๐๐ สนั่น ชูสกุล
นักรบวัฒนธรรมผู้พลีชีพกลางสนามรบ
๒.
วัฒนธรรม คือ อาวุธ, สมอง, อำนาจ
~~~~~~~~~~~~~~~
ดร.เสรี พงศ์พิศ ได้แสดงตัวอย่างรากลึกทางวัฒนธรรมที่บรรพชนสร้างไว้
“การรุกเข้าไปในชุมชนเป็นไปในหลายรูปแบบ ถ้าเปรียบกับธุรกิจ นายทุนใช้ทั้งไม้แข็งไม้นวม ใช้การครอบงําแบบซื้อตัว ซื้อที่ ซื้อความรู้ความสามารถของชาวบ้าน ผู้นำชุมชน ที่เป็นอุปสรรคต่อการ ‘ฮุบ’ ที่ดิน การผูกขาดพันธุกรรม ทำลายความหลากหลาย ทําลายพันธุ์พืชพื้นบ้าน โดยการซื้อที่ดินที่ปลูกพืชเหล่านี้ก็มี แล้วให้เจ้าของที่ดินมาทํางานด้วยค่าแรงที่ไม่อาจปฏิเสธได้
“นายทุนเหล่านี้รู้ดีว่า อาวุธอย่างเดียวที่เหลืออยู่ของชุมชนคือ ‘วัฒนธรรม’ เป้าหมายการทำลายอาวุธนี้จึงเกิดขึ้นหลายลักษณะ ซึ่งอาจจะไม่ใช่เรื่องประเพณีวัฒนธรรมภายนอก แต่หมายถึงความหลากหลายทางพันธุกรรม อันเป็นมรดกของบรรพบุรุษของแต่ละท้องถิ่น”
ทองแถม นาถจำนง เสนอไว้ ‘วัฒนธรรม’ เปรียบดั่ง ‘สมอง’ ที่ต้องนำทุกอย่าง ทั้งระบบเศรษฐกิจ ระบบการปกครอง วัฒนธรรมเกี่ยวโยงไปถึงทุกสาขาวิชาแม้แต่วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ และเขาได้เสนอประเด็นนี้อย่างต่อเนื่องว่า
“คําว่า ‘วัฒนธรรม’ เป็นศัพท์บัญญัติจากศัพท์ภาษาอังกฤษว่า Culture อันที่จริงมีการเสนอคําว่า ‘พฤติธรรม’ เป็นตัวเลือกอีกคําหนึ่ง แต่กรรมการบัญญัติศัพท์ส่วนใหญ่เลือกใช้คําว่า วัฒนธรรม ผู้เขียนเองมีความเห็นต่อการใช้คํา วัฒนธรรม ว่า ในปัจจุบันนี้ผู้คนมักเข้าใจเอาว่าวัฒนธรรมคือเรื่องที่ดีงาม (จึงงอกงาม) เท่านั้น เรื่องที่ไม่ดีงามไม่ใช่วัฒนธรรม แต่ในความเป็นจริงวัฒนธรรมคือสิ่งที่มนุษย์ประพฤติปฏิบัติกัน มันจึงมีทั้งดีและไม่ดี ซึ่งก็เปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อย ๆ ด้วย
“วัฒนธรรมสะสมมาจากทั้ง บารมี (กรรมดี) และอาสวะ (กรรมชั่ว) ทั้งกรรมดีและกรรมชั่วของมนุษย์สะสมกันเป็นวัฒนธรรม มนุษย์สร้างวัฒนธรรมขึ้น แล้ววัฒนธรรมก็สร้าง และ/หรือกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์รุ่นต่อไปด้วย มนุษย์สร้างวัฒนธรรมขึ้นมา แล้ววัฒนธรรมที่มนุษย์สร้างก็ได้สร้างมนุษย์รุ่นต่อ ๆ มาด้วย
“ความหมายของคําว่า วัฒนธรรม อย่างเป็นวิชาการนั้นน่าจะเริ่มจาก ‘บิดาแห่งมนุษยศาสตร์’ – E.B. Tylor ท่านให้คําอธิบายไว้ดังนี้ ‘วัฒนธรรมเป็นองค์รวมที่สลับซับซ้อน รวมไปถึงวิทยาการ ความเชื่อ ศิลปะ คุณธรรม กฎหมาย ขนบประเพณี ความสามารถ และความเคยชินทั้งปวงที่มนุษย์ได้รับจากสังคม’
