สภาพเศรษฐกิจและการเมืองอีสานในห้วง ๒๔๗๕

สภาพเศรษฐกิจและการเมืองอีสานในห้วง ๒๔๗๕

ภาพโดย : ไพบูลย์ ธรรมเรืองฤทธิ์

ในอดีต ชาวอีสานส่วนใหญ่มีอาชีพทําเกษตรกรรม และมีหน้าที่ตามพันธะของการควบคุมคนในระบบไพร่ ทําให้ต้องทํางานรับใช้มูลนายหรือส่งสิ่งของในท้องถิ่นเป็นส่วยเพื่อทดแทนการทํางาน   จึงอาจกล่าวได้ว่า สภาพเศรษฐกิจอีสานก่อนมีทางรถไฟเป็นเศรษฐกิจแบบยังชีพหรือพึ่งตนเอง คือคนในชุมชนเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคสินคำหลัก ๆ ที่จําเป็นทุกอย่างโดยไม่ต้องพึ่งสินค้านอกภาค จะมีการแลกเปลี่ยนค้าขายบ้างระหว่างชุมชนใกล้เคียง เพราะทรัพยากรบางอย่าง และสินค้าบางอย่างมิได้มีทุกชุมชน เช่น เกลือ เครื่องมือเหล็ก เครื่องปั้นดินเผา ของป่า ผลเร่ว หนังสัตว์ เขากวาง ยางกะตังกะติ้ว เป็นต้น หรือเกิดภาวะไม่ปกติในบางปีหรือบางชุมชนที่เกิดภัยแล้งหรือนํ้าท่วม ทําให้ต้องไปขุดเผือกมัน หาของป่า หรือเอาของที่มีอยู่ไปแลกกับชุมชนอื่น การเก็บภาษีรายหัวจากชายฉกรรจ์ที่เรียกว่าเงินรายหัว (เดิมเก็บเป็นสิ่งของเรียกว่าส่วย) ทําให้ชาวชนบทอีสานต้องนําของป่าบ้าง กระบือบ้าง ข้าวบ้าง ออกขาย ทําให้เกิดการค้าขึ้น แม้จะมีปริมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับกระบือ ข้าว หรือของป่าที่มีอยู่ หรือเมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณการค้าหลังมีทางรถไฟ

ในสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นระยะเวลาที่รัฐบาลสยามต้องเผชิญกับการขยายอิทธิพลของตะวันตกมีการทําสนธิสัญญาเบาว์ริง (ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ (พ.ศ.๒๓๙๔ – ๒๔๑๑) สยามได้ทําสนธิสัญญาเบาว์ริงกับอังกฤษใน พ.ศ.๒๓๙๘ และยังทําสนธิสัญญาแบบเดียวกันกับประเทศในยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น) ทําให้เศรษฐกิจสยามเข้าไปเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโลกมากขึ้น แต่ภายหลังการทําสนธิสัญญาเบาว์ริงใหม่ ๆ สภาพเศรษฐกิจในอีสานยังเป็นแบบเดิม เพราะการคมนาคมระหว่างภาคอีสานกับภาคกลางไม่สะดวกอย่างยิ่ง

จุดเปลี่ยนสําคัญคือการปฏิรูปการปกครองหัวเมืองอีสานที่เริ่มในสมัยรัชกาลที่ ๕ และรัฐบาลสมัยรัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗ ได้ดําเนินการสานต่อนั้น ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในอีสาน โดยเฉพาะตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๔๓ ภายหลังการสร้างทางรถไฟเข้ามาถึงเมืองนครราชสีมาเป็นแห่งแรกในอีสาน

การมีทางรถไฟส่งผลให้เมืองต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ในบริเวณลุ่มแม่นํ้ามูลทั้งหมด และหัวเมืองอื่น ๆ ที่อยู่ในภาคอีสานเริ่มผลิตเพื่อการค้า ขณะเดียวกัน ปัจจัยดังกล่าวส่วนหนึ่งยังผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมในอีสานอย่างขนานใหญ่อีกด้วย

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดําเนินไปประกอบพระราชพิธีปฐมฤกษ์รถไฟหลวง เปิดการเดินรถไฟครั้งแรกสายกรุงเทพฯ – อยุธยา ในวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ.๒๔๓๙ ทรงตรึงหมุดที่รางทองรางเงินให้ติดกับหมอนไม้มะริดคาดเงิน มีอักษรจารึกนับเป็นปฐมฤกษ์ นับเป็นต้นทางแห่งการเปิดเส้นทางรถไฟสู่พื้นที่ลุ่มแม่นํ้ามูลตอนบนในอีก ๔ ต่อมา (ภาพจากสํานักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร)

สภาพเศรษฐกิจและการเมืองอีสานก่อนการปฏิรูปการปกครอง พ.ศ.๒๔๓๕

รัฐสยามเริ่มมีอํานาจปกครองภาคอีสานทั้งหมดในสมัยกรุงธนบุรี โดยก่อนหน้านั้นรัฐบาลสยามมีอํานาจในบริเวณเมืองนครราชสีมา เมืองทุ่ง (อยู่ในเขตจังหวัดร้อยเอ็ด) และบ้านเมืองบริเวณเขตเขมรป่าดง (สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ) ขณะที่พื้นที่ส่วนอื่น ๆ อยู่ภายใต้อํานาจของอาณาจักรล้านช้าง จนกระทั่งในสมัยกรุงธนบุรี กองทัพสยามรบชนะอาณาจักรล้านช้างแตกและได้อาณาจักรล้านช้างรวมทั้งดินแดนในอํานาจของล้านช้างเป็นประเทศราช

