อู่อารยธรรมอีสาน “อุบลราชธานี” เมืองนักปราชญ์

อู่อารยธรรมอีสาน “อุบลราชธานี” เมืองนักปราชญ์

ผู้เขียนมีโอกาสไปเรียนหนังสือและใช้ชีวิตอยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวมทั้งจังหวัดอุบลราชธานีราว ๒๐ กว่าปี ได้เรียนรู้เกี่ยวกับความเป็นเมืองอุบลราชธานีมากกว่ากรุงเทพมหานครซึ่งเป็นบ้านเกิดเสียอีก หนึ่งในการเรียนรู้นั้นคือได้รู้ว่า “เมืองอุบลราชธานีคือเมืองนักปราชญ์”

อุบลราชธานี มีสมญานาม “เมืองนักปราชญ์” (Ubon Ratchathani – Mueang Nakbpraat) มาแต่ครั้งบรรพกาล

นามนี้เป็นที่กล่าวขานในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖  (พ.ศ.๒๔๕๓ – ๒๔๖๘) และมีเพียงเมืองอุบลราชธานี เมืองเดียวเท่านั้นในประเทศไทยที่ได้รับสมญานามนี้ซึ่งจะเห็นว่าเดิมมีการกล่าวว่า “คนอุบลฯ เป็นปราชญ์” ชี้เฉพาะระดับบุคคลเท่านั้น ต่อมาจึงขยายขอบเขตไปถึงความหมายที่รวมตัวเมืองไว้ด้วย ดังข้อความว่า “อาณาบริเวณบ้านเมืองอุบลราชธานีมีนักปราชญ์ซึ่งเป็นบุคคลอาศัยอยู่มาก หรือเคยมีภูมิลำเนาอยู่แต่เดิม รวมทั้งเป็นเมืองที่มีศิลปศาสตร์หลายแขนงแทรกซึมอยู่สิ่งเหล่านี้ช่วยสร้างองค์ความรู้ให้แก่นักปราชญ์ที่เป็นบุคคลอีกต่อหนึ่ง” (ข้อมูลจาก สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคอีสาน เล่ม ๒)

ปัจจุบันนี้คําว่า “นักปราชญ์” มีผู้ให้นิยามไว้หลากหลาย เช่น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ให้นิยามว่า “ผู้มีปัญญารอบรู้” แต่มีอีกนิยามหนึ่งที่น่าสนใจคือของ ศ. ดร.นิธิเอียวศรีวงศ์ ปัญญาชนไทย และอดีตอาจารย์ประจําภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า “นักปราชญ์คือผู้ที่มีความรู้ในศาสตร์สาขานั้น ๆ และต้องมีคุณธรรมจริยธรรมอยู่ครบ”

สิ่งเหล่านี้เองทําให้สมญานาม “เมืองนักปราชญ์” ของจังหวัดอุบลราชธานีเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปจนมีคําพูดติดปากว่า “อุบลเมืองนักปราชญ์ โคราชเมืองนักมวย” หรือไม่ก็ “อยากเป็นนักมวยให้ไปอยู่โคราช อยากเป็นนักปราชญ์ให้ไปอยู่อุบล อยากสู้อยากชนให้ไปอยู่ขอนแก่น อยากหอบผ้าแล่นให้ไปอยู่นครพนม อยากชื่นอยากชมให้ไปอยู่กาฬสินธุ์ อยากกินนํ้าตําให้ไปอยู่บุรีรัมย์ อยากตํานํ้ากินให้ไปอยู่สุรินทร์” คนอุบลฯ เมื่อก่อนไปอยู่จังหวัดอื่น ๆ ล้วนได้รับการให้เกียรติว่าเป็นลูกหลานนักปราชญ์ จึงต้องระมัดระวังในการวางตัว ประพฤติตน และการแสดงภูมิรู้พอสมควร เพื่อมิให้ถูกดูหมิ่นถิ่นแคลนได้