“ต่อจาก ‘ไทเลอร์’ แล้ว ก็ยังมีปราชญ์คนอื่น ๆ ให้คําอธิบายคําว่า วัฒนธรรม ไว้อีกนับพันแบบ สรุปแล้วคําว่า วัฒนธรรม เป็นคําที่มีความหมายคําจํากัดความที่ไม่ชัดเจนเป็นที่สุดเลย กระทรวงวัฒนธรรมตั้งขึ้นมาแล้วจะมีบทบาทหน้าที่อย่างไรดี ? นักวิชาการไทยคงคุ้นเคยกับคำจำกัดความที่ฝรั่งอธิบายคำว่า วัฒนธรรม กันดีอยู่แล้ว จึงขอเสนอมุมมองของนักวิชาการจีนกันบ้าง
“นักวิชาการของสาธารณรัฐประชาชนจีนเห็นว่า ความหมายของคำว่า วัฒนธรรม มันครอบคลุมกว้างขวางมาก จะกําหนดคําจํากัดความให้ชัดคงไม่ได้ แต่เนื้อหาของวัฒนธรรมนั้นพอสรุปรวมได้ ๓ ด้าน ได้แก่
“๑. ‘รูปการณ์จิตสํานึก’ (คํานี้ภาษาจีนว่า ‘อี้สื้อสิงไท่ 意识形态’) อันรวมถึงโลกทัศน์ของมนุษย์ (โลกทัศน์ คือ การมองโลก มองสังคม ด้วยความเข้าใจหรือทัศนะอย่างไร) รูปแบบวิธีคิด ความเชื่อทางศาสนา ลักษณะพิเศษทางจิตวิทยา ค่านิยม มาตรฐานทางคุณธรรม ความรู้ความสามารถในการทําความเข้าใจโลก (ความรู้ทางวิทยาการทั้งหลายแหล่นั่นเอง)
“๒. รูปแบบการดำรงชีวิต รวมถึงรูปแบบและท่าทีต่อเรื่องที่อยู่อาศัย อาหารการกิน เครื่องนุ่งห่ม พิธีกรรมเนื่องในการเกิด การแต่งงาน การบวช การป่วย การตาย วิถีชีวิตในครอบครัว วิถีชีวิตในสังคม เป็นต้น
“๓. ผลิตผลด้านวัตถุของจิตใจ ด้านนี้ก็อธิบายยากอีก เพราะสิ่งที่เป็นวัตถุนั้นคนส่วนใหญ่มักมองว่ามันไม่ใช่เรื่องวัฒนธรรม แต่เมื่อมองให้ทะลุวัตถุนั้น ๆ เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลง เห็นความแตกต่างทางทัศนะของมนุษย์ ตัวอย่างที่จะเข้าใจง่ายหน่อยก็เช่นหนังสือ หนังสือเป็นวัตถุ แต่เรื่องหนังสือเป็นเรื่องของวัฒนธรรม มิใช่เพราะความเป็นวัตถุของมัน หากแต่เพราะเนื้อหาในหนังสือ เครื่องจักรกลโดยตัวของมันเองยากที่จะบอกว่าเป็นเรื่องวัฒนธรรม แต่การทํางานของเครื่องจักรกลและรูปแบบรูปทรงของมัน สะท้อนระดับความรู้ทางวิทยาการของมนุษย์ ตัวเครื่องจักรกลกับกระบวนการผลิตเครื่องจักรกลจํานวนมาก ๆ จึงจะมีความแตกต่างกัน เครื่องจักรกลมีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม ส่วนการผลิตเครื่องจักรไม่จัดอยู่ในเนื้อหาทางวัฒนธรรม
“ขอบเขต ๓ ด้านนี้พอจะครอบคลุมเรื่องวัฒนธรรมได้มากพอ แต่วัฒนธรรมก็มิใช่การประกอบส่วน ๓ ด้านนี้เข้าด้วยกันอย่างกลไกเท่านั้น ทั้งสามด้านนี้ส่งผลสะเทือนถึงกันและกัน เป็นปัจจัยให้กันและกันอย่างซับซ้อน”
ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ กล่าวถึง ‘การครอบงำทางการเมือง’ (Political Domination) ว่า
