ประวัติและที่มา ทำไมจึงเรียกงานแต่งงานว่า “กินดอง”

ประวัติและที่มา ทำไมจึงเรียกงานแต่งงานว่า “กินดอง”

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เมื่อครั้งอดีตที่ผ่านมานั้นยังมีหนองน้ำใหญ่แห่งหนึ่ง อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร ของกินนานาชนิด จึงเต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตหลากหลายเผ่าพันธุ์ได้เข้าอาศัยอยู่ ตามแหล่งน้ำดังกล่าวนี้ได้มีสัตว์น้อยใหญ่ทั้งหลาย ฝูงปลาเล็กใหญ่ต่างแหวกว่ายไปมาตามหนองน้ำใส ฝูงนกกาต่างร้องส่งเสียงดัง ฟังชัดตามภาษาสัตว์ป่าทั่วไป เป็นต้น ทั้งนี้เพราะไม่มีมนุษย์หรือศัตรูอื่น ๆ ที่จะไปทำร้ายสัตว์น้อยใหญ่ให้ได้รับอันตราย จึงเป็นท้องทุ่งที่สมบูรณ์ ปราศจากภัยที่จะมารบกวน

อยู่มาวันหนึ่ง มีนายพรานคนหนึ่งได้ออกจากบ้านเพื่อไปหาจับปู ปลา และนก แต่เผอิญว่าวันนั้นจะใช้วิธีการไหนก็ไม่สามารถจับสัตว์เหล่านี้ได้เลย นับว่าเป็นวันที่อัศจรรย์มาก จึงเกิดความรู้สึกแปลกใจว่า “ทุก ๆ วันที่ผ่านมา เราเคยหาอาหารได้ไม่ยากเลย มาวันนี้เห็นตัวอยู่ชัด ๆ แต่กลับจับไม่ได้ เออแปลกจริง ๆ หรือว่ามีของรักษาเป็นภูมิ เจ้าที่ ไม่อยากให้เราได้ไม่อยากให้เรากิน…!”

เมื่อนายพรานคิดได้เช่นนี้แล้วจึงได้เดินไปหาแหล่งน้ำใหม่ เพราะเข้าใจว่า “ที่บริเวณแหล่งน้ำแห่งใหม่ อาจจะมีสัตว์ต่าง ๆ เข้ามาอาศัยเหมือนแหล่งน้ำแห่งนี้ อาจจะไม่มีของรักษาเหมือนที่นี้ เราอาจจับได้ง่าย ๆ ดังเช่น ทุกครั้ง” เมื่อเดินทางมาถึงจึงได้มุ่งหน้าเดินหาไปตามริมฝั่งหนองน้ำดังกล่าวนั้น เพื่อที่จะดักจับสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ตามริมฝั่ง บังเอิญได้ไปเห็นเต่าใหญ่ตัวหนึ่งนอนอยู่ในโพรงหญ้า นายพรานเดินขยับเข้าไปดูให้แน่ชัดว่ามันคือสัตว์อะไรกัน พอเข้าใกล้ก็รู้ว่าเป็นเต่า จึงได้รีบยื่นมือเข้าไปจับแล้วอุ้มยกขึ้นมา หวังจะเอาไปต้มกินเย็นนี้ เมื่อยื่นมืออุ้มเอาเต่า จะยกขึ้นทำอย่างไรก็ยกไม่ขึ้น เต่าตัวนี้มีน้ำหนักมากใช้กำลังยกอย่างไรก็ไม่ไหวติง ในเวลานั้นนายพราน ได้มองเห็นกระดองเต่ามีสีวาววับ มีผิวราบเรียบไม่เหมือนกระดองเต่าทั่ว ๆ ไป

พอนายพรานเห็นเช่นนั้นเข้าก็แปลกใจ เลยวางมือไม่ยกต่อ เข้าใจว่าคงจะเป็นเต่า เทพเจ้าเหล่าเทพา จึงได้พนมมือขึ้นกราบไหว้ แล้วพูดขึ้นว่า “สาธุ ๆ… เทพเจ้าเหล่าเทวดา ข้าพเจ้าผิดไปแล้ว ได้ล่วงเกินท่านพญาเต่าไป แล้ววันนี้… ข้าไม่รู้จริง ๆ ว่าท่านเป็นผู้วิเศษ ผู้ทรงศีล…!”

