วัฒนธรรมบ่อน้ำ : น้ำส้าง น้ำส้างแส่ง
The well is not only a nourishing source for people, plants and animals, it is also a meeting place of those villages, where there is no river, or brook or canal. The villagers meet and greet at the well when they fetch water or take a bath. Boys and girls do their courting here at the well. Young men do favor getting water for their girls until they tie the marriage bond. It becomes a place of entertainment for children and young people. Adults meet here to discuss and determine matters and to make friends. Above all, the well serves as a source of cultural inheritance for the village.
***
นึกย้อนไปถึงฤดูร้อน พ.ศ. ๒๕๐๗ ณ หมู่บ้านชาวกวยแถบเชิงเขาพนมดองแร็ก เมื่อคราวเป็นเด็กน้อยอายุ ๖-๗ ขวบ เคยตามแม่ไปตักน้ำตั้งแต่ฟ้ายังไม่สว่าง แม่ให้ไปเป็นเพื่อน สงสัยว่าทำไมต้องไปแต่เช้ามืดขนาดนี้ พอไปถึงก็เห็นผู้หญิงทั้งสาวและวัยกลางคนนั่งบ้าง ยืนบ้าง มือก็จับไม้คานไว้ รอคิวตักน้ำ ใครที่ได้ตักน้ำก่อนก็จะได้หาบน้ำใสสะอาดกลับบ้าน คนสุดท้ายก็ต้องขอดน้ำข้นคลั่กขึ้นมาแล้วก็รอให้น้ำออกมาใหม่ บางคนรอจนตะวันสายโด่งจึงได้หาบน้ำกลับบ้าน, บ้านของแต่ละคนก็อยู่ไกลจากบ่อน้ำไม่น้อยกว่าหนึ่งกิโลเมตร กว่าจะหาบน้ำถึงบ้านไม่รู้ว่าจะเหลือน้ำในครุถังสักกี่หยด มันแห้งแล้งอยู่อย่างนั้นทุกปี ทั้งที่ปีนั้นป่าไม้เหลืออยู่มากกว่าครึ่งของป่าไม้ทั้งหมดแต่ก็กันดารขาดน้ำ แม้บ่อน้ำจะอยู่ใกล้แหล่งน้ำขนาดใหญ่ แต่เชื่อไหมว่า หมู่บ้านกันดารน้ำมักจะมีน้ำเต็มโอ่งทุกใบ ขณะที่หมู่บ้านไม่ขาดแคลนน้ำโอ่งกลับขอดน้ำ…
สาวหาบน้ำกลับบ้าน ภาพเขียนโดย วัลลภ หน่อศรีดา
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่มีทะเล แหล่งน้ำสำคัญสำหรับวิถีชีวิตของผู้คนในชาติพันธุ์อีศานนั้นคือ แม่น้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง กุด ทาม บวกสำหรับการทำมาหากิน บ่อน้ำนับเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญที่สุด บ่อน้ำที่ภาษาลาวเรียกว่า น้ำส้าง เวลาพูดออกเสียงว่า น้ำส่าง และถ้าอ่านตามตัวหนังสือเสียงก็ไม่ตรงอยู่ดี