ซึ่งนโยบายการปกครองบ้านเมืองในภาคอีสานของรัฐบาลสยามขณะนั้น ดําเนินไปในลักษณะที่ให้บ้านเมืองในอีสานยึดจารีตการปกครองและกฎหมายของล้านช้างดังที่เคยใช้กันมา เพียงแต่ต้องส่งส่วยและเกณฑ์แรงงานคนให้รัฐบาลสยาม โดยเจ้าเมืองและกรมการเมืองของเมืองเหล่านั้นต้องได้รับการแต่งตั้งตามพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์สยาม

สําหรับบ้านเมืองในอีสานบางเมือง พระมหากษัตริย์สมัยรัตนโกสินทร์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มาขึ้นกับกรุงเทพฯ โดยตรง เช่น เมืองนครราชสีมา เมืองขุขันธ์ (เดิมชื่อเมืองคูขันธ์) เมืองสุรินทร์ เมืองสังขะ

ภายหลังเหตุการณ์กบฏเจ้าอนุวงศ์ พ.ศ.๒๓๖๙ นโยบายการปกครองภาคอีสานจึงเริ่มเปลี่ยนแปลงไป โดยรัชกาลที่ ๓ โปรดให้หัวเมืองฝั่งขวาแม่นํ้าโขงขึ้นต่อกรุงเทพฯโดยตรง (แทนที่จะขึ้นกับเวียงจันทนแบบเดิม) และมีการส่งขุนนางผู้ใหญ่จากกรุงเทพฯเข้ามาจัดการดูแลพื้นที่ภาคอีสานมากขึ้น และใหขุนนางในท้องถิ่นทํารายงานเรื่องกําลังคน เรื่องส่วยเรื่องข้อพิพาทของคนในพื้นที่ส่งให้กรุงเทพฯ เพื่อใหรัฐบาลรับรู้สถานการณ์ในภาคอีสาน อย่างไรก็ตามการขยายอํานาจของกรุงเทพฯ หลังเหตุการณ์กบฏเจ้าอนุวงศ์จนถึงช่วงต้นของการปฏิรูปการปกครองในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นเพียงการรวบรวมบัญชีเพื่อให้รู้ว่าภาคอีสานมีอะไร จํานวนเท่าไหร่ เพื่อประโยชน์ด้านกําลังคนและเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ โดยที่รัฐบาลยังไม่มีอํานาจควบคุมหัวเมืองในภาคอีสานได้อย่างเบ็ดเสร็จ

ด้านนโยบายทางเศรษฐกิจนั้นกล่าวได้ว่า รัฐบาลสยามสมัยธนบุรีและสมัยต้นรัตนโกสินทร์มีนโยบายเรียกเก็บผลประโยชน์จากเจ้าเมืองในภาคอีสานในลักษณะของ “ส่วย” ที่เป็นสิ่งของได้แก่ของป่า เช่น เร่ว แร่ทองคํา แร่เหล็ก ผ้าขาว ฯลฯ

ต้นเร่วและผลเร่ว พืชเศรษฐกิจการเมืองของอีสานในอดีต

อย่างไรก็ดี ปัญหาสําคัญของราชสํานักกรุงเทพฯ ในการเรียกเก็บส่วยจากภาคอีสานช่วงก่อนการปฏิรูปการปกครอง พ.ศ.๒๔๓๕ มีอยู่หลายประการได้แก่ ๑. ไพร่หนีการเก็บส่วย ๒. ไพร่ไม่สามารถส่งส่วยได้ เนื่องจากมีปัญหาจากภาวะธรรมชาติที่ผิดปกติ ทําให้ไพร่หาสิ่งของตามที่รัฐกําหนดไม่ได้ ๓. เจ้าเมืองเบียดบังส่วยเป็นของตนเองไม่ยอมส่งให้กรุงเทพฯ ๔. การแก่งแย่งไพร่ส่วยในเมืองเดียวกันระหว่างเจ้าเมือง ทําให้เกี่ยงกันเก็บส่วยจากหมู่บ้านที่ห่างไกล

จากการที่นโยบายการปกครองและนโยบายทางเศรษฐกิจในภาคอีสานของราชสํานักกรุงเทพฯ ในช่วงที่ผ่านมาอยู่ในสภาวะไร้ประสิทธิภาพ ประกอบกับสถานการณ์ที่จักรวรรดินิยมฝรั่งเศสกําลังขยายอํานาจในอินโดจีน ทําให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงริเริ่มปฏิรูปการปกครองใน พ.ศ.๒๔๓๓ โดยแบ่งอีสานและลาวออกเป็น ๔ ฝ่าย คือ ๑. หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออก ซึ่งมีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เมืองจําปาศักดิ์ ๒. หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ มีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เมืองอุบลราชธานี ๓. หัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ มีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เมืองหนองคาย ๔. หัวเมืองลาวฝ่ายกลาง มีเมืองนคราชสีมาเป็นศูนย์กลางการปกครอง พร้อมทั้งส่งข้าหลวงใหญ่ ๔ คนจากส่วนกลางมาเป็นข้าหลวงกำกับหัวเมือง ต่อมาได้มีการยุบรวมหัวเมืองฝ่ายตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือเข้าด้วยกัน เรียกว่าหัวเมืองลาวกาวก่อนที่จะยกฐานะจากหัวเมืองลาวกาวมาเป็นมณฑลลาวกาวใน พ.ศ.๒๔๓๕ และได้มีการยกเลิกระบบอาญาสี่และระบบการปกครองแบบลาวล้านช้างแล้วแต่งตั้งผู้ว่าราชการเมือง ปลัดเมือง ยกกระบัตรเมืองและผู้ช่วยราชการเมือง จากส่วนกลางมาปกครองหัวเมืองในภาคอีสาน เพื่อรวมศูนย์อำนาจไว้ที่กรุงเทพฯ ตลอดจนมีการปฏิรูปการคลังในภาคอีสานโดยส่งข้าราชการจากส่วนกลางเข้ามาจัดเก็บภาษีอากรต่าง ๆ และเปลี่ยนระบบการเรียกเก็บส่วยจากที่เก็บทั้งเป็นตัวเงินและสิ่งของ มาเป็นการเก็บเงินรัชชูปการ รวมถึงความพยายามที่จะทำความเข้าใจในพื้นที่โดยการเดินทางมาตรวจราชการของกลุ่มผู้ปกครองจากกรุงเทพฯ

