สามทศวรรษกลุ่มวรรณกรรมลำน้ำมูล (๔)






นักเขียนกลุ่มวรรณกรรมลำน้ำมูล  บนจากซ้าย โชติ ศรีสุวรรณ, เจริญ กุลสุวรรณ, เสถียร ยอดดี ล่างจากซ้าย ไพวรินทร์ ขาวงาม, สัญญาลักษณ์ ดอนศรี, บัวกันต์ วิลามาศ

กลุ่มวรรณกรรมลำน้ำมูลสานต่ออุดมการณ์วรรณกรรมด้วยใจมุ่งมั่น  จัดกิจกรรมวรรณกรรมสัญจรในโรงเรียนมัธยมศึกษาและสถานศึกษาในแต่ละจังหวัดเพื่อเพาะบ่มหน่อกล้าวรรณกรรม  ก่อเป็นสายธารวรรณกรรมลำน้ำมูลผ่านมาร์ซลำน้ำมูลที่ “ทยาลุ” ประพันธ์ขึ้นเพื่อร้องขับขานในระหว่างที่เข้าร่วมกิจกรรมทางวรรณกรรม

จากเม็ดฝนน้อย ๆ ทยอยหล่น

หลาย ๆ คน หลาย ๆ แห่งเป็นแอ่งขัง

วันคืนผ่านก็เกิดการรวมพลัง

แล้วไหลหลั่งล้นหลามเป็นลำมูล

โอ้ … ลำน้ำมูล  ๆ ๆ

จากหนุ่มสาวผู้ใฝ่ฝันการสร้างสรรค์

หลายทิศทางรวมใจไม่ขาดสูญ

ก็เกิดกลุ่มวรรณกรรมลำน้ำมูล

เจิดจำรูญวรรณศิลป์อีสานไทย

โอ้ … ลำน้ำมูล  ๆ ๆ

ด้วยมุ่งหวังที่ให้ไทยเองโรจน์

ด้วยมุ่งหวังสร้างประโยชน์แก่ยุคสมัย

ด้วยมุ่งหวังสันติสุขดับทุกข์ภัย

คือดวงใจคนวรรณกรรมลำน้ำมูล

โอ้ … ลำน้ำมูล  ๆ ๆ

เส้นทางของคนวรรณกรรมลำน้ำมูลจากนครราชสีมา (ธีรยุทธ ดาวจันทึก (“ดอกไม้ ชีวี”) ทวีศักดิ์ ระดมยศ, บุญส่ง คนด่านเกวียน, โชติ ศรีสุวรรณ, เสถียร ยอดดี) บุรีรัมย์ (มัธยะ อิสรา นฤมิตร ประพันธ์, ทิพยา วงศ์จิตตะ, สัญญาลักษณ์ ดอนศรี) ศรีสะเกษ (วีระ สุดสังข์ (“ฟอน ฝ้าฟาง”) ศรวุฒิ ศรีเพชร, สำราญ บุญธรรม, เกษม  ศรีโพนทอง, อุดม บัวเกษ, บัวกันต์  วิลามาศ, ทองคร้าม ภูเดชกล้า (“เสี้ยวจันทร์ แรมไพร”) ชาว มุดหิน,  สมชัย ศรีลาชัย)  ยโสธร (ปราโมทย์ ในจิต, วงเดือน ทองเจียว, เยี่ยม ทองน้อย, อาคม ทัพแสง, สมชัย  คำเพราะ)  ขอนแก่น (บุญมา ภูเม็ง,ทิดโฮม คนอีสาน, เอมอร ศรีอุดร) ร้อยเอ็ด (เสรี ทัศนศิลป์, เจริญ กุลสุวรรณ, ฉัตร บุญยะรัตน์, ไพวรินทร์ ขาวงาม) อุบลราชธานี (สลา คุณวุฒิ, สันต์ธวัช ศรีคำแท้)  นครพนม (คำเมือง เอกอ้อย, เด่นชัย น้อยนาง)

วงเดือน ทองเจียว ได้รำลึกความหลังบนเวทีเสวนา  “จากกลุ่มวรรณกรรมลำน้ำมูล สู่สโมสรนักเขียนภาคอีสาน : ปัจจุบัน และอนาคตของนักเขียนอีสาน” ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี  เมื่อปี ๒๕๔๒ ว่า