ข้อเขียนนี้ได้กล่าวถึงการตั้งชุมชนและแหล่งน้ำมาหลายครั้งแล้ว ที่ยังไม่ได้กล่าวถึงก็คือ บ่อน้ำ, น้ำจากบ่อน้ำเป็นทั้งน้ำบริโภคและอุปโภค แม้การตั้งชุมชนนั้นจะล้อมรอบไปด้วยแหล่งน้ำต่าง ๆ ที่กล่าวมา แต่น้ำจากแหล่งน้ำเหล่านั้นก็ไม่อาจน้ำมาดื่มกินได้ ส่วนใหญ่แล้วจะใช้ในการอุปโภคเช่น ตักมารดน้ำพืชผัก ซักผ้า ต้อนฝูงวัวควายหรือช้างลงไปอาบลงไปแช่ เป็นที่หากินของเป็ด นกเป็ดน้ำหรือสัตว์ปีกอื่น ๆ และสัตว์จำพวกกุ้งหอยปูปลาเต่า แหล่งน้ำจึงหมักหมมด้วยโคลนตม ใบไม้ ขอนไม้ รากไม้ รากหญ้า เน่าเปื่อยอาจส่งกลิ่นเหม็นน้ำจึงไม่สะอาดเพียงพอสำหรับการบริโภค แต่บางช่วงบางแห่งก็ใช้อาบชำระร่างกายได้ เว้นแต่มีน้ำที่ซึมไหลออกมาจากริมตลิ่งหรือบ่อตื้น ๆ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “น้ำส้างจั้น”
น้ำดื่มเป็นสิ่งจำเป็นเกินที่จะขาดได้ ร่างกายขาดอาหารสองสามวันก็พอทนอยู่ได้ (มีนักการเมืองบางคนอดอาหารได้มากกว่า ๕๐ วัน) แต่ถ้าร่างกายขาดน้ำเมื่อไหร่ก็อาจหมายถึงการจบชีวิตลงเมื่อนั้น แต่ละวันจึงต้องดื่มน้ำวันละไม่น้อยกว่า๑๐ แก้ว โดยเฉพาะข้าพเจ้าเอง ดื่มน้ำเหมือนวัวเหมือนควาย หากวันไหนดื่มน้ำไม่พอก็นอนฝันเห็นทะเลทรายและคอแห้งผาก คนบ้านป่าบ้านดงสมัยโบราณ โชคดีมีน้ำฝนหอมเย็นชื่นใจ น้ำฝนค่อนข้างสะอาด คราฝนตกชาวบ้านก็จะรองน้ำฝนใส่โอ่ง อุแอ่งหรือใส่ตุ่มไว้ดื่ม แต่เมื่อน้ำฝนหมดไปก็จำเป็นต้องหันมาดื่มน้ำบ่อ น้ำฝนสมัยนี้ไม่ควรค่าแก่การดื่มอีกแล้ว เพราะในอากาศล้วนแล้วแต่มลพิษ ฝุ่นควัน ละอองศพจากเมรุติดค้างหลังคาบ้าน หากจะรองน้ำฝนเก็บไว้ก็เพื่อใช้ในการซักล้างเท่านั้น คนสมัยใหม่จึงต้องดื่มน้ำประปาและน้ำที่ผลิตจากโรงงาน ซึ่งก็ไม่แน่ใจในความสะอาด ถูกสุขอนามัยเช่นกัน
น้ำส้างแส่งอิฐมอญพัฒนาจากน้ำส้างแส่งคอกไม้ ภาพ : xn--42cgh5bzfug0b.comน้ำส้างแส่งยุคใหม่ ภาพ : ขวัญชิต โพธิ์กระสังข์
ในเมื่อน้ำมีความสำคัญเช่นนี้ ก่อนจะปลูกสร้างถิ่นฐานบ้านเรือน สิ่งแรกที่จะต้องทำก็คือ ขุดบ่อน้ำ การขุดบ่อน้ำนั้น ใช่ว่าสักแต่จะขุดก็ขุดลงไป บางทีก็เสียเวลาเปล่า เพราะขุดลงลึกท่าไหร่ก็ไม่พบตาน้ำ ไม่มีน้ำซึมน้ำไหลออกมา น่าสนใจภูมิปัญญาโบราณที่รู้ว่า ตาน้ำจะอยู่ที่ไหน สิ่งนี้เกิดจากการสังเกตครั้งแล้วครั้งเล่า โดยเฉพาะการสังเกตต้นไม้ อาทิต้นตองหมอง, ต้นพังคี ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต้นไม้เหล่านี้มักจะขึ้นและเจริญเติบโตบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำ, บางทีก็สังเกตความชื้นของดิน โดยใช้อุปกรณ์ เช่น กะละมัง, ถังน้ำ, ขันน้ำไปคว่ำครอบดินไว้หากมีไอน้ำหรือมีความชื้นมาเกาะ บริเวณนั้นก็อาจจะมีตาน้ำ, บางคราวอาจสัมผัสดินด้วยมือว่าบริเวณใดมีความชื้นและความเย็นมากกว่าที่อื่นแต่สมัยนี้เขามีเครื่องมือสำรวจตรวจจับตาน้ำกันแล้ว ซึ่งจะไม่พูดถึงวิทยาการสมัยใหม่
