สรุปย่อรากเหง้าร่วมของวัฒนธรรมอาเซียน

สรุปย่อรากเหง้าร่วมของวัฒนธรรมอาเซียน

“ลักษณะไทย” “ความเป็นไทย” “อัตลักษณ์ไทย”?

หัวข้อนี้เป็นปัญหาใหญ่สำหรับคนที่ทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมไทย วงวิชาการไทยทํางานด้านนี้มามาก แต่บางช่วงก็ “หลง” ไปทาง “ไทยนิยม” มากไป

มาถึงยุค “ประชาคมอาเซียน” เกิดภารกิจที่ท้าทายวงวิชาการขึ้นมาอีก นั่นคือต้องช่วยกันหา “เอกลักษณ์” ของอาเซียน เพราะเราจะรวมกันเป็นประชาคมวัฒนธรรมแล้วต้องมี “อะไร” ร่วมกันบ้าง

ประเทศอาเซียน มีประเทศที่พลเมืองนับถือศาสนาใหญ่ของโลกทั้งสามศาสนา ได้แก่ ศาสนาอิสลาม, ศาสนาคริสต์, ศาสนาพุทธ วัฒนธรรมในยุคปัจจุบันได้รับอิทธิพลจากศาสนาเหล่านั้น วัฒนธรรมในอาเซียนจึงดูภายนอกแตกต่างกันมาก จะหาเอกลักษณ์ร่วมกันได้หรือ ?

ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน เคยให้ความเห็นทํานองว่า “ความแตกต่าง” นั่นไงคือเอกลักษณ์อาเซียน และท่านแนะว่า การเสริมสร้างให้วัฒนธรรมกลุ่มย่อยเข้มแข็งยืนยงมั่นคงคือการสร้างความสามัคคีในประชาคมอาเซียน

สําหรับผู้เขียนแล้ว ผู้เขียนเห็นว่า ชนเผ่าในอาเซียนมีรากเหง้าวัฒนธรรมร่วมกันมาก่อนที่จะรับวัฒนธรรมฮั่น (จีนเหนือ), วัฒนธรรมชมพูทวีป, วัฒนธรรมอิสลาม, วัฒนธรรมตะวันตก ตามลําดับ

ชนพื้นเมืองในอาเซียนมีความเจริญ มีวัฒนธรรมเป็นของตนเองอยู่แล้ว

เมื่ออิทธิพลทางวัฒนธรรมจาก “ฮั่น” และ “ชมพูทวีป” แผ่เข้ามา บรรพชนของชาวอาเซียนเลือกรับบางสิ่งมิได้ถูกครอบงำเสียทั้งหมดแล้วพัฒนาต่อ ๆ มา จนเกิดวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไปอย่างชัดเจนสามกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มวัฒนธรรมพุทธ, กลุ่มวัฒนธรรมอิสลาม และวัฒนธรรมแคทอลิก (ฟิลิปปินส์)

“วัฒนธรรม” ก่อกําเนิดมาจากวิถีการดําเนินชีวิต ซึ่งมีรูปแบบการผลิตเป็นตัวหลัก

คนเราทํามาหากินอย่างไร วัฒนธรรมก็งอกเงยจากสภาวะนั้น

ชนเผ่าในอาเซียนเลี้ยงชีพด้วยการเพาะปลูกข้าวเป็นหลัก วัฒนธรรมที่กําเนิดจากการเพาะปลูกข้าวนี้น่าจะเรียกว่า “วัฒนธรรมข้าว” วัฒนธรรมข้าวนี่เองเป็นรากเหง้าวัฒนธรรมร่วมกันของชนเผ่าในอาเซียนประการที่หนึ่ง

รอบระยะการผลิต (ปลูกข้าว) กําหนดวิถีชีวิต พิธีกรรมของชนเผ่าปลูกข้าวจึงคล้ายคลึงกัน หมุนเวียนไปตามรอบระยะของการปลูกข้าว

ประเด็นนี้ท่านทั้งหลายคงเข้าใจกันดีอยู่แล้ว

ผู้เขียนจึงขอเสนอประเด็นใหม่ ย้อนหลังให้เก่าแก่ขึ้นไปกว่าเรื่อง “ข้าว”

มนุษย์ดึกดำบรรพ์ ในดินแดนจีนภาคใต้ (ใต้แม่น้ำแยงซีเกียงลงมา) รู้จักเพาะปลูก “น้ำเต้า” มาก่อน “ข้าว” นํ้าเต้าจึงมีความสําคัญมากเป็นสัญลักษณ์ของหลาย ๆ สิ่ง

