วรรณกรรมกับอารยธรรมโลก

(๔)

โรแมนติกเปลี่ยนโลก

โรแมนติกนิยม (Romanticism) ไม่เป็นเพียงประวัติศาสตร์ หรือวรรณกรรม แต่เป็นปรัชญา เป็นวิธีคิด ท่าทีต่อชีวิต โลกทัศน์ ชีวทัศน์ ให้ความสำคัญกับจินตนาการ ทำให้  “มองอดีต เห็นปัจจุบัน ฝันถึงอนาคต”

สัจจะแห่งจินตนาการ คือ อะไรที่เราจินตนาการเห็นความงามก็เป็นความจริง ความงาม ธรรมชาติ จินตนาการ ล้วนสัมพันธ์กับสิ่งที่เปิดเผยออกมาในโลก

วิคเตอร์ ฮูโก บอกว่า โรแมนติกนิยม คือ เสรีนิยมในวรรณกรรม คือการขบถต่อแนวคิดอนุรักษ์และวรรณกรรมของศตวรรษที่ 18 ศตวรรษแห่งเหตุผล (Age of Reason) ที่เรียกกันว่ายุคเรืองปัญญา (Enlightenment) ที่มองเห็นยุคชาวโรมันและรูปแบบคลาสสิกเป็นโมเดลที่สมบูรณ์แบบ

แม้ยุคโรแมนติกจะมากด้วยกวี แต่โรแมนติกก็เป็นอะไรมากกว่ากวี เป็นปรัชญาชีวิต วิถีที่เน้นการมีชีวิตใกล้ชิดกับธรรมชาติ เห็นคุณค่าของความรู้สึก  Schiller ปราชญ์เยอรมันบอกว่า กวีเขียนสิ่งที่เราแสดงออกมาที่เราไม่เข้าใจและอธิบายด้วยเหตุผลไม่ได้ แต่บทกวีอธิบายให้เรารู้สึกได้

นอกจากคำว่า “ไฟปรารถนา” (passion) ในวรรณกรรม คำหลักของปรัชญายุคนี้ คือ “จิตสำนึก” (consciousness)  โรแมนติกนิยมนับเป็นขบวนการใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ ที่เปลี่ยนแปลงชีวิตและความคิดของโลก เป็นการเปลี่ยนแปลงจิตสำนึก เป็นขบวนการทางความคิด (movement of idea)  ความคิดเรื่องการปฏิวัติสังคม ความคิดเรื่องชาตินิยม (nationalism) แนวคิดสุดโต่งเรื่องอนาธิปัตย์ หรือการไม่มีรัฐ ไม่มีอำนาจรัฐ อยู่อย่างเสรีกับธรรมชาติ 

วรรณกรรมจำนวนมากพูดถึงสิทธิสตรี สิทธิของทาสที่ต้องได้รับอิสรภาพ รวมไปถึงสิทธิของสัตว์ ในลักษณะที่ไม่เคยมีงานเช่นนี้มาก่อน อันเป็นการสร้างรากฐานให้ขบวนการสิทธิมนุษยชน สิทธิสตรี สิทธิสัตว์ และการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ค่อย ๆ เติบโตในเวลาต่อมา

แนวคิดคำหลัก คือ ความเป็นบุคคล ความสำคัญของความรู้สึก ความเป็นปัจเจกที่ให้ความหมายแก่เสรีภาพ สุนทรียศาสตร์ ความงาม ความหมายใหม่ของจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ อัจฉริยะ การฆ่าตัวตาย การขบถ คนนอก  เหล่านี้ถือว่าเป็น “ควมคิดทันสมัย” (modern mind) ที่เกิดในขบวนการโรแมนติกทั้งสิ้น

แนวคิดหลักว่าด้วยสิทธิ  ปัจเจกบุคคล เป็นศูนย์กลางของชีวิต สังคม การเมือง ศีลธรรม ท้าทายอำนาจกษัตริย์ ที่อ้างเทวสิทธิ์เพื่อให้ความชอบธรรมด้วยสิทธิอำนาจจากสวรรค์  ขณะที่บรรดาผู้นำในยุคโรแมนติกเห็นว่า คนเกิดมาพร้อมกับสิทธิตามธรรมชาติ และทุกคนเท่าเทียมกัน มีความเป็นปัจเจก มีศักดิ์ศรี เป็นพลเมือง ที่นำไปสู่การทำสัญญาประชาคม และการปฏิวัติฝรั่งเศส

