วัฒนธรรมแถน (๔) : แถนในวัฒนธรรมมลายูดั้งเดิม

วัฒนธรรมแถน (๔) : แถนในวัฒนธรรมมลายูดั้งเดิม

ภาพและคำบรรยายจาก เว็บ https://www.modernpublishing.co.th/ภาพชุด

วายังกูลิต (Wayang kulit) หมายถึง การแสดงตัวหนังผ่านจอโดยใช้เงา ซึ่งเป็นการแสดงที่พบในกลุ่มวัฒนธรรมของ ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน และสิงคโปร์ รวมทั้งภาคใต้ของประเทศไทย ที่เรียกกันว่า หนังตะลุง วายังกุลิต มีต้นกำเนิดในประเทศอินโดนีเซีย คำว่า “วายัง” (Wayang) สันนิษฐานว่าแปลงจากคำพื้นเมืองของชาวมาเลเซีย คือ คำว่า “บายัง” (Bayang) ซึ่งหมายถึงเงา ตัวหนังที่ใช้ทำจากหนังควายฉลุลวดลายลงบนตัวหนังและลงสีตกแต่ง อย่างสวยงาม เนื้อหาที่ใช้ในการแสดงส่วนใหญ่เกี่ยวกับเรื่องรามเกียรติ์

*****

การกระจายตัวของชนชาติในตระกูลภาษาออสโตรเนเชียน (ออกจากไต้หวันเมื่อประมาณห้าพันปีที่แล้ว)

วัฒนธรรมแถนคือวัฒนธรรมร่วมกันของกลุ่มชนทั้ง Mainland Southeast Asia (รวมไปถึง ยูนนาน, กวางสี, กวางตุ้ง ) Island SE Asia (รวมไปถึง ไหหลำ)

วัฒนธรรมดั้งเดิมของคนมลายู (กลุ่มภาษาออสโตรเนเชียน) คือ “ระบบผีฟ้า” ใกล้เคียงกับระบบผีฟ้าของชนกลุ่มจ้วง-ลาว-ไท

ตระกูลภาษาออสโตรเนเชียนนั้นใกล้เคียงกับตระกูลภาษาไท-กะได มาก จนข้าพเจ้าสงสัยว่าสองตระกูลภาษานี้มีต้นกำเนิดเดียวกันคือภาษาเยวี่ย / ผู (“ผู” เป็นชื่อที่ชาวจีนลุ่มแม่น้ำเหลืองเรียกคนพื้นเมืองในลุ่มแม่น้ำแยงซี คำว่า

“ผู” เก่าแก่กว่าคำว่า “เยวี่ย” ถึงห้าร้อยปีข้าพเจ้าเห็นว่า คำว่า “ผู” ในยุคโจวอู่หวางโค่นล้มราชวงศ์ซาง เป็นชื่อดั้งเดิมของชาวเยวี่ย แต่นักวิชาการจีนส่วนใหญ่เห็นว่า “ผู” คือชนชาติในตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติค หรือ มอญ/เขมร ปัญหาประเด็นนี้อยู่ที่ “กาละ” คือ “ผู – ในยุคต้นวงศ์โจว หมายถึงชนเผ่าทางใต้ที่อยู่ใกล้ชิดตงง้วน เพราะสามารถยกทัพไปช่วยโจวอู่หวางรบกับโจ้วหวางแห่งราชวงศ์ซางในตงง้วนได้ หลังจากนั้นคือในยุคจ้านกั๋ว-ราชวงศ์ฮั่น มีการใช้คำว่า “ผู” กับ “เยวี่ย” แทนกันได้ หลังจากยุคสามก๊ก ชาวจีนจึงเรียกชนพื้นเมืองส่วนหนึ่งในยูนนานว่า “ผู” เรื่องนี้เองที่ทำให้นักวิชาการจีนส่วนใหญ่เชื่อว่า “ผู” หมายถึงชนชาติในตระกูลภาษามอญ/เขมร)

