“ชุมชนอยู่ในสภาพกึ่งหลับกึ่งตื่น เนื่องจากถูกทำลายความจำ ความรู้เรื่องไทยที่ผ่านมาเป็นแง่มุมของรัฐ ประวัติศาสตร์ของชุมชนไม่ปรากฏ ชุมชนถูกลืมไป” (ศ.ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา)
ไม่เพียงแต่ประวัติศาสตร์ของชุมชนเล็ก ๆ ถูกลืมไป หรือไม่มีเขียนและไม่ส่งเสริมให้เขียน แม้แต่ประวัติศาสตร์ของชุมชน หรือประชาคมขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “ภาค” อย่างอีสานเองก็แทบจะไม่มีการกล่าวถึงในบทเรียนประวัติศาสตร์ในทุกระดับ
ถามเด็กอีสานรุ่นใหม่วันนี้แม้แต่เด็กสกลนครเองมีใครรู้จักนายเตียง ศิริขันธ์ ไหม เคยได้ยินชื่อนายครอง จันดาวงศ์ ไหม ทราบไหมว่ามีบทบาทสำคัญอะไร เสียชีวิตอย่างไร
เคยได้อ่านบทเรียนประวัติศาสตร์ไทยไหมว่า 3 อดีตรัฐมนตรีจากภาคอีสาน คือ ถวิล อุดล จากร้อยเอ็ด จำลอง ดาวเรือง จากมหาสารคาม ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ จากอุบลราชธานี และ ดร.ทองเปลว ชลภูมิ จากปราจีนบุรีถูกยิงทิ้ง เมื่อคืนวันที่ 4 มีนาคม 2492 ที่ถนนพหลโยธิน บางเขน ใกล้แยกรัชโยธิน บนรถขนนักโทษของตำรวจ ทางตำรวจแถลงว่าเกิดจากการปะทะกับโจรมลายูที่จะมาชิงตัวนักโทษ ใครเชื่อ…
นักการเมืองอีสานเหล่านี้ล้วนถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏ เป็นคอมมิวนิสต์ ทั้ง ๆ ที่ต่อสู้เพื่อเอกราชของประเทศชาติ ของประชาชน ยืนอยู่เคียงข้างคนยากคนจน เป็นหัวขบวนการเสรีไทยอีสาน ประสานงานให้ฝ่ายพันธมิตรมาปักหลักเพื่อสู้กับญี่ปุ่นที่ตีนภูพาน ตั้ง 3 ฐานให้อเมริกา (A) อังกฤษ (B) และจีน (C) ที่โนนหอม เต่างอยและตาดภูวง ไม่กี่กิโลเมตรจากเมืองสกลนคร
ประวัติศาสตร์เหล่านี้มีให้เรียน มีให้รู้บ้างไหม ทำอย่างไรจึงจะฟื้นฟูให้ชุมชนได้เรียนรู้และสืบทอดวิญญาณนักสู้เพื่อประชาธิปไตยของผู้นำในอดีต ที่ได้สละชีพเพื่อบ้านเมืองและเพื่อคนอีสาน ตั้งอนุสาวรีย์อย่างเดียวไม่พอ ควรมีวิธีการอื่น ๆ ที่จะสืบทอดจิตวิญญาณและเจตนารมณ์ของท่านเหล่านั้น
ก่อนหน้านี้ก็มีกบฏผีบุญ กบฏผู้มีบุญ กบฏชาวนาที่อีสานหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งล้วนแต่เกิดขึ้นเพื่อปลดปล่อยราษฎรจากการกดขี่ของอำนาจรัฐ ถึงไม่สำเร็จ แต่ก็เป็นประวัติศาสตร์ที่ควรได้เรียนรู้ และให้ความหมายที่ถูกต้องและเป็นธรรม ไม่ใช่ใส่ข้อมูลเรื่องราวเหล่านี้และของนักการเมืองอีสานแบบมีอคติ ใส่ร้ายป้ายสี แทนที่จะเป็นวีรบุรุษ กลับกลายเป็นคนไม่ดี ผีคอมมิวนิสต์ คนขายชาติไป