รุสโซ เห็นว่า คนในสถานะธรรมชาติอยู่ด้วยกันแบบสัมพันธ์อันดี มีเสรีภาพตามธรรมชาติ มีคุณสมบัติสำคัญ 2 ประการ คือ ความพยายามรักษาชีวิต และความปรารถนาที่จะช่วยเหลือผู้อื่น แต่โลกสมัยใหม่ทำให้เสียหาย เพราะฉ้อฉล (corrupt) ทำให้เห็นแก่ตัว มีแต่การแข่งขัน และพันธนาการคนไปหมด ไม่เป็นอิสระ

รุสโซ บอกว่า “คนเราเกิดมาอิสระ แต่ทั่วไปมีแต่พันธนาการ” (Man is born free, but everywhere is in chains)  คนยุคแรกเห็นอกเห็นใจกัน เอาใจเขามาใส่ใจเรา เป็น “คนป่าที่สูงส่ง” (ทางจิตใจ) (noble savage)  สิ่งเหล่านี้มีอยู่ดั้งเดิมในตัวเรา แต่โลกสมัยใหม่ได้ทำลายมันไปด้วยค่านิยมที่ทำให้คนเห็นแก่ตัว โลภหลง แก่งแย่งชิงดี

ชเลเกล (F. Schlegel 1772-1829) กวีและนักปรัชญาเยอรมันบอกว่า โรแมนติกควรเป็นแนวทางชีวิตทั้งหมด ไม่เพียงแต่กับกวี  วรรณกรรม ควรประยุกต์กับทุกอย่างที่เรารู้สึกสัมผัส กับครอบครัว การเมือง สิ่งก่อสร้าง การทำอาหาร ทุกอย่าง “โรแมนติก” ได้หมด ทำด้วย “หัวใจ” ด้วย “ไฟปรารถนา”

นักปราชญ์ในยุคโรแมนติกมองเห็นเอกภาพและความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติและสรรพสิ่ง   จนสปิโนซา นักปรัชญาเยอรมันและเวิร์ดสเวิร์ท กวีอังกฤษถูกหาว่าเป็นพวกว่าสรรพสิ่งคือพระเจ้า (pantheist) เห็นว่าพระเจ้า มิได้ “อยู่เหนือ” แต่ “อยู่ใน” สิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติ ในโลก (imminent in the world)

โรแมนติกนิยมจะมองธรรมชาติด้วยทัศนะแบบโรแมนติก คนเป็นหนึ่งกับธรรมชาติ รู้สึกสัมผัสธรรมชาติ (Wordsworth) แต่ในเวลาเดียวกันก็พูดถึงอุตรภาวะ อีกมิติหนึ่งของความเป็นจริง ซึ่งไม่ได้แปลว่าอยู่เหนือธรรมชาติ แต่เป็นสภาวะทางจิตใจที่ก้าวข้ามสิ่งที่สัมผัสได้ ยกระดับจิตใจของคนขึ้นไป

ความเป็นปัจเจก ประสบการณ์ของปัจเจก ยกย่องสิ่งที่บุคคลทำได้ด้วยศักยภาพ จินตนาการ พลังสร้างสรรค์ ความเป็นปัจเจกมีสิทธิ ศักดิ์ศรีที่ละเมิดมิได้ 

******

คืนสู่ธรรมชาติกับคืนสู่รากเหง้า

อังกฤษมีกวีอย่างเวิร์ดสเวิร์ท, ไบรอน, เชลลี, เบลค  ฝรั่งเศสมี รุสโซ, โรเบสเปียร์  เยอรมนีมีแฮร์เดอร์, ชเลเกล, เกอเต้, เชลลิง เป็นต้น  บุคคลเหล่านี้ล้วนเป็น “ขบถ” ต่อวิธีคิดดั้งเดิม ซึ่งพยายามอธิบายทุกอย่างด้วยเหตุผล แต่พวกเขาพบว่า คนไม่ได้มีเพียงเหตุผล ตรรกะที่ไม่ตอบสนองชีวิตของคน เป็นการครอบงำทำให้ไม่มีเสรีภาพมากกว่า

แนวคิดต่าง ๆ ของนักคิด นักเขียน กวี นักปรัชญายุคนี้จึงมีทั้ง “คืนสู่ธรรมชาติ” และ “คืนสู่รากเหง้า” มีลักษณะเป็นชาตินิยมและท้องถิ่นนิยม

