วรรณกรรมกับอารยธรรมโลก

(๒)

# มหากาพย์กับบทกวี

ทำไมเรื่องมหากาพย์คลาสสิกจึงเป็นบทกวี และยังมีการประพันธ์เป็นบทกวีเรื่อยมา ที่สำคัญ ทำไมอำนาจการเมืองจึงสัมพันธ์กับการเขียนกวี เผด็จการตั้งแต่นีโร จักรพรรดิโรมันมาจนถึงมุสโสลินีของอิตาลี และสตาลินของรัสเซียจึงชอบเขียนบทกวี

และทำไมนายกรัฐมนตรีไทยจึงชอบเขียนเพลง ซึ่งก็เป็นบทกวีเหมือนกัน อันเป็นวัฒนธรรมในเอเชีย อินเดีย จีนและญี่ปุ่นตั้งแต่โบราณ รวมทั้งงานวรรณกรรมสำคัญของไทยแต่เดิมมาก็เป็นบทกวีเป็นส่วนใหญ่

การใช้บทกวีเพื่อ “เล่าเรื่อง” เป็นรูปแบบการถ่ายทอดที่กลั่นกรองมาจาก “ข้างใน” ส่วนลึกของหัวใจคนมากกว่าจาก “สมอง” มาจากอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าจากเหตุผล  บทกวีจึง “กินใจ” และกระทบอารมณ์ เร้าอารมณ์ ปลุกเร้าจินตนาการคนได้มากกว่าร้อยแก้ว ประเด็นนี้จะเห็นได้จากวรรณกรรมในยุคโรแมนติกของยุโรป (ที่จะได้กล่าวถึงในตอนต่อไป)

มหากาพย์อีเลียดและโอดิสซี ของ โฮเมอร์ มีอิทธิพลอย่างสำคัญต่อวิถีชิวิตและวัฒนธรรมของกรีก อ่านบทกวีของโฮเมอร์จะเห็น “รูปแบบวิธีคิด” (thought forms) ของกรีกในยุคแรก ๆ ทำให้เห็นระบบคุณค่าในสังคม การเลือกที่จะมีชีวิตที่กล้าหาญ เพื่อจะได้มีชื่อคู่ฟ้าดิน ดีกว่าการมีชีวิตสุขสบายที่ยืนยาวแต่ไร้ซึ่งเกียรติยศและผู้คนไม่จดจำ นั่นคือ สิ่งที่มารดาบอกกับอะกิลเลส เขาเลือกอย่างแรก เลือกที่จะไปรบ แม้รู้ว่าจะต้องตาย

อเล็กซานเดอร์มหาราชได้ค้นพบขุมทรัพย์อันประเสริฐในมหากาพย์ของโฮเมอร์ จึงส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์และถ่ายทอดไปยังคนหมู่มาก นั่นคือที่มาของ “ห้องสมุด” ใหญ่ในเมืองสำคัญอย่างอเล็กซานเดรียและที่อื่น ๆ ที่มีงานของโฮเมอร์และคนอื่น ๆ หลังจากที่อเล็กซานเดอร์สวรรคต

เพลโตและอริสโตเติล บอกว่า  บทกวีไม่ได้ปลุกเร้าแต่เพียงอารมณ์ความรู้สึก แต่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้คนเป็นคนดีได้

ในอารยธรรมตะวันออก วัฒนธรรมจีนมี “หนังสือเพลง” ซึ่งก็คือบทกวีที่เป็นเนื้อร้องเพลง ซึ่งไม่ได้เป็นผลงานของกวีเอกหรือนักปราชญ์ราชสำนักเท่านั้น “ข้าราชการ” จีนทั่วไปก็ต้องเขียนบทกวีเป็น เพราะต้องสอบการเขียนบทกวีให้ผ่าน อันเป็นหนึ่งในคุณสมบัติของการเป็นข้าราชการ ยิ่งระดับสูงยิ่งต้องเก่งขนาดด้นบทกวีได้