พญาเต่าตัวนั้นจึงบอกว่า “เอาละท่านพราน ท่านไม่ผิดหรอก…! เพราะท่านไม่รู้ ท่านก็มีศีลเหมือนกันนี่ ทำไมท่านจึงลืมศีลของท่านเสียละ…?”

ที่จริงนายพรานผู้นี้เคยตั้งสัจจะเอาไว้ ทุกครั้งก่อนจะออกไปหากินมักจะตั้งสัจจะอธิษฐานจิตเสมอว่า ถ้าวันนี้จะเอานกตัวเมียหรือตัวผู้ก็จะเอาแต่ตัวที่ขอไว้เท่านั้น หรือเอาแค่สองตัวหรือสามตัว ขอว่าจะเอาเท่าไรก็เอาเท่านั้น ถ้ามีมากกว่านี้ก็ไม่เอา เพราะรักษาสัจจะของตน แต่มาวันนี้พบเหตุการณ์ผิดปกติ อาจจะด้วยความหิวที่ทำให้นายพรานลืมไป เพราะสายปานนี้ก็ยังไม่ได้อาหารอะไรเลย

พญาเต่าเลยพูดต่อไปว่า “ข้าอาศัยอยู่แหล่งน้ำแห่งนี้มาหลายพันปีแล้ว ข้าได้จำศีลภาวนาคุ้มครองสัตว์ทุกหมู่เหล่าที่อาศัยอยู่บริเวณแถบนี้ ให้ปราศจากศัตรูมารบกวนชีวิตเขา เอาล่ะ…! ข้าจะแบ่งอาหารให้ หากปลาตัวใดหมดอายุขัยแล้วก็จะลอยขึ้นมาหาท่านเอง ให้จับเอาได้เลยจะกี่ตัวสุดแท้แต่ความต้องการของเจ้าก็แล้วกัน”

หลังจากพญาเต่าพูดจบลงไม่นานก็มีปลาตายตัวหนึ่งลอยมาหานายพราน พญาเต่าก็บอกว่า “จับเอาเถอะท่าน… มันเป็นอาหารของท่านแล้ว”

นายพรานเห็นเช่นนั้นก็เกิดความสงสัย จึงถามว่า “ท่านพญาเต่า ท่านกินอาหารอย่างไร…?” พญาเต่าจึงบอกว่า “ปลาตัวไหนตายแล้วจะลอยมา ข้าก็จะเก็บมาเป็นอาหาร ข้าก็กินซากของปลาเหล่านี้ล่ะ…! และอีกอย่างข้าก็หาเก็บกินพืชอยู่ตามริมฝั่งน้ำนี้แหละ…”

จากนั้นนายพรานก็เก็บเอาปลาตัวดังกล่าว พร้อมกับบอกลาพญาเต่ากลับบ้านไป หลายวันต่อมาได้มีพญาหงส์ทองคู่หนึ่งบินมาในอากาศ พอมาถึงหนองน้ำใหญ่แห่งนี้เกิดความพอใจคิดว่า “แหล่งน้ำนี้น่าลงอาบน่าสรง น้ำก็ใสสะอาด น่าดื่มกิน” จึงได้พาบินลงเล่นน้ำในหนองใหญ่แห่งนี้ และได้เดินไปพบพญาเต่าเข้าพอดี พญาหงส์ทองจึงถามว่า “ท่านพญาเต่าผู้ทรงศีล ท่านอยู่นี้มานานแล้วหรือ…? ดูท่านแล้วคงจะอดอยากอาหารน่าดู ทำไมท่านจึงไม่เปลี่ยนสถานที่ดูบ้างล่ะพญาเต่า…? เผื่อมันมีอะไรดีขึ้นบ้าง มารอแต่จะกินปลาที่ตายแล้วมันก็ยากอยู่นะ เพราะหนองน้ำแห่งนี้ก็ไม่ใหญ่มากพอจะมีปลาตายมาก เพียงพอที่จะเป็นอาหารท่านได้ในแต่ละวัน…”