การตั้งถิ่นฐานชุมชนนั้น หมายถึง คนหลาย ๆ ครัวเรือน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเครือญาติกัน อพยพไปตั้งอยู่ด้วยกัน เมื่อจะเป็นชุมชน, หัวหน้าชุมชนก็เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ไม่ใครก็ใครคนหนึ่งที่มีภาวะผู้นำ อันภาวะผู้นำนี้แบ่งออกได้ ๓ ประเภท คือ ผู้นำหน้า (หัวหน้า) แล้วก็มีผู้นำก้น (ผู้ตาม) นอกจากนี้ก็มีผู้นำแหน่ (เอาอะไรเอาด้วย) หัวหน้าจะพาลูกน้องบริวารไปขุดบ่อน้ำประจำหมู่บ้านเป็นบ่อน้ำที่จะใช้ดื่มกินและอาบร่วมกัน บ่อน้ำดังกล่าวนี้ มักจะอยู่ห่างจากหมู่บ้านพอสมควรเพราะป้องกันน้ำครำ เศษสิ่งสกปรกจากครัวเรือนไหลไปลงบ่อน้ำ ส่วนใหญ่จะอยู่ใกล้แหล่งน้ำเพราะขุดแล้วน้ำออกง่ายและมีน้ำอยู่จนขวบปี นี่คือ “บ่อน้ำส่วนรวม”
ชาวบ้านผู้ประกอบอาชีพทำไร่ไถนานั้นจำเป็นต้องมีบ่อน้ำอยู่ที่ไร่อยู่ที่นา ซึ่งไกลจากหมู่บ้าน เวลาลงทำไร่ไถนาก็มีน้ำกินได้ โดยไม่ต้องหาบห่อไปจากบ้าน การขุดบ่อน้ำนั้นต้องช่วยกันขุดอย่างน้อยก็ ๒ คน คือ ผัวกับเมีย เพราะเมื่อขุดลึกลงไปแล้ว คนที่อยู่ในบ่อก็ขุดดินใส่บุ้งกี๋หรือครุถัง ผูกเชือกให้คนที่อยู่ปากบ่อชักดินขึ้นไปเททิ้งส่วนใหญ่แล้ว ผัวก็จะอยู่ข้างล่าง เมียจะอยู่ข้างบนแต่ชาวบ้านมิได้ไร้น้ำใจขนาดนั้น เมื่อใครเห็นว่าใครทำอะไรต่างก็ไปช่วยกันโดยไม่ต้องบอกกล่าวโดยเฉพาะคนที่อยู่ใกล้กันก็ลงมือช่วยกันขุดเพื่อจะได้ใช้น้ำร่วมกัน
เมื่อสำรวจพบตาน้ำแล้วก็ขุดเนื้อดินลงไปส่วนใหญ่จะขุดบ่อเป็นรูปสี่เหลี่ยมกว้างยาวประมาณ เมตรกว่า ๆ เนื้อดินชั้นบนเป็นดินร่วนขุดลึกลงไปอีกก็เป็นดินเหนียว และขุดลึกลงไปอีกก็เป็นดินทราย ชั้นที่เป็นดินทรายนี้เองที่จะเห็นตาน้ำไหลออกมา เมื่อเจอตาน้ำแล้วก็จะไม่หยุดขุดเพียงแค่นี้ ทั้งนี้เพราะเนื้อดินทรายพังทลายมากับน้ำได้ง่ายอาจทำให้เกิดการทับถมในเวลาต่อไป นักขุดบ่อน้ำจึงต้องขุดลงไปอีกให้ชั้นดินศิลาแลง ซึ่งมีความแข็งแรง คงทน ไม่พังง่ายและจะทำให้น้ำใสสะอาด ความลึกของบ่อน้ำไม่แน่นอน โดยประมาณลึกตั้งแต่ ๓ – ๑๒ เมตร การขุดบ่อน้ำจะนิยมขุดในฤดูแล้ง ลึกจนเห็นตาน้ำและน้ำไหลออกมาเพียงพอ จึงมั่นใจได้ว่าจะมีน้ำในบ่อจนขวบปี ถ้าขุดในหน้าฝน ขุดลงไป ๒ – ๓ เมตรก็พบน้ำ แต่คราถึงยามฤดูแล้ง บ่อแบบนี้ก็จะไม่มีน้ำ
