วรรณกรรมกับอารยธรรมโลก

(๓)

# ศิลปะและวรรณกรรมยุคโรแมนติก

“ศิลปินวาดภาพไม่ใช่สิ่งที่เห็นข้างหน้าเขา แต่ที่เห็นข้างในเขา” (C.D.Friedrich)

คำว่า “โรแมนติก” ไม่ได้มีความหมายเรื่อง “ความรัก” แต่กินความกว้างขวางและล้ำลึกมาก เพราะเกี่ยวกับแนวคิด โลกทัศน์ ชีวทัศน์ ระบบคุณค่าใหม่ที่เกิดขึ้นพร้อมกับการปฏิวัติต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์ตะวันตกที่ส่งต่อจิตวิญญาณใหม่แพร่หลายไปทั่วโลกในระยะ 250 ปีที่ผ่านมา

ในช่วง 1770-1850 ที่เรียกกันว่ายุคโรแมนติกในยุโรปนั้น เป็นระยะเวลาเดียวกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม การปฏิวัติที่อเมริกา (1776) และการปฏิวัติฝรั่งเศส (1789) คู่ขนานกันจึงเรียกว่าการปฏิวัติโรแมนติก ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนแปลงในด้านศิลปะ ดนตรี กวี นวนิยาย และปรัชญา ที่มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตและวิธีคิดของผู้คนอย่างสำคัญ

จิตวิญญาณของการปฏิวัติมีอยู่ในวรรณกรรมทั่วไปของยุคโรแมนติก  วิลเลียม เบลค ชื่นชมการปฏิวัติอเมริกัน  เวิร์ดสเวิร์ท ชื่นชมการปฏวัติฝรั่งเศส

โรแมนติกนิยม (Romanticism) เป็นปฏิกิริยาต่อกำเนิดของโลกใหม่ โลกอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การอพยพเข้าเมือง การมีชีวิตนอกศาสนา (secularization) และบริโภคนิยม

เป็นยุคของแนวคิดใหม่ กระบวนทัศน์ใหม่ที่เกี่ยวกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ความรัก เพศ เด็ก สตรี เงิน งาน

ยุคที่มองว่า ความทันสมัยทำให้คนแปลกแยก (alienated) ยุคของการกลับไปหาธรรมชาติ (back to nature) กลับไปหาคุณค่าดั้งเดิมในยุคกลาง ศิลปะโกธิค  กลับไปหาภูมิปัญญาท้องถิ่น นิทานพื้นบ้าน แรงบันดาลใจจากเชคสเปียร์ ซึ่งเกิดก่อนยุคนี้กว่าร้อยปี แต่มีอิทธิพลอย่างสำคัญต่อบทกวีและวิธีคิดของยุคโรแมนติก ทั้งในอังกฤษ เยอรมนี และฝรั่งเศส

โรแมนติกนิยมน่าจะมีต้นกำเนิดจากปรัชญาของเดการ์ตส์ นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสที่บอกว่า ความเป็นจริงไม่ใช่สิ่งที่อยู่ภายนอก แต่คือตัวเรา สิ่งที่อยู่ภายในตัวเราที่กำหนดภายนอก “ฉันคิด จึงเป็นฉัน” แต่นั่นก็เป็นเพียงจุดเริ่มต้น เพราะโรแมนติกนิยมได้ปรับ “ฉันคิด จึงเป็นฉัน” มาเป็น “ฉันรู้สึก จึงเป็นฉัน” I feel therefore I am

ยุคโรแมนติกให้ความสำคัญกับ “ความรู้สึก” (sensation, feeling) ของคนมากกว่าการเน้นเรื่องเหตุผลเหมือนในยุค “คลาสสิก” หรือ “ยุคเรืองปัญญา” (Enlightenment) ก่อนหน้านั้น และคำที่น่าจะเป็นคำหลักหรือสัญลักษณ์ของงานศิลปะ บทกวี วรณณกรรมต่าง ๆ ในยุคนี้ คือ “ไฟปรารถนา” (passion) นั่นเอง

อย่าง Caspar David Friedrich จิตรกรชาวเยอรมัน เขียนภาพของชายจากด้านหลังที่ยืนอยู่บนเขาสูงคนเดียว ภาพนี้ถือเป็นสัญลักษณ์ของศิลปะยุคโรแมนติกเยอรมัน  มีความหมายว่า บุคคลผู้นั้นยืนมองไปในทะเลหมอก มองไปในอนาคตอันมิอาจหยั่งรู้ ให้ความรู้สึกโดดเดี่ยวท่ามกลางขุนเขาและความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ

ภาพ “เสรีภาพนำประชาชน” ของ Eugène Delacroix จิตรกรชาวฝรั่งเศส มีภาพเด่นที่สุด คือ สตรีเปลือยอกถือธงไตรรงค์ของฝรั่งเศสในเหตุการณ์โค่นกษัตริย์ในปี 1830 พระเจ้าชาร์ลที่ 10 แห่งราชวงศ์บูร์บองที่กลับมาหลังการปฏิวัติ  สตรีนั้นคือสัญลักษณ์ของเสรีภาพ

ภาพธรรมชาติ ของ J.M.W. Turner ชาวอังกฤษ ที่แสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึกของศิลปินอย่างมีชีวิตชีวา และ Francisco Goya ชาวสเปน ภาพสถานกักขัง “คนบ้า” สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกที่น่าหดหู่สะเทือนใจ

Gericault ชาวฝรั่งเศส เขียนภาพ แพที่เมดูซา The Raft of Medusa ผู้คนอยู่บนแพที่กำลังถูกพายุแรงนอกชายฝั่งเซเนกัลในแอฟริกาตะวันตก สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกตกใจกลัวของคนในแพนั้นที่สุดท้ายรอดชีวิตมาไม่กี่คน  ภาพนี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของยุคโรแมนติกฝรั่งเศส

ภาพเหล่านี้ล้วนสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกที่แย้งกับสังคมยุคใหม่ที่เน้นการจัดระบบระเบียบของทุกสิ่ง เน้นวิทยาศาสตร์ และตรรกะในการดำรงชีพ จนกลายเป็นสังคมเครื่องจักรที่ไร้ชีวิตและจิตวิญญาณ

นักวิจารณ์ศิลปะบอกว่า “ศิลปะคือ การทำให้ภายในออกมาภายนอก (the internal made external)” กระบวนการสร้างสรรค์ที่กระตุ้นด้วยความรู้สึกบวกกับทัศนะ ความรู้สึกนึกคิดของศิลปิน ศิลปะในยุคนี้มีแรงบันดาลใจจากธรรมชาติ แต่ไม่ใช่การเลียนแบบธรรมชาติเหมือนยุคก่อน แต่เป็นการเปลี่ยนรูปแบบของทิวทัศน์ให้กลายเป็นการแสดงออกทางศิลปะ

ศิลปินยุคโรแมนติกใช้อารมณ์ความรู้สึกเพื่อเข้าใจโลก ไม่ใช้วิทยาศาสตร์หรือเหตุผล เป็นศิลปะสมัยใหม่ของยุคนั้นที่ปฏิเสธศิลปะแบบเดิม เพราะเบื้องหลังแนวคิด คือ เสรีภาพ  เป็นยุคของการปฏิวัติทุกด้าน รวมทั้งวัฒนธรรม  ศิลปินจึงแสวงหาเสรีภาพผ่านทางจินตนาการ ทางญาณทัศนะ มากกว่าทางการคิดคำนวณ   ทางความรู้สึกมากกว่าทางการใช้เหตุผล

ศิลปินในยุคโรแมนติกเป็นนักปรัชญาด้วย สะท้อนธรรมชาติของมนุษย์ ความรู้สึกนึกคิด ความกลัว ความหวัง สะท้อนจิตวิญญาณเสรี เป็นเสียงเพรียกแห่งกาลเวลา เป็นนักจิตวิทยา กวี นักสำรวจสืบค้น ประกาศก ที่บอกถึงความสุขและความน่าสะพึงกลัวได้ทั้งสองสุดขั้ว

พวกเขาเป็นนักเล่าเรื่องด้วยวิธีและภาษาของตนเอง เพื่อบอกว่า นี่คือความหวัง ความฝันของฉัน  นี่คือภาพนิมิตและความกลัวของฉัน อดีตที่เคารพและอนาคตที่หวัง  นี่คือความเชื่อของฉัน ความทุกข์ของฉัน  นี่คือเวลาและยุคของฉัน  นี่คือฉัน  นี่คือโลกของฉัน