ผู้เฒ่าผู้แก่เมืองอุบลฯ ยังเล่าต่อกันมาว่า การจะแต่งตั้งใครให้ดํารงตําแหน่งปราชญ์เขาจะดูว่ามีภูมิ ๔ ภูมิหรือไม่ คือ

๑. ภูมิรู้ คือ  มีวิชาความรู้ไหม

๒. ภูมิปัญญาคือสามารถปฏิบัติและถ่ายทอดได้ไหม

๓. ภูมิธรรม คือ มีพื้นฐานทางจิตใจ มีคุณธรรมจริยธรรมไหม

๔. ภูมิฐาน คือ ดูดีไหม

อุบลราชธานีเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ตะวันออกสุดของภาคอีสานหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย มีพื้นที่ประมาณ ๑๕,๗๔๔.๘๕๐ ตารางกิโลเมตรใหญ่เป็นอันดับ ๒ ของภาครองจากจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีพื้นที่ ๒๐,๔๕๔ ตารางกิโลเมตร (ข้อมูลจาก อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ เล่ม ๑ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน) เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ๒ ประเทศ คือ ราชอาณาจักรกัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อุบลราชธานีจึงมีฐานะเป็นศูนย์กลางสําคัญในการติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านแถบอินโดจีน และหากมองประเทศไทยเป็นเสมือนขวานทองแล้ว จะเห็นว่าส่วนที่เป็นอุบลฯ คือคมขวาน เป็นเมืองชายพระราชอาณาเขตสยาม เป็นเมืองลูกหลวงที่เจริญรุ่งเรืองมาก และมีความสำคัญต่อส่วนกลางและท้องถิ่นใกล้เคียงตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

จังหวัดอุบลราชธานี มีตราประจำจังหวัดเป็นรูปดอกบัวตูม ดอกบัวบาน และใบบัวชูช่อก้านใบเหนือหนองนํ้า (เป็นการระลึกถึงบรรพบุรุษที่อพยพมาจากเมือง “นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน” หรือ “หนองบัวลุ่มภู” ปัจจุบันคือ จ.หนองบัวลําภู) ส่วนคําขวัญของจังหวัดอุบลราชธานีคือ  “เมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสีมีปลาแซบหลาย หาดทรายแก่งหิน ถิ่นไทยนักปราชญ์ ทวยราษฎรใฝ่ธรรม งามล้ำเทียนพรรษา ผาแต้มก่อนประวัติศาสตร์ ฉลาดภูมิปัญญาท้องถิ่น ดินแดนอนุสาวรีย์คนดีศรีอุบล”

ชาวอุบลราชธานีเป็นผู้ยึดมั่นเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ปฏิบัติตามฮีตคอง และขนบธรรมเนียมที่ดีงาม เห็นจากจํานวนวัดที่มีมากถึง ๑,๓๔๖ แห่ง โดยเป็นพระอารามหลวงถึง ๓ แห่ง คือ วัดสุปัฏนารามวรวิหาร วัดศรีอุบลรัตนาราม และวัดมหาวนาราม (ข้อมูลจากเว็บไซต์ กรมการศาสนากระทรวงวัฒนธรรม) มีงานบุญตามเทศกาล งานประเพณีทีสำคัญ เช่น งานบุญผะเหวด งานบุญออกพรรษา งานประเพณีไหลเรือไฟ งานประเพณีแข่งเรือ และที่สําคัญคืองานประเพณีแห่เทียนพรรษาที่ยิ่งใหญ่ของชาวจังหวัดอุบลราชธานี กำหนดการจัดงานมีขึ้นวันที่ ๑๕ คํ่า เดือน ๘ และแรม ๑ คํ่า เดือน ๘

