วิจิตรตา… วัดศรีเทพประดิษฐาราม
กัลยาณมิตรคนหนึ่งรู้ใจผมว่านิยมชมชอบงานศิลปะสถาปัตยกรรม ที่ประดับปูชนียสถานโดยไม่มีข้อจํากัดทางศาสนา จะเป็นเทวาลัยฮินดูโบสถ์คริสต์ มัสยิด ฤๅพุทธสถาน หากอนุญาตให้เข้าชมได้แม้แต่เพียงภายนอก ก็ถือเป็นความยินดีปรีดานัก
“ถ้างั้น มาถึงนครพนมแล้ว พี่ไม่ควรพลาดชมวัดศรีเทพฯ ไม่ใช่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพที่เพชรบูรณ์นะครับ แต่เป็นวัดศรีเทพประดิษฐาราม ในตัวเมืองนครพนมเลยพี่”
กัลยาณมิตรรุ่นน้องที่มาทํางาน ณ นครพนม ชี้แนะ ในขณะที่ระบบค้นหาของ Google ทำงานชั่วพริบตาก็ปรากฏข้อมูลเบื้องต้นว่าเป็นวัดเก่าแก่ สร้างมาแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ ราวปี ๒๔๐๒ ถึงวันนี้อายุอานามเกิน ๑๕๐ ปีแล้ว
สีสันสดใสของพระอุโบสถ หรือ “สิม” ในมุมมองผ่านวงโค้งของซุ้มประตูดูงามแท้ ลายปูนปั้นประดับผนังโบสถ์ด้านนอกก็วิลิศมาหราไม่แพ้กัน ที่น่าสนใจคือช่างผู้ออกแบบให้ความสําคัญกับประติมากรรม “เทพนม” (เทวดาประนมมือ) มากเป็นพิเศษ ชนิดมองไปทางไหนก็อร่ามตาด้วยเทพนมทาทอง
แต่ทั้งหมดทั้งมวลนั้นมาลงเอยที่ประติมากรรมนูนสูง เล่าเรื่องทวยเทพทูลเชิญ “สันดุสิตเทวราชโพธิสัตว์” คือพระเวสสันดรมาจุติเพื่อโปรดสัตว์โลกให้พ้นจากราคะ โทสะ โมหะ ประดับไว้เกือบเต็มผนังด้านหลังโบสถ์ อิ่มเอมในดวงตาและหัวใจ จนมิอาจกวาดตามองอย่างผิวเผิน แม้ข้อมูลจะระบุว่าเป็นฝีมือช่างท้องถิ่นมิใช่ช่างหลวง แต่ก็จัดเป็นวิจิตรศิลป์อันประณีต ที่มีค่าควรเมืองและควรมองอย่างพินิจพิจารณา
ถัดมาไม่ไกล คือเจดีย์บรรจุอัฐิหลวงปู่จันทร์ เขมิโย หรือพระเทพสิทธาจารย์ (ลูกศิษย์พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล) ท่านคือผู้มาบุกเบิกบูรณะวัดร้าง ชื่อวัดศรีคุณเมือง ในปี ๒๔๔๙ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นวัดศรีเทพประดิษฐาราม อันงามสง่าอย่างที่เห็นในวันนี้
หลวงปู่จันทร์ครองเพศบรรพชิตยาวนานตั้งแต่หนุ่มวัย ๒๐ จนถึงวัย ๙๒ ก่อนถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๖ โดยสร้างคุณูปการแก่พระพุทธศาสนาไว้มากมาย ทั้งยังเป็นอริยสงฆ์ที่มีศีลาจารวัตรดีงามเสมอต้นเสมอปลาย ศิษยานุศิษย์จึงพร้อมใจกันจัดสร้าง “พิพิธภัณฑ์หลวงปู่จันทร์” ขึ้นภายในวัด เพื่อจัดแสดงสิ่งของและเรื่องราวในประวัติชีวิตของท่านไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา
แต่นอกจากจะมากราบรูปปั้นเหมือนหลวงปู่จันทร์เท่าตัวจริงแล้ว ผู้แสวงบุญส่วนใหญ่ยังปรารถนาจะได้สักการบูชา “พระแสง” พระปฏิมาประธานของพระอุโบสถ ซึ่งเชื่อกันว่ามีตํานานผูกพันในฐานะเป็นพระพี่น้องกับพระพุทธรูปสําคัญ ๓ องค์คือ พระสุก พระใส และพระเสริม ที่สร้างโดยพระธิดาสามพี่น้องของพระไชยเชษฐาธิราชเจ้าแห่งอาณาจักรล้านช้าง (ครองราชย์ พ.ศ.๒๐๙๑-๒๑๑๔) โดยเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะล้านช้าง ใช้ทองคําเป็นส่วนผสมหลัก
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการอัญเชิญพระพุทธรูปทั้งสามข้ามแม่น้ำโขงจากกรุงเวียงจันทน์มาทางแพ แต่แพประดิษฐานพระสุกเกิดอุบัติเหตุแตกหักและจมลงตรงเวินสุกในลำโขง ไม่สามารถอัญเชิญขึ้นมาได้ตราบจนวันนี้ ส่วนพระใส อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วัดโพธิ์ชัย จังหวัดหนองคาย และพระเสริม ประดิษฐาน ณ วัดปทุมวนาราม กรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้มีข้อมูลในประวัติวัดศรีเทพฯ ระบุว่าพระธิดาพระไชยเชษฐาธิราชมี ๔ พระองค์จึงยังมี “พระแสง” เป็นพระพุทธรูปในพระธิดาองค์ที่ ๔ ต่อมาเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ (ครองราชย์ พ.ศ.๒๓๔๘ – ๒๓๗๑) ได้อัญเชิญพระแสงมาซ่อนไว้ในถํ้า ณ เมืองมหาชัยก่องแก้ว แขวงคําม่วน แต่ทางกรุงเทพฯ สืบทราบ จึงให้เจ้าเมืองนครพนมนําส่งกรุงเทพฯ ทว่า เกวียนที่นําไปไม่สามารถอัญเชิญพระแสงมาได้จึงประดิษฐานไว้ที่วัดป่าแห่งหนึ่ง แล้วภายหลังจึงย้ายมาประดิษฐาน ณ วัดศรีเทพฯ แห่งนี้
อย่างไรก็ตาม ตํานานความผูกพันของพระแสง กับพระสุก พระใส พระเสริม ยังเป็นประเด็นที่ต้องสืบหาหลักฐานที่แน่ชัดและเชื่อถือได้มาอ้างอิงต่อไป แต่ถึงแม้ตํานานนี้จะยังไม่กระจ่างชัด ทว่าพุทธศิลป์อันวิจิตร และศีลาจารวัตรของหลวงปู่จันทร์ก็ทรงคุณค่าแก่การที่จะได้ไปกราบสักการะ ณ วัดศรีเทพประดิษฐาราม ถนนศรีเทพ อ.เมือง จ.นครพนม สักครั้งหนึ่งในชีวิต
****
คอลัมน์ ห้องศิลป์อีศาน นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๓ | กันยายน ๒๕๕๙
.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220