พญาเต่าผู้ทรงศีลจึงกล่าวว่า “ข้าแต่ท่านพญาหงส์ผู้บินบนเวหาอากาศได้ ความที่ท่านแนะนำข้านั้นเห็นว่าช่างประเสริฐเสียจริง ๆ ข้าก็เห็นดีด้วยอยู่หรอก แต่มีที่ไหนล่ะที่สะดวกสบาย มีอาหารมากไม่อดอยากกันล่ะ…! ท่านบอกที่ได้ไหม ถ้าไกลมากข้าก็ไปไม่ได้นะเพราะขาเราสั้น”

พญาหงส์ทองจึงบอกแหล่งน้ำที่มีอยู่นั้นว่า “โธ่เอ๋ยท่าน… ก็ที่แม่น้ำก่ำสงครามในป่าใหญ่โน้นอย่างไรเล่าท่าน…!” พญาเต่าจึงพูดขึ้นว่า “ข้ามีปีกมีขาเหมือนท่านเมื่อไหร่เล่า…! ถึงข้าเดินทั้งวันก็ยังไม่ได้ครึ่งหนองนี้เลย แล้วข้าจะไปได้อย่างไรเล่าท่านพญาหงส์ลองคิดดูสิ…!”

เมื่อพญาหงส์ได้ฟังเช่นนั้นแล้ว จึงพูดต่อไปอีกว่า “ท่านอยากไปไหมล่ะ…? ข้าจะช่วยท่านเอง” พญาเต่าตอบรับทันทีว่า “โธ่ท่าน ใครล่ะไม่อยากไป จงช่วยข้าเถอะท่านพญาหงส์ทอง” พญาหงส์ทองพูดย้ำ ถามเพื่อความแน่ใจอีกครั้งว่า “ท่านจะไปจริง ๆ นะ ถ้าจริงอย่างว่าข้าช่วยท่านเอง”

เมื่อทั้งสองฝ่ายตกลงกันแล้ว ฝ่ายพญาหงส์ทองจึงได้ปรึกษากันว่า “พวกเราจะช่วยเต่าโดยวิธีไหน…?” ส่วนหงส์อีกตัวบอกว่า “เราก็เอาไม้อันหนึ่งพาดบ่าหรือคอเราก็ได้ แล้วให้พญาเต่าเอาปากคาบตรงกลางสิ…! แล้วเราก็บินไปพร้อม ๆ กัน จนถึงป่าใหญ่แม่น้ำก่ำสงครามได้อย่างสบาย” พญาหงส์กล่าวว่า “เอ่อ…! จริงสินะ แล้วท่านก็มีกติกาสำหรับพญาเต่าเพิ่มเติมอีก…?” หงส์อีกตัวหนึ่งกล่าวต่อว่า “กติกาเป็นข้อปฏิบัติเพื่อปลอดภัย ก็คือว่าระหว่างการเดินทางห้ามไม่ให้พญาเต่าพูดจาหรือเอ่ยปากพูดใด ๆ เป็นอันขาด ถ้าท่านพูดท่านถามอ้าปากขึ้นแล้วท่านจะพลัดตกลงสู่พื้นดิน ถ้าหล่นลงไปถูกท่อนไม้หรือก้อนหินก็เสียชีวิตทันที…!”