เช่น ตํานานมนุษย์เกิดมาจากนํ้าเต้า, มนุษย์รอดตายจากนํ้าท่วมโลกเพราะนํ้าเต้า

เช่น นํ้าเต้าเป็นสัญลักษณ์ของ “กายแม่” เป็นสิ่งเคารพบูชา “แม่”

เช่น เป็น totem แรกของมนุษย์ ในภูมิภาคนี้ “มนุษย์มาจากน้ำเต้า เมื่อตายก็กลับสู่น้ำเต้า” ต่อ ๆ  มาจึงเกิดโทเทมอื่น ๆ อีกมาก ร่องรอยที่บอกว่าน้ำเต้าเป็นโทเทมมาก่อนโทเทมอื่น ๆ คือชนชาติอี๋ในยูนนาน วางน้ำเต้าวาดรูปเสือ ๒ ลูกไว้บนหิ้งบูชาบรรพบุรุษ เสือคือโทเทมยุคหลัง น้ำเต้าคือโทเทมยุคแรก

สัญลักษณ์ “นํ้าเต้า” เกี่ยวพันกับพิธีกรรมหลายอย่าง ซึ่งโยงใยมาถึงเครื่องดนตรีด้วย เช่น กลองมโหระทึก และปี่น้ำเต้า จะใช้ในพิธีศพ (คนมาจากนํ้าเต้า เมื่อตายก็กลับสู่นํ้าเต้า)

ชาวหัวเซี่ย (ฮั่น) ลุ่มแม่นํ้าหวงเหอ เรียกชนพื้นเมืองภาคใต้ว่า ชาว “ผู” อักษรภาพที่หมายถึงชาวผูมีรูปคนกําลังบูชานํ้าเต้า

ชาวผูมีมากมายหลายเผ่า ชาวหัวเซี่ยเรียกว่า “ไป่ผู” (ผูร้อยจําพวก) ต่อมาชาวผูแบ่งแยกออกเป็นสองสายใหญ่ ๆ คือ “ฉู่” (หรือ ฌ้อ) กับ “เยวี่ย” (เวียด)

ชาวเยวี่ยมีมากมายหลายเผ่า เรียกว่า “ไป่เยวี่ย” (เยวี่ยร้อยจําพวก) วัฒนธรรมไป่เยวี่ย (ไม่ใช่ หัวเซี่ยหรือจีนฮั่น) แพร่กระจายทั่วจีนตอนใต้, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาคพื้นดิน และภาคสมุทร

“วัฒนธรรมไป่เยวี่ย” นี่เอง คือรากเหง้าวัฒนธรรมของอาเซียน

จุดร่วมกันของวัฒนธรรมไป่เยวี่ยคือ

– ตํานานเกี่ยวกับการเคารพบูชานํ้าเต้า

– ในยุคหิน ใช้ขวานหินมีบ่า ในยุคสําริดใช้ขวานบั้ง

– วัฒนธรรมข้าว

– สภาพแวดล้อม ทําให้ต้องใช้ชีวิตใกล้ชิดกับนํ้า ทําให้เชี่ยวชาญทางนํ้า, ปลูกเรือนเสาสูง (ความคล้ายคลึงกันทางสถาปัตยกรรม), ไว้ผมสั้น, สักร่างกาย

– ทรรศนะทางจักรวาลวิทยา โลกประกอบด้วย ฟ้า – ดิน – ใต้นํ้า (ปรากฏอยู่ในลวดลายบนกลองมโหระทึก) บูชาผีฟ้า เช่น แถน tahu, ตัวเปี๋ยะ (ฟ้าผ่า), เงือก (ลวง, นาค)

– มีความเชื่อเรื่อง “ขวัญ”, การพยากรณ์ด้วยกระดูกไก่ และไข่ไก่

– นิยมฝังศพครั้งที่สอง

– เคารพบูชากลองมโหระทึก ซึ่งสืบทอดมาเป็นวัฒนธรรมฆ้อง

– เครื่องดนตรีสำคัญในพิธีกรรมโบราณ คือ ฆ้อง (กลองมโหระทึก), ติง (พิณ, kuttyapee, กระจับปี่), แคน

ลักษณะร่วมที่ยังเหลือร่องรอยให้ศึกษาได้ไม่ยากนักคือ ทางด้านสถาปัตยกรรม และด้านเครื่องดนตรี

****

คอลัมน์ เบิ่งโลก นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๖๓ | กรกฎาคม ๒๕๖๐

.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
shopee : https://shp.ee/ji8x6b5
LnwShop : https://www.thaibookfair.com/seller/chonniyom-eshann
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

วัดหลวงปากเซ การประสมประเสที่น่าทึ่ง
ยาพิษแสลงใจ
คำผญา (๑๘)
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com