โดยวันแรกคือ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ตอนเย็นประชาชนตามคุ้มวัดต่าง ๆ จะนำต้นเทียนมารวมกันบริเวณรอบทุ่งศรีเมือง เพื่อให้นักท่องเที่ยวเดินชมต้นเทียนที่มีความยิ่งใหญ่และสวยงาม ซึ่งมีการประกวดต้นเทียนด้วย โดยต้นเทียนที่สั่งเขาประกวดจะมี ๒  ประเภท คือ ประเภทติดพิมพ์ และประเภทแกะสลัก สําหรับวันที่สอง คือ วันแรม ๑ คํ่า  เดือน ๘ จะมีการแห่ต้นเทียน แต่ละขบวนแห่จะมีการฟ้อนเซิ้งประกอบดนตรีพื้นบ้านอย่างวิจิตรตระการตา และมีนางฟ้าประจำต้นเทียนที่สวยงามจากคุ้มวัดต่าง ๆ อีกด้วย

จังหวัดอุบลราชธานียังมีชื่อเสียงด้านงานศิลปกรรมหัตถกรรมทอผ้า ทั้งผ้าไหมและผ้าฝ้าย ในอดีตผ้าทอเมืองอุบลฯ ได้รับการยกย่องจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ดังสำเนาพระราชหัตถเลขาที่เชิญมาความว่า “ผ้านี้ทอดีมาก เชียงใหม่สู้ไม่ได้เลย” ซึ่งลักษณะเด่นของผ้าเมืองอุบลราชธานีโดยเฉพาะผ้าซิ่นนั้น มักจะเป็นลายล่องมีตีนซิ่น ทอยกลายด้วยดิ้นทองหรือดิ้นเงิน นิยมใช้ในสตรีระดับเจ้านายชั้นสูง นอกจากนี้ยังมีประเภทอื่น เช่น ซิ่นมุก ซิ่นทิว ซิ่นมับมายหรือมับไม ซิ่นขิด ซิ่นมัดหมี่ เป็นต้น

ปัจจุบันผ้าที่มีชื่อเสียงของจังหวัดอุบลราชธานี คือ “ผ้ากาบบัว” ทอจากฝ้ายหรือไหม นับเป็นสินค้า หัตถกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดอุบลราชธานี

ลายของผ้ากาบบัว เป็นการพัฒนามาจากลายผ้าพื้นเมืองโบราณของชาวอุบลราชธานีประกอบด้วย ซิ่นทิว (เป็นเส้นยืนย้อมอย่างน้อยสองสีเป็นริ้ว) มับมาย (ใช้เส้นใย ๒ เส้นต่างสีมาพันกันเป็นเกลียวหางกระรอก) มัดหมี่ (นําเส้นไหมมามัดให้เป็นลวดลายตามต้องการก่อนจึงนําไปย้อมสี) และ ขิด (การยกเส้นยืน โดยใช้ไม้แผ่นบางปาดโค้งให้เป็นปลายแหลมสะกิดเส้นยืนตามรูปลักษณ์ที่ต้องการ)

สีของผ้ากาบบัว จะไล่จากอ่อนไปแก้เริ่มจากสีขาวของกลีบดอกสีอาจเปลี่ยนเป็นสีชมพู เขียว จาง ทองอ่อน เทาขี้ม้า ไปจนถึงน้ำตาลไหม้ แสดงลักษณะธรรมชาติที่ปรับใช้ได้กับทุกเพศทุกวัย แหล่งทอผ้ากาบบัว เช่น ศูนย์ศิลปาชีพสมพรรัตน์ อ.บุณฑริก ศูนย์ศิลปาชีพพิเศษยางน้อย อ.เขืองใน บ้านปะอาว อ.เมืองฯ บ้านกุศกร อ.ตระการพืชผล เป็นต้น นอกจากนั้นจังหวัดอุบลราชธานี ยังมีชื่อเสียงในด้านหัตถกรรมการทําเครื่องทองเหลืองที่บ้านปะอาว อ.เขื่องใน อีกด้วย