“มาร์กซ์เจาะจงที่จะอธิบายปรากฏการณ์ของสังคม ‘ศักดินาฝรั่ง’ (Feudalism) ในยุโรปโดยเฉพาะ เขาอธิบายว่าผู้ปกครองมิได้ใช้แต่กลไกความรุนแรงของรัฐ (Coercive State Apparatus) คือกำลังทหารและตำรวจเท่านั้นในการปกครองและควบคุมความ (ไม่) สงบในหมู่ประชาชน แต่ที่สำคัญก็คือผู้ปกครองยังใช้กลไกด้านอุดมการณ์ (Ideological State Apparatuses) ในการทำให้ประชาชนอยู่ในความสงบด้วย มุมมองของมาร์กซ์ช่วยเปิดเผยความเป็นจริงของทุกระบบการปกครอง ว่าการใช้แต่กลไกความรุนแรงของรัฐนั้นไม่สามารถควบคุมประชาชนให้อยู่ในความสงบได้ตลอดไป สิ่งที่จะช่วยทำให้ประชาชนส่วนใหญ่อยู่ในความสงบได้ยาวนานมากกว่าคือ การควบคุมประชาชนด้วยการใช้อุดมการณ์แห่งรัฐ
“อันโตนิโอ กรัมชี่ (Antonio Gramsci) นักทฤษฎีคนสำคัญชาวอิตาเลียน อธิบายเรื่องการครอบงำทางด้านอุดมการณ์ทางการเมือง จากสิ่งที่เขาเรียกว่า ความเป็นเจ้าโลก (Hegemony) เขาอธิบายว่าการครอบงำทางการเมืองของชนชั้นปกครองที่มีต่อประชาชนทั่วไปนั้น ลงลึกไปถึงการครอบงำทางด้านวัฒนธรรม ความเชื่อ ประเพณี จิตใจและรายละเอียดต่าง ๆ ในส่วนลึกของชีวิตประจำวันของประชาชนด้วย อาทิเช่น บทเพลง ดนตรี และบทละคร เป็นต้น มุมมองของกรัมชี่ช่วยให้เราเข้าใจได้ว่า ทำไมประชาชนที่ถูกกดขี่และถูกครอบงำจากอุดมการณ์ของผู้ปกครอง จึงไม่รู้สึกว่าตัวเองกำลังถูกกดขี่และถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่
“มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) นักทฤษฎีคนสำคัญชาวฝรั่งเศส แห่งสำนักหลังสมัยใหม่นิยม (Post-Modernism) มองเรื่องการควบคุมทางด้านอุดมการณ์ของชนชั้นปกครองต่อปัจเจกบุคคลทั่วไป จากทฤษฎีอำนาจ (Power) ของเขา เขาอธิบายว่า อำนาจของชนชั้นปกครองที่มีต่อผู้ใต้ปกครองแต่ละคนนั้น เป็นการควบคุมแบบเบ็ดเสร็จทั้งทางร่างกาย การควบคุมทางความคิด การควบคุมการเคลื่อนไหว และการควบคุมทางด้านกายภาพ (ซึ่งเขาหมายถึงการจับกุมและคุมขังผู้ที่เห็นต่างจากรัฐบาล) ฟูโกต์มองว่า ในรัฐสมัยใหม่ ปัจเจกบุคคลล้วนแล้วตกอยู่ภายใต้การควบคุมของอำนาจรัฐบาลในทุก ๆ ด้าน ประชาชนแต่ละคนเปรียบเสมือนนักโทษที่อยู่ในเรือนจำ ที่จะถูกสอดส่องจากผู้คุมอยู่ตลอดเวลา นับตั้งแต่เวลาตื่นนอนจนกระทั่งถึงเวลาเข้านอน และครอบคลุมไปถึงในเวลานอนหลับด้วย
“สำหรับผมแล้ว อำนาจในสังคมไทยมีความแตกต่างจากอำนาจในสังคมตะวันตกที่มีแต่อำนาจที่เป็นทางการ (Authority) แต่สำหรับสังคมไทยแล้วอำนาจมีทั้งที่เป็น ‘อำนาจที่เป็นทางการ’ หรืออำนาจที่ถูกต้องตามกฎหมายที่รองรับการกระทำหนึ่ง ๆ อำนาจนี้อยู่ในมือของเจ้าหน้าที่ภาครัฐเท่านั้น อำนาจชนิดนี้มีความชอบธรรมตามกฎหมาย อำนาจอีกชนิดหนึ่งที่ใช้กันอย่างแพร่หลายคือ ‘อำนาจที่ไม่เป็นทางการ’ หรือ ‘อำนาจนอกระบบ’ หรือการใช้ ‘อิทธิพล’ หรือ ‘อำนาจป่าเถื่อน’ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจโดยไม่มีตัวบทกฎหมายรองรับแต่อย่างใด”