เมื่อพญาหงส์ได้บอกเช่นนี้แล้วจึงกล่าวว่า “เอาล่ะท่าน… เราทั้งสองมีวิธีที่ช่วยท่านแล้วนั้น แต่ท่านต้องทำตามคำสั่งเรานั้นนะ…!” พญาเต่าก็กล่าวตอบรับปฏิบัติตามวิธีการของพวกพญาหงส์ แล้วพญาหงส์ทองทั้งสองจึงเอาไม้พาดบ่า พญาเต่าจึงเอาปากคาบไม้ตรงกลางแล้วได้บินขึ้นพร้อม ๆ กันไป ขึ้นสู่เวหาอากาศไปเรื่อย ๆ ผ่านหมู่บ้านป่าเขาลำเนาไพรหลายหมื่นหลายแสนสถานที่ หลากหลายหัวเมืองก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เดินทางมาเหลืออีกประมาณ ๓ วันจะถึงจุดหมายปลายทาง

กาลคราวนั้นมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น เมื่อหงส์ทองเริ่มบินต่ำลงมาอาจจะเป็นเพราะบินสูงมาหลายวัน ก็เกิดอาการเหนื่อยล้า ในช่วงที่กำลังจะผ่านพ้นอีกเมืองใหญ่แห่งหนึ่ง ผู้คนในกาลครั้งนั้นกำลังมีงานแต่งงานระหว่างบ่าวสาวคู่หนึ่งพอดี ในขณะแห่ขันหมากจากบ้านเจ้าบ่าวไปบ้านเจ้าสาวเพื่อเข้าพิธีสู่ขวัญ ขบวนแห่นั้นนับว่ามีผู้คนเข้าร่วมขบวนเป็นจำนวนมาก มีเสียงไชโยโห่ร้องกันอย่างครึกโครมสนุกสนาน มีเสียงกลองดังสนั่นหวั่นไหวตามถนนไปสู่บ้านเจ้าสาว

ในขณะนั้นเองพอดีกับสายตาของชาวเมืองในขบวนขันหมาก ได้มองเห็นพญาหงส์หามเต่ามาบนท้องฟ้า ด้วยความอัศจรรย์ที่ไม่ปรากฏที่ไหนมาก่อน จึงได้พากันร้องเสียงหลงขึ้นว่า “ท่านทั้งหลายดูทางนี้… ดูสิ ๆ เห็นไหม ๆ เห็นไหมๆ…! ดูเต่าหาบหงส์สิ… เต่าหาบหงส์ เต่าหาบหงส์ มากลางอากาศโน้น เห็นไหม ๆ ทุกคนเห็นไหม…?” ชาวเมืองทั้งหลายต่างก็พากันมองดูบนท้องฟ้า และพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “เต่าหาบหงส์… เต่าหาบหงส์… เต่าหาบหงส์ …”

พอพญาเต่าได้ยินเช่นนั้นก็นึกในใจว่า

“เราไม่ได้หาบหงส์อย่างที่ชาวบ้านพูด หงส์เป็นผู้หามเราต่างหาก” เมื่อคิดได้เช่นนี้แล้วกลัวว่าหงส์ทองจะเสียใจ เพราะคนดูพูดผิดจากความเป็นจริงไป พอคิดได้ก็เลยอ้าปากหวังจะบอกคนทั้งหลายให้ทราบข้อเท็จจริงว่า “พญาหงส์ทองเป็นผู้หามเต่า ไม่ใช่เต่าหาบหงส์…!”

พญาเต่าลืมไปว่าถูกห้ามไม่ให้พูดเด็ดขาด เมื่อเต่าอ้าปากขึ้นปากก็หลุดจากท่อนไม้หล่นจากไม้คานทันที เต่าตัวใหญ่ก็ล่องลอยดิ่งพสุธาลงสู่ดิน ส่วนพญาหงส์เห็นเหตุการณ์เช่นนั้นก็สลัดไม้ทิ้งหวังจะช่วยเหลือเต่าแต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะหาบเต่ามานานหลายวันจนเหนื่อยล้า พญาหงส์ก็เลยพากันบินกลับไปถิ่นของตน ปล่อยให้พญาเต่าตกลงไปใช้กรรมแต่เพียงลำพัง