จากสภาพที่ตั้งที่เหมาะสมมีความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากเป็นที่บรรจบกันของแม่น้ำโขง แม่น้ำชี และแม่นํ้ามูล ส่งผลให้อุบลราชธานีเป็นอู่อารยธรรมสำคัญแห่งหนึ่งในอีสาน จากหลักฐานที่ปรากฏตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ถึงปัจจุบัน แสดงให้เห็นพัฒนาการของอุบลราชธานีที่ต่อเนื่องกันมาตลอดพอสรุปได้ดังนี้

ตามหลักฐานโบราณคดีพบว่า มีมนุษย์เข้ามาอยู่อาศัยในสังคมล่าสัตว์ประมาณ  ๑๒,๐๐๐ – ๗,๐๐๐ ปีมาแล้ว

จากการพบเครื่องมือหินกะเทาะที่ถํ้าตาลาว อำเภอนาตาล ถือว่าเป็นหลักฐานโบราณคดีที่เก่าแก่ที่สุดที่ค้นพบขณะนี้สําหรับแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์สมัยสังคมเกษตรกรรมที่มีอายุประมาณ ๓,๐๐๐ – ๒,๐๐๐ ปีนั้นมีหลายแห่งส่วนใหญ่จะพบทางตอนเหนือและตะวันตกของอุบลราชธานี บริเวณลุ่มแม่น้ำชี แม่น้ำมูล และลำน้ำสาขาต่าง ๆ (ลําเซบก ลําเซบาย) เช่น แหล่งโบราณคดีบ้านโนนสาวเอ้ อําเภอเมืองฯ แหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลือง อําเภอเมืองฯ แหล่งโบราณคดี บ้านคูเมือง อําเภอวารินชําราบ เป็นต้น หลักฐานที่พบส่วนใหญ่จะเป็นภาชนะดินเผา โดยเฉพาะที่บ้านก้านเหลือง พบภาชนะดินเผาขนาดใหญ่สีนวล มีลายเชือกทาบลายเขียนสี และลายเส้นตามขอบปากภาชนะ ซึ่งภาชนะเหล่านี้เกี่ยวข้องกับประเพณีการฝังศพครั้งที่ ๒ ที่พบทั่วไปบริเวณลุ่มแม่นํ้ามูล – ชีตอนล่าง

นอกจากนี้ยังมีแหล่งโบราณคดีที่เป็นศิลปะถํ้าหลายแห่งแถบริมแม่นํ้าโขง บริเวณอําเภอเขมราฐ โขงเจียม โพธิ์ไทร ศรีเมืองใหม่ และตระการพืชผล โดยเฉพาะที่อําเภอโขงเจียมพบภาพเขียนสีขนาดใหญ่บริเวณผาแต้ม แสดงทางด้านการเกษตรกรรม ภาพดังกล่าวเชื่อว่าน่าจะมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการประกอบพิธีกรรมเพื่อความอุดมสมบูรณ์

ในสมัยประวัติศาสตร์พบหลักฐานสําคัญสมัยเจนละราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ คือ จารึกปากแม่น้ำมูล ๒ หลัก พบที่อําเภอโขงเจียม เป็นจารึกสมัยพระเจ้าจิตรเสนกษัตริย์แห่งอาณาจักรเจนละ มีการพัฒนาสืบเนื่องจากเมืองเศรษฐปุระในบริเวณปราสาทวัดพูฝั่งซ้ายแม่นํ้าโขงแถบแขวงจําปาศักดิ์

นอกจากนี้ยังพบทับหลังเก่าแก่ร่วมสมัย ๒ ชิ้น คือ ทับหลังวัดสระแก้ว อําเภอพิบูลมังสาหาร และทับหลังที่วัดสุปัฏนารามวรวิหาร อำเภอเมืองฯ รวมทั้งใบเสมาหินทรายสมัยทวารวดีที่บ้านไผ่ใหญ่ อําเภอม่วงสามสิบ ในสมัยลพบุรี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ พบหลักฐานที่สําคัญ เช่น ปราสาทหนองทองหลาง ปราสาทบ้านเบ็ญ ปราสาทธาตุนางพญา เป็นต้น