การไม่มีบทเรียนทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประวัติศาสตร์ชุมชน หรือมีก็ใส่สีใส่ไข่เป็นผู้ร้าย เกิดขึ้นในนามของ “ความมั่นคง” ที่อ้าง “ของชาติ” แต่แท้ที่จริงแล้วของอำนาจรัฐที่ต้องการครอบงำประชาชนแบบไร้การต่อต้าน หรือเพื่อมิให้เป็นแบบอย่างสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นหลังมากกว่า
วันนี้มีขบวนการชาวไร่ชาวนา สมัชชาคนจนหลายลักษณะ แต่สถานการณ์บ้านเมืองดูเหมือนจะกดดันและปิดโอกาสให้แสดงออกได้อย่างอิสระ
ถึงกระนั้น ก็ยังมีขบวนการชาวบ้านที่เป็นอิสระ “ปลอดการเมือง” ไม่มีการนำของนักการเมือง ผู้นำที่มีผลประโยชน์แอบแฝง หรือนายทุน เป็นเรื่องของขบวนการภาคประชาชนที่แสดงพลังบริสุทธิ์ ที่ยังเป็นความหวังว่า จะไม่ถูกบอนไซด้วยการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ที่มาพร้อมกับการเลือกตั้งและผลประโยชน์ต่างตอบแทน จึงมีเรื่องการเมืองภาคประชาชนที่เป็นความหวังจริง ๆ มาเล่าให้ฟังบ้าง
คุณป้าทองคำ ชัยชาญ หรืออาจารย์ทองคำ อายุ 75 ปี อดีตอาจารย์สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน และเพิ่งเรียนจบปริญญาโทจากสถาบันนี้ ด้วยวิทยานิพนธ์ที่ดีมากเรื่องการจัดการน้ำของสหกรณ์ผู้ใช้น้ำที่บ้านเวาะ ตำบลคูซอด อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ
สามีของป้าทองคำชื่อสากล ชัยชาญ เป็นลูกของนายภู ชัยชาญ อดีตผู้นำขบวนการชาวนาที่ถูกจับ 2 ครั้ง ครั้งแรกด้วยข้อหากบฏสันติภาพ ครั้งที่สองด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์ เพียงคัดค้านการส่งทหารไปเกาหลี บางครั้งเรียกกันว่า กบฏคูซอด ครั้งที่สองนี้ถูกจับ 28 คน ติดคุก 7 ปีกว่า ได้รับอภัยโทษ คนที่รับราชการก็กลับไปรับราชการได้
แต่ครูภู ชัยชาญ ที่เคยเป็นครูใหญ่โรงเรียนที่บ้านคูซอดและหญ้าป้อง ไม่กลับเข้ารับราชการครูอีก ออกมาทำงานเป็นเกษตรกร ทำงานการเมืองภาคประชาชนต่อไป เป็นนายกสมาคมสมาพันธ์เกษตรกรเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ภาคอีสานใต้
ป้าทองคำ ลูกสะใภ้ครูภู ชัยชาญ สืบทอดวิญญาณของบิดาสามี ทำงานเพื่อชาวบ้านทั้งในพื้นที่และในภาคอีสาน แม้ว่าตนเองจะเจ็บป่วยเป็นมะเร็ง ก็ทำงานจนลืมความเจ็บป่วย
วันนี้เป็นแกนนำสำคัญในการต่อสู้เพื่อสิทธิของชาวบ้านในกรณีที่ดินกว่า 4,000 ไร่ ที่คน 8 หมู่บ้าน 2 ตำบลได้อยู่อาศัยทำมาหากิน คือ ตำบลหนองหญ้าป้องและตำบลหนองไผ่ ที่รัฐอ้างเป็นสิทธิของรัฐจะให้ชาวบ้านเช่า ขณะที่ชาวบ้านก็อยู่มาได้ 60-70 ปีแล้ว ต่อสู้กันมาตั้งแต่สมัยครูภู ชัยชาญ