 “การเข้าร่วมกลุ่มกิจกรรมของแต่ละคนนั้นมีจุดมุ่งหมายไม่เหมือนกัน ผมเข้ามาทีหลัง ในระยะเริ่มแรกของการก่อตั้งนั้นผมยังเรียนหนังสืออยู่ที่กรุงเทพฯ และได้ติดตามข่าวของกลุ่มนักเขียนภาคอีสานมาตลอด ในความคิดเห็นส่วนตัวว่าการรวมกลุ่มของคนอีสานนั้นจะไม่ยั่งยืน จะรวมตัวกันเฉพาะกิจมากกว่า แต่การรวมตัวกันของกลุ่มวรรณกรรมเกิดขึ้นโดยธรรมชาติของบุคคลที่มีจิตใจมุ่งมั่น การรวมกลุ่มของกลุ่มวรรณกรรมลำน้ำมูลตลอดระยะเวลา ๑๗ ปี (เมื่อปี ๒๕๔๒) ที่ผ่านมาเป็นการรวมกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่น ซึ่งคิดว่าถ้าเรารวมตัวกันด้วยจิตสำนึกและจิตใจก็จะยั่งยืน เหมือนกับคณะหมอลำต่าง ๆ ที่ยังคงมีชื่อเสียงมาจนถึงปัจจุบัน”      

“การเขียนหนังสือไม่รวมกลุ่มก็ได้ แต่หากว่าได้พบปะพูดคุยกันกับคนที่มีความชอบในลักษณะเดียวกัน เข้ามาด้วยกัน ด้วยพื้นฐานของจิตใจ บรรยากาศการเขียน การรวมพรรคพวกที่มีรสนิยมเดียวกัน ถึงแม้ว่าบางครั้งจะทะเลาะกันบ้าง แต่เมื่อจากกันแล้วก็มีจดหมายมาคุยกัน ทำให้มีกำลังใจ หากว่าไม่ได้รวมกลุ่มกันอาจไม่ได้เขียนงานด้านวรรณกรรมในเวลาต่อมา”

“การรวมกลุ่มจะอยู่อีสานหรือส่วนใดไม่สำคัญ ปัจจุบันผมอาศัยอยู่ภูมิภาคอื่นทำให้รักแผ่นดินบ้านเกิดมากยิ่งขึ้น เห็นคุณค่าที่ต้องการจะเขียนให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่ชัดเจน คนอีสานมักมองข้ามความเป็นมาของท้องถิ่น ผมอยู่ข้างนอกทำให้มองเห็นตนเอง สำนึกความเป็นคนอีสาน แต่การศึกษาได้ทำลายความภาคภูมิใจของท้องถิ่นเรา”    

แรงบันดาลใจที่เสลภูมิพิทยาคม

ปลายปี ๒๕๒๘  กลุ่มวรรณกรรมลำน้ำมูลจัดวรรณกรรมสัญจรที่โรงเรียนเสลภูมิพิทยาคม จังหวัดร้อยเอ็ด ภายใต้การประสานงานของฉัตร บุญยะรัตน์ และคุณครูรสสุคนธ์  จากโรงเรียนเสลภูมิพิทยาคม

วรรณกรรมสัญจรในครั้งนั้นมีผู้เข้าร่วม คือ คำเมือง เอกอ้อย, พิทยา วงศ์จิตตะ, นฤมิตร ประพันธ์, บุญมา ภูเม็ง, เสรี ทัศนศิลป์, เยี่ยม ทองน้อย, เสี้ยวจันทร์ แรมไพร, ปราโมทย์ ในจิต, สันต์ธวัช ศรีคำแท้, สังคม เภสัชมาลา, บัวกัณฑ์ วิลามาศ, ศรวุฒิ ศรีเพชร, สำราญ บุญธรรม, ปรัศนีย์  สีฟ้า, บุญส่ง คนด่านเกวียน, เกษม ศรีโพนทอง, “ทยาลุ”, กัลยา ยิ้มขาว, ปรียานุช จากกลุ่มแผ่นดินธรรมแผ่นดินทองแห่งร้อยเอ็ด  นอกจากนั้นยังมี เวียง – วชิระ บัวสนธ์, ประกายพฤกษ์ จิตกาธาน, เดือนแรม ประกายเรือง มาร่วมสมทบ

กิจกรรมเริ่มด้วยบุญมา ภูเม็ง, ทวีศักด์ ระดมยศ, พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์ เล่นดนตรีเปิดเวที  มีปราโมทย์ ในจิต และเสรี ทัศนศิลป์  อ่านบทกวีและร้องเพลงประกอบ  สลับกับการแสดงละครเวที โดยอาคม ทัพแสง และสัญญาลักษณ์ ดอนศรี ต่อด้วยกลอนลำล่องจากเยี่ยม ทองน้อย