ในช่วงการสร้างบ้านแปงเมืองในยุคแรกสมัยพระประทุมวรราชสุริยวงษ์ (คำผง) ก็มีหลักฐานการสร้างวัดหลวงและการสร้างพระเจ้าใหญ่อินทร์แปง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวอุบลราชธานีในจารึกวัดป่าใหญ่หลักที่ ๑ และโดยเฉพาะในยุคปฏิรูปการปกครองสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอฯกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์เสด็จมาปกครองเมืองอุบลราชธานีพระองค์ได้ปฏิรูปด้านต่าง ๆ จนเป็นพื้นฐานให้อุบลราชธานีมีความเจริญก้าวหน้าถึงปัจจุบัน อีกทั้งประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอุบลราชธานีได้ มีความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรมกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งปัจจุบันต่างก็มีความเป็นประชาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนร่วมกัน

อุบลราชธานีจึงมีประวัติความเป็นมาที่เก่าแก่และยาวนาน มีการสั่งสมอารยธรรมหลายด้านสืบทอดมาดังที่ ศ.ศรีศักร วัลลิโภดม ให้นิยามสั้น ๆ แก่เมืองนี้ว่า “อุบลราชธานีคือที่สุดแห่งวัฒนธรรมอีสาน” ส่งผลให้เมืองอุบลราชธานีได้รับสมญานามว่า “อุบลราชธานีเมืองนักปราชญ์” ซึ่งความเป็นปราชญ์ของอุบลราชธานีนั้นมีหลายด้าน ดังนี้

ปกนิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับเดือนมกราคม ๒๕๕๖ เรื่อง หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต หนึ่งในปราชญ์บรรพชิตของเมืองอุบลราชธานี ซึ่งมีภูมิลําเนา ณ บ้านคําบง อําเภอศรีเมืองใหม่

๑. ศาสนา คำว่า “ปราชญ์เมืองอุบล” ส่วนใหญ่มักจะหมายถึงปราชญ์ที่เป็นพระสงฆ์เพราะท่านย่อมมีคุณธรรมมากกว่าปุถุชนคนธรรมดา พระสงฆ์ที่เป็นปราชญ์ของจังหวัดอุบลราชธานีนั้นมีทั้งฝ่ายคันถธุระและวิปัสสนาธุระ ฝ่ายคันถธุระที่ได้เป็นถึงขึ้นสมเด็จมีถึง ๔ องค์ นับว่ามากที่สุดในอีสานขณะนี้สมเด็จองค์แรกของชาวอุบลราชธานีคือ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) และฝ่ายวิปัสสนาธุระนั้นมีหลายองค์ที่เป็นเกจิอาจารย์ชื่อดังทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งมีภูมิลําเนาที่จังหวัดอุบลราชธานี รวมทั้งที่ได้มาศึกษาที่สำนักการศึกษาในอุบลราชธานีด้วย เช่น สมเด็จลุน, หลวงปู่เสาร์, หลวงปู่มั่น, หลวงปู่ขาว และ หลวงปู่ชา เป็นต้น

ส่วนพระสงฆ์ที่เก่งทั้งทางด้านคันถธุระและวิปัสสนาธุระที่สําคัญ คือ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ท่านมีส่วนสําคัญในด้านการจัดการศึกษาในอีสาน นอกจากนี้อุบลราชธานียังได้ชื่อว่าเป็นจังหวัดที่มีวัดมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยซึ่งแสดงถึงความศรัทธาเลื่อมใสในพุทธศาสนาของชาวอุบลราชธานีด้วย

