเจ้าเป็นขุน หรือเป็นชนชั้นผู้ปกครอง สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับลาว ว่าลาวหมายถึงผู้คนหลายกลุ่มหลายเผ่าพันธุ์ อาศัยอยู่บริเวณลุ่มแม่นํ้าโขง และสื่อสารกันด้วยภาษาไท สำหรับในประเทศไทยในอดีต กลุ่มคนลาว หมายถึงผู้คนในเขตล้านนา (ภาคเหนือในปัจจุบัน) และผู้คนในภาคอีสาน คนล้านนาพยายามที่จะปฏิเสธความเป็นลาว และคำว่าลาวจึงค่อย ๆ จางหายไปจากล้านนา ในขณะที่คนภาคอีสานยังคงได้รับการเรียกว่า “ลาว”

นักประวัติศาสตร์และผู้คนโดยทั่วไปในความคิดกระแสหลัก แบ่งแยกชัดเจนระหว่างไทย–ลาวหลังจากกลุ่มคนสยามในลุ่มแม่นํ้าเจ้าพระยาได้ตั้งตัวขึ้นและมีอำนาจเหนืออาณาจักรอื่น ๆ ทำให้กลุ่มสยามลุ่มแม่นํ้าเจ้าพระยาแบ่งแยกระหว่างตนและกลุ่มคนอื่นๆ ว่าเป็นคนละพวกกันชัดเจน และสยามมีความ “เหนือกว่า” อีกด้วย ความคิดดังกล่าวได้รับการทำให้ชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อมหาอำนาจตะวันตกในขณะนั้นได้นำเอาความคิดแบบรัฐชาติมาปฏิบัติในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อุษาคเนย์) ผู้นำสยามในขณะนั้นนับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา ทรงรับเอาแนวคิดแบบตะวันตกมาเป็นแนวทางของการพัฒนาสยาม จึงมีผลให้สยามให้ความแตกต่างระหว่างสยามกับกลุ่มลาวมากขึ้นและถือว่าเป็นคนละกลุ่มกัน ดังที่ปรากฏในประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔ เรื่องไม่ให้ชาวสยามแอ่วลาวเป่าแคนว่า

…ก็การบัดนี้เห็นแปลกไปนัก ชาวไทยทั้งปวงละทิ้งการละเล่นสำหรับเมืองตัวคือ ปี่พาทย์มะโหรีเสภาครึ่งท่อน ปรบไก่ สักระวา เพลงไก่ป่า เกี่ยวข้าวและละครร้องเสียหมด พากันเล่นแต่ลาวแคนไปทุกหนทุกแห่งทุกตำบล ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง จนท่านที่มีปี่พาทย์มะโหรีไม่มีผู้ใดหา ต้องบอกขายเครื่องปี่พาทย์เครื่องมะโหรี ในที่มีงานการโกนจุกบวชนาคก็หาลาวแคนเล่นเสียหมด ทุกแห่งราคาหางานหนึ่งแรงถึงสิบตำลึง สิบสองตำลึง…ทรงพระราชดำริเห็นว่า ไม่สู้งามไม่สู้ควรที่การเล่น อย่างลาวจะมาเป็นพื้นเมืองไทย ลาวแคนเป็นข้าของไทย ๆ ไม่เคยเป็นข้าลาว จะเอาอย่างลาวมาเป็นพื้นเมืองไทยไม่สมควร…เล่นลาวแคน ขอให้งดเสียเลิกเสียสักปีหนึ่งสองปี ดูฟ้าฝนจะงามไม่งามอย่างไรต่อไปข้างหน้าประกาศอันนี้ถ้ามิฟังยังขืนเล่นลาวแคนอยู่จะให้เรียกภาษีให้แรง ใครเล่นที่ไหนจะให้เรียกแต่เจ้าของที่แลผู้เล่น ถ้าลักเล่นจะต้องจับปรับให้เสียภาษีสองต่อสามต่อ