กลุ่มชนในตระกูลภาษาออสโตรเนเชียนทั่วมหาสมุทรแปซิฟิคนั้น เคลื่อนตัวออกไปจากพื้นที่ที่เป็นเกาะไต้หวันปัจจุบัน (ในอดีตเกาะไต้หวันกับแผ่นดินใหญ่ติดต่อเป็นผืนเดียวกัน)

อารยธรรมยุคปลายหินใหม่และยุคเริ่มต้นสังคมกสิกรรมแถบไต้หวันนั้น มีส่วนผสมระหว่างวัฒนธรรมไป่เยวี่ย (ภาคใต้ของจีน) กับวัฒนธรรมตงอี๋ (พื้นที่มณฑลซานตงในปัจจุบัน)

ชนเผ่าตระกูลภาษาออสโตรเนเชียนทั้งหมดจึงมีวัฒนธรรมผสมระหว่างไป่เยวี่ยกับตงอี๋

วัฒนธรรมประเพณีชาวเกาะต่าง ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิคจึงเสมือนฟอสซิลที่ฉายให้เห็นวัฒนธรรม ประเพณี ของชนกลุ่มไป่เยวี่ยในอดีตกาลนานโพ้น (๖,๐๐๐-๒,๕๐๐ ปีที่แล้ว)

เมื่อเรามองวัฒนธรรมประเทศมาเลเซียประเทศอินโดนีเซีย ทุกวันนี้ เรามักจะถูกม่านของศาสนาอิสลามบดบัง เช่นเดียวกับที่เวลาเรามองวัฒนธรรม ประเพณี ไท-ลาว เราก็ถูกม่านศาสนาพุทธบดบัง

จริง ๆ แล้ว ก่อนที่วัฒนธรรมจากชมพูทวีปจะแผ่เข้ามา ชนพื้นเมืองในดินแดนแถบนี้มีระบบความเชื่อของตนเองอยู่แล้ว นั่นคือ “ระบบผีฟ้า” หรือ “ผีแถน” นั่นเอง

คุณกัณหา แสงรายา เสนอข้อมูลที่มีค่ามากในบทความชุด รากร่วมทางวัฒนธรรมไท-มลายู” ดังต่อไปนี้

***

ก่อนหน้าที่คนไทยในประเทศไทยจะรับพุทธศาสนา ชนชาติไท (รวมทั้งคนไทย) ทั้งหมดมีโลกทัศน์เกี่ยวกับจักรวาล รวมทั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นของตนเอง ความเชื่อเรื่อง ขวัญ, ด้ำ (ผีบรรพบุรุษ), ผีฟ้า หรือ แถน ซึ่งมีฐานะเสมือนพระเจ้าผู้สร้างโลกหรืออธิเทพ (บางแห่งเรียกรวมกันว่า ผีฟ้าพญาแถน) ตลอดจนความเชื่อเรื่อง ใจเมือง, หลักเมือง ฯลฯ กลายเป็นแก่นแกนสำคัญของวิถีชีวิตชนชาติไททุกกลุ่มก็ว่าได้

เราจะพบความเชื่อทำนองเดียวกันนี้ในกลุ่มชาติพันธุ์อินโดนีเซียน (มลายู-จาม-ชวา ฯลฯ หรือกลุ่มชนที่ใช้ภาษาออสโตรเนเชียน) โดยแม้แต่คำที่ใช้ก็ยังเป็นคำเดียวกัน หรือร่วมวัฒนธรรมเดียวกัน