๒. การศึกษา อุบลราชธานีเป็นศูนย์ศึกษาทั้งฝ่ายสงฆ์ และฝ่ายฆราวาส การศึกษาเล่าเรียนของพระสงฆ์ในเขตอีสานล่างในอดีตส่วนใหญ่จะมาศึกษาเล่าเรียนที่เมืองอุบลราชธานีเช่นที่วัดมณีวนาราม วัดหลวง วัดบ้านไผ่ใหญ่ วัดบ้านหนองหลัก เป็นต้น  พระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงที่เดินทางมาเรียนที่เมืองอุบลราชธานี เช่น หลวงปู่แหวน, หลวงปู่ฝั้น  และหลวงปู่ดุลย์ เป็นต้น สําหรับฝ่ายฆราวาสนั้น เมื่อรัชกาลที่ ๕ ทรงขยายการศึกษาออกมายังหัวเมืองอีสานใน พ.ศ. ๒๔๓๗ อุบลราชธานีเป็นพื้นที่แรกที่นําเอาภาษาไทยมาสอนที่วัดสุปัฏนาราม โดย พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) และมีการขยายการศึกษาออกไปยังเมืองอื่นในอีสานอย่างกว้างขวาง ทําให้ประชาชนทั่วไปได้รับการศึกษามากขึ้น

๓. การเมือง อุบลราชธานีในอดีตนับว่ามีนักการเมืองเก่ง ๆ หลายท่านที่มีบทบาทโดดเด่น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบทบาทของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยุคแรก ๆ เช่น ทองอินทร์ ภูริพัฒน์, เลียง ไชยกาล และ เนย สุจิมา โดยเฉพาะทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ได้ถูกยกให้เป็นดาวสภาขณะนั้น เนื่องจากมีทักษะการอภิปรายที่แหลมคมจนทําให้ร่างพระราชบัญญัติต่าง ๆ ที่รัฐบาลเสนอเข้าสู่สภาต้องตกไป รวมทั้งยังอภิปรายเกี่ยวกับพระราชบัญญัติต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ของชาวอีสาน เช่น พระราชบัญญัติเกี่ยวกับที่ดิน พระราชบัญญัติเกี่ยวกับสัตว์ พระราชบัญญัติเกี่ยวกับป่าไม้ ฯลฯ

จากบทบาทดังกล่าวทําให้ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรติดต่อกันถึง ๔ สมัย ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๖ – ๒๔๙๐ และเป็นผลให้รัฐบาลต้องลาออกหลายครั้ง นับว่าท่านมีส่วนสําคัญในการต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของชาวอีสานรวมทั้งเป็นผู้นําขบวนการเสรีไทยสายอีสาน ทําให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นผู้แพ้สงคราม สมควรที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยหลังควรเอาเยี่ยงอย่างความกล้าหาญ

นอกจากนี้อุบลราชธานียังมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นผู้หญิงคนแรกของประเทศไทย คือ อรพิน ไชยกาล

๔. สถาปัตยกรรม สิ่งก่อสร้างที่งดงามในอุบลราชธานีส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับศาสนสถานบ่งบอกถึงเอกลักษณะพื้นบ้านที่สําคัญ เช่น สิม (โบสถ์) วัดแจ้ง, สิมวัดบ้านตําแย,  หอไตรวัดทุ่งศรีเมือง, หอไตรหนองขุหลุ และพระอุโบสถวัดสุปัฏนาราม เป็นต้น

๕. ประติมากรรม ผลงานส่วนใหญ่ จะเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา ที่สําคัญ เช่น พระเจ้าใหญ่อินทร์แปง, พระแก้วบุษราคัม, พระเจ้าใหญ์องค์ตื้อ, พระสัพพัญญู และ พระบาง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการแกะสลักที่งดงาม เช่น การแกะสลักหินเทวรูปอรรธนารีศวร การแกะสลักพระพุทธรูปไม้ขนาดใหญ่ เป็นพระประธานที่หอแจกวัดศรีอุบลรัตนาราม และยังมีการแกะสลักเทียนพรรษาที่งดงามของช้างเทียนเมืองอุบลฯ

๖. จิตรกรรม ภาพเขียนสีที่สําคัญสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เช่นที่ ผาแต้ม, ผาหมอนน้อย, ภูผาขาม และ ภูโลง เป็นต้น ส่วนภาพเขียนสีในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นที่สําคัญคือ ภาพเขียนสีในหอพระบาท วัดทุ่งศรีเมือง ส่วนใหญ่เป็นภาพพุทธประวัติและภาพที่สะท้อนถึงวิถีการดํารงชีวิตของผู้คนพื้นเมือง เช่น การนวด – ตาข้าว การผ่าฟืน การแต่งกาย การฟ้อนรำ การเป่าแคน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีภาพชีวิตผู้คนที่อาศัยอยู่ตามริมน้ำและในรั้วในวังรวมทั้งภาพชาวต่างชาติ ทั้งจีนและฝรั่งที่เข้ามาค้าขายในสมัยนั้นด้วย ขณะนี้ภาพจิตรกรรมในหอพระบาทได้เริ่มเลอะเลือนเป็นอันมากเนื่องจากความชื้นและความเก่าแก่ของตัวอาคาร

๗. วรรณกรรม หลักฐานในการจารึกที่สําคัญที่พบในอุบลราชธานีคือ จารึกปากแม่นํ้ามูล, จารึกวัดป่าใหญ่ (วัดมหาวนาราม) และ จารึกวัดใต้รวมถึงจารีตการบันทึกในใบลานที่ส่วนใหญ่เป็นคําสอนและเป็นวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนา เอกสารใบลานพบมากที่สุดที่วัดศรีอุบลรัตนาราม นอกจากนี้ยังมีวรรณกรรมคำสอนของพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันฺโท) เช่น สิริจันโทวาทยอดคําสอน, กาพย์ปู่สอนหลาน เป็นต้น และสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ตสิโสฺ) เช่น คำเตือนครั้งสุดท้าย, สอนโลก เป็นต้น ซึ่ง ดร. ปรีชา พิณทอง ได้กล่าวว่า หนังสือหรือเอกสารใบลานเหล่านี้เองถือเป็นหัวใจแห่งความเป็นนักปราชญ์ของชาวเมืองอุบลราชธานี

๘. ดนตรีและศิลปะการแสดง จังหวัดอุบลราชธานีได้ชื่อว่าเป็นเมืองหมอลํา หมอลําที่มีชื่อเสียงในอดีตคือ หมอลําคูณ และ หมอลําจอมศรี ทั้งคู่ได้บันทึกเสียงลงแผ่นเสียงลําเป็นครั้งแรกของประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีหมอลําเคน ดาเหลา, หมอลำทองมาก จันทะลือ, หมอลำฉวีวรรณ ดำเนิน และ หมอลำบานเย็น รากแก่น เป็นต้น ส่วนด้านดนตรีในอดีตก็จะมีวงดนตรีเพชรพิณทอง ซึ่งมีนักดนตรีที่เก่งที่สุดทางด้านการดีดพิณคือ ทองใส ทับถนน และยังมีวงโปงลางของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีที่ใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้านมาร่วมแสดง กระทั่งได้รับรางวัลสังข์เงินจากสมาคมนักประชาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๓๔

๙. หัตถกรรม หัตถกรรมที่ขึ้นชื่อเพียงแห่งเดียวในอีสาน คือ การหล่อทองเหลืองแบบโบราณที่บ้านปะอาว อําเภอเขื่องใน ผลิตภัณฑ์ที่ทํา เช่น ผอบตะบันหมาก กระดิ่ง เป็นต้น ส่วนงานหัตถกรรมที่ขึ้นชื่อที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการทอผ้า โดยเฉพาะผ้ากาบบัวอันเป็นผ้าเอกลักษณ์ของจังหวัดอุบลราชธานี

ความเป็นปราชญ์ของอุบลราชธานีทั้ง ๙ ด้านนั้นนับเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าจังหวัดอุบลราชธานีมีสิ่งดี ๆ ที่บรรพบุรุษซึ่งเป็นปราชญ์เมืองอุบลฯ ได้สร้างไว้จนกลายเป็นอู่อารยธรรมอีสานที่สืบทอดต่อมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นชาวอุบลฯ และคนไทยทั้งมวลจงควรภาคภูมิใจในอารยธรรมดังกล่าว และช่วยกันอนุรักษ์สืบสานสิ่งดีงามเหล่านั้นให้จรรโลงอยู่คู่ไทยสืบไป

