ไตซาย ไตหยา ไตแข่ : ความเชื่อทางศาสนา

ไตซาย ไตหยา ไตแข่ : ความเชื่อทางศาสนา

เครื่องเซ่นไหว้ ในพิธีเฮ็ดเส้อ
(ภาพจากบทความของคุณเจิ้ง ส่าวหยุน)

ผู้เขียนเดินทางในตําบลกาซ่า (กาดซาย) สองวัน ไม่ได้เห็นประเพณีเก่าแก่ของชาวไตเอวลายนัก ข้อมูลต่อไปนี้ค้นคว้ามาจากบทความเรื่อง “วัฒนธรรมไตเอวลายที่ซินผิงจากมุมมองด้านสภาพแวดล้อม” 生态视角下的新平花腰傣文化โดยคุณ หวางกั๋วเสียง (王国祥)เผยแพร่ในเว็บไซต์ 傣族网—, บทความเรื่อง “วัฒนธรรมไตเอวลายแถบตอนบนของแม่นํ้าแดงและความเปลี่ยนแปลง” 红河上游花腰傣的文化与当代变迁 ของคุณเจิ้งส่าวหยุน, บทความเรื่อง “ความเชื่อทางศาสนาของชาวไตดึกดําบรรพ์ : ไตเอวลาย” 原始傣人花腰傣的宗教信仰 ของ คุณ หยางเหวินเสวีย杨文学

“ชื่อเฉพาะ” เรียกพิธีกรรมต่าง ๆ นั้น ผู้เขียนพยายามถอดเสียงจากคำภาษาจีน ซึ่งแน่นอนว่าการถ่ายเสียงไตเอวลายเป็นจีนย่อมห่างไกลเสียงดั้งเดิม การถอดเสียงจากจีนกลับมาเป็นไทยสยามจึงต้อง “เดา” เอา

พิธีกรรมของชาวไตเอวลายที่สำคัญ ๆ มีดังนี้

๑. ไหว้ “หลง” (ดง) เจิงหลง   “หลง” คํานี้เสียงตรงกับ “หลง 龙” ที่แปลว่า มังกรจีน เรื่อง “มังกร” (ภาษาจีนว่า “หลง” “龙”) เป็นปัญหาใหญ่มากสําหรับผู้เริ่มต้นศึกษาวัฒนธรรมโบราณของกลุ่มชนไป่เยวี่ย (ชนพื้นเมืองในภาคใต้ของจีน ใต้แม่นํ้าแยงซีเกียงลงมา) เพราะจะสับสนกับเรื่อง “หลง – มังกร” ของวัฒนธรรมจีนแท้ (หัวเซี่ยหรือฮั่น) ณ ที่นี้ขอให้รับรู้เพียงว่าการไหว “หลง” ของไตเอวลายมิใช่ “มังกรจีน” อย่างที่เราเห็น “เชิดมังกร” กัน

ภาษาจีนเรียกพิธีนี้ของชาวไตเอวลายว่า “เจิงหลง” เขียนอักษรจีนได้หลายแบบ เช่น 祭龙, 祭垄、祭竜、祭陇 ประเด็นนี้บ่งบอกอยู่แล้ว มิได้ตั้งใจให้หมายถึง “หลง – มังกร” จีน หากแต่เป็นการถอดเสียงจากภาษาพื้นเมือง

ชนเผ่าในตระกูลไท มอญเขมรในมณฑลยูนนานและประเทศไทย มีพิธีกรรมบูชาต้นไม้ใหญ่ประจําหมู่บ้านพร้อม ๆ กับเซ่นไหว้ไหว้บรรพบุรุษ ผู้เขียนนึกถึง “พิธีเลี้ยงดง” ของชาวลัวะเชียงใหม่ ซึ่งฆ่าควายเซ่นไหว้ปู่แสะ ย่าแสะ พิธีกรรมเช่นนี้เกือบเสื่อมสูญหมดไปจากกลุ่มคนไท – ไต ที่นับถือศาสนาพุทธ แต่ชาวไตหยา ไตซาย ไตแข่ ยังคงรักษาประเพณีไว้ได้