เมื่อเราดูกลุ่มคำที่เกี่ยวกับความเชื่อในอำนาจเร้นลับและสิ่งเร้นลับเหนือธรรมชาติของกลุ่มชนดังกล่าว เราจะพบคำชุดเดียวกันนี้ได้แก่คำว่า ยำ-Yam (ปรากฏใน จารึกจาม “ยำโปกุ” พ.ศ.๑๕๙๘ โดย กษัตริย์จามศรีปรเมศวรวรรมเทพ) ; ฮียัม, เฮียม, เหียม (Hiyam, Hyam ปรากฏในจารึกเกอดุกันบูกิต พ.ศ.๑๒๒๖ โดย ดาปุนตา เฮียม และจารึกตาลังตูโว พ.ศ.๑๒๒๗ โดย กษัตริย์ศรีชยนาศะ ดาปุนตา เฮียมที่ปาเลมบัง สุมาตรา อินโดนีเซีย); คำชุดนี้คือ ยัง (Yang), ฮียัง (Hiang, Hiyang) หรือ ซัง ฮียัง (Sang Hyang) หมายถึงบุคคลหรือสิ่งที่มีอำนาจสูงส่งหรือเหนือธรรมชาติ (ทำนองเดียวกับ ‘ผีฟ้า’ และ‘พระเจ้า’) และยังหมายถึงผู้มีอำนาจราชศักดิ์ซึ่งเป็นทั้งเทพและผู้นำสูงสุดทางการเมืองการปกครองและการทหาร ในที่นี้ก็คือ ‘พระเจ้าอยู่หัว’ หรือพระมหากษัตริย์นั่นเอง

ในประวัติศาสตร์การเมืองของไทยสมัยสุโขทัย เราพบร่องรอยของคำว่า เหียม อย่างน่าสนใจ คำนี้ปรากฏเป็นคำเติมท้ายพระนามของพ่อขุนผาเมือง ใน ศิลาจารึกวัดศรีชุม ในเรือน พ.ศ.๑๘๘๕-พ.ศ.๑๙๒๐ ดังนี้

“…เมื่อก่อน ผีฟ้า เจ้าเมืองศรีโสธรปุระให้ลูกสาวชื่อนางสุขรมหาเทวีกับขรรค์ชัยศรีให้นามเกียรติ์แก่ พ่อขุนผาเมืองเหียม

และอีกที่หนึ่งอาจเป็นคำทำนองเดียวกันอยู่ท้ายพระนามของพระยาคำแหง (พ่อขุนรามคำแหง) ดังนี้

“ครั้น พระยาคำแหงหม…มจักแลกหมอนแพรแ..นแ.น…”

การเคลื่อนย้ายกระจายตัวของชนชาติในตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติคการกระจายตัวของชนชาติในตระกูลภาษาไท-กะได

อธิบายกลุ่มคำว่า ยำ เหียม ยัง บัง

คำว่า เหียม และ หม..ม (พยัญชนะและสระบางตัวขาดหายไป) อาจเป็นคำพวกเดียวกัน ซึ่งหมายถึง ‘กษัตริย์ผู้เป็นใหญ่’ (ตรงกับคำว่า ‘มหาราช’, ‘กษัตราธิราช’ หรือ ‘ผีฟ้า’) มากกว่าจะมีความหมายอย่างอื่น (ใน ‘ศัพทาธิบาย’ ให้ความหมายคำว่า เหียม ว่า เพราะเหตุ, มูลเหตุ, เพราะ, เหตุ) ยกเว้นคำนี้ที่ไปปรากฏในบริบทอื่น ๆ ปัจจุบันพระราชาธิบดีของมาเลเซียเรียกว่า ‘ยังดิ เปอรฺตวน อากง’ (Yang di-Pertuan Agong) และยังปรากฏในคำสวดวิงวอนพระเจ้าวันละห้าเวลาของชาวมุสลิมมาเลย์ (มาเลเซีย) และมุสลิมปักษ์ใต้ (ไทย) เรียกว่า ‘ซัมบะหฺยัง’ (sembahyang) แปลว่า ไหว้ (ยัง) หมายถึง ไหว้พระเจ้า (อัลเลาะห์) แต่ในสมัยโบราณตั้งแต่ก่อนสมัยศรีวิชัย คำว่า sembahyang เป็นได้ตั้งแต่การกราบไหว้เทวรูป พระพุทธรูป หรือไหว้ผีบรรพบุรุษ ซึ่งเรียกว่า nenek moyang (เนเนะโมยัง)