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕  (พ.ศ.๒๔๑๑-๒๔๕๓) ความคิดเกี่ยวกับ “ลาว” ดูจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง พระองค์ทรงเห็นความแตกต่างระหว่าง สยามและ ลาว โดยทรงเรียกสยามว่า “เรา” และเรียกลาว (ล้านนา และภาคอีสาน) ว่า “เขา” ดังในพระราชหัตถเลขาพระราชทานพระยาราชสัมภารากรข้าหลวงหัวเมืองเหนือประจำเมืองเชียงใหม่ ว่า ๑๐

 

การซึ่งเปนข้าหลวงสามหัวเมืองนี้ ต้องถือว่าเปนผู้รักษาอำนาจแลรักษาคำสั่งกรุงเทพฯ ที่จะให้เปนไปได้ตามคำสั่งทุกประการ แลต้องรู้ความประสงค์ของกรุงเทพฯ ว่าเราถือว่าเมืองเชียงใหม่ยังไม่เปนพระราชอาณาเขตของเราแท้ เพราะยังเปนประเทศราชอยู่ตราบใด แต่เราก็ไม่ได้คิดจะรื้อถอนวงษตระกูลมิให้เปนประเทศราชเปนแต่อยากจะถือจะยึดเอาอำนาจที่แท้จริง คือการอันใดจะเปนไปได้ ก็ให้เปนไปได้เฉพาะที่เรายอมให้เปน คือให้ข้าหลวงมีอำนาจจะสั่งให้ทำอันใด จะห้ามไม่ให้ทำอันใดโดยตรงๆ เปนการเปิดเผยในที่ควรเปิดเผยฦ ๅเปนการลับ ๆ โดยเปนการแนะนำสั่งสอนลาวต้องทำตามในการที่ไม่ควรจะเปิดเผย เมื่อจะว่าโดยย่อแล้ว ให้ลาวเปนเหมือนเครื่องจักร ซึ่งเราจะหมุนให้ไปข้างน่าฦ ๅให้มาข้างหลังก็ได้ตามชอบใจ ดังนั้นแล้ว เปนถูกต้องกับความปรารถนาของกรุงเทพฯ แต่เปนการจำเปนที่จะต้องทำการอย่างนี้ด้วยสติปัญญาเปนมากกว่าอำนาจกำลัง ต้องอย่าให้ลาวเหนว่าเปนการบีบคั้นกดขี่ ต้องใช้ให้เหนในการที่เปนประโยชน์ แลไม่เปนประโยชน์เปนพื้น พระยาราชสัมภารากรต้องถือว่า ถ้าพูดกับฝรั่งฝ่ายหนึ่ง ลาว ฝ่ายหนึ่ง ต้องถือว่าฝรั่งเปนเขา ลาวเปนไทย ถ้าพูดกับลาวฝ่ายหนึ่ง ไทยฝ่ายหนึ่ง ต้องถือว่า ลาวเปนเขา ไทยเปนเรา อย่าให้ถือตามแบบเก่าๆ ซึ่งข้าราชการประพฤติชั่วเหมือนอย่างพระยาราชเสนาเปนต้นดังนี้ เหนนายของตัวเองเปนเขา จะทำอันใดก็ตั้งใจปิดนาย ฝ่ายคนอื่นเขาจะรู้ชั่งเปนไร ดังนี้ใช้ไม่ได้ เปนความคิดของคนหัวด้วน

 อาจอนุโลมได้ว่า ทางราชสำนักกรุงเทพฯ ได้มีความคิดเกี่ยวกับ อีสาน เหมือนเช่นที่คิดกับล้านนาคือเป็น “เขา” ดังที่ปรากฏในการบริหารราชการในภาคอีสาน ในเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๒๖ ทางกรุงเทพฯ ได้พยายามจัดราชการในหัวเมืองอีสานเช่นเดียวกับหัวเมืองล้านนา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีลายพระราชหัตถเลขาพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปราบปรปักษ์ ว่า