ญี่ปุ่นพยายามประกาศเอกราชจากจีนโดยการรวบรวมบทกวีของตนเอง เรื่องเล่าเป็น “เกนจิ” ของ มุราซากิ ชิคิบุ ได้รับการยอมรับว่าเป็นนวนิยายเรื่องแรกของโลกก็เขียนเป็นบทกวี ที่บรรยายชีวิตในราชสำนัก ซึ่งเต็มไปด้วยรายละเอียดและข้อมูลทางจิตวิทยา เป็นบทกวีเกือบ 800 บท

ในโลกอาหรับ จากประเพณีเล่าเรื่องสืบต่อกันมา ได้มีการบันทึกลง “กระดาษ” ที่ได้รับอิทธิพลจากจีน ทำให้เราได้เห็น “อาหรับราตรี” (One Thousand and One Nights) ที่เป็นเรื่องเล่าและบทกวี

ผลงานที่ยิ่งใหญ่ในปลายยุคกลางของยุโรปเป็นของ ดันเต อาลีเกียรี ที่รจนาเรื่องราวทางศาสนา สะท้อนความเชื่อของชาวคริสต์ในเรื่องนรก ไฟชำระ (purgatory) และสวรรค์  เขาไม่ได้เขียนเป็นภาษาละติน อันเป็นภาษา “สากล” ของ “ยุโรป” ในยุคนั้น แต่เขียนเป็นภาษา “ท้องถิ่นทอสกานา” ซึ่งต่อมากลายเป็นภาษากลางของอิตาลี

เมื่อการพิมพ์พัฒนาขึ้นมาในศตวรรษที่ 15 โดย โยฮันเนส กูเทนเบอร์ก ชาวเยอรมัน ทำให้การอ่านการเขียนแพร่หลายไปสู่ประชาชนคนทั่วไป เกิดคนอ่านคนเขียนจนถึง “นักประพันธ์” มากยิ่งขึ้น แต่การเขีนบทกวีมีน้อยลง และจำกัดอยู่ในแวดวงของคนที่มีทักษะด้านนี้จริง ๆ หรือไม่ก็จำกัดอยู่ในแวดวงของดนตรี โดยเฉพาะเพลงในโบสถ์ ซึ่งก็ล้วนเป็นบทกวี

# มหากาพย์

อีเลียดของโฮเมอร์ว่าด้วยสงครามกรุงทรอย ซึ่งบรรดากษัตริย์รวมพลกันไปล้อมกรุงทรอย แต่ก็ไม่สามารถตีเมืองได้ ที่สุดก็วางแผนทำเป็นเลิกรบ และออกเรือไปหลบอยู่อีกด้านหนึ่ง ทำม้าไม้ทิ้งไว้ที่ชายหาด ให้อากิลเลส นักรบคนสำคัญนำทหารเข้าไปหลบอยู่ด้านใน เมื่อชาวเมืองทรอยเฉลิมฉลอง คืนนั้นอากิลเลสก็นำทหารออกมาเผาเมือง

เทพอาเธนาสงสารเจ้าชายปารีส จึงบอกจุดตายของอากิลเลสว่าอยู่ที่ข้อเท้า เพราะตอนที่เกิดมา มารดาของเขาได้นำไปจุ่มลงในแม่น้ำอมตะ เหลือแต่ข้อเท้าที่ไม่เปียกน้ำ เจ้าชายปารีสจึงยิงธนูไปที่ข้อเท้าสังหารอากิลเลส  ผู้ซึ่งมารดาได้บอกเขาว่า ถ้ามีครอบครัวและมีชีวิตเหมือนคนทั่วไปจะอายุยืน ถ้าไปรบจะเป็นวีรบุรุษที่คนจดจำไปยาวนานแต่อายุจะสั้น  เขาเลือกอย่างหลัง ตัดสินใจไปรบที่กรุงทรอย