อนึ่ง คำว่า wayang (วายัง) หรือหนังตะลุงของพวกมลายู-ชวา มีวัตถุประสงค์ในการเล่นก็เพื่ออัญเชิญ เงา (bayang = wayang) ในที่นี้หมายถึงดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ (nenek moyang) มาแสดงธรรม หรือจริยธรรมในการดำเนินชีวิตแก่ลูกหลานเหลนลื่อด้วยเรื่องราวต่าง ๆ โดยผ่านรูปเงา (bayang) ของตน จะเห็นได้ว่า คำว่า bayang (เงา) เองมีความหมายที่แสดงถึงความเร้นลับ สิ่งเร้นลับ เงา วิญญาณ หรือผี คำนี้คือคำว่า บัง ในภาษาไทย โปรดดู

bayang> ba(ya)ng (‘เงา’) > bang โดย เสียง /y/ ถูกกลืนหายไป

คำว่า ‘บัง’ (bang) ในภาษาไทยยังเกี่ยวกับศาสตร์เร้นลับต่าง ๆ เช่น ‘บังฟัน’ คือการใช้เวทมนตร์ไปทำร้ายผู้อื่น มักใช้ดาบไปฟันสิ่งที่สมมติแทนตัวผู้ที่ตนต้องการทำร้าย มีผลทำให้ผู้ที่ถูกสมมุติถูกฟันทำร้ายจริง ๆ เหมือนที่สมมุติไว้หรือคำว่า ‘บังไพร’ คือการเสกกิ่งไม้ถือบังตัวให้สัตว์ร้ายเห็นป่าไม่เห็นคน ใช้ในการคล้องช้างป่าในสมัยโบราณ เป็นต้น

การที่เราพบร่องรอยคำว่า เหียม ท้ายพระนามของพระมหากษัตริย์ไทยสมัยสุโขทัยดังปรากฏในศิลาจารึกวัดศรีชุมเมื่อกว่าหกร้อยปีที่แล้ว แสดงว่าในสมัยโบราณนั้นยังมีบรรพชนของเราที่ยังมีความทรงจำคำนี้อยู่อีก แต่คนส่วนใหญ่คงมีความทรงจำที่เลือนราง เนื่องจากมีคำอื่นมาแทนที่เช่นคำว่า ‘ราช’, ‘ราชา’, ‘มหาราชา’, ‘เทพ’, ‘เทวะ’ (Deva) และ ‘สมเด็จ’ ซึ่งเราดึงมาจากโลกทัศน์แบบฮินดู-พราหมณ์ (ภาษาสันสกฤต) และเขมร มาแทน ในขณะที่สถานภาพของกษัตริย์ไทยก็เช่นเดียวกับกษัตริย์จาม ชวาและมลายู (ในกล่มุ มาลาโย-โพลีนีเซียน/ออสโตรเนเชียน) พระองค์ยังทรงมีความหมายอันเปี่ยมล้นในฐานะ ‘องค์สมมุติเทพ’ ดุจเดียวกับความหมายที่ถูกบรรจุในคำว่า ยำ, ยัง-ยัง, เฮียม, เหียม, เฮียง, ซัง เฮียง หรือ ผีฟ้า มาแต่สมัยบุพกาลอย่างไม่เสื่อมคลาย

สรุปในที่นี้กลุ่มคำในภาษาออสโตรเนเชียนอันได้แก่คำว่า ยำ, ยัง-ยัง, เฮียม, เหียม, เฮียง, ซัง เฮียง รวมทั้งที่ปรากฏในคำว่า sembahyang, wayang, bayang และ bang (บัง) ล้วนมีความหมายเกี่ยวกับวิญญาณชั้นสูง วิญญาณบรรพบุรุษวิญญาณลึกลับ หรือสิ่งเร้นลับเหนือชาติที่จะต้องกราบไหว้บูชา

มะโย่ง มาจาก Mak Hyang ส่วน (ผี)แถน มาจาก Tuhan (ตูฮัน)

ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีการละเล่นคล้ายมะโนราเรียกว่า มะโย่ง มีผู้ศึกษาพบว่าคำว่า มะโย่ง (Makyung) มาจากคำว่า Mak Hyang (มะ-แม่ เฮียง) ซึ่งเป็นพิธีบูชาผีบรรพบุรุษฝ่ายแม่ของพวกมลายูในสมัยก่อนอิสลาม หรือก่อนพราหมณ์-พุทธด้วยซ้ำ ซึ่งคลี่คลายมาเป็นการละเล่นเพื่อความบันเทิงในสมัยหลังเช่นเดียวกับหนัง  ‘วายัง’ (wayang) หรือหนังตะลุง