เรื่องชาตินิยมเกิดที่เยอรมนี เนื่องจากเยอรมนีตอนนั้นยังไม่เป็นประเทศ มีแต่แคว้นต่าง ๆ โดยมีปรัสเซีย เป็นแคว้นทางเหนือที่มีอำนาจมากที่สุด ส่วนทางใต้อยู่กับจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ภายใต้การปกครองของออสเตรีย  ทางปรัสเซียชื่นชมวัฒนธรรมฝรั่งเศส ใช้ภาษาฝรั่งเศส มีค่านิยมฝรั่งเศส จึงเป็นที่มาของขบวนการ Sturm und Drang อันมีเกอเต้และเชลลิ่งผู้ก่อตั้งและแกนนำสำคัญ

ขบวนการ Sturm und Drang (Storm and Stress) ต้องการกำจัดค่านิยมฝรั่งเศส ปลดปล่อยเป็นอิสระจากฝรั่งเศส ทดแทนด้วยวัฒนธรรมท้องถิ่นเยอรมัน จิตวิญญาณของเยอรมัน

ใน das Volk (ประชาชน) Herder ให้ความสำคัญกับ ประชาชนคนธรรมดาสามัญว่าเป็นรากฐานวัฒนธรรม คือจิตวิญญาณประชาชน (Volksgeist) โดยกลับไปรวบรวม ศึกษาบทเพลง จารีตประเพณี วิถีชีวิตในชนบท ภูมิปัญญาท้องถิ่น ตำนาน นิทาน ซึ่งเป็นที่มาของการรวบรวมนิทานของพี่น้องกริมม์

ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เกอเต้และชิลเลอร์ได้แรงบันดาลใจจากเชคสเปียร์ที่เป็นต้นแบบของการใช้เรื่องของท้องถิ่น ของคนธรรมดาสามัญมาประพันธ์เป็นละคร การฟื้นตำนานท้องถิ่นของแฮร์เดอร์ ของเกอเต้ นำไปเป็นดนตรีและอุปราการอันยิ่งใหญ่ของริชาร์ด ว้ากเนอร์ และได้ถูกใช้ประโยชน์จากเผด็จการอย่างฮิตเลอร์ผู้หลงใหลในดนตรีของว้าคเนอร์ แต่ทำให้รักชาติ กลายเป็นคลั่งชาติในที่สุด สร้างเผด็จการเบ็ดเสร็จที่เลวร้าย

เท่านี้ก็คงพอเข้าใจว่า ทำไมสถาบันวัฒนธรรมเยอรมันจึงมีชื่อว่า “สถาบันเกอเต้” (Goethe Institute) เพราะเขาคือผู้บุกเบิกการฟื้นฟูวัฒนธรรมเยอรมัน ซึ่งก่อนนั้นถูกครอบงำจากวัฒนธรรมฝรั่งเศส

การที่วิคตอร์ ฮูโก พูดถึง โรแมนติกนิยมว่าเป็นเสรีนิยมทางวรรณกรรมและปรัชญา หมายความว่า ในศตวรรษที่ 18 ยุคอนุรักษ์ทางการเมืองและมีระบบกษัตริย์ โรแมนติกนิยมคือการต้านระบบคุณค่าศตวรรษที่ 18 ปฏิเสธของเดิม  เสรีนิยที่ฮูโกบอก คือความต้องการรัฐบาลที่เคารพในความเสมอภาคและเสรีภาพของปัจเจก  ตรงกันข้ามกับระบบกษัตริย์ แนวคิดที่ปูทางไปสู่การปฏิวัติฝรั่งเศส ที่ชู “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ”

การขยายความการคืนสู่ธรรมชาติและคืนสู่รากเหง้า มีส่วนทำให้เกิดขบวนการอนุรักษ์ธรรมชาติ เกิดหนังสือ การกลับสู่ธรรมชาติ ตีพิมพ์ที่ลอนดอนปี 1811 (The Return to Nature, a Defense of the Vegetable Regimen) ของ John Frank Newton ที่เริ่มขบวนการส่งเสริมมังสะวิรัติ เลิกรับประทานเนื้อสัตว์

อีกด้านหนึ่ง การคืนสู่รากเหง้า กลับไปสู่สถานะดั้งเดิมของธรรมชาติมนุษย์และสังคมบุพกาล ทำให้เกิดคนอย่าง William Godwin อนาธิปัตย์ชาวอังกฤษที่ไปอีกสุดขั้วหนึ่งที่บอกว่า คนเกิดมาดีโดยธรรมชาติ แต่ถูกทำลายโดยสถาบันทางสังคม เช่น รัฐบาล การศึกษา การแต่งงาน ถ้าเอาพวกนี้ออกไปหมด คนก็จะสมบูรณ์