ขณะที่โอดิสซีว่าด้วยการผจญภัยของโอดิสซุส สหายของอากิลเลส ที่หลังสงครามกรุงทรอยก็เดินทางกลับบ้าน แต่ก็ถูกสาปให้ผ่านปัญหาอุปสรรคมากมาย ลูกน้องตายเกือบหมด แต่ที่สุดก็กลับถึงบ้านได้ และจบอย่างมีความสุข

เราจึงได้อ่านการผจญภัยอันน่าตื่นเต้นของโอดิสซุสในทะเล การหนีจากถ้ำของยักษ์ตาเดียว การเร่ร่อนนับสิบปีในทะเลเพราะคำสาปของโพไซดอน เทพเจ้าของทะเล บิดาของยักษ์ตาเดียว และรายละเอียดอื่น ๆ อีกมากมาย ที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ทางทีวีหลายตอน   เด็กดูได้ผู้ใหญ่ดูดีอย่างสนุกสนาน

ส่วนมหากาพย์ของอินเดียนั้น คือ รามายณะ หรือรามเกียรติ และมหาภารตะ  มหากาพย์อันเก่าแก่และยิ่งใหญ่ของชมพูทวีป โดยรามายณะน่าจะเกิดขึ้นเมื่อสองพันกว่าปีก่อน  เป็นโศลกภาษาสันสกฤต เป็นเทพปกรณัมที่แพร่หลายมาทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนกลายเป็นวรรณคดีประจำชาติไป ทั้งไทย ลาว กัมพูชา พม่า มาเลเชีย อินโดนีเชีย

รามเกียรติ์ของไทยมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมารัชกาลที่ 1 กรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงพระราชนิพนธ์รวบรวมตอนต่าง ๆ เข้าด้วยกันให้สมบูรณ์  รัชกาลที่ 2 ได้ทรงพระราชนิพนธ์เป็นบทละครเป็นตอน ๆ  ต่อมารัชกาลที่ 6 ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ โดยใช้ฉบับของอินเดีย (รามายณะ) มาพระราชนิพนธ์ ใช้ชื่อว่า “บ่อเกิดรามเกียรติ์”

มหาภารตะ เป็นโศลกภาษาสันสกฤต มหากาพย์เรื่องนี้นับเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญยิ่งของเทพปกรณัมในศาสนาฮินดู เป็นมหากาพย์ที่ยาวที่สุดในโลก เล่าเรื่องเกี่ยวข้องกับเทพปกรณัม การสงคราม และหลักปรัชญาของฮินดู  ทั้งนี้ยังมีเรื่องย่อย ๆ แทรกอยู่มากมาย ซี่งหลายเรื่องก็เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี เช่น ภควัทคีตา ศกุนตลา สาวิตรี พระนล กฤษณาสอนน้อง อนิรุทธ์ เป็นต้น

มหาภารตะ ถือว่าเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญของศาสนาฮินดูด้วย โดยเฉพาะภควัตคีตา  นอกจากนี้ยังให้ความรู้เกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิต ศาสนา การเมือง ศิลปะหลายแขนง ประวัติความเป็นมาของวงศ์ตระกูลต่าง ๆ ในเรื่อง และธรรมเนียมประเพณีการรบการสงครามของอินเดียยุคโบราณด้วย

มหาภารตะ เป็นเรื่องราวความขัดแย้งของพี่น้องสองตระกูล ระหว่าง ตระกูลเการพ และตระกูลปาณฑพ ซึ่งทั้งสองตระกูลต่างก็สืบเชื้อสายมาจากท้าวภรต แห่ง กรุงหัสตินาปุระ จนบานปลายไปสู่มหาสงครามที่ทุ่งกุรุเกษตร ซึ่งมีพันธมิตรของแต่ละฝ่ายเข้าร่วมรบด้วยเป็นจำนวนมาก  กล่าวกันว่า นี่คือการต่อสู้ระหว่าง ฝ่ายธรรมะและฝ่ายอธรรม ความดีและความชั่ว ซึ่งในที่สุดแล้วฝ่ายปาณฑพก็เป็นผู้ชนะในสงครามครั้งนี้