อันที่จริงในสมัยโบราณนั้น มะโย่ง เป็นการแสดงในพิธีรักษาผู้ป่วยเช่นเดียวกับ การรำ-ฟ้อนผีฟ้า หรือ การลำผีฟ้า ในพิธีรักษาผู้ป่วยของคนในวัฒนธรรมไท-ลาว รวมทั้งเขมรบางส่วนด้วย (เช่น การรักษาโรคของชาวกุยเขมรด้วยการลำผีฟ้า หรือลำแม่สะเอิงที่ ต.ไพรบึง อ.ไพรบึง จ.ศรีสะเกษ)

ในความเชื่อของชาวอีสาน ผีฟ้า (เทวดาที่สถิตอยู่บนท้องฟ้า) เป็นผู้ให้เกิดและตาย หรือเป็นผู้กำหนดการเกิดการตายของมนุษย์และสรรพสัตว์ พวกเขาเชื่อว่ามนุษย์มี ขวัญ หรือวิญญาณ เมื่อตาย ขวัญ ก็จะออกจากร่างเพื่อไปพบบรรพชน โดย ‘ขวัญ’ จะไม่แตกดับเหมือนร่าง การตายจึงเป็นเพียงการจากไปของร่าง แต่วิญญาณหรือ ‘ขวัญ’ จะยังคงอยู่ต่อไป

ผีฟ้า ในความเชื่อของคนไท-ลาวก็คือ ผีแถน นั่นเอง ชาวอีสานมีความเชื่อว่า ผีฟ้าพญาแถน เป็นเทวดา ‘แถน’ ที่ใหญ่ที่สุดคือ แถนหลวงเป็นผู้ดลบันดาลทุกสิ่งให้เป็นไปไม่ว่าดีหรือไม่ดีเปรียบดังพระอินทร์ ดังนั้นจึงเกิด พิธีบูชาผีฟ้าพญาผีแถน ขึ้นความเชื่อเรื่อง แถน ในความเห็นของผู้เขียนเชื่อว่า เริ่มมีมาตั้งแต่ในยุคที่บรรพชนของชาวออสโตรเนเชียน (ไท-อินโดนีเซียน) ยังอาศัยอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำแดงในเวียดนามเหนือ(แคว้นสิบสองจุไทแต่ก่อน) ดังปรากฏหลักฐานชื่อเมืองแถง หรือเมืองแถน จนกระทั่งปัจจุบัน

พิธีบูชาผีฟ้าหรือผีแถนมีการ ‘รำ-ฟ้อนผีฟ้า’ เป็นอาทิ พิธีนี้ปฏิบัติสืบเนื่องกันมาช้ามานาน ในอีสานบางท้องถิ่นเรียก ‘ลำผีฟ้า’เนื่องจากมีการร้องลำหรือขับลำนำประกอบในพิธีอัญเชิญผีฟ้าหรือผีแถนมาเข้าทรงด้วย ผู้ร้อง ‘ลำ’ หรือ หมอลำผีฟ้า จะเป็นผู้หญิงสูงอายุหรือบางท้องถิ่นจะเป็นหญิงสาวโดยเฉพาะที่จังหวัดเลย แต่ทุกคนจะต้องสืบเชื้อสายมาจากพวกหมอลำผีเท่านั้น