 …อนึ่งการซึ่งหลวงภักดีณรงค์จะจัดการศาลต่างประเทศขึ้นในหัวเมืองลาวตวันออกนั้น เหนว่าเปนการสมควรที่จะต้องจัด ถ้าท่านเสด็จขึ้นไปในหัวเมืองลาว ทรงจัดการไว้แบบอย่างลงไว้เสียทีเดียว ไม่ต้องมีตราบังคับขึ้นไปแต่กรุงเทพฯ ก็ได้ แต่ควรจะค้นธรรมเนียมแบบอย่างในเมืองเชียงใหม่๑๑ อย่างไรก็ตามเมื่อมหาอำนาจทางตะวันตกใช้นโยบายแข็งกร้าวกับสยาม และด้วยความกลัวการขยายตัวของมหาอำนาจตะวันตก สยามจึงพยายามรวบรวมดินแดน และผู้คนที่หลากหลายและที่เคยนับว่าแตกต่างกันมาก่อนเข้าเป็นพวกเดียวกับสยามซึ่งปรากฏให้เห็นในเรื่องของการสำมะโนครัวของประชากรที่เดิมเคยใช้สัญชาติแตกต่างกันเช่น ผู้ไทส่วย เขมร ย้อ ลาว เปลี่ยนเป็น สยามหรือไทยแทนดังที่ว่า

 …แต่นี้สืบไป ให้เจ้าหน้าที่แต่ละแผนกทุกหัวเมืองใหญ่น้อยในมณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อจะมีการสำรวจสำมะโนครัวหรือหากมีราษฎรมาติดต่อที่จะต้องใช้แบบพิมพ์ทางราชการให้ปฏิบัติใหม่ โดยกรอกในช่องสัญชาติว่า ชาติไทยบังคับสยามทั้งสิ้น ห้ามมิให้ลงหรือเขียนในช่องสัญชาติว่าชาติลาว ชาติเขมร ส่วย ผู้ไทย ฯลฯ ดังที่เคยปฏิบัติมาแต่ก่อนเป็นอันขาด…๑๒

 นอกจากนี้มณฑลใดที่เคยมีคำว่า ลาว นำหน้าเช่น ก่อน พ.ศ.๒๔๓๗ มีมณฑลเทศาภิบาลที่มีคำว่าลาว นำหน้า คือ มณฑลลาวเฉียง เปลี่ยนมาจาก หัวเมืองลาวพุงดำ (ต่อมาเป็นมณฑลพายัพ) มณฑลลาวพวน เปลี่ยนมาจากหัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ (ต่อมาเป็นมณฑลอุดร) มณฑลลาวกาว เปลี่ยนมาจากหัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออก และหัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ (ต่อมาเป็นมณฑลอีสาน) และมณฑลลาวกลาง (ต่อมาเป็น มณฑลนครราชสีมา) ต่อมาเป็นได้มีการเปลี่ยนชื่อโดยตัดคำว่า ลาว ทิ้งไป

๑๓ โดยสรุป อาจกล่าวได้ว่าสยามพยายามที่จะรวบรวมผู้คนและดินแดนที่แตกต่างจากสยาม แต่ในความรู้สึกผู้ปกครองสยามยังคงเห็นความแตกต่างและเหนือกว่า ลาว

 นอกจากกลุ่มความคิดกระแสหลัก ได้มีกลุ่มแนวคิดกระแสรอง อาทิ กลุ่มของ ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ศรีศักร วัลลิโภดม และสุจิตต์ วงษ์เทศ ที่แสดงความเห็นว่ากลุ่ม คนอีสานในช่วงการสร้างบ้านเมืองในวัฒนธรรมล้านช้าง เป็นผู้ที่เจริญมาก่อนทั้งในบริเวณลุ่มนํ้ามูล เขตทุ่งกุลาร้องไห้ รวมทั้งแถบแม่นํ้าโขง เป็นกลุ่มคนที่ขยายตัวไปยังบริเวณอาณาจักรสุโขทัย และบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในเวลาต่อมา๑๔

.๓ “ลาว” หมายถึง วัฒนธรรมประเพณี

 ประการที่สาม “ลาว” หมายถึงวัฒนธรรมวัฒนธรรมลาวได้มีบทบาทต่อผู้คนสองฝั่งแม่นํ้าโขงโดยเฉพาะบริเวณที่เป็นภาคอีสานในประเทศไทย ที่ยังรักษาวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อแบบลาวเดิมโดยเฉพาะกฎหมายแบบลาว ประเพณีฮีตสิบสอง