# จากเทพปกรณัมโบราณถึงการ์ตูนและภาพยนตร์ยุคใหม่

การนำเรื่องราวตำนานโบราณมาเป็นภาพยนตร์จอใหญ่ หรือชุดทางโทรทัศน์ ทำกันมาตั้งแต่มีอุตสาหกรรมนี้ ทั้งในตะวันตกและตะวันออก ทั้งฮอลลีวู้ดและบอลลิวู้ด รวมทั้งมีการทำเป็นการ์ตูนสำหรับเด็ก (และผู้ใหญ่) มานาน แต่ได้กลายเป็นปรากฏการณ์ใหม่เมื่อไม่ถึง 20 ปีมานี้เอง

เมื่อมีการนำการ์ตูนมาทำเป็นหนังด้วยเทคนิคทันสมัย และฝีมือคณะนักสร้างผู้กำกับมือทอง ทำให้หนังที่นำเอา “ตำนาน” เก่าแก่มาเป็น “ซุปเปอร์ฮีโร่” ในแบบต่าง ๆ อย่างในชุดของ “จักรวาลภาพยนต์มาร์เวลส์” (Marvel Cinematic Universe : MCU) เริ่มจาก Iron Man มาจนถึง Avengers Endgame 23 เรื่อง  ทำเงินไปประมาณ 700,000 ล้านบาท และกำลังรอตามมาอีกอย่างน้อย 13 เรื่อง

ถ้ารวมเอาจากบริษัทอื่น กลุ่มอื่นนอกจากวอลท์ ดิสนีย์ นี้แล้ว  รายได้น่าจะไปถึงหนึ่งล้านล้านบาทแน่ เพราะประสบความสำเร็จสูงในอเมริกาและทั่วโลก  ถ้ารวมอย่างเรื่องแบบ Crash of the Titans, Wrath of the Titans รวมไปถึง Lord of the Rings และ Harry Potter ซึ่งก็ได้รับอิทธิพลและนำเรื่องราวจากเทพปกรณัมไม่ว่าทางยุโรปเหนือหรือกรีกมา “ทำใหม่” ในรูปแบบเนื้อหาที่สามารถโยงไปถึงตำนานโบราณได้

ซุปเปอร์ฮีโร่ในการ์ตูนมาเป็นภาพยนตร์อย่าง Super Man มาจาก Hercules ผู้มีกำลังมหาศาลและปกป้องความยุติธรรม  Batman มาจาก Theseus บุตรของโพไซดอน คนฉลาดและกล้าหาญ Flash มาจาก Hermes ผู้สื่อสารของซุส เทพเจ้าแห่งจักรวาล (ตัวละครแฮร์รี่พอตเตอร์  เจ เค โรลิง ก็นำมาจาก Hermes เช่นเดียวกัน)

หรือ Iron Man ซึ่งสร้างหลายภาคมาก ก็คือ Hephaestus เทพช่างเหล็ก ผู้ตีเหล็กผลิตอาวุธให้บรรดาเทพเจ้ารบกัน  แม้แต่ Captain America ก็มาจาก Achilles ที่มารดานำไปจุ่มในแม่น้ำอมตะ เหลือแต่ส้นเท้าที่ไม่ถูกน้ำ จึงกลายเป็น “จุดตาย” ใครที่ดูหนังเรื่องกัปตันอเมริกา ซุปเปอร์ฮีโร่จากสงครามโลกครั้งที่สอง และรู้จักเรื่องอากิลเลสและสงครามกรุงทรอยก็จะเห็นภาพเหมือนของสองซุปเปอร์ฮีโร่นี้