ที่ขุดเสร็จแล้วนี้ก็เป็นบ่อน้ำ “น้ำส้างธรรมดา” แต่บ่อน้ำอาจจะไม่คงทน เนื้อดินรอบบ่ออาจจะพังลงได้ในฤดูฝน เมื่อฝนตกน้ำไหลหลาก จนเกิดการทับถมและจะไม่มีน้ำดื่มน้ำใช้ในฤดูแล้งต่อไป ดังนั้น ผู้ขุดบ่อจึงทำคอกไม้รูปสี่เหลี่ยมตามขนาดกว้างยาวของบ่อกั้นในบ่อน้ำตั้งแต่ชั้นลึกสุดไล่ขึ้นมาถึงปากบ่อ เพื่อป้องกันไม่ให้ดินพัง บ่อน้ำที่กั้นด้วยคอกไม้เรียกว่า “น้ำส้างแส่ง” หรือ “น้ำส้างแส่ง แคว่งสร้าง” การกั้นด้วยคอกไม้ก็อาจไม่มั่นคงยาวนานนัก เพราะไม้ที่ทำคอกแช่น้ำอยู่นั้นต้องผุพังไปตามกาลเวลาและเป็นโอกาสที่เนื้อดินจะพังลงมาได้ ชาวบ้านจึงขุดบ่อและก่อปูนด้วยอิฐมอญ แน่นหนา มั่นคง แข็งแรงกว่าคอกไม้ เรียกว่า “น้ำส้างแส่ง” เหมือนกัน สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางความคิดของชาวบ้าน แต่สมัยนี้หากจะขุดบ่อก็จะขุดเป็นวงกลม เพราะไม่ทำคอกไม้กั้นและก่ออิฐมอญอีกแล้ว เนื่องจากมีวัตถุอุปกรณ์ที่ใช้สะดวกกว่า นั่นคือใช้ท่อปูนวงกลมเป็นตัวกั้นดิน ก็เรียกว่า “น้ำส้างแส่ง” เหมือนกันนี่คือแหล่งน้ำสำหรับบริโภคและอุปโภคที่เกิดจากมนุษย์สร้างขึ้นมา ต่อมาทางราชการจึงไปเจาะบ่อน้ำบาลแบบโยกให้ตามหมู่บ้านหรือหากหมู่บ้านอยู่ใกล้แหล่งน้ำก็ใช้ระบบน้ำประปาและมีชาวบ้านที่เจาะน้ำบาดาลใช้เองโดยใช้เครื่องปั่นน้ำขึ้นมาใช้ในครัวเรือน
เวลาตักน้ำก็จะใช้ “ไม้คันเกาะ” คือ ลำไม้ไผ่ขนาดท่อประปาหกหุนและมีแง่งสำหรับเกาะรวงครุถัง แล้วจ้วงตักลงไป หากไม่ชำนาญรวงครุถังก็จะหลุดออกจากแง่งไม้คันเกาะ ทำให้ครุถังจมอยู่ใต้ก้นบ่อ หากเป็นบ่อน้ำส่วนตัวก็ลงไปงมเอาครุถังได้ แต่ถ้าเป็นบ่อน้ำส่วนรวม ห้ามลงไปงมควานหาอย่างเด็ดขาด เพราะผู้อื่นจะรังเกียจ เจ้าของครุทำได้แค่ใช้คันเกาะควานหาและเกาะรวงครุถังขึ้นมา หากนำขึ้นมาไม่ได้ก็ต้องปล่อยทิ้งไว้อย่างนั้นจนกว่าจะถึงเวลาทำความสะอาดบ่อน้ำ นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ต้องใช้ “กะป่อม” คือ ถังแกลลอนตัดให้เป็นปากและตอกไม้ใส่เป็นคันระหว่างขอบปาก จากนั้นใช้เชือกผูกคันไม้แล้วใช้ตักน้ำจากบ่อมาเทใส่ครุถัง ก่อนจะหาบน้ำกลับบ้านหรือหิ้วน้ำในครุถังไปอาบให้ห่างจากบ่อ ครุถังสมัยก่อนสานด้วยไม้ไผ่แก่เหลากลมเล็กและยาด้วยน้ำมันยางกันรั่ว ใช้ไม้ต้นหูลิงเป็นรวงครุถัง (ภาษาลาวเอิ้นว่า ฮวงคุ) ใครได้ใช้ครุถังสังกะสีถือว่ามีฐานะ ต่อมาก็พัฒนาเป็นครุถังพลาสติก ครุถังหาบน้ำจะมีเป็นคู่และใช้ไม้คานทำด้วยไม้ไผ่หาบน้ำกลับบ้าน การหาบน้ำนี้เหมือนการทำสมาธิให้แน่วแน่ จังหวะการก้าว จังหวะการเดินและการโยกตัว ต้องไหวเบาสม่ำเสมอ น้ำจึงจะไม่กระฉอกออกจากครุถัง แต่ถ้าไม่มีสมาธิจนเดินสะดุด แม้ไม่ล้มน้ำหก น้ำก็อาจกระฉอกทิ้งถึงครึ่งครุถัง ส่วนใหญ่หญิงสาวจะเป็นคนหาบน้ำ จังหวะเยื้องย่างการเคลื่อนไหวของสะโพกเป็นภาพที่สวยงามนัก
กะป่อมตักน้ำทำจากแกลลอน ภาพ : บินหลา ขยับปีกบ่อบาดาลมีคันโยก ภาพ : ขวัญชิต โพธิ์กระสังข์
ย้อนกลับไปที่ “บ่อน้ำส่วนรวม” หัวหน้าชุมชนมักจะบอกเตือนว่า ขอให้ทุกคนช่วยกันรักษา ดูแล เรื่องความสะอาด ถ้าจะตักขึ้นมาซักผ้าหรือตักขึ้นมาอาบก็ให้ไปซักและอาบไกล ๆ จากบ่อ น้ำที่ซักและน้ำที่อาบ กลิ่นผงซักฟอก กลิ่นสบู่ยาสระผม ขี้ไคลและเมือกคาวทั้งหลายจะไม่ไหลลงบ่อ หากจะตักน้ำให้วัวควายกินก็จงล่ามวัวควายไว้ไกล ๆ แล้วหิ้วน้ำไปให้มัน หากอยู่ใกล้บ่อ น้ำขี้วัวควาย น้ำเยี่ยววัว น้ำเยี่ยวควายจะส่งกลิ่นเหม็นถ้าฝนตกลงมาก็จะชะล้างขี้เยี่ยววัวควายไหลลงบ่อชาวบ้านส่วนใหญ่ก็เห็นเป็นอย่างนั้นและต่างก็ช่วยกันถือปฏิบัติโดยไม่ต้องมีข้อบังคับหรือระเบียบแต่อย่างใด
บ่อน้ำ นอกจากจะหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คน พืชและสัตว์แล้ว ชุมชนหมู่บ้านที่ไม่มีแม่น้ำ ห้วย คลองไหลผ่าน บ่อน้ำก็ยังเป็นแหล่งพบปะกันของคนในหมู่บ้าน เมื่อไปตักน้ำและอาบน้ำก็ได้ทักทายปราศรัย สร้างสัมพันธไมตรี หนุ่มสาวได้เกี้ยวพาราสีกันที่บ่อน้ำนี่เอง หนุ่ม ๆ ได้ตักน้ำให้คนรักอาบจนเกิดความรักความผูกพันแต่งงานกันในที่สุดพวกผู้ใหญ่ก็มาพบกันที่บ่อน้ำ ได้พูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดในการทำมาหากิน ในการดำรงชีวิต พวกเด็ก ๆ ก็สนุกสนานกัน บ่อน้ำจึงกลายเป็นแหล่งบันเทิงอีกแห่งหนึ่งของเด็ก ๆ และหนุ่มสาว เป็นแหล่งพบปะประชุมสัมมนาของผู้ใหญ่ เป็นแหล่งตัดสินปัญหาและเป็นแหล่งผูกมิตรไมตรีและที่สำคัญก็เป็นแหล่งสืบทอดวัฒนธรรมอันดีงามของชุมชนหมู่บ้าน
รูปปั้นแสดงการอาบน้ำของผู้หญิง จากวัดพระธาตุเรืองรอง จ.ศรีสะเกษรูปปั้นแสดงการอาบน้ำของผู้ชาย จากวัดพระธาตุเรืองรอง จ.ศรีสะเกษ