สถานการณ์แม่น้ำโขงแล้งในเวลานี้
สถานการณ์แม่น้ำโขงแล้งในเวลานี้ เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าเกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ
1 ปริมาณน้ำฝนที่น้อยทั้งภูมิภาค ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงน้อยลง ทั้งที่เป็นช่วงฤดูมรสุม
2 เขื่อนจิงหง ที่กั้นแม่น้ำโขงตอนบน ในยูนนาน ลดการระบายน้ำเหลือเพียง 500 ลบ.ม./วินาที โดยอ้างว่าเพื่อซ่อมแซมระบบสายส่งไฟฟ้า
3 เขื่อนไซยะบุรี เขื่อนสัญชาติไทยในดินแดนลาว ของบริษัทซีเคพาวเวอร์ (เครือ ช.การช่าง) ซึ่งมีความคืบหน้า 99.3 % อยู่ในขั้นตอนทดสอบระบบผลิตกระแสไฟฟ้าจากเครื่องกำเนิดทั้งหมด 7 เครื่อง ไปจนถึงระบบสายส่งไปยันถึงศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
ภาพที่เห็นจึงเป็นแม่น้ำโขง ที่ลดระดับอย่างรวดเร็ว กุ้งหอยปูปลา หนีน้ำลงไม่ทัน ติดค้างตายตามหาด/แก่ง
ภาพที่เห็นจึงเป็น สถานีสูบน้ำของการประปาต่างๆ ติดค้างตามหาดและตลิ่ง ไม่สามารถสูบน้ำโขงมาผลิตน้ำประปาได้ หรือ เป็นไปอย่างยากเย็น
นี่แค่ปฐมบท เพราะวันนี้ยังอีกหลายเดือน กว่าที่จะถึงวันผลิตไฟ้าเชิงพาณิชย์ ของเขื่อนไซยะบุรี ในเดือนตุลาคม 2562
และจะเป็นไปอย่างนั้นอีก 29 ปี ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า PPA
ถึงวันนั้นที่เริ่มผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ เขื่อนไซยะบุรี จะต้องกักเก็บ/ยกระดับน้ำ-ระบายน้ำ รายวัน แล้วผลกระทบจะรุนแรงกว่านี้อีกแค่ไหน?
เช้านี้คุยกับพี่หาญณรงค์ เยาวเลิศ Hannarong Yaowalers ที่ปรึกษาเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง
พี่หาญบอกว่า กรณีเขื่อนจีน เจ้าของเขื่อนจำเป็นต้องมีการต้องวิเคราะห์ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขง และลำน้ำสาขา ก่อนที่จะลดการระบายน้ำ แม้จะเป็นการซ่อมแซมบำรุงระบบสายส่งของเขื่อนที่ทำประจำปี แต่ต้องพิจารณาวิเคราะหเคราะห์ ว่าหากปริมาณน้ำอยู่ในระดับต่ำมาก หากจำเป็นจริงๆ ก็ควรปิดซ่อมเพียงแค่ระยะสั้นที่สุด และรีบระบายน้ำจากเขื่อนลงสู่แม่น้ำโขงตอนล่างอย่างเร่งด่วน เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประเทศท้ายน้ำ
เนื่องจากเขื่อนจิงหง ห่างจากพรมแดนไทยลาวพม่า ที่แม่น้ำโขง ณ สามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เพียงราว 340 กิโลมเตรเท่านั้น
พี่หาญบอกอีกว่า อย่างน้อยที่สุด เขื่อนไซยะบุรี ควรดำเนินการทดลองเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ในช่วงที่แม่น้ำโขงมีปริมาณน้ำมากเพียงพอ เพราะระยะเวลากำหนดเริ่มต้นผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ยังมีเวลาอยู่อีกหลายเดือน การทดลองเดินเครื่อง ควรรอให้แม่น้ำโขงมีน้ำเพียงพอ ให้ไม่เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่อาศัยแม่น้ำโขง
ดังที่มีในจดหมายที่ สทนช. ขอไปทางลาว ให้ชะลอการทดลองเดือนเครื่องของเขื่อนไซยะบุรี ออกไปก่อน
กฟผ.ในฐานะผู้รับซื้อไฟฟ้า ต้องรู้ว่า เววลานี้ปริมาณน้ำโขง มีน้อย ถึงขั้นที่ปลาในแม่น้ำโขงจะตายมากมาย
นี่คือวิกฤติที่ต้องดำเนินการแก้ไขทันที และไม่ควรเกิดซ้ำอีก
วันนี้คือ ทุกข์ยากเพราะสถานการณ์ภัยแล้งในภูมิภาค ประชาชนยังอาจจะพอรับได้ สามารถทนได้
แต่ความทุกข์ยาก ถูกซ้ำ จากเขื่อน ทั้งเขื่อนจีนเขื่อนไทย/ลาว
ถึงเวลาที่ต้องหันมาควรจะดูแลระบบนิเวศกันก่อน แต่ไฟฟ้า และกำไร ควรเอาไว้ทีหลัง
ที่สำคัญ วันนี้ไฟฟ้าในระบบของไทย ยังมีปริมาณเหลือใช้ สามารถวางแผน หาทางเลือก และแก้ไข เรื่องไฟฟ้าได้
จากข่าว ที่น้ำประปาจากแม่น้ำโขง เกิดขาดแคลน โดยเฉพาะในเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นเมืองหลวง เรื่องแบบนี้ไม่ควรเกิด
รัฐบาลต้องยอมรับวิกฤติแม่น้ำโขงเกิดแล้ว บริษัทต่างๆ ก็ควรยอมรับ ว่าการลงทุนในเขื่อนแม่น้ำโขง เพื่อแสวงหากำไร ในระยะยาวหากเหตุการณ์แบบนี้เกิดอีกทุกๆ ปี จะไม่เป็นผลดีต่อธุรกิจใดๆ เลย
ท้ายสุด พี่หาญณรรงค์บอกว่า นี่คือภาพสะท้อนที่สำคัญที่สุด เรื่องผลกระทบข้ามพรมแดน
ว่าวันนี้ เพียงแค่ 2 เขื่อนก็ เดือดร้อนกันอย่างสาหัสแล้ว
นี่มีการวางแผน สร้างเขื่อนในจีน ถึง 28 เขื่อน และในลาว/ตอนล่าง อีกเป็น 11 เขื่อน
จะยังปฏิเสธว่าไม่มีและไม่ทำรายการผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน
ไม่ได้แล้ว
ขอบคุณข้อมูลจากเฟซบุ๊ก Pai Deetes