พิธีไหว้ “หลง” (ดง) นี้ภาษาไตเอวลายเรียกว่า “เฮยเส้อ” “黑社” คือภาษาไตว่า “เฮ็ดเสื้อ” (黑 – ออกเสียงว่า “เฮย” คุณหวางกั๋วเสียง ให้ความหมายไว้ว่า “ทำ” ผู้เขียนจึงกล้าใช้คำว่า “เฮ็ด” ส่วนคําว่า “เส้อ” – 社 ในภาษาจีนโบราณ หมายถึงพระภูมิเจ้าที่ ตรงกับคําว่า “เสื้อ” “เชื้อ” ในภาษาไทโบราณ) ทําพิธีปีละสองครั้งในเดือนสอง (จันทรคติจีน)

ครั้งแรกทำ ‘วันวัว’ และ ‘วันเสือ’ (เรื่องปฏิทินโบราณจีนมันยุ่งขอข้ามไปไม่อธิบาย) ครั้งที่สองทําใน ‘วันเสือ’

ประธานผู้ประกอบพิธีเรียกว่า “贺社 เห้อ เส้อ” คือ “หัวเสื้อ” รับตําแหน่งครั้งละสามปี การเลือกหัวหน้าพิธีนี้เลือกโดยนำชุดแต่งกายของชายหัวหน้าครอบครัวทุกครอบครัวมาชั่งนํ้าหนัก ของใครหนักที่สุดจะได้เป็นหัวหน้าพิธี (ชาวไตดําในอําเภอปกครองตนเองหยวนเจียง มณฑลยูนนาน คัดเลือกหัวหน้าพิธีโดยให้ชายหัวหน้าครอบครัวนำข้าวมาชั่งให้นํ้าหนักเท่ากันก่อน แล้วนําไปเซ่นไหว้ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของหมู่บ้าน หลังจากนั้นนำกลับมาชั่งใหม่ น้ำหนักข้าวจะเปลี่ยนไป ข้าวของผู้ใดมีน้ำหนักมากที่สุดจะได้เป็นหัวหน้าพิธี)

ทําพิธีกันใต้ต้นไม้ใหญ่ โดยมากจะเป็น 顿海 (ต้นไห่) คือ ต้นไฮ (ต้นไทร) โดยฆ่าหมู ฆ่าเป็ดใต้ต้นไม้นั้น ทาเลือดที่ 达寮 – ต๋าเหลียว (ตาแหลว, เฉลว) หกเหลี่ยม แล้ว “牙摩”- ย่าหมอ ท่องมนต์เซ่นไหว้ ขอให้การเพาะปลูกอุดมสมบูรณ์ สัตว์เลี้ยงแข็งแรง ผู้คนสุขภาพดีมีความผาสุก เสร็จแล้วนํากระดูกคางหมูแขวนไว้ที่ต้นไม้นั้น เอาตาแหลว (เฉลว) ไปปักไว้ในนาต้นกล้า (ต้นอ่อนข้าว) พวกผู้ชายร่วมวงกินดื่มใต้ต้นไม้นั้น

บริเวณดงไม้นั้นถือเป็นเขตศักดิ์สิทธิ์ห้ามล่วงละเมิด (คล้ายดอนผีปู่ตา)

ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์สถานที่ทําพิธี “เฮ็ดเสื้อ” ประจําหมู่บ้าน หมากใหญ่ (ต้าปิงหลางชุน) ตําบลกาซ่า อําเภอซินผิง (ชาว ไตซาย) (ภาพโดย ทองแถม นาถจํานง)