ด้านการปฏิรูปทางเศรษฐกิจนั้นโดยภาพรวมแล้วเศรษฐกิจของสยามนับตั้งแต่ทำสนธิสัญญา   เบาว์ริงกับอังกฤษใน พ.ศ.๒๓๙๘ จนถึง พ.ศ.๒๔๗๕ ได้เปลี่ยนจากระบบเศรษฐกิจแบบพอยังชีพมาเป็นหน่ออ่อนของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ผลิตสินค้าการเกษตรและทรัพยากรธรรมชาติบางชนิด ได้แก่ ข้าว ไม้สัก ดีบุก ในปริมาณมากเพื่อขายในตลาดโลก ซึ่งหน่ออ่อนของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ผลิตเพื่อขายได้ขยายตัวมากในพื้นที่ภาคกลาง และมุ่งขยายมายังพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคอีสาน แต่ในระยะแรกเศรษฐกิจชุมชนหมู่บ้านในภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคอีสาน ยังคงเป็นแบบพอยังชีพไม่ได้เปลี่ยนเป็นระบบทุนนิยม เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้สร้างสาธารณูปโภคที่จําเป็นเพื่อรองรับการผลิตและขนส่งสินค้าตามที่ตลาดต้องการ

สําหรับพื้นที่ภาคอีสานพบว่า รัฐบาลสยามพยายามเปลี่ยนวิถีการผลิตทางเศรษฐกิจของชาวบ้านจากแบบพอยังชีพมาเป็นแบบทุนนิยมที่ผลิตสินค้าเพื่อขาย ดังเห็นได้จากการที่รัฐบาลสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีนโยบาย ส่งเสริมให้ราษฎรในภาคอีสานเลี้ยงไหมและทอผ้าไหมแบบใหม่เพื่อใช้เป็นสินค้า โดยมีการจ้างผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นมาถ่ายทอดความรู้เรื่องการเลี้ยงไหมให้แก่ราษฎร

นอกจากนี้ภายหลังจากที่รัฐบาลสยามทำสนธิสัญญาเบาว์ริงกับอังกฤษใน พ.ศ.๒๓๙๘ อันส่งผลให้การปลูกข้าวในบริเวณภาคกลางขยายตัว ผลที่ต่อเนื่องมาคือ การที่ภาคกลางต้องการกระบือสําหรับใช้ในการทำนาเพิ่มขึ้น ทำให้มีการหาซื้อกระบือจากภาคอีสาน ดังนั้นในบริเวณอีสานใต้ตั้งแต่เมืองนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ จึงมีนายฮ้อยต้อนโคมายังพื้นที่ภาคกลาง

* นายฮ้อย คือ ชาวบ้านที่เดินทางค้าขายสินค้าในระยะทางไกล ส่วนมากจะเดินทางไปค้าขายกันเป็นกลุ่ม เพื่อให้เกิดความปลอดภัยจากโจรผู้ร้ายที่อาจดักปล้นทรัพย์ในระหว่างเดินทาง

นายฮ้อยกับกระบือต่างบรรทุกสินค้า การค้าที่สูญหายไปด้วยการมีรถไฟบรรทุกสินค้าเข้ามาแทนที่
(สําเนาภาพจากห้อง ศ.ขจร สุขพานิช สํานักหอสมุดกลาง
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ)
การคมนาคมระหว่างภาคกลางกับภาคอีสาน ก่อนมีการสร้างทางรถไฟนั้นมีลักษณะทุรกันดาร การเสด็จตรวจราชการของเจ้านายจึงต้องเดินทางด้วยกองคาราวานเกวียน (ภาพจากสํานักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร)
แผนที่แสดงเส้นทางรถไฟภาคอีสาน
(สําเนาภาพจากห้อง ศ.ขจร สุขพานิช สํานักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ)

สภาพเศรษฐกิจและการเมืองอีสาน ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๓๕ – ๒๔๗๕

การปฏิรูปการปกครองหัวเมืองอีสานนั้น สิ่งหนึ่งที่ผู้ปกครองส่วนกลางตระหนักถึงความสำคัญเป็นอย่างมากคือ ความสำคัญของพื้นที่บริเวณอีสานทางภูมิศาสตร์ ที่มีความสัมพันธ์กับเส้นทางการเดินทางระหว่างส่วนกลางและบริเวณอีสาน และเส้นทางระหว่างเมืองต่อเมืองในพื้นที่ ทั้งนี้เพราะการรู้และเข้าใจเพื่อวางแผนในการพัฒนาเส้นทางคมนาคมในพื้นที่บริเวณอีสานจะทำให้ส่วนกลางเข้าถึงและครอบครองบริเวณอีสาน ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจได้ง่ายมากขึ้น สิ่งหนึ่งที่กรุงเทพฯ ใช้เป็นตัวช่วยสําคัญ คือ รถไฟ