ส่วนพญาเต่าตกลงมาถูกตอไม้พอดี กระดองจึงแตกกระเด็นไปชิ้นละทิศละทาง ส่วนเนื้อเต่ามีจำนวนมากขนใส่เกวียนได้ถึง ๕,๐๐๐ เล่มเกวียน คนทั้งเมืองพากันเอาเนื้อเต่าไปกินกัน เนื้อของพญาเต่ามีรสชาติหอมหวานกินอร่อยมาก ผู้คนแย่งกันกินถึงขนาดว่ากัดเล็มที่กระดองเต่า ด้วยความอร่อยของเนื้อเต่าจนผู้คนทั้งเมืองลืมไปว่าขณะนั้นตนไปร่วมงานแต่ง เมื่อพากันกลับบ้านตนเอง มีคนถามว่า “ไปไหนมา…?” ก็จะพากันตอบไปว่า “มาแต่ไปกินดอง” นับตั้งแต่นั้นมาจึงได้เอานามที่ไปกินดองมาพูดกัน จนถึงทุกวันนี้ จึงมีคำสำนวนที่ว่า “งานกินดอง”

เมื่อกระดองเต่าแตกกระจัดกระจายไปตกตามที่ต่าง ๆ ก็มีชื่อตามสถานที่นั้น ๆ กล่าวคือ เมื่อตาเต่าได้ตกอยู่ในกอไผ่ จึงได้เรียก หน่อไม้ตาเต่า เมื่อหางเต่าตกไปอยู่ค้างพลู ผู้กินหมากเก็บใบพลูไปเด็ดหางพลูออก เรียกว่า เด็ดหางเต่าออก เมื่อขี้เต่าตกถูกตัวฝูงชนเข้าจึงได้พูดติดปากว่า เหม็นขี้เต่า

เหตุการณ์นี้ได้ร้อนไปถึงพญาแถน จึงได้เสด็จลงมาเก็บเอากระดองที่แตกออกมาติดต่อกัน แล้วจึงเอาน้ำเต้าแก้วรดกระดองเต่า นับตั้งแต่นั้นมา กระดองเต่าเกลี้ยงเกลาเรียบเหมือนผิวแตงโมจึงแตกเป็นตาเหมือนที่เห็นขณะนี้ เพราะการเก็บเศษที่แตกออกจากกันมาต่อใหม่

ผู้บ่าวผู้สาวชาวอีสาน จิตรกรรมฝาผนังวัดป่าเรไรย์ จังหวัดมหาสารคาม
ภาพจากหนังสือ ฮูบแต้ม ในสิมอีสาน งานศิลป์สองฝั่งโขง สำนักพิมพ์มติชน

ปรัชญาจากตำนานชาวอุษาคเนย์ปรัมปรา

นิทานปรัชญาชาวบ้านปรัมปราเรื่องนี้ ได้เสนอแนวคิดเรื่องความเห็นแก่ปากท้องมากเกินไป ตลอดถึงความสะดวกสบายมากไป ให้รักถิ่นฐานที่ตนเคยอยู่มาหลายร้อยปี ท้องถิ่นของเรานี่แหละดีที่สุดแล้ว อยู่สบายกว่าที่ไหน ๆ อีกอย่างไม่เชื่อในคำพูดใคร ๆ โดยง่ายหากมีใครมาพูดชักชวนให้ไปหางานใหม่ หรือมีงานดีเงินเดือนก็ได้มาก ควรพิจารณาไตร่ตรองให้จงดี ควรเชื่อกับท่านที่ควรเชื่อควรเป็นที่ไว้ใจได้ อนึ่ง ยิ่งผู้ที่มีศีลกินเจผู้ที่เป็นนักบวช ถ้ามีพฤติกรรมเห็นแก่ปากท้องแล้ว ก็ยิ่งไม่เป็นที่น่าเคารพศรัทธาต่อสาธารณชนเลย

****

คอลัมน์ เรื่องเล่าปราชญ์ชาวบ้าน นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๑๐ ฉบับที่ ๑๑๑ | กรกฎาคม ๒๕๖๔

.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
shopee : https://shp.ee/ji8x6b5
LnwShop : https://www.thaibookfair.com/seller/chonniyom-eshann
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมอีสาน แหล่งภูมิปัญญาชาวอีสาน
วาระแห่งหมู่บ้าน
นิตยสารทางอีศาน ฉบับที่ 111
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com