โดยไม่ลืม Black Widow ซึ่งถอดแบบมาจาก Atlanta เทพีในเทพปกรณัมกรีกที่มีฝีมือในการล่าสัตว์ การต่อสู้และการรบยิ่งกว่าชาย

นอกจากวรรณกรรมกรีก ยังรวมไปถึงตำนานหรือเทพปกรณัมอียิปต์ เยอรมานิก ไอซ์แลนด์ ยุโรปเหนือ ของหลายชนเผ่าโดยเฉพาะไวกิ้ง ชื่อเทพเจ้า Thor ที่น่าจะเทียบได้กับ Zeus ของกรีก ที่อะเวนเจอร์สนำมาปะปนกับเทพเจ้าของกรีก เพราะในตำนานกรีกจริง ๆ ไม่มี Thor

เหล่านี้ คือความสำเร็จของการทำภาพยนตร์ที่ย้อนกระแสการพลิกโลกของการสื่อสาร (media disruption) ที่คิดกันว่า คนจะดูหนัง (โรง) น้อยลงจนถึงกับต้องปิดไป แต่ตรงกันข้าม ยังมีวัฒนธรรมบางอย่างที่ทำให้คน “เงยหน้า” จากจอเล็กไปดูจอใหญ่ในโรง ทำเงินอย่างถล่มทลายแบบไม่เคยมีมาก่อน  คิดถึงหนังอย่าง Avengers Endgame ที่ลงทุนสร้างหมื่นล้านบาท ทำเงินได้แสนล้านบาท มากกว่า “อวตาร” ของ เจมส์ คาเมรอน หนังจินตนาการเล็กน้อย

ความสำเร็จของหนังประเภทซุปเปอร์ฮีโร่ถูกโยงไปถึงโศกนาฏกรรม 9/11 ที่นิวยอร์ค ที่คนอเมริกันโหยหาซุปเปอร์ฮีโร่มาปกป้อง มาสร้างสังคมยุติธรรม  แต่ที่จริงความรู้สึกของมนุษย์ที่มีขีดจำกัด อ่อนแอ เปราะบาง และต้องการความช่วยเหลือแบบเหนือธรรมชาติมีมาทุกยุคสมัย

ความพยายามในการก้าวพ้นขอบเขตของธรรมชาติด้วยจินตนาการอันล้นเหลือนั้นมีมาตั้งแต่มีมนุษย์ เห็นได้จากความเชื่อ เทพปกรณัม ตำนาน พื้นฐานอารยธรรมต่าง ๆ

และในชีวิตจริง คนก็พยายามก้าวข้ามเขตแดนความรู้ของตน จึงมีโหราพยากรณ์ มีคนลงองค์ทรงเจ้า มีมายากลที่คนชื่นชอบ เพราะสามารถทำให้ฝันและจินตนาการของตนเป็นจริงได้

อย่างไรก็ดี ปรมาจารย์หนังอย่างมาร์ติน สกอร์เซซี บอกว่า “นี่ไม่ใช่ภาพยนตร์” (แต่เป็นการ์ตูนที่เอาขึ้นจอยักษ์และทำให้เคลื่อนไหวได้ด้วยไอที) เพราะภาพยนตร์ในนิยามของสกอร์เซซี คือ “สิ่งที่เปิดเผยให้เห็นสุนทรียะ อารมณ์ และจิตวิญญาณของมนุษย์”

หรือว่า สกอร์เซซี ยึดติดกับรูปแบบประเพณีภาพยนตร์มากเกินไป จนลืมไปว่า นิยามของสุนทรียะ อารมณ์และจิตวิญญาณของคนวันนี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว และเขาตามไม่ทัน  เหมือนกับผู้คนส่วนใหญ่ สูงวัยทั้งหลาย ที่ไม่เคยได้ดูหนัง MCU และไม่รู้ว่ามันทำเงินได้ล้านล้านบาทแล้ว.

“เสรี พพ”  22 พฤษภาคม 2021

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com