สาระวิพากย์ ตอนที่ ๕

สาระวิพากย์ ตอนที่ ๕

            ตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้วิพากย์และสะท้อนปัญหาในเชิงโครงสร้าง, ระเบียบกฎหมาย, และเครื่องมือกลไก ในการบริหารจัดการน้ำ โดยภาพรวมของประเทศไทย ซึ่งอยู่ในขั้นตอนกำลังปฏิรูปและปรับเปลี่ยนให้เกิดระบบที่เป็นเอกภาพมากขึ้น ภายใต้เหตุปัจจัยและเงื่อนไขมากมายของการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะภัยแล้งของภาคอีสานที่ตกสะเก็ด ยืดเยื้อเรื้อรังมายาวนาน เดชะบุญของแผ่นดินอีสานที่ยังมี “ลูกอีสาน” เป็นกลุ่มคณะบุคคลคณะหนึ่ง ซึ่งเป็นเครือข่ายของภาคประชาชน ที่เฝ้าคอยติดตาม ผลักดัน และเสนอแนะต่อฝ่ายนโยบาย และหน่วยงานดำเนินการที่เกี่ยวข้องให้เร่งรัดดำเนินการแก้ปัญหาภัยแล้งภาคอีสานอย่างต่อเนื่องชนิดกัดไม่ปล่อย บุคคลคณะนี้ ส่วนใหญ่แล้ว เป็นผลิตผลของคนเดือนตุลา คือเป็นนักศึกษา, นักกิจกรรมนักเคลื่อนไหวในยุค ๑๔ ตุลา ๑๖ และ ๖ ตุลา ๑๙ หลายคนต่อมาเป็นนักธุรกิจ, นักการเมือง, นักวิชาการ นักคิดนักเขียน, นักบริหารการศึกษา,เอ็นจีไอ. หรือแม้แต่เป็นปราชญ์ชาวบ้านก็มี เช่น นายกิตติ์ไทย คณะพาณิชย์เกษม, ดร.สมศักดิ์ คุณเงิน, นายสมคิด สิงสง, ดร.จงกล พิมพ์วาปี, นายสมพงษ์ ประทุมทอง, นายสมภพ บุญนาค, ดร.บุรินทร์ ภู่สกุล, นายแสงสินธุ์ กิจตั้งจรัส บุคคลเหล่านี้ แม้บางคนจะเข้าสู่ปัจฉิมวัยแล้วก็ตาม พวกเขายังพยายามเกาะกลุ่ม พูดคุยแลกเปลี่ยน หากิจกรรมต่าง ๆ มาเคลื่อนไหว ทำกิจกรรมเพื่อสังคมตลอดเวลา มาจนถึงทุกวันนี้

            วาระหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุย ในฐานะลูกอีสานที่ยังรักและห่วงใยแผ่นดินเกิดก็คือ วาระเรื่องน้ำและการแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืนจะทำกันอย่างไร? ในฐานะภาคประชาชนที่มีแต่ความคิดปราศจากอำนาจ กลไกและเงินทอง คือ ข้อคิด วิเคราะห์ ที่จะต้องหาทางตกผลึกสรุปยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนกันให้ได้ ในที่สุดก็สรุปร่วมกันได้ว่า วาระน้ำอีสาน คือวาระที่จำเป็นและเร่งด่วนที่คณะจะต้องร่วมกันหาวิธีนำเสนอ ผลักดันทุกวิถีทาง เพื่อให้เกิดขบวนการขับเคลื่อนที่เป็นระบบและทรงพลัง การจัดตั้งมูลนิธิซึ่งเป็นนิติบุคคลน่าจะเป็นกลไกและศูนย์รวมสำคัญในการขับเคลื่อนในวาระนี้ จากนั้นในปี ๒๕๔๐ ก็ร่วมลงชื่อเป็นคณะผู้ก่อการจัดตั้ง “มูลนิธิน้ำและคุณภาพอีสาน” แบ่งงานกับออกเป็นสองคณะ คือคณะจัดหาทุนเพื่อก่อตั้งมูลนิธิ อีกคณะหนึ่งเตรียมการจัดทำโมเดลโครงการ “ผันโขงลงพอง ด้วยระบบแรงโน้มถ่วง” ซึ่งต่อมาก็คือโครงการโขง, เลย, ชี, มูล การผันน้ำด้วยระบบแรงโน้มถ่วงภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั่นเอง  การคิดและการนำเสนอโครงการขนาดใหญ่ ที่ต้องใช้เงินและเวลามหาศาล อีกทั้งไม่ใช่หน่วยดำเนินการของภาคราชการ หลายคนบอกว่า ยากที่จะเกิดขึ้นได้ แต่คณะบุคคลผู้คิดการใหญ่คณะนี้ กลับมั่นใจและมองว่านี่คือบริบทใหม่หรือมิติใหญ่ แห่งการนำเสนอโครงการที่ริเริ่มจากภาคประชาชนผู้เป็นเจ้าของพื้นที่ การจุดประกายบอกกล่าวให้คนอีสานรับรู้ และเข้าร่วมขบวนการผลักดันน่าจะเป็นพลังขับเคลื่อนที่ฝ่ายการเมืองหรือฝ่ายนโยบายต้องคิดและพิจารณา เพื่ออาจจะนำไปเป็นนโยบายของพรรคก็ได้ อีกทั้งคณะเองก็มั่นใจว่า การนำเสนอโมเดลหรือรูปแบบของโครงการที่ชัดเจน เข้าใจง่าย มีข้อมูล, รายละเอียด ที่เกิดจากการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นอย่างถูกวิธี หน่วยวิชาการหรือหน่วยดำเนินการ เช่น กรมชลประทาน ก็น่าจะรับไปดำเนินการได้ง่ายขึ้น ประกอบกับการสร้างเครือข่าย สร้างพันธมิตรกับองค์กรภาคประชาชนอื่น ๆ เช่น สภาเกษตรกร, สภาหอการค้า, สภาอุตสาหกรรม เครือข่ายประชาชน ๒๐ จังหวัด แก้ปัญหาภัยแล้งอีสาน ฯลฯ ก็จะมีน้ำหนักและเพิ่มพลังในการผลักดันได้ เมื่อฝ่ายจัดหาทุนพร้อม ฝ่ายจัดทำโมเดลพร้อม เมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๔๓ คณะผู้ก่อการจัดตั้งมูลนิธิน้ำฯ ได้เข้ากราบนมัสการหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ณ วัดบ้านไร่ เพื่อให้ท่านได้รับทราบโครงการ และได้รับรู้ปณิธานหรือเจตนารมณ์ของคณะผู้ก่อการฯ ที่มีความจริงจังตั้งใจในการนำเสนอโครงการเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งภาคอีสานอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งขออนุญาตหลวงพ่อคูณตั้งตู้บริจาค, แผ่นพับโครงการไว้ ณ วัดบ้านไร่ เพื่อให้สาธุชนผู้มากราบไหว้หลวงพ่อ ได้รับรู้โครงการและร่วมกันบริจาคเพื