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีการสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพฯ – นครราชสีมา เพื่อใช้เป็นเส้นทางขนส่งผู้คนและสินค้าจากภาคอีสานลงมายังกรุงเทพฯ ควบคู่ไปกับประโยชน์ในด้านการปกครองป้องกันพระราชอาณาเขตของสยาม ผลที่ตามมาจากการสร้างทางรถไฟสายนี้คือ การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจอีสานที่เกิดจากการขนส่งสินค้าเข้าจากกรุงเทพฯ สู่ภาคอีสาน โดยเฉพาะการค้าข้าวที่ขนส่งโดยทางรถไฟและมีสินค้าจากชาติตะวันตกเข้ามายังภาคอีสานมากขึ้น และสินค้าออกจากอีสานไปยังกรุงเทพฯ โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญของอีสานในช่วงทศวรรษเศษนับจากการเปิดใช้ทางรถไฟสายกรุงเทพฯ – นครราชสีมา (พ.ศ.๒๔๔๔ – ๒๔๖๘) ได้แก่ ข้าวและสุกร ตลอดจนมีชาวจีนเข้ามาตั้งถิ่นฐานตามเส้นทางที่มีรถไฟตัดผ่าน ชาวจีนเหล่านี้ถือเป็นผู้ประกอบการการค้าที่สำคัญในภาคอีสาน เนื่องจากไม่ต้องอยู่ในระบบไพร่ ไม่ต้องรับใช้มูลนาย ในขณะที่ราษฎรไทยยังผูกติดอยู่ในระบบไพร่ ต้องถูกเกณฑ์รับใช้มูลนาย แต่อย่างไรก็ดี การเข้ามาของคนจีนไม่ได้มีผลต่อการผลิตของชาวบ้านมากนัก ชาวจีนที่เข้าไปตั้งหลักแหล่งในภาคอีสาน หากเปรียบเทียบกับภาคกลางแล้วน้อยกว่ามาก และชุมชนชาวจีนจะอยู่รวมกันที่ตัวเมืองเท่านั้น

การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจจากระบบเศรษฐกิจเพื่อเลี้ยงตนเอง เป็นระบบเศรษฐกิจเพื่อการค้าในบริเวณลุ่มน้ำมูลตอนบนนี้ ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัฐบาลที่กรุงเทพฯ การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจดังกล่าวเป็นพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลงที่จะขยายออกไปยังดินแดนส่วนอื่น ๆ ในภาคอีสานต่อมา

รัฐบาลสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวยังคงสานต่อนโยบายการทําให้เศรษฐกิจอีสานเป็นแบบทุนนิยมที่ผลิตเพื่อขาย ดังเห็นได้จาการขยายทางรถไฟต่อจากนครราชสีมามายังบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี (อีสานใต้) และจากนครราชสีมาไปยังขอนแก่น (อีสานเหนือ) ในช่วง พ.ศ.๒๔๖๕ – ๒๔๗๓ ตลอดจนรายงานของข้าราชการจากกรุงเทพฯ ที่ไปปกครองภาคอีสาน เช่น พระยาราชนุกูล อุปราชภาคอีสาน รวมถึงรายงานการสํารวจความเป็นอยู่ของราษฎรของชาวตะวันตกหลายท่าน เช่น ริจินัล เลอ เมย์ (Riginanld la May) ที่ปรึกษากระทรวงพาณิชย์และคมนาคม หรือ คาร์ล ซี ซิมเมอร์แมน ชาวอเมริกา ซึ่งรัฐบาลสยามสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เชิญมา รายงานเหล่านี้ล้วนแต่เสนอให้รัฐบาลปรับปรุงการชลประทาน และเส้นทางคมนาคมในภาคอีสาน เพื่อให้การค้าและการเพาะปลูกในภาคอีสานขยายตัวขึ้นอีก แต่ข้อเสนอนี้ไม่ได้ถูกนําไปปฏิบัติ เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยเสียก่อนเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวจะเห็นเป็นรูปธรรมหลังจากนี้

นอกจากนี้ จากการศึกษาของ ศ. สุวิทย์ ธีรศาศวัต (อดีตอาจารย์ประจําภาควิชาประวัติศาสตร์และโบราณคดี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น) พบว่า เดิมราษฎรอีสานไม่นิยมรับประทานสุกรมากนักเพราะเนื้อมีมันมาก แต่หลังจากมีทางรถไฟเข้ามาในภาคอีสาน ราษฎรอีสานได้หันมาเลี้ยงสุกรไว้ขายให้แก่พ่อค้าชาวจีนที่เมืองนครราชสีมาและเพื่อส่งขายต่อในภาคกลาง โดยนายฮ้อยสุกรจะมารับซื้อสุกรจากชาวบ้าน เมื่อได้จำนวนที่ต้องการ นายฮ้อยจะนำสุกรมาขายที่ตลาดสถานีรถไฟ แล้วสุกรเหล่านั้นจะถูกนำขึ้นรถไฟส่งมายังเมืองนครราชสีมาและภาคกลาง