การคืนสู่รากเหง้าในแบบของวิคตอร์ ฮูโก ของฝรั่งเศส เป็นการกลับไปฟื้นฟูอนุรักษ์ศิลปกรรมยุคกลางอย่างมหาวิหารน็อตเตอรดาม อันเป็นสัญลักษณ์ของศิลปะโกธิคอันยิ่งใหญ่ ที่เขานำเสนอเป็นนวนิยายเรื่อง “คนหลังค่อมแห่งนอตเตรอดาม” (The Hunchback of Notre Dame) เหตุเกิดที่มหาวิหารแห่งนี้ที่มีความงดงามของสถาปัตยกรรมยุคกลางที่ผู้คนลืมเลือน ละเลย ไม่เห็นคุณค่า และระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส วิหารโกธิคและโบสถ์หลายแห่งได้ถูกทำลาย

ส่วนวรรณกรรม Les Miserables ของฮูโกนั้น แม้เกิดหลัง 1850 เล็กน้อย แต่ก็น่าจะนับเป็นส่วนหนึ่งของยุคนี้เพราะดำเนินเรื่องมาก่อนนั้น สะท้อนการต่อสู้เพื่อสิทธิ ศักดิ์ศรีของคน เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก เรื่องราวที่บันทึกประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศสด้วยเหตุการณ์ที่จำลองคู่ขนานกันไปอย่างมีพลัง

อีกด้านหนึ่ง ดนตรีในยุคโรแมนติกก็สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกและวิญญาณของยุคสมัยด้วยเช่นเดียวกัน อย่างซิมโฟนีหมายเลข 3 Eroica ของ เบโธเฟน ที่ตั้งใจอุทิศให้นโปเลียน ที่เขาชื่นชมว่าต่อต้านระบบกษัตริย์ และต่อสู้เพื่อประชาชน แต่เมื่อได้ข่าวว่านโปเลียนตั้งตนเป็นจักรพรรดิ เขาก็ลบชื่อและคำอุทิศออก  เป็นผลงานที่ปฏิวัติวงการดนตรี ด้วยรูปแบบดนตรีที่แตกต่างจากยุคคลาสสิก สีสันเส้นเสียงที่เป็นชัยชนะของวีรบุรุษ

ยังซิมโฟนีหมายเลข 5 และ 6 ของ เบโธเฟน ฟังให้ดีจะได้ยินเสียงร้องของยุคโรแมนติก  หมายเลข 5 ที่ผู้คนจดจำมากที่สุดเพราะโน้ต 4 ตัวแรก ประหนึ่งเสียงเพรียกแห่งชะตากรรม  หมายเลข 6 เห็นภาพธรรมชาติของชนบท ของฝูงแกะที่เล็มหญ้ากลางทุ่ง ได้ยินเสียงฝนตก ฟ้าร้อง ประกอบกับเสียงร้องของแกะ เมื่อลมและฝนผ่านไปก็ได้ยินเสียงสวดมนต์ขอบคุณพระเจ้าของเหล่าชุมพาบาล และบทเพลงสรรเสริญพระเจ้าที่ทำนองไพเราะ

ที่น่าจะเป็นคีตกวีที่สะท้อนยุคโรแมนติกได้ดีที่สุด คือ Symphony Fantastique ของ Hector Berlioz คีตกวีคนสำคัญของฝรั่งเศส หนึ่งในผลงานสำคัญในช่วงต้นของยุคโรแมนติก เล่าเรื่องราวของศิลปินคนหนึ่งที่ไม่สมหวังเรื่องความรัก จึงไปสูบฝิ่นจนประสาทหลอน จินตนาการไปว่าเขาบันดาลโทสะสังหารหญิงคนรัก ถูกลงโทษประหารชีวิตโดยการแขวนคอ และในงานศพของตัวเอง ได้มีการเต้นรำอย่างบ้าคลั่งโดยเหล่าวิญญาณที่ขึ้นมาจากนรกด้วยทำนองที่แปลงมาจากเพลงผู้ตาย Requiem ณ ที่นั้นเขาได้พบกับหญิงผู้เป็นที่รักอีกครั้งหนึ่ง

นอกจากนี้ ยังมีคีตกวียุคโรแมนติกที่เรารู้จักกันดีอย่าง โชแปง, เมนเดลโซห์น, รอสซีนี, ชูเบิร์ต, ชูมันน์ อาจรวมไปถึงคนอื่นที่คาบเกี่ยวระหว่างยุคอย่าง บราห์มส์, ไชคอฟสกี, มาห์เลอร์, สเตราส, แวร์ดี, บีเซต์ เป็นต้น