คองสิบสี่ รวมทั้งความเชื่อแบบดั้งเดิมอื่น ๆ ซึ่งก่อให้เกิดสำนึกในความเป็นลาว ในปัจจุบันกฎหมายแบบลาวในภาคอีสานได้รับการยกเลิกมาเป็นเวลานานกว่าร้อยปี และได้มีกฎหมายแบบตะวันตกเข้ามาแทนที่ แต่ประเพณีแบบลาว คือฮีต ๑๒ ยังได้รับ

การปฎิบัติ กล่าวคือยังมีคนอีสานปฏิบัติตามประเพณีเดิม ถึงแม้จะปฏิบัติไม่ได้ในทุกเดือนก็ตาม

 .๔ “ลาว” หมายถึงศิลปะ

ประการที่สี่ “ลาว” หมายถึงศิลปะ ศิลปะแบบลาวเกี่ยวเนื่องในพระพุทธศาสนา ทั้งที่เป็นงานศิลปะวัดในพุทธศาสนา อาทิ ธาตุ หรือสถูป เจดีย์ อุโบสถ พระพุทธรูป และสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ เป็นเรื่องยากที่จะกำหนดรูปแบบตายตัวกับศิลปะลาว

เนื่องจากรูปแบบในศิลปะมีการถ่ายทอด ยืมแบบจากสังคมที่อยู่ใกล้เคียง หลายสิ่งหลายอย่างที่ไทยได้ยืมจากศิลปะลาว และต่อมาลาวได้ยืมศิลปะของไทยกลับไปที่ลาวเช่นกัน เช่นเดียวกับที่เกิดกับการยืมไปมาของศิลปะระหว่างไทยและเขมร ลักษณะ

ช่อฟ้า บราลี ในศิลปะลาวมีลักษณะคล้ายกับศิลปะของสิบสองปันนา ๑๕ ลักษณะทางศิลปะลาวที่ได้รับการยกย่องคือ วัดเชียงทอง ที่นครหลวงพระบางสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๑๐๒ ในรัชสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช (พ.ศ. ๒๐๙๓-๒๑๑๕) โดยมีลักษณะ

“เป็นสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะป้านลม อ่อนช้อยซ้อนลดหลั่นกัน อันเป็นแบบอย่างของลาวแท้เท่าที่เหลืออยู่ รูปทรงเตี้ย สัดส่วนสวยงาม หลังคาลด ๓ ชั้น มีปีกนก ผนังตํ่า” ๑๖  สำหรับเจดีย์แบบลาวจะมีทรงสูง ยอดมีลักษณะเป็นรูปดอกบัวคล้ายปลีกล้วยควํ่าลงซึ่งเรียกว่า ดวงปลี โดยมีพระธาตุพนมเป็นรูปแบบที่สำคัญ (พระธาตุพนมรูปแบบเดิมก่อนการบูรณะโดยรัฐบาลไทย) ส่วนพระพุทธรูปแบบลาวแรก ๆ ในสมัยพระเจ้าฟ้างุ้ม เมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ได้รับอิทธิพลจากเขมร คือ พระบาง มีลักษณะเป็นปางห้ามญาติ ต่อมาได้พัฒนาเป็นแบบลาวมากขึ้น มีทั้งที่เป็นสำริด และปั้นปูน และมีจำนวนไม่น้อยที่นิยมทำเป็นพระพุทธรูปไม้ พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นส่วนมากเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย นั่งขัดสมาธิตามอิทธิพลของ “สกุลช่างเชียงใหม่” ๑๗ อย่างไรก็ตามพระพุทธรูปสำคัญ ๆ หลายองค์ เช่น พระอรุณ พระอินแปง พระแสนเมืองมหาชัย พระแสนเมืองเชียงแตง พระใส พระเสริม พระแทรกคำ พระปฏิมา วัดเขมาภิตาราม พระฉันสมอ พระวิมลนาคโฉมเฉลา ได้รับการชะลอไปไว้ที่กรุงเทพฯ หลังจากสงครามระหว่างสยามกับเวียงจันทน์ กรณีเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์