ปอล โกแกง ศิลปินชาวฝรั่งเศส แม้จะอยู่ในยุคหลังโรแมนติกแต่ก็ได้รับจิตวิญญาณของโรแมนติก  เขาหนีไปอยู่ที่ตาฮิติ ในหมู่เกาะแปซิฟิก อยู่กับคนพื้นเมือง อยู่กับธรรมชาติ ที่สะท้อนในภาพวาดของเขา  เขาบอกว่า “อารยธรรมทำให้คนเราป่วย” นี่คือความเชื่อหลักของยุคโรแมนติกเลยทีเดียว

ขณะที่ศิลปิน กวี พยายามสะท้อนอีกด้านหนึ่งของชีวิต ความไม่เป็นเหตุเป็นผล (irrational) ความแปลกและแตกต่างอย่างมีเสน่ห์ (exotic)  น่ารักและไร้เดียงสา (naive) แบบเด็ก

บทกวีของ Wordsworth (1770-1850) ที่สะท้อนความงามของธรรมชาติอย่างมีชีวิตชีวา  เขาบรรยายให้เห็นความงามของดอกไม้ สายน้ำ ลำธาร ต้นไม้ ใบหญ้า ท้องฟ้า ป่าเขา ที่ตรงกันข้ามกับภาพของอุตสาหกรรม โรงงานที่แข็งกระด้างและสกปรก  กวีอังกฤษที่สำคัญที่สุดคนหนึ่ง ท่านนี้พูดถึงธรรมชาติและชีวิตที่เรียบง่าย ขณะที่อังกฤษกำลังพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างหนักหน่วง เป็นผู้นำและทำการส่งออกผลิตภัณฑ์ไปทั่วโลก

งานของ รุสโซ เรื่อง Emile เรื่องการศึกษา สะท้อนให้เห็นแนวคิดที่เอาเด็กเป็นศูนย์กลาง เด็กมีศักยภาพ มีพลังสร้างสรรค์ มีความเป็นธรรมชาติที่รอการเติบโตเป็นตัวของตัวเอง ไม่ใช่ถูกหล่อหลอมให้เป็นไปตามที่สังคมต้องการ  เด็กเป็นตัวแทนของความบริสุทธิ์ของธรรมชาติมนุษย์  ความอ่อนหวานของเด็ก ที่ตรงกันข้ามกับความแข็งกระด้าง ไม่มีชีวิต กลไก กฎระเบียบของสังคม

*****

# อารมณ์ความรู้สึกและหัวใจอยู่เหนือเหตุผล

ในยุคเรืองปัญญา หรือยุคสว่างทางปัญญา (Enlightenment) ศตวรรษที่ 17-18 ของยุโรปนั้น “เหตุผล” เป็นใหญ่  รากฐานสำคัญที่ควบคู่ไปกับกาลิเลโอและนิวตัน แกนนำด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการพัฒนายุคใหม่  ในเวลาเดียวกันก็มีคนอย่างปัสกาล คนร่วมสมัยกับเดการ์ต ที่ไม่เห็นด้วยกับ “เหตุผลนิยม”  เขาบอกว่า “หัวใจมีเหตุผล ที่สมองของเราไม่รู้จัก” และ “ขอบฟ้ามิได้อยู่ที่สุดสายตา แต่อยู่ทุกย่างก้าวที่เราเดิน”

คนสามารถรู้สึก มีความยินดี ความทุกข์ ความโศกเศร้า หรือสุขสันต์ ความใฝ่ฝัน ความฝัน ไม่ใช่คิดอย่างเดียว  ฮิวม์ นักปรัชญาอังกฤษบอกว่า คนเราความรู้สึกมาก่อนเหตุผล (feeling precedes reason)

แม้เป็นคนร่วมยุคเรืองปัญญา ร่วมสมัยกับเดการ์ต แต่เชคสเปียร์ ก็สร้างผลงานที่ “สวนกระแส” คลาสสิกและเหตุผลนิยม  ผลงานอันยิ่งใหญ่ที่สะท้อนอารมณ์ ความรู้สึก โกรธ เกลียด เคียดแค้น รัก สิ้นหวัง ที่ยุคของเขาไม่ยอมรับเพราะไม่ยึดแบบแผนประเพณีการประพันธ์ แต่นั่นคือแรงบันดาลใจให้วรรณกรรมในยุคโรแมนติก