ภาคเสวนาวรรณกรรมผู้อภิปราย คือ เวียง –วชิระ บัวสนธ์, ประกายพฤกษ์ จิตกาธาน, วีระ สุดสังข์, เจริญ กุลสุวรรณ (“ทยาลุ”) มี “คำร้อย คำเพราะ” เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย  มีไพวรินทร์ ขาวงาม และสลา คุณวุฒิ เข้าร่วมกิจกรรม  และถือเป็นแรงบันดาลใจให้ชัชวาลย์  โคตรสงคราม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนเสลภูมิพิทยาคมมีความสนใจ และก้าวเข้าสู่ถนนสายวรรณกรรมในเวลาต่อมา

เยือนถิ่นกลุ่มวรรณกรรมร่มพอกภูดิน

กิจกรรมของกลุ่มวรรณกรรมลำน้ำมูลในยุคนั้นมุ่งปลูกฝังงานวรรณกรรมสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาเป็นหลัก  ในเดือนกุมภาพันธ์  ๒๕๒๙ กลุ่มวรรณกรรมลำน้ำมูลได้จัดวรรณกรรมที่โรงเรียนกุดชุมวิทยาคม โดยอภิเชษฐ์ ทองน้อย  แห่งกลุ่มวรรณกรรมร่มพอก – ภูดิน  เป็นผู้ประสานงาน  มีกลุ่มของสลา คุณวุฒิ, “เราส์มหาราษฎร์” (เจริญ กุลสุวรรณ) มาช่วยงาน

สลา คุณวุฒิ เคยตั้งวงดนตรีอ้อคำกับเพื่อนเมื่อครั้งเรียนอยู่ที่วิทยาลัยครูอุบลราชธานี   หลังได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการจึงตั้งวงเทียนก้อมกับเพื่อนครูในเขตอำนาจเจริญ ออกผลงานชุด “กระดานร้าง” และ “ผู้สันโดษ”  เคยเขียนบทกวี เรื่องสั้น ภายใต้นามปากกา “ศรีลัดดา” ก่อนที่เข้าสู่วงการเพลงลูกทุ่ง             



ผลงานของสลา : คุณวุฒิ ชุดกระดานร้าง (วงเทียนก้อม), เพลงรักเพลงคิดถึง (วงจังหัน), เพลงกล่อมแม่ (บันทึกประวัติ/บทกวี/เรื่องสั้น)

วรรณกรรมสัญจรที่อุทุมพรพิสัย

ระหว่างวันที่ ๒๓ – ๒๔ สิงหาคม ๒๕๒๙ กลุ่มวรรณกรรมลำน้ำมูลจัดกิจกรรมวรรณกรรมสัญจรที่โรงเรียนกำแพง อำเภออุทุมพิสัย และศูนย์เยาวชนบ้านหนองสังข์ อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ

วันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๒๙  ที่โรงเรียนกำแพง มี วีระ สุดสังข์, ศรวุฒิ ศรีเพชร, คำเมือง เอกอ้อย, วินัย จันพิลา, เกษม ศรีโพนทอง, อาคม ทัพแสง, สัญญาลักษณ์ ดอนศรี  เดินทางมาล่วงหน้า และกลุ่มเพื่อนที่ตามมาสมทบ เช่น วสันต์ สิทธิเขต, ไพวรินทร์ ขาวงาม, “เสรี ทัศนศิลป์”, ฉัตร บุญยะรัตน์, ประกายพฤกษ์ จิตกาธาน, นฤมิตร ประพันธ์, ทิพยา วงศ์จิตตะ, “บุญมา ภูเม็ง”, อาคม ทัพแสง, ทวีศักดิ์ ระดมยศ, เริงรวี บุญพามา, บัวกันต์ วิลามาศ, เอมอร ศรีอุดร ฯลฯ

กิจกรรมภาคเช้าโหมโรงด้วยวงดนตรีเพื่อชีวิตต่อด้วยการอภิปราย “เริ่มต้นเขียนหนังสือกันอย่างไร” โดยวสันต์ สิทธิเขต, ไพวรินทร์ ขาวงาม, นฤมิตร ประพันธ์ มี “เสรี ทัศนศิลป์” ดำเนินการอภิปราย ต่อด้วย ละครเวทีเพื่อไว้อาลัยแด่ศรีศักดิ์ นพรัตน์ (“หยอย บางขุนพรหม”) และการอ่านบทกวีโดยอาคม ทัพแสง

ในวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๒๙ ที่ศูนย์เยาวชนบ้านหนองสังข์ อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ  มีการเสวนาในหัวข้อ  “วรรณกรรมกับการรับใช้สังคม”  โดย พนัส สวัสดิกุลพงศ์, ผดุงศักดิ์ พื้นเสน (จากสำนักพิมพ์สายน้ำ) มีนฤมิตร ประพันธ์  ดำเนินการ

พบเธอที่สตรีศึกษาร้อยเอ็ด



ผลงานกวี เสียงวอนจากสวนวาง, ที่พักแหล่งสุดท้าย, วิถีอรหันต์ผ่านยันต์วรรณรูป ผลงานของ “ทยาลุ” (เจริญ กุลสุวรรณ)



ผลงานของไพวรินทร์ ขาวงาม คำใดจะเอ่ยได้ดั่งใจ, ฤดีกาล, คือแรงใจและไฟฝัน

งาน “อ่านกุศล ๒๙” ที่โรงเรียนนางรอง จากซ้าย พิบูลศักดิ์ ละครพล, บุญมา ภูเม็ง, นักเรียนที่ชนะเลิศ    การอ่าน “เสรี ทัศนศิลป์” (ถือแคน), วสันต์ สิทธิเขตต์ และนฤมิตร ประพันธ์

ปลายเดือนธันวาคม ปี ๒๕๒๙  กลุ่มวรรณกรรมลำน้ำมูลจัดกิจกรรมวรรณกรรมที่โรงเรียนสตรีศึกษา จังหวัดร้อยเอ็ด มีเพื่อนสมาชิกภายในกลุ่มและเพื่อนจากส่วนกลางเข้าร่วมกิจกรรมอย่างคับคั่ง  มีพงษ์สิทธิ์ คำภีร์ ร่วมกิจกรรม โดยการชักชวนของ “บุญมา ภูเม็ง”  ขณะนั้นสุมาลี  โพธิ์พยัคฆ์ (สุวรรณกร) กำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่  ๖  ได้เข้าร่วมกิจกรรม และถือเป็นแรงบันดาลใจให้มีความสนใจในด้านวรรณกรรม และเลือกศึกษาต่อสาขาวิชาภาษาไทย ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม ในเวลาต่อมา

หลังจัดกิจกรรมวรรณกรรมสัญจรที่โรงเรียนสตรีศึกษาร้อยเอ็ด กลุ่มวรรณกรรมลำน้ำมูลได้ย้อนกลับมาจัดกิจกรรมที่โรงเรียนเสลภูมิวิทยาคมอีกครั้ง  โดยมีอภิเชษฐ์ ทองน้อย และคณะให้การต้อนรับ

อ่านการกุศลที่นางรอง

ในเวลาต่อมากลุ่มวรรณศิลป์นางรอง โดยทิพยา วงค์จิตตะ และคณะครูโรงเรียนนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ จัดกิจกรรม  “อ่านกุศล ๒๙”  มีวิวัฒน์ โรจนาวรรณ, นฤมิตร ประพันธ์ ในฐานะเจ้าถิ่นให้การต้อนรับ มี ประกาย ปรัชญา, ไพวรินทร์ ขาวงาม, พิบูลศักดิ์ ละครพล, วสันต์ สิทธิเขตต์  จากส่วนกลางมาร่วมสมทบกับกลุ่มวรรณกรรมลำน้ำมูล  ภาคกลางคืนมีคอนเสิร์ตวงคาราวาน และพงษ์เทพ กระโดนชำนาญ  มีสลา คุณวุฒิ, “บุญมา ภูเม็ง”,  เยี่ยม ทองน้อย ร่วมแจมบนเวทีการแสดง

มิตรภาพบนถนนสายวรรณกรรม

ย่างเข้าปีที่ ๕ บนเส้นทางสายวรรณกรรมของกลุ่มวรรณกรรมลำน้ำมูล  ในปี ๒๕๓๐ กลุ่มวรรณกรรมลำน้ำมูลได้จัดกิจกรรมวรรณกรรมสัญจรที่โรงเรียนสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา  ซึ่งถือเป็นจุดสุดท้าย 