โรแมนติกนิยม คือ การเริ่มต้นศักราชใหม่ของประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ยุคของการปลดปล่อยจากที่คุมขังอันคับแคบของ “เหตุผล” ที่คนอ้างเหตุผลยกตนเหนือคนอื่น เหนือธรรมชาติ ไปสู่ความเป็นมนุษย์รอบด้าน สู่จินตนาการอันไร้ขีดจำกัด ไปสู่ความสัมพันธ์อันดีระหว่างคนกับคน คนกับสัตว์ คนกับธรรมชาติ

การปลดปล่อยจากอำนาจฝ่ายปกครองแบบกษัตริย์ แบบเจ้าขุนมูลนายไปสู่ประชาธิปไตย การเคารพในสิทธิเสรีภาพ เกียรติและศักดิ์ศรีของมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน

การนิยามว่า “คนเป็นสัตว์ที่มีเหตุผล” ของ อริสโตเติล และพัฒนาไปถึงเหตุผลนิยมสูงสุด (absolute rationalism) ที่เดการ์ต ได้เปลี่ยนไปสู่โรแมนติกนิยม ทำให้คนกลับไปสู่ “ธรรมชาติ” ดั้งเดิมที่รอบด้านของตนเอง ที่มีอารมณ์ ความรู้สึก ญาณทัศนะ ความใฝ่ฝัน จินตนาการ และไฟปรารถนา ที่ไม่ได้ถูกกดทับไว้

อย่างไรก็ดี โรแมนติกนิยมก็ผลักคนไปจนสุดโต่งได้  ไม่ใช่แต่กรณีของการปฏิเสธอำนาจรัฐจนเป็นอนาธิปัตย์ หรือขวาจัดใช้ความรุนแรง  แต่รวมไปถึงการฆ่าตัวตายในนามของความรักหรืออะไรที่อยู่นอกเหนือสามัญสำนึกหรือตรรกะของคนธรรมดา  ยืนยันความเป็นตัวของตัวเอง สิทธิของตนเองจนปลิดชีพตนเองได้

นั่นคือ ที่ทำให้เห็นนักคิด นักเขียน นักปราชญ์ คีตกวี ในอดีตมาจนถึงดารา นักร้อง นักแสดง บุคคลต้นแบบของคนหนุ่มสาวในยุคต่าง ๆ จนถึงวันนี้ที่อายุสั้น เพราะแนวคิดที่ว่า Live fast and die young อยู่เร็วและตายเร็ว

หรือจะเลียนแบบค่านิยมในมหากาพย์อีเลียดที่ว่า “แม้ชีวิตจะสั้น แต่ตายแล้วผู้คนจดจำ ดีกว่ามีชีวิตยืนยาว ที่ไม่มีใครจำได้”

ในยุคปัจจุบัน เราเห็นพัฒนาการคู่ขนานของ “เหตุผล” ในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี IT, AI ปัญญาประดิษฐ์ การเปลี่ยนแบบหักโค่น (disruption) ที่เหมือนหยุดไม่อยู่  ขณะเดียวกันก็มีขบวนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน สิทธิสตรี ขบวนการประชาธิปไตย และอื่น ๆ ที่สะท้อนพลังแห่งจิตวิญญาณที่ยิ่งใหญ่กว่า “เหตุผล” ของผู้คนจำนวนมาก ที่ต้องการสร้างสมดุลในพัฒนาการของชีวิตและสังคม

ไม่เช่นนั้น เราอาจจะได้เห็นการโคลนนิ่งคน การ “สร้าง” คนจากห้องทดลอง เป็นยักษ์มารนานแล้ว เพราะที่จริงวิทยาการได้ล้ำหน้าไปแล้ว เพียงแต่ “จริยธรรม” ยังพอค้ำไว้ได้ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะหยุดยั้งการพัฒนาที่ทำลายตนเอง ทำลายธรรมชาตินี้ได้หรือไม่ อย่างโลกร้อน น้ำแข็งละลาย ถ้าไม่เย็นลงจะเกิดอะไรขึ้น

นี่คือพัฒนาการแบบไร้เหตุผล (absurd) ของยุคที่บูชาเหตุผล บูชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพราะถ้าหากถึงยุคที่ AI ล้ำหน้ามนุษย์แล้ว ไอน์สไตน์บอกว่า เราจะถึงยุคของที่คนเป็นอีเดียดไปหมด หรือไม่ก็ทำลายตนเอง.

“เสรี พพ”  25 พฤษภาคม 2021

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com