วัดหลวงปากเซ การประสมประเสที่น่าทึ่ง

วัดหลวงปากเซ การประสมประเสที่น่าทึ่ง

คอลัมน์ : ห้องศิลป์อีศาน

เรื่อง :  ธีรภาพ โลหิตกุล

สิม หรือพระอุโบสถ วัดหลวงปากเซ

“ปากเซ” เป็นเมืองเอก หรือเมืองศูนย์กลางของแขวงจําปาสัก และยังถือเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ การค้า การคมนาคม ของ สปป.ลาว ในเขตภาคใต้อีกทั้งยังเป็นศูนย์การศึกษาพระพุทธศาสนาที่ใหญ่ที่สุดของลาวอีกด้วย

ภายในวัดโพธิรดตะนะสาดสะดาราม หรือที่ชาวลาวนิยมเรียก “วัดหลวงเมืองปากเซ” พระอารามสำคัญสุดของอดีตอาณาจักรล้านช้างฝ่ายใต้สร้าง พ.ศ.๒๔๗๘ จึงเป็นที่ตั้งของโรงเรียนสอนพระปริยัติธรรม สถานที่ยืนยันว่าระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ในลาวมิได้ทำลายศรัทธาในพระพุทธศาสนาที่ชาวลาวยึดมั่นแต่อย่างใด

นอกจากนั้น ศิลปะสถาปัตยกรรมของอาคารโรงเรียนสอนพระปริยัติธรรม เป็นศิลปะผสมผสานวัฒนธรรมตะวันออกกับตะวันตกอย่างน่าสนใจยิ่ง โดยตัวอาคารเป็นศิลปะโคโลเนียล ประดับเสาเหลี่ยม และกลมแบบกรีก หัวเสาเป็นปูนปั้นลายพรรณพฤกษาแบบ “คอรินเทียน” รับกับ “แขนนาง” หรือคันทวยปูนปั้นรูปเทพธิดาประนมมือ

ประติมากรรมรูปปลา และมกรคายนาคแนวช่างเวียดนาม

ทว่า ประติมากรรมปูนปั้นรูปพญานาคประดับสองฟากฝั่งบันไดทางขึ้น กลับมีลักษณะเป็นศิลปะอันนัม หรือเวียดนาม ซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะจีนจนแลดูคล้ายมังกรมากกว่าพญานาค อีกทั้งยังมีปูนปั้นรูปปลาประดับอยู่ข้างพญานาคชวนให้สันนิษฐานว่าอาจเป็น ๑ ใน ๘ สัญลักษณ์มงคลตามคตินิยมของชาวพุทธฝ่ายมหายาน ที่เชื่อว่าคนเราหากมีธรรมะในจิตใจ แม้ต้องเผชิญวิกฤตหนักหนาปานใดก็ฝ่าฟันได้ เช่น เดียวกับปลาที่ยังลืมตาได้แม้อยู่ในนํ้า

ทั้งนี้ เพราะตามประวัติเล่าว่า อาคารโรงเรียนพระปริยัติธรรมแห่งนี้สร้าง พ.ศ.๒๔๘๖ โดยช่างชาวลาวชื่อ “ทิดพู” เป็นผู้ออกแบบ แต่ช่างผู้ลงมือสร้างและปั้นลายประดับเป็นชาวเวียดนาม ผลงานที่ออกมาจึงเป็นการประสมประเสที่น่าทึ่งและสวยแปลกตาไปอีกแบบ ชาวปากเซจึงรักและหวงแหนอาคารนี้ในฐานะเป็นสิ่งเชิดหน้าชูตาประจําเมือง ทั้งยังสะท้อนสัมพันธภาพระหว่างชาวลาวกับชาวเวียดนามในมิติศาสนาอีกด้วย

ความสําคัญของวัดหลวงปากเซ อีกประการหนึ่งคือเป็นสถานที่เก็บอัฐิของราชวงศ์สายจําปาสักหลายพระองค์รวมทั้งอัฐิของท่านกระต่าย โดนสะโสลิด (พ.ศ.๒๔๔๗ – ๒๕๑๒) อดีตนักการเมือง นักเขียน และนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรลาว ช่วง พ.ศ.๒๔๙๗ – ๒๔๙๙

ซึ่งถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองลาวภายหลังได้เอกราชคืนมาจากฝรั่งเศส และก่อนที่พรรคประชาชนปฏิวัติลาวที่นำโดยท่านไกสอน พมวิหาน และเจ้าสุพานุวง จะมีบทบาทจนสามารถเปลี่ยนแปลงลาวเป็นสังคมนิยมสำเร็จใน พ.ศ.๒๕๑๘

เอกสารอ้างอิง – หนังสือ“ลาวตอนล่าง” โดย ศุภชัย สิงห์ยะบุศย์ และคณะ, พ.ศ.๒๕๔๕

****

คอลัมน์ ห้องศิลป์อีศาน นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๖๓ | กรกฎาคม ๒๕๖๐

.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
shopee : https://shp.ee/ji8x6b5
LnwShop : https://www.thaibookfair.com/seller/chonniyom-eshann
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

สรุปย่อรากเหง้าร่วมของวัฒนธรรมอาเซียน
ยาพิษแสลงใจ
คำผญา (๑๘)
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com