ทิศทางและอนาคตของกลุ่มจะเดินหน้าอย่างไร  เพียงเพื่อมาพบกันและร่วมกิจกรรมทางวรรณกรรม เป็นคำถามผ่านยุคสมัยของการแสวงหา  ได้ตกผลึกทางความคิดและถกเถียงกันในหลายประเด็น  ถึงคราต้องแยกย้ายกันตามบทบาทหน้าที่การงาน ความถนัดของสมาชิกแต่ละคน แต่ยังห่วงหาอาทรและไปมาหาสู่กันเช่นเดิม

ในขณะที่จุลสาร “คึดฮอด” เดินหน้ามาถึงฉบับที่ ๘ เนื่องในวาระครบรอบปีที่ ๔  ฉบับที่ ๘ เมษายน – มิถุนายน ๒๕๓๐  ซึ่งมีนฤมิตร ประพันธ์  ทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการ  ได้รับความชื่นชมในกลุ่มมวลมิตรวรรณกรรมทั่วประเทศ  ต้องยุติการจัดทำในเวลาต่อมา รวมทั้งโครงการจัดตั้งสำนักพิมพ์ลำน้ำมูล  จึงต้องยุติการดำเนินงานเช่นเดียวกัน

สมาชิกในกลุ่มส่วนหนึ่งก็ผันตัวเองเข้ามาใช้ชีวิตในแวดวงนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ในส่วนกลาง เช่น “เสี้ยวจันทร์ แรมไพร”, ไพวรินทร์ ขาวงาม, สัญญาลักษณ์ ดอนศรี,  สมชัย คำเพราะ 

กลุ่มของอาคม ทัพแสง, สลา คุณวุฒิ เข้าสู่วงการเพลงลูกทุ่งอย่างเต็มตัว เช่นเดียวกับพงษ์สิทธิ์ คำภีร์ ผู้คลุกคลีอยู่กับกลุ่มวรรณกรรมลำน้ำมูล ก็เดินสายกับวงคาราวานอยู่ระยะหนึ่งก่อนที่แยกตัวทำงาน และประสบความในงานเพลงเพื่อชีวิตในยุคต่อมา

สายธารแห่งวรรณกรรมลำน้ำมูลยังคงรอวันรวมพลังสร้างสรรค์วรรณกรรมตามแนวทางที่ได้พบตัวตนคนวรรณกรรมของแต่ละคน 

ในตอนต่อไปจะได้กล่าวถึงบทสรุปสำหรับสามทศวรรษกลุ่มวรรณกรรมลำน้ำมูล ในช่วงรอยต่อสู่ความเป็นองค์กรนักเขียนภาคอีสานที่เชื่อมโยงสู่องค์กรนักเขียนในระดับประเทศ เส้นทางสายวรรณกรรมยังคงทอดยาวต่อไปตราบใดที่หัวใจยังปรารถนา 



งานเขียนของบัวกันต์ วิลามาศ : ความใฝ่ฝันที่รอวันหยั่งราก, สารานุกรมสัตว์, คือตัวตนของคนนี้



ผลงานของนักเขียนกลุ่มวรรณกรรมลำน้ำมูล : ละครทันสมัย (นฤมิตร ประพันธ์), อาณาเขตของความรัก (เดือนค้าง ณ ทะเลหญ้า/เด่นชัย น้อยนาง), อ้อมกอดแห่งท้องทุ่ง (คำร้อย คำเพราะ/สมชัย คำเพราะ)



ผลงานของโชติ ศรีสุวรรณ : ดอกไม้บานที่เชิงภู, ความภูมิใจของลอย, รอยย่ำบนพื้นทราย



ผลงานของเสถียร ยอดดี : ไทเผีย (รางวัลสุภาว์ เทวกุล ปี ๒๕๔๔), ลิขิตพญายม, ขุมทรัพย์แดนทมิฬ (นามปากกา ชาญ นาวัง)

ข้อมูลอ้างอิง/ภาพประกอบ

ฐานข้อมูลศิลปินคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

สัญญาลักษณ์ ดอนศรี.  กลุ่มวรรณกรรมลำน้ำมูล เป้าหมายใหม่ของ กอ.รมน.อีสาน.  ถนนหนังสือ :

ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๓ กันยายน 2553.

http://oknation.nationtv.tv/blog/yiumthongnoyhttp://oknation.nationtv.tv/blog/esanwriter

http://www.komchadluek.net/news/knowledge/179975

http://www.praphansarn.com/home/detail_author_th/59

Related Posts

แทนน้ำนมแม่ สำนึกของลูกอีสาน
อนุสรณ์รัฐธรรมนูญสุรินทร์
มุ่งสู่เมืองปาเล็มบัง เกาะสุมาตรา
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com