ป้าทองคำในสายตาของรัฐกลายเป็นคุณป้ามหาภัย ที่จ่อ ๆ จะนำชาวบ้านที่ลงลายมือ 20,000 รายชื่อเดินขบวนเพื่อเรียกร้องให้เรื่องนี้จบ แม้แต่ในระหว่างที่มีรัฐบาลคสช. ผู้ว่าฯ และทหารต้องมาล็อบบี้ ขอร้องให้ระงับไว้ก่อน จะหาทางรังวัดและทำให้เรื่องจบด้วยดี
ป้าทองคำบอกว่า ไม่มีนักการเมืองคนไหนมาช่วย มีแต่มาหาเสียงและสัญญาว่าจะช่วย แต่ได้เป็นส.ส. แล้วก็หายเงียบไปทุกครั้ง หวังพึ่งอะไรไม่ได้ ชาวบ้านทำเองทุกอย่าง ไม่มีพ่อค้านายทุนหนุนหลังด้วย มีแต่ภาคประชาสังคม ผู้รู้ข้อกฎหมาย นักวิชาการบางคนมาช่วยกันศึกษาหาทางออก
คุณป้านักศึกษามหาวิทยาลัยชีวิตบอกว่า เราสู้เพื่อความถูกต้อง เพื่อศักดิ์ศรีของชาวบ้าน ถ้าหากว่ามีหลักฐานว่าเป็นของรัฐตั้งแต่ต้นจริง ชาวบ้านก็ยินดีเช่า แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่เห็น และไม่มีการสรุป
คุณป้าทองคำยังแข็งขันทำงานเพื่อชุมชน ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน ช่วยชาวบ้านรวมตัวกันเพื่อสร้างอาชีพ แก้ปัญหาหนี้สิน ปัญหาเศรษฐกิจ หลายเรื่องหลายอย่าง โดยอาศัยวิชาความรู้จากมหาวิทยาลัยชีวิตที่ได้เรียนและได้สอนมา ไม่ได้หวังแม้แต่กองทุนฟื้นฟูที่ดูเหมือนเป็นกลไกของใครไปแล้วก็ไม่รู้
ไม่ทราบจะหวังอะไรจากนักการเมืองรุ่นใหม่ที่อีสานได้หรือไม่ ถึง พ.ศ.นี้แล้วยังจะมี “ผู้แทนหมาหลง” อีกหรือเปล่าก็ไม่รู้ ผู้ที่เพียงถือกระเป๋าเจมส์บอนด์เต็มไปด้วยเงินสด ไปลงที่ไหนก็ได้ทั้งนั้น หรือวันนี้วิญญาณการเมืองอีสานได้เปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่กำลังมา ชุมชนกำลังเติบโต เข้มแข็ง หรือเป็นเพียงความฝัน ยอมอ่อนข้อต่อไป ให้เขาแบ่งแยกและปกครอง ครอบงำด้วยอำนาจและค่านิยม ติดสินบน แลกผลประโยชน์อันน้อยนิด เพราะชาวบ้านถึงทางตัน ไม่รู้จะไปทางไหน เหมือนคนกำลังจะจมน้ำตาย มือไม้สกปรกแค่ไหนยื่นมาก็จับ หรือเหมือนหมาขึ้นทางด่วนอย่างที่ชาวบ้านที่น่านว่า
ทำงานกับชุมชนมา 40 กว่าปี ยังเชื่อว่า ถ้าชุมชนไม่เข้มแข็ง การพัฒนาบ้านเมืองก็ไม่ไปไหน อาจต้องใช้คำคมอมาตยา เซน เสริมจากที่ว่า “เพื่อก้าวพ้นนิยายของการพัฒนา เราจะต้องมีระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นที่พึ่งตนเอง”
ด้วยความว่า “เพื่อก้าวพ้นนิยายของการเมืองไทย เราจะต้องมีการเมืองภาคประชาชนที่เข้มแข็ง การเมืองท้องถิ่นที่พึ่งตนเอง”