นอกจากการผลิตข้าวและการเลี้ยงสุกรเพื่อขายแล้ว ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของอีสานหลังจากมีทางรถไฟผ่าน ที่เห็นได้อย่างชัดเจนในกรณีเมืองสุรินทร์ คือ การเกิดขึ้นของธุรกิจและอาชีพใหม่ ๆ ดังที่ ไพบูลย์ สุนทรารักษ์ อดีตข้าราชการกรมประชาสัมพันธ์ ผู้เกิดในเมืองสุรินทร์สมัยรัชกาลที่ ๖ และเติบโตพอรู้ความในสมัยรัชกาล ที่ ๗ ได้เล่าว่า “ที่บริเวณหลังสถานีรถไฟสุรินทร์ ชาวจีนได้เข้ามาตั้งร้านค้า ร้านกาแฟ โรงแรมใหม่ ๆ ที่บริเวณหลังสถานีรถไฟทําให้เศรษฐกิจของเมืองสุรินทร์คึกคักอยู่ช่วงหนึ่ง เนื่องจากเมืองสุรินทร์กลายเป็นเมืองชุมทางรถไฟสายอีสาน ก่อนที่ความคึกคักจะซาลง หลังจากที่ทางรถไฟสร้างต่อไปถึงศรีสะเกษและเมืองอุบลราชธานี ทําให้สองเมืองนี้กลายเป็นเมืองชุมทางรถไฟแทนเมืองสุรินทร์”

ทางรถไฟสายอีสานนับเป็นการปฏิวัติการคมนาคมของไทย ที่เคยใช้เกวียนและเรือเป็นหลัก และเกิดผลตามมามากมาย ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ระบบทุนนิยมในภาคอีสานเกิดจากทางรถไฟสายอีสานนั่นเอง
(ภาพจากสํานักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร)

รถไฟยังทําให้วิถีชีวิตของชาวนาเปลี่ยนแปลงดังเช่น รับคำนิยม รสนิยม และมาตรฐานการดำรงชีพตามแบบอย่างชาวเมืองเพิ่มมากขึ้น เกิดการผลิตเพื่อขาย ปริมาณคนเดินทางมากขึ้น เกิดการขยายตัวของชุมชนการค้าหรือชุมชนชาวจีน เช่น เมืองโคราชหรือนครราชสีมา อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น และบ้านห้วยขะยูง จ.อุบลราชธานี เป็นต้น เกิดการย้ายสถานที่ราชการมาใกล้สถานีรถไฟ อาชีพหัตถกรรมลดลง และเกิดอาชีพใหม่ ๆ มากมาย เช่น อาชีพกรรมกร โสเภณี และอาชีพเดินรถประจำทาง เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า สนธิสัญญาเบาว์ริงทำให้เกิดระบบทุนนิยมในภาคกลาง ภาคใต้ และภาคเหนือตอนล่างฉันใด ทางรถไฟก็ทำให้เกิดทุนนิยมในภาคอีสานฉันนั้น

อาจกล่าวได้ว่า การสร้างทางรถไฟสายนครราชสีมา และสายอื่น ๆ สร้างเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองเป็นสำคัญ แม้เอกสารราชการของกรุงเทพฯ จะให้เหตุผลว่าเพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจก็ตาม การสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพฯ นครราชสีมาแล้วเสร็จใน พ.ศ.๒๔๔๓ ทำให้รถไฟเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างเมืองต่าง ๆ ในอีสานกับกรุงเทพฯ การมีรถไฟทำให้พ่อค้ามณฑลอีสาน อุดร ไม่รับซื้อสินค้าจากพ่อค้าโคราชดังแต่ก่อน แต่ลงไปซื้อเองที่กรุงเทพฯ แสดงให้เห็นว่า แม้รถไฟจะมีจุดหมายอยู่ที่นครราชสีมา แต่ไม่ได้เชื่อมระหว่างอุบลฯ – อุดรฯ กับนครราชสีมา แต่เป็นการเชื่อมระหว่างอุบลฯ – อุดรฯ กับกรุงเทพฯ

อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานตามนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลในภาคอีสานไม่บรรลุผลตาม เป้าหมาย ดังปรากฏว่า นับตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๙๔ – ๒๔๗๕ หมู่บ้านในภาคอีสานยังคงทําการเกษตรและหัตถกรรม แม้ว่าการผลิตเพื่อขายจะขยายตัวเข้ามาในหมู่บ้านแล้วก็ตาม เนื่องจากการขยายตัวทางการค้าและการผลิตข้าวเพื่อขายภาคอีสานในช่วงเวลานี้เป็นการขยายพื้นที่การผลิต แต่ไม่ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตของราษฎร และราษฎรในภาคอีสานส่วนใหญ่ขาดเงินลงทุนเพราะฐานะยากจน ขาดแคลนนํ้าใช้สำหรับใช้ในการทำการเกษตร ตลอดจนปัญหาการถือครองที่ดินระหว่างชาวบ้านกับชาวจีนซึ่งสะสมที่ดินโดยยึดมาจากชาวบ้านที่กูยืมเงินแล้วไม่มีเงินชำระหนี้