อ้างอิง

ความเป็นรัฐชาติ (nation state) มีองค์ประกอบคือ ๑. มีอาณาเขตที่แน่นอน ๒. มีประชากรที่แน่นอน ๓. มีรัฐบาลกลางที่แน่นอน และ ๔. มีอำนาจอธิปไตย

ไท หรือ ไต หมายถึงกลุ่มคนกลุ่มใหญ่ที่กระจายตัวทั่วไปบริเวณแถบแม่นํ้าโขง แม่นํ้าสาละวินแม่นํ้าเจ้าพระยาจนถึงอินเดีย แถบแคว้นอัสสัมและบริเวณชายแดนอินเดียและธิเบต แต่กลุ่มคนไทจำนวนมากเชื่อว่าอยู่แถบจีนตอนใต้ โดยเฉพาะมณฑลกวางสีและกวางตุ้ง ซึ่งมีชื่อเรียกว่า จ้วงคำว่า ไทย หมายถึงกลุ่มคนที่ตั้งประเทศขึ้นบริเวณลุ่มแม่นํ้าเจ้าพระยา เดิมประเทศไทยมีชื่อเรียกกันว่า สยาม จนใน พ.ศ. ๒๔๘๒ ในสมัยรัฐบาลภายใต้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีได้เปลี่ยนชื่อประเทศเป็น ไทย ด้วยการชนะโหวตเสียงในสภาผู้แทนราษฎร

  ศรีศักร วัลลิโภดม สยามประเทศ : ภูมิหลังของประเทศไทยตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ จนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาราชอาณาจักรสยาม กรุงเทพฯ : บริษัทพิฆเณศ พรินท์ติ้ง เซ็นเตอร์จำกัด ๒๕๓๕ หน้า ๒-๕

  ไท หมายถึงกลุม่ คนกลุม่ ใหญที่กระจายตัวกันในที่ต่าง ๆ บริเวณแหลมสุวรรณภูมิ กลุ่มคนเหล่านี้มีลักษณะภาษา วัฒนธรรม ที่สามารถเชื่อมโยงกันได้ กลุ่มคนไทอาศัยอยู่ในที่หนึ่งจะมีชื่อเรียกต่างกัน เช่น กลุ่มไทที่อาศัยอยู่บริเวณแม่น้ำโขง เรียกว่า ลาว

กลุ่มไทบริเวณแม่น้ำเจ้า พระยาเรียกตนเองว่า สยาม นอกจากนี้กลุ่มไทบริเวณแม่นํ้าสาละวินทางตะวันออกของพม่าเรียก ขาน หรือไทยใหญ่ กลุ่มไทในแคว้นอัสสัมของอินเดียเรียกไทอาหม กลุ่มไทที่อยู่บริเวณลุ่มแม่นํ้าโขงเหนือพวกลาวทางตะวันออกของชานเรียก ไทลื้อ ไทเขิน และไทกลุ่มใหญ่บริเวณทางใต้ของจีนเรียก จ้วง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีไทอีกหลายกลุ่มเช่น ไทคำตี่ อยู่บริเวณพรมแดนอินเดียและจีน คนไทยในประเทศไทยจึงเป็นกลุ่มไทกลุ่มหนึ่งที่เรียกตนเองว่า สยาม แต่เมื่อเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นไทย จึงดูเหมือนสยามเป็นศูนย์กลางของไททั้งมวลด้วย

  จิตร ภูมิศักดิ์ ความเป็นมาของคำสยาม ไทยลาวและขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ กทม. : สำนักพิมพ์สยาม บริษัท เคล็ดไทยจำกัด ๒๕๓๕ หน้า ๓๘๘

โสภา ปาสบุตร แบบเรียนประวัติการของไทย(ประถม ๔) พระนคร : โรงพิมพ์อักษรนิติ พ.ศ. ๒๔๗๓, หน้า ๗

สุวิทย์ ธีรศาศวัต ประวัติศาสตร์ลาว ๑๗๗๙-๑๙๗๕ กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สร้างสรรค์จำกัด ๒๕๔๓ หน้า ๖-๑๐