การอัญเชิญ ผีฟ้า-ผีแถน มาเข้าทรงในร่างของตน (‘ผีฟ้า’ สามารถสิงได้ทั้งหญิง ชายและเด็ก ไม่จำกัดอายุ) เริ่มแรกผู้เข้าทรงมักมีอาการสั่นเทิ้ม มือที่พนมสะบัดอย่างแรงและเร็ว จากนั้นจึงมีการฟ้อนรำและการร้อง ‘ลำ’ ตอบโต้กันระหว่างผีฟ้าเป็นเวลานานทีเดียว ในระหว่างนี้จะมีการบอกวิธีแก้ไขหรือการบำบัดรักษาโรคบางครั้งมีการรำทั้งวันทั้งคืนติดต่อกันหลายวันการลำผีฟ้ามีทั่วไป ชาวบ้านจะมามุงดูเหมือนดูมหรสพ คล้ายกับการเล่นมะโย่งของชาวมลายู เมื่อ ๔๐-๕๐ ปีที่ผ่านมา โดยมีพื้นฐานความเชื่อร่วมกันว่า การลำผีฟ้าหรือการเล่นมะโย่งจะรักษาผู้ป่วยให้หายได้ รวมทั้งจะก่อให้เกิดความสุขสวัสดีและความเป็นสิริมงคลในชีวิตของผู้นั้น

พิธี “ส่งแถน” ของชาวล้านนา

หมอลำ ก็คือ โต๊ะสลัมปิต (tok selampit)

คำที่น่าสังเกตคำหนึ่งคือคำว่า ลำ ในคำว่า ‘ลำผีฟ้า ’, ‘หมอลำ’ และคำว่า ‘ลำนำ’ กล่าวคือแต่ละคำมีความหมายเกี่ยวกับการขับร้องหรือผู้ร้องบทลำนำนั่นเอง ในวัฒนธรรมมลายู ‘หมอลำ’ หรือผู้ขับ ‘ลำนำ’ เรียกว่า ‘โต๊ะสลัมปิต’ (tok ‘selampit’) จะร้องรำทำเพลงประกอบการสี ‘รือบับ’ (rebab) หรือการสีซอนั่นเอง

โปรดสังเกตพยางค์ที่ ๒ ของคำว่า selampit คือคำว่า -lam- จะพ้องเสียงกับคำว่าลำ (lam) ในภาษาไท-ลาว ในทางภาษาศาสตร์เราอาจสันนิษฐานได้ว่า ทั้งสองคำนี้มีความสัมพันธ์กันทั้งในแง่เสียงและความหมาย ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าในอดีตทั้งสองคำจะเป็นคำเดียวกันหรือมีที่มาจากคำเดียวกัน

นอกจากนี้ยังปรากฏว่ามีคำในชุดเดียวกันนี้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการร้องรำทำเพลงหรือกาพย์กลอนในภาษาไท-อินโดนีเซียนอย่างน้อยอีก ๒ คำ คือคำว่า ร่าย และคำว่า pantun (ปันตุน-กาพย์กลอน)

คำประพันธ์โบราณของไทคือ ร่าย มีลักษณะของการที่ผู้ร้องหรือผู้ร่ายบทลำนำ ได้แต่งเรื่องราวเล่าผ่านถ้อยคำที่สัมผัสคล้องจองกันวรรคละหนึ่งแห่ง ซึ่งเป็นจำนวนสัมผัสน้อยแห่งที่สุด เชื่อว่าในสมัยโบราณผู้ขับลำนำ หรือร่ายบทลำนำ จะใช้แคนหรือซอประกอบการขับร้องเล่าเรื่องราวที่ตนต้องการ (ตัวอย่างในเรื่อง ลิลิตพระลอ แต่งขึ้นจากตำนานโบราณของล้านนาพระลอได้ยินเรื่องราวของเพื่อน-แพงจากนักขับลำนำประกอบการสีซอ)

การขับร่ายประกอบการสีซอดังในเรื่องลิลิตพระลอ ก็คล้ายกับ tok selampit ขับร่ายบทลำนำของตน การร้องและคร่ำครวญ ลักษณะการขับร่ายบทลำนำชาวมลายูใช้คำว่า rayuan (การร้องหรือการคร่ำครวญ) ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่า คำว่า ray (uan) ตัวดำพยางค์แรกอ่านว่า ‘ราย’ หรือ ‘ร่าย’ เป็นทั้งคำพ้องเสียงและมีความหมายของการร้องหรือการคร่ำครวญตรงกัน ทั้งสองคำจึงน่าจะมีรากเหง้าเดียวกันในภาษาไท-อินโดนีเซียน