อย่างงานวรรณกรรมที่ทำให้เกอเต้ (Johann Wolfgang von Goethe 1749-1832) มีชื่อเสียงตั้งแต่วัยหนุ่ม คือ นวนิยายเรื่อง “ความทุกข์ทรมานของหนุ่มเวอร์เธอร์” (ภาษาเยอรมัน Die Leiden des Jungen Werther ที่อังกฤษแปลว่า The Sorrow of Young Werther) ที่ว่าด้วยเรื่องของความรักของชายหนุ่มที่รักสาวข้างเดียว เพราะเธอมีคู่รักแล้ว และแม้เมื่อเธอแต่งงานกับคนรัก เขาก็ไม่ลดละที่จะบอกรักเธอ จนเมื่อเธอขอร้องให้เขาเป็นเพียงเพื่อนและเลิกการไปพบเธอ เขาก็ฆ่าตัวตาย

แทนที่เกอเต้จะประณามการกระทำดังกล่าว กลับเชิดชูว่าเป็นความรักอันยิ่งใหญ่ หรือ “ไฟปรารถนา” (passion) ที่บูชารักจนวาระสุดท้าย  เรื่องราวที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อคนรุ่นใหม่ในยุคนั้น จนกลายเป็นเรื่องที่ “ระบาด” ไปทั่วเหมือน “ไวรัส” ในยุคโซเชียลมีเดีย

หนังสือของเกอเต้เล่มนี้ตีพิมพ์ถึง 3 ล้านเล่ม ซึ่งยุคนั้นถือว่ามากมายมหาศาล ทำให้คนหนุ่มสาวแต่งตัวทำผมคล้ายตัวเอกในเรื่อง มีสินค้าสารพัด ไปจนถึงพฤติกรรมเลียนแบบการฆ่าตัวตายด้วยไฟรักของคนที่อกหัก รักไม่สมหวัง รักเขาข้างเดียว จนกระทั่งหลายเมืองแบนหนังสือเล่มนี้  ซึ่งนโปเลียน โบนาปาร์ต ยกย่องให้เป็นวรรณกรรมยอดเยี่ยมของยุโรป ที่เขาพกใส่กระเป๋าเอาไว้อ่านยามพักรบ

อย่างไรก็ดี มีนักวิจารณ์วรรณกรรมที่วิเคราะห์ว่า เกอเต้ไม่ได้ยกย่องเชิดชูการสละชีพเพื่อความรักของชายหนุ่ม แต่อ่านให้ละเอียดตั้งแต่ต้นจนจบจะพบว่า เขาเน้นที่ลักษณะนิสัยแบบ “ไบโพลาร์” ของ เวอร์เธอร์  สองลักษณะในอารมณ์ที่ดูแปรปรวน สุดโต่ง ดีก็ดีสุด ร้ายก็ร้ายเหลือ จนจบลงด้วยโศกนาฏกรรม

เกอเต้ คือ หนึ่งในผู้ก่อตั้งขบวนการ “Sturm und Drang” (Storm and Stress) ขบวนการทางวรรณกรรมของเยอรมันในศตวรรษที่ 18 ที่เชิดชูธรรมชาติ ความรู้สึก และความเป็นปัจเจก และพยายามโค่นลัทธิบูชาเหตุผลของยุคเรืองปัญญา  ผู้ร่วมบุกเบิกคนสำคัญกับเขา คือ Friedrich Schiller (1759-1805) กวี นักปรัชญา นักประวัติศาสตร์ และนักเขียนบทละครคนสำคัญของเยอรมัน

ความจริง สิ่งที่เกอเต้เขียนในเรื่องหนุ่มอกหักและฆ่าตัวตาย ส่วนหนึ่งคงได้อิทธิพลหรือแรงบันดาลใจจากเชคสเปียร์ที่เขาชื่นชม อย่างเรื่อง โรเมโอและจูเลียต

เกอเต้ และนักวรรณกรรมยุคนี้บอกให้คน “จงเดินตามหัวใจและไฟปรารถนา” (Follow your heart and your passion) ที่มีอิทธิพลต่อคนทุกยุคสมัยจนถึงวันนี้ (ไม่เชื่อไปถามนายเอมมานูแอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสก็ได้ว่า ทำไมเขาถึงมีภรรยาอายุมากกว่าเขา 25 ปี ที่เคยเป็นครูสอนวรรณกรรมตอนอยู่โรงเรียนมัธยม).

“เสรี พพ”  24 พฤษภาคม 2021

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com