๒. ไหว้ผีหมู่บ้าน (ภาษาจีนถอดเสียงเป็น “เฮยหว่าน”) ผู้เขียนเดาว่า “เฮ็ดว่าน” (บ้าน = ม่าน = ว่าน หมายถึงหมู่บ้าน “เฮย” คุณหวางกั๋วเสียง บอกความหมายไว้ว่า “ทํา” จึงน่าจะตรงกับคําว่า “เฮ็ด”) ใช้ก้อนหินใหญ่หรือต้นไทรใหญ่เป็นสัญลักษณ์ของผีบ้าน ในเดือนสิบสองตามปฏิทินจันทรคติจีน จะฆ่าหมูบวงสรวงที่ใจกลางหมู่บ้าน

๓. ไหว้นางข้าว (จีนเขาถอดเสียงเป็น 朗考 – หลางเข่า ให้ความหมายไว้ว่าเทพธิดาข้าว จึงเชื่อว่าตรงกับ “นางข้าว”) ในพิธีผู้หญิงจะท่องมนต์ไหว้ “นางข้าว”

เมื่อเก็บข้าวกลับบ้านจะแขวนข้าวหลายกอไว้ที่ยุ้ง วางไข่เป็ดหลายฟองไว้บนกองข้าว จากนั้นแม่เฒ่าจะท่องมนต์ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองข้าวเต็มยุ้งฉาง (คล้าย ๆ บุญคูนลานบ้านเรา)

๔. ไหว้นางเมือง (朗勐 หลางเหมิ่ง) นางเมืองคือ เทพผู้พิทักษ์รักษาท้องถิ่น บนประตูบ้านชาวไตหยาแถบม่อซา จะมีหิ้งบูชานางเมือง ในเทศกาลงานแต่งงาน, งานศพ จะต้องเซ่นไหว้ขอให้ปกปักรักษาคุ้มครอง เมื่อฆ่าหมูจะนำกระดูกคางหมูมาเซ่นไหว้ขอให้สัตว์เลี้ยงอุดมสมบูรณ์

๕. ไหว้ “พ่อไฮ่แม่นา” 波海咪纳 (ปอไห่หมี่น่า) ทำพิธีในวันหก เดือนหกจีน ใช้เป็ดสองตัว เหล้าหนึ่งไหเซ่นไหว้คุกเข่าคํานับสี่ครั้ง อ้อนวอนขอให้เพาะปลูกอุดมสมบูรณ์

นอกจากนั้นทุกยังมีหิ้งบูชาบรรพบุรุษ และมีประเพณีบูชาเตาไฟ

พิธีเผาศพชาวไตซาย
ประเพณีแต่งงานของชาวไตแข
ชาวไตซาย ผูกข้อมือสู่ขวัญให้ผู้เขียน

สําหรับศาสนาอื่น ๆ นั้น ในช่วงทศวรรษที่ ๒๐ – ๓๐ ของศตวรรษที่ ๒๐ หมอสอนศาสนาชาวอเมริกันและชาวเยอรมัน ได้เผยแพร่คริสตศาสนาในตำบลม่อซา (ไตหยา) (หมอคริฟตัน ดอดด์ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “ชนชาติไท พี่เอื้อยของจีน” ก็เคยเดินทางจากเชียงรายผ่านที่นั่น และนำชาวไตหยามาอยู่อาศัยในเชียงรายด้วย) ช่วงนั้นมีชาวไตหยาเข้ารีตนับถือศาสนาคริสต์ ประมาณ ๑,๕๐๐ คน มาถึงช่วงทศวรรษที่ ๘๐ ที่หมู่บ้านเซียนเหอชุน (ตำบลม่อซา) เหลือผู้นับถือศาสนาคริสต์เพียง ๗๔ คนเท่านั้น

******

คอลัมน์  ล้านนาคดี นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๔๓ | พฤศจิกายน ๒๕๕๘

.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

อาหารดีรับปีใหม่
ฮีตเดือนสิบสอง พระชาวเมืองปาฐาลุยโคลน
ทางอีศาน 43 : บทบรรณาธิการ
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com