อีกคำหนึ่งคือว่า pantun ในภาษามลายูหมายถึงบทประพันธ์ประเภทกาพย์กลอน คำนี้อาจแยกพยางค์ได้ดังนี้

พยางค์แรกคือ pan ภาษามลายูแปลว่าเปรียบ ปาน ดุจ หรือราวกับ ; ส่วนพยางค์หลังคือ tun น่าจะมาจากคำว่า tenun แปลว่า ทอ, ดุน, ด้น ; ดังนั้นคำว่า pantun ก็หมายถึงการด้นกลอน ประกอบด้วยการใช้โวหารเปรียบเปรย หรือเปรียบปานกันอย่างในกาพย์กลอนของคนไท-ลาวนั่นเอง

ภาพการแสดงมะโย่งของชาวอำเภอโคกโพธิ์จังหวัดปัตตานี ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

Tuhan ที่มาของ แถน

จากความสำนึกหรือโลกทัศน์เกี่ยวกับจักรวาลของชนชาติไท-ลาว นับแต่อดีต พวกเขามีชีวิตผูกพันอยู่กับความเชื่อเรื่อง ‘ปู่แถน’ หรือ‘ผีแถน’ ในฐานะเฉกเช่นพระเจ้าผู้สร้างโลก พวกมลายู-อินโดนีเซียน (มาลาโย-โพลีนีเซียน) ก็มีโลกทัศน์ที่ไม่ต่างกัน แม้ภายหลังคนมลายู-ชวา หันไปนับถือศาสนาอิสลามเป็นส่วนมากตั้งแต่ราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เป็นต้นมา พวกเขาหันมานับถือ อัลเลาะห์ (Allah) ซึ่งเป็นพระเจ้าองค์เดียวในศาสนาใหม่ (ศาสนาอิสลาม) แต่ก็ยังคงเรียกพระเจ้าของพวกเขาว่า ตูฮัน (Tuhan) ควบคู่กับ อัลเลาะห์ เสมอมา

ในโลกมลายูนั้นดูเหมือนชาวมลายูมุสลิมจะเรียกพระเจ้าว่า ตูฮัน (แถน) เป็นส่วนใหญ่ด้วยซ้ำ นี่คงเป็นเพราะความสำนึกหรือโลกทัศน์เกี่ยวกับจักรวาลและความเชื่อ โดยเฉพาะของคนมลายูในสมัยที่บรรพชนของคนไท-อินโดนีเซียน ยังร่วมพ่อหรือร่วมแม่กันอยู่ ยังหาได้เสื่อมคลายไปตามกาลเวลาไม่

โปรดดูวิธีการคลี่คลายของคำว่า tuhan (ตูฮัน) กลายเป็นคำว่า แถน ดังนี้ :

*tuhaŋ > thε:ŋ (แถง), thε:n (แถน)

ในที่นี้คำว่า แถน หมายถึง ‘เทวดา’ ดังนั้นคำว่า tuhan จึงเท่ากับ ‘เทวดาผู้เป็นใหญ่ซึ่งอยู่บนฟากฟ้า’ หรือ แถนหลวง นั่นเอง

น่าสังเกตว่า คำว่า tuhan (แถน ‘ผีฟ้า’) อาจถูกสร้างขึ้นมาด้วยการสลับพยางค์กับคำว่า hantu (ฮันตู ‘ผี’) คือ hantu ≠ tuhan

ตามหลักภาษาศาสตร์เรียกการสลับพยางค์เช่นนี้ว่า metathesis ยกตัวอย่างคำอื่นในภาษาชวาโบราณเช่น hudip (ไทคือ ‘ดิบ’ เช่นผีดิบ – ผีคนที่ยังเป็นคนเป็น ๆ อยู่) ได้เกิดการสลับพยางค์หน้า-หลังเป็น hidup – ‘มีชีวิต’ ในภาษาชวา-มลายูปัจจุบัน