การเห็นความสําคัญกับอดีตเป็นเรื่องที่ดีเพราะความรุ่งเรืองในอดีต ชี้ให้เห็นความรุ่งโรจน์ในอนาคต รู้จักเรียนรู้เพื่อรู้เขารู้เรา ให้รู้จักท้องถิ่นเล็ก ๆ รู้จักเมือง ๆ หนึ่งในอาเซียน เพื่อเตรียมพร้อมกับการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปลายปีนี้หากเป็นเช่นนี้แน่นอนครับว่า การสืบทอดความเป็นปราชญ์ของชาวอุบลจะยังคงสืบทอดต่อไปอย่างไม่ขาดสาย อีกทั้งลักษณะดังกล่าวส่วนหนึ่งยังส่งผลให้เกิดการผลิตงานเขียนประวัติศาสตร์หรือประวัติศาสตร์นิพนธ์เรื่อง “เมืองอุบลราชธานี” อีกมากมาย ซึ่งผู้เขียนจะนําเสนอใน  “ทางอีศาน” ต่อไป

หอไตรหนองขุหลุ อ.ตระการพืชผล ศาสนาคารสำคัญอีกแห่งหนึ่งทึ่เก็บรักษาเอกสารใบลานในท้องถิ่นอุบลราชธานี ุ และพื้นที่ใกล้เคียง เอกสารของคนท้องถิ่นเหล่านี้เป็นหัวใจและแหล่งความรู้ของนักปราชญ์

อ้างอิง/ภาพประกอบ

          กรมศิลปากร. (๒๕๓๗). นําชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี. กรุงเทพฯ: สํานักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรมฯ.

          เติม วิภาคยพจนกิจ. (๒๕๕๗). ประวัติศาสตร์อีสาน. พิมพ์ครั้งที่ ๗. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตําราสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์; และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

          ธิดา สาระยา. (๒๕๓๖). เมืองอุบล : ธานีแห่งราชะ ศรีสง่าแห่งไพรพฤกษ์. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ.

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔. (๒๕๕๔). กรุงเทพฯ: นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์.

          ศรีศักร วัลลิโภดม. (๒๕๓๓). แอ่งอารยธรรมอีสาน. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ: พิฆเณศ.

          สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคอีสาน เล่ม ๒. (๒๕๔๒). กรุงเทพฯ: ธนาคารไทยพาณิชย์.

          สุจิตต์ วงษ์เทศ. (๒๕๕๔). อุบลราชธานีมาจากไหน?. กรุงเทพฯ: แม่คําผาง.

          อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย เล่ม ๑ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. พิมพ์ครั้งที่ ๘ (แก้ไขเพิ่มเติม). กรุงเทพฯ : กองธรรมศาสตร์และการเมืองราชบัณฑิตยสถาน.

          อภิศักดิ์ โสมอินทร์. (๒๕๒๕). ภูมิศาสตร์อีสาน. กรุงเทพฯ: ศรีอนันต์.

          เว็บไซต์กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม เข้าถึงได้จาก www.dra.go.th

          เว็บไซต์ไก๊ด์อุบล เข้าถึงได้จาก www.guideubon.com

          เว็บไซต์จังหวัดอุบลราชธานีเข้าถึงได้จาก www.ubonratchathani.go.th

          เว็บไซต์สํานักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุบลราชธานีเข้าถึงได้จาก http://www.m-culture.go.th/ubonratchathani/

          เว็บไซต์สํานักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เข้าถึงได้ จาก http://www.lib.ubu.ac.th/.

***

คอลัมน์  เรื่องจากปก  นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๓๕ | มีนาคม ๒๕๕๘

.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

ต้นไม้กลิ่นเหม็น
อีสานในนิมิต
น้ำหมากนาว
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com