อีกทั้งยังเห็นจากปาฐกถาเกี่ยวกับสภาพจังหวัดต่าง ๆ ของผู้แทนราษฎรจังหวัดในภาคอีสานเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๖ หรือหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ๑ ปี ซึ่งเป็นหนังสือที่รวบรวมเอาปาฐกถาทางวิทยุของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยแรก (พ.ศ.๒๔๗๖ – ๒๔๘๐) เกี่ยวกับสภาพของจังหวัดต่าง ๆ ที่ตนเองสังกัดและมีภูมิลำเนาอยู่ ทั้งในด้านภูมิประเทศ ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ ประเพณีวัฒนธรรม ชีวิตความเป็นอยู่ สถานที่ท่องเที่ยว ฯลฯ เพื่อนำเสนอข้อมูลสู่สาธารณะ ซึ่งปาฐกถาของผู้แทนราษฎรชุดแรกของสยามล้วนแต่ชี้ให้เห็นว่า ราษฎรในภาคอีสาน เช่น ที่จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดมหาสารคาม ส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ทำนาได้ผลผลิตน้อย เนื่องจากขาดน้ำสำหรับใช้ในการเกษตร รวมทั้งยังเกิดปัญหาอื่น ๆ ที่เป็นผลพลอยได้ตามมา เช่น ปัญหาน้ำทำนากับการชลประทาน ปัญหาราษฎรบุกรุกพื้นที่สาธารณะ และปัญหาการขโมยวัวควาย เป็นต้น

หนังสือรวมปาฐกถาของผู้แทนราษฎร เรื่องสภาพของจังหวัดต่าง ๆ บางส่วนให้ข้อมูลถึงบทบาท ส.ส.อีสานที่พยายามสะท้อนปัญหาจากท้องถิ่น
ที่ตนเป็นผู้แทนอยู่หรืออ้างอิงความเป็นหนึ่งในสมาชิก
เพื่อให้ได้รับการคัดเลือกในฐานะตัวแทนท้องถิ่นอย่างเป็นทางการ ควบคู่กับความพยายามอภิปรายเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานทั่วไปของประชาชน
และเรื่องปลีกย่อยเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

สภาพเศรษฐกิจและการเมืองอีสาน ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๕ ถึงต้นทศวรรษ ๒๕๐๐

สภาวะความยากจน รวมทั้งการขาดแคลนเทคโนโลยีและปัญห่าการถือครองที่ดินของราษฎรของจังหวัดต่าง ๆ  ในภาคอีสาน ซึ่งเป็นผลจากนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จึงเป็นภารกิจที่รัฐบาลใหม่ภายหลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ.๒๔๗๕ ต้องการแก้ไข โดยถือว่าปัญหาความเป็นอยู่ของราษฎรที่ประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหนึ่งในปัญหาหลักที่ทำให้เกิดการปฏิวัติสยาม ด้วยเหตุนี้จึงปรากฏว่าคณะราษฎรได้พยายามหาแนวทางการจัดการเศรษฐกิจของประเทศเสียใหม่ ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอแผนพัฒนาเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์ ที่ให้รัฐบาลทำการปฏิรูปที่ดิน หรือข้อเสนอระบบเศรษฐกิจชาตินิยมของหลวงวิจิตรวาทการที่เสนอให้คนไทยมีที่ดินทำกิน ให้รัฐซื้อที่ดินจากเจ้าของเดิมเป็นคราว ๆ ไปเมื่อรัฐต้องการใช้ รัฐไม่จำเป็นต้องเอาที่ดินทั้งหมดมาเป็นของรัฐตามแนวคิดของนายปรีดี พนมยงค์ รวมทั้งเสนอให้มีการจัดตั้งสหกรณ์เพื่อที่รัฐจะได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือได้รวดเร็วขึ้นในกรณีที่เกิดปัญหา

นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ.๒๔๗๕ จนถึงต้นทศวรรษ ๒๕๐๐ ที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นเป็นผู้นํารัฐบาล ได้มีปัญญาชนและนักการเมืองท้องถิ่นเสนอแนวทางปรับเปลี่ยนนโยบายการปกครองและพัฒนาเศรษฐกิจภาคอีสานของรัฐบาล ดังเห็นได้จากกรณีของนายอํ่า บุญไทย ครูมัธยมกสิกรรม ได้เขียนหนังสือเรื่อง กฤดาการบนที่ราบสูง เพื่อใช้ในการหาเสียงในการสมัครเป็นผู้แทนราษฎร จังหวัดอุบลราชธานี ใน พ.ศ.๒๔๗๖ โดยชี้ให้เห็นถึงการจัดการศึกษาแบบแกรี่แปลน (Gary Plan) ให้มีการเรียนวิชาสามัญในตอนเช้า และตอนบ่ายควรให้มีการเรียนวิชาอาชีพ รวมทั้งเสนอให้มีการจัดตั้งโรงงานในวิชาชีพที่เปิดทำการสอนและเสนอให้ มีครูผู้ชำนาญในวิชาชีพต่าง ๆ เพื่อจะสามารถสอนให้เด็กมีความรู้และสามารถทำมากินได้จริง นอกจากนั้นยังพบว่าในช่วง พ.ศ.๒๔๗๖ – ๒๔๙๔ ได้มีกลุ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภาคอีสานยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลในการพัฒนาภาคอีสานเพื่อให้ราษฎรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้ได้ส่งผลให้นโยบายเศรษฐกิจภาคอีสานของรัฐบาลภายหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

อํ่า บุญไทย และงานเขียนเรื่อง กฤดาการบนที่ราบสูง ถือเป็นงานเขียนชิ้นสําคัญที่สะท้อนว่าการปฏิวัติสยามมีส่วนสําคัญอย่างมากในการปลุกเร้าสํานึกทางการเมืองของปัญญาชนอีสาน