โปรดดูพยางค์แรกของคำว่า hantu (ผีทั่วไป) และพยางค์หลังของคำว่า tuhan (แถน) เห็นได้ว่าเกี่ยวข้องกับคำที่มีความหมายว่า ‘ผี’ (หมายถึง ‘เทวดา’ ในภาษาตระกูลไท)

hantu (พยางค์ที่เน้นคำ) กระจายเป็นคำในภาษาไทมากมายอาทิ หัง (เช่น ผีกะหัง), หง, ห่ง, โหง (โหงพราย, ผีตายโหง) ซึ่งหมายถึง ‘ผี’ หรือ ‘วิญญาณ’ ในภาษาไทรุ่นหลัง

ส่วนคำว่า ผี ก็น่าจะเป็นคำที่คลี่คลายมาจากคำว่า pari (ปารี) หรือ pari-pari ในภาษามลายู-อินโดนีเซียน หมายถึง ‘เทวดา’ ต่อมาในภาษามลายู หมายถึง ผีชนิดหนึ่ง และอาจหมายถึง วิญญาณของหญิงงาม (นางฟ้า) หรือ นางไม้

โปรดดูลักษณะการคลี่คลายทางภาษาศาสตร์ดังนี้

pari > p(ar)i > phi: (ผี); โดย /r/ หายและ /p/>/ph/ (shift) จากคำสองพยางค์ในภาษามลายู-อินโดนีเซียน เป็นคำพยางค์เดียวในภาษาไท

การกลายเสียงจากคำสองพยางค์ในภาษามลายู-อินโดนีเซียน (ออสโตรเนเชียน) เป็นคำพยางค์เดียวในภาษาไท โดยอักษรนำของพยางค์ท้ายในภาษามลายู-อินโดนีเซียนถูกกลืนหายไปลักษณะการกลืนหรือรวบเสียงเช่นนี้เกิดขึ้นทั่วไปในความสัมพันธ์ระหว่างภาษาออสโตรเนเชียนกับภาษาไท ดังตัวอย่าง

*bahak > pa:k ปาก โดย /bh/ > /p/(shift)

bayang > baŋ บัง (เงา, สร้างเงา, ทำให้เกิดเงา) /y/ หาย

bawa > pha: พา (นำ, พา) โดย /w/ หาย และ /b/>/p/>/ph/

buah > ba, ma (ผล, ลูกไม้ เช่น บ่ากวยเต็ด, บ่ามะเต็ด =มะละกอ)

carik > chi:k ฉีก (ขาด) โดย /r/ หาย และ /c/>/ch/

cerah > ca: จ้า (สว่าง) โดย /r/ หาย

garis > khi:t ขีด (รอยขีด, เส้นที่ขีด) โดย /r/ หาย และ /g/>/kh/

jerang > yaŋ ย่าง (ใช้ความร้อนปิ้ง, ย่าง, หุง หรือต้ม) โดย /r/ หาย และ /j/>/y/

kutip > kep เก็บ (หยิบ) โดย /t/ หาย

lambang > la:ŋ ลาง (สัญญาณ, สัญญะ) โดย /mb/ หาย

sedap > sa:p ซาบ, แซ่บ (อร่อย) โดย /e,d/ หาย

serap > sap ซับ (ซึม) โดย /e, r/ หาย

*tanam > tam, dam ดำ (ดำนา) โดย /n/ หาย และ /t/>/d/

ฯลฯ

จะเห็นได้ว่า วิธีการหนึ่งที่ภาษาออสโตรเนเชียนคลี่คลายเป็นภาษาไท (เป็นเพียงวิธีหนึ่งในหลาย ๆ วิธี) ก็คือ การที่เสียงพยัญชนะและ/หรือสระในพยางค์ที่สองในภาษามลายู-อินโดนีเซียน(ออสโตรเนเชียน) สูญหายไปในขณะที่มีการรวบเสียงขึ้น ทำให้คำสองพยางค์ (disyllables) ในภาษามลายู-อินโดนีเซียน กลายเป็นคำพยางค์เดียว (monosyllable) ในภาษาตระกูลไท

 

 

Related Posts

ก่อนเป็น “อีสาน” และเจ้าแก้วมงคลสร้างเมืองทุ่ง (ตอนจบ)
ทางอีศาน 72 : ปิดเล่ม
ข ว ย จี ห ล่ อ
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com