ทวีศิลป์ สืบวัฒนะ “ลาว” ในทัศนะของผู้ปกครองไทยสมัยรัตนโกสินทร์ จดหมายข่าวสังคมศาสตร์ ปีที่ ๑๑ ฉบับที่ ๑ สิงหาคม-ตุลาคม ๒๕๓๑ หน้า ๑๐๔-๑๒๑

ประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔ พ.ศ. ๒๔๐๕-๒๔๐๘ ประกาศห้ามมิให้แอ่วลาว พระนคร : โรงพิมพ์คุรุสภา ๒๕๐๔ หน้า ๒๙๐-๒๙๑

๑๐ หจช.,ร.๕ สารบัญสมุดพิเศษ เล่ม ๘ ร.ที่ ๑๖๘/๔๕ พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระยาราชสัมภารการ วันที่ ๕ พฤศจิกายน ศักราช ๑๒๔๕(พ.ศ. ๒๔๒๖)

๑๑ หจช., ร.๕ สมุดสารบาญพิเศษ เล่ม ๒๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปราบปรปักษ์ วันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๒๖ หน้า ๑

๑๒ เติม สิงห์ษฐิต ฝั่งขวาแม่นํ้าโขง เล่ม ๒ พระนคร : โรงพิมพ์ไทยสัมพันธ์ ๒๔๙๙ หน้า ๑๒๐ ; และเติมวิภาคย์พจนกิจ ประวัติศาสตร์อีสานพิมพ์ ครั้งที่ ๓ กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ๒๕๔๒ หน้า ๔๐๘

๑๓ เติม วิภาคย์พจนกิจ ประวัติศาสตร์อีสาน พิมพ์ครั้งที่ ๓ กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ๒๕๔๒ หน้า ๔๐๘-๔๐๙

๑๔ สุจิตต์ วงษ์เทศ บทวิจารณ์ : วรรณกรรมและหมอลำ ภาพสะท้อนชีวิตอีสาน วัฒนธรรมพื้นบ้าน : กรณีอีสาน การสัมมนาระหว่างวันที่ ๓๐ มิถุนายน – ๒ กรกฎาคม ๒๕๓๒ กรุงเทพฯ : บริษัท อมรินทร์พรินติ้ง กรุ๊พ จำกัด ๒๕๓๒ หน้า ๑๙๒ สุจิตต์ วงษ์เทศ เบิ่งสังคมและวัฒนธรรมอีสานกรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน ๒๕๔๓ ; สุจิตต์ วงษ์เทศ ประวัติศาสตร์

สังคมและวัฒนธรรมสยามประเทศไทย กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน ๒๕๔๗ ; สุจิตต์ วงษ์เทศ คนไทย

มาจากไหน ? กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน ๒๕๔๘ ; สุจิตต์ วงษ์เทศ “คนไทย “หลายเผ่าพันธุ์ในสุวรรณภูมิ ๓,๐๐๐ ปี กรุงเทพฯ : บริษัท มติชน ๒๕๔๘ และสุจิตต์ วงษ์เทศ สุวรรณภูมิ ต้นกระแสประวัติศาสตร์ไทย กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน ๒๕๔๙

๑๕ สงวน รอดบุญ พุทธศิลปะลาว พิมพ์ครั้งที่ ๒ กรุงเทพฯ : บริษัทโรงพิมพ์เดือนตุลา จำกัด ๒๕๔๕ หน้า ๑๑๔

๑๖ สงวน รอดบุญ พุทธศิลปะลาว พิมพ์ครั้งที่ ๒ กรุงเทพฯ : บริษัทโรงพิมพ์เดือนตุลา จำกัด ๒๕๔๕ หน้า ๗๙

๑๗ สงวน รอดบุญ พุทธศิลปะลาว พิมพ์ครั้งที่ ๒ กรุงเทพฯ : บริษัทโรงพิมพ์เดือนตุลา จำกัด ๒๕๔๕ หน้า ๑๖๙

ภาพ : กลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูแก่งละว้า

Related Posts

มหัศจรรย์สี่พันดอน
เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๓)
ขะลำ วัฒนธรรมในชาติพันธุ์อีศาน
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com