ขณะเดียวกันในช่วง พ.ศ.๒๔๗๖ – ๒๔๘๐ ได้มีการรวมกลุ่มของ ส.ส.อีสาน เพื่อเรียกร้องผลประโยชน์ของราษฎรที่ควรจะได้รับจากรัฐบาล โดยการรวมกลุ่มกันของ ส.ส.อีสาน เกิดขึ้นภายใต้แนวความคิดท้องถิ่นนิยม – ภูมิภาคนิยม ซึ่ง ส.ส.อีสาน ชุดแรกพยายามทำหน้าที่โดยการเสนอร่างพระราชบัญญัติต่าง ๆ เพื่อให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณา เช่นพระราชบัญญัติการลดพิกัดเก็บเงินอากรค่านา เนื่องจากอัตราเดิมที่เก็บมีราคาสูงทำให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อน รวมทั้งการยื่นญัตติไม่ไว้วางใจและตั้งกระทู้ถามรัฐบาลเพื่อเรียกร้องรัฐบาลในเรื่องการปราบปรามโจรผู้ร้าย การเก็บเงินรัชชูปการ นโยบายภาษีเงินได้และภาษีการค้า แต่ญัตติดังกล่าวไม่ได้ถูกนำมาพิจารณาเนื่องจากไม่เคยมีการยื่นญัตติอภิปรายมาก่อนว่าสมาชิก ๑ คน สามารถยื่นญัตติเปิดอภิปรายได้กี่ญัตติ ทําให้เกิดการถกเถียงกันในสภา และญัตติของกลุ่ม ส.ส.อีสานได้เงียบหายไป นอกจากนี้ยังพบว่า ส.ส.อีสานมีการตั้งกระทู้ถามรัฐบาลในเรื่องต่าง ๆ เช่น นายถวิล อุดล ได้ตั้งกระทู้ถามรัฐบาลเรื่องการช่วยเหลือชาวนาตามริมฝั่งแม่นํ้ามูลที่ได้รับผลกระทบจากการที่แม่นํ้าล้นเข้าท่วมที่นาในริมฝั่งแม่น้ำชี หรือนายจําลอง ดาวเรือง ได้ตั้งกระทู้ถามเรื่องการเก็บเงินรัชชูปการซึ่งกระทู้ทั้งสองเรื่องได้แสดงให้เห็นถึงลักษณะร่วมบางประการ คือ การมีความกล้าที่จะวิพากษ์วิจารณ์ความล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพ ไม่สนองตอบต่อสภาพความต้องการของท้องถิ่นภายใต้ระบอบเก่าอย่างตรงไปตรงมา และในขณะเดียวกันก็มีน้ำเสียงในทำนองฝากความหวังไว้กับระบอบใหม่ว่าจะนำพาความเจริญมาสู่ท้องถิ่นของตน

จนกระทั่งหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ ๒ ใน พ.ศ.๒๔๘๐ การรวมกลุ่มกันเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมืองของ ส.ส.อีสาน ก็ได้เริ่มมีตัวแปรมากขึ้นจากที่มีผู้แทนหน้าใหม่เข้ามา ทั้งยังเป็นกลุ่มอาชีพที่ขยายฐานไปสู่ระดับชนชั้นล่างมากขึ้น เช่น พ่อค้า ชาวนาเป็นผลให้แนวความคิดและความเคลื่อนไหวทางการเมืองของปัญญาชนที่เป็น ส.ส.อีสาน มีความแตกต่างหลากหลายมากขึ้น และปรากฏชัดที่สุดเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ขึ้น และ ส.ส.อีสานคนสำคัญหลายคนได้ เข้าไปมีส่วนร่วมในขบวนการเสรีไทย (นายปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้าขบวนการ) จนมีบทบาทในระดับหัวหน้าสาขาภาคอีสาน ได้แก่ นายเตียง ศิริขันธ์ (หัวหน้าเสรีไทยเขตอีสานเหนือ) และนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ (หัวหน้าเสรีไทยเขตอีสานใต้) และนอกจากนี้ยังมีนายถวิล อุดล และนายจําลอง ดาวเรือง ที่มีบทบาทสำคัญเช่นกัน

หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ อำนาจทางการเมืองของทหารเสื่อมลงเพราะพวกเขาสนับสนุนญี่ปุ่น ในขณะที่ปรีดีซึ่งนำการต่อสู้ของเสรีไทยได้ก้าวขึ้นสู่อำนาจ ในช่วงปี ๒๔๘๗ – ๒๔๙๐ เป็นช่วงเวลาแห่งความสำเร็จของ ส.ส.หัวก้าวหน้าของอีสาน ผู้นำของพวกเขาได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญในรัฐบาล เช่น จำลอง ดาวเรือง เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์, เตียง ศิริขันธ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย, ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นต้น แต่สภาวการณ์ดังกล่าวก็ดำรงอยู่ไม่นาน เนื่องจากทหารได้ทําการรัฐประหารในเดือนพฤศจิกายน ๒๔๙๐ และนำไปสู่การคืนอำนาจของจอมพล ป. พิบูลสงครามในปี ๒๔๙๑ ซึ่งภายหลังการรัฐประหาร ส.ส.จากภูมิภาคได้ตกเป็นเป้าหมายของการกวาดล้างทางการเมือง ทั้งนี้เพราะพวกเขาสนับสนุนปรีดี โดยถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์และเป็นพวกแบ่งแยกดินแดน ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ถวิล อุดล จําลอง ดาวเรือง พร้อมด้วย ทองเปลว ชลภูมิ เลขานุการของปรีดีจึงถูกวิสามัญฆาตกรรมในวันที่ ๔ มีนาคม ๒๔๙๒ และในเดือนธันวาคม ๒๔๙๕ เตียง ศิริขันธ์ พร้อมกับอดีตเสรีไทยคนสนิทอีก ๔ คน ถูกนำตัวไปสังหารในบ้านเช่าที่พระโขนงก่อนที่ศพจะถูกนําไปเผาที่ป่าจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งการสังหาร ส.ส.อีสานหัวก้าวหน้าดังกล่าวเป็นการปิดฉากการเคลื่อนไหวของนักต่อสู้รุ่นแรกของอีสานในรัฐสภาลง

๔ ส.ส.อีสาน หรือ ๔ ขุนพลอีสาน มีการรวมกลุ่มท่างการเมืองภายหลังการเลือกตั้งครั้งแรก พ.ศ.๒๔๗๖ เพื่อเป็นพลหลักในการผลักดันและสะท้อนปัญหาจากท้องถิ่นไปสู่รัฐส่วนกลาง หรือกล่าวโดยจําเพาะคือการเป็นตัวแทนหน่วยการปกครองที่เรียกว่าจังหวัดนั่นเอง

โดยภาพรวมจะเห็นว่าหลัง พ.ศ.๒๔๗๕ มีข้อเสนอพัฒนาเศรษฐกิจอีสานโดยกลุ่ม ส.ส.ในพื้นที่ แต่รัฐบาลไม่ได้ตอบสนองต่อข้อเสนอนั้นเท่าที่ควร เนื่องจากรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีความหวาดระแวงกลุ่ม ส.ส.อีสาน ว่ามีใจฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ จึงทำให้กระทู้ต่าง ๆ ที่กลุ่ม ส.ส.อีสานได้ถามรัฐบาลนั้นไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาล กระนั้นก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่า ในทศวรรษต่อมา (ทศวรรษ ๒๔๙๐) ส.ส.อีสานยังคงเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยการตั้งกระทู้ในสภา ดังเห็นได้จากบทบาทของนายญาติ ไหวดี ส.ส.สุรินทร์ ตลอดช่วง พ.ศ.๒๔๙๕ – ๒๕๒๙ โดยนับจากได้เป็น ส.ส.นายญาติ มีบทบาทในการตั้งกระทู้ถามรัฐบาลเกี่ยวกับปัญหาความเป็นอยู่ของราษฎร และเสนอโครงการพัฒนาความเป็นอยู่ของราษฎรอยู่เสมอ ๆ โดยการพัฒนาพื้นที่ภาคอีสานเริ่มปรากฏชัดเจนในทศวรรษ ๒๔๙๐ ดังปรากฏว่ารัฐบาลได้ส่งเสริมการปลูกข้าวเนื่องมาจากความต้องการข้าวในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทำให้ช่วงต้นทศวรรษ ๒๔๙๐ ปริมาณการผลิตข้าวเพิ่มขึ้นอย่างมาก ก่อนที่การผลิตข้าวจะเริ่มลดลงในช่วงปลายทศวรรษ ๒๔๙๐ เนื่องจากรัฐบาลได้มีการส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นซึ่งใช้นํ้าในการเพาะปลูกน้อยสามารถขึ้นได้ดีในบริเวณที่มีความขาดแคลนนํ้า เช่นปอ ซึ่งเริ่มมีการปลูกตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๘ เป็นต้นมา แต่ผลผลิตในช่วงแรกของการส่งเสริมการเพาะปลูกของรัฐบาลยังมีปริมาณไม่มากนัก

นอกจากทางด้านการเกษตรที่รัฐบาลมีการส่งเสริมอย่างจริงจังแล้ว รัฐบาลยังวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติและแผนพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือขึ้นมาในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งแผนทั้งสองนี้มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจของภาคอีสานโดยมีการให้ความรู้ด้านการเกษตรแก่ราษฎรให้สามารถทําการเกษตรอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ เพื่อให้ได้ผลผลิตในปริมาณมากขึ้นรวมถึงมีการสร้างสาธารณูปโภคที่จำเป็น โดยเฉพาะการสร้างถนนเพื่อขยายเส้นทางคมนาคมขนส่งระหว่างเมืองในอีสาน ทำให้สภาพเศรษฐกิจอีสานเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมตั้งแต่ทศวรรษ ๒๕๐๐ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตามผลของนโยบายการพัฒนาของรัฐมีทั้งด้านที่ทำให้คนในท้องถิ่นมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และด้านที่ทําให้คนในท้องถิ่นต้องพึ่งพาสินค้าจากภายนอกเพิ่มขึ้น

*****

สภาพเศรษฐกิจและการเมืองอีสานในห้วง ๒๔๗๕
คอลัมน์: เรื่องจากปก
นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๓๘
ปีที่ ๔ ประจำเดือนมิถุนายน ๒๕๕๘
ฉบับ: สภาพอีสานในห้วงปฏิวัติประชาธิปไตย ๒๔๗๕

ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท

สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท

หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท

ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)

สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง

inbox หนังสืออีศาน http://m.me/166200246799901

line id : @chonniyom (มี@) คลิก http:// https://lin.ee/amxqtvW

โทร. 086-378-2516

อีบุคราคาเพียง 60 บาท ที่
www.mebmarket.com

Related Posts

“๒๔ มิถุนา ๒๔๗๕” ต้นธารประชาธิปไตย
ฮีตเดือนเจ็ด
ทางอีศาน 38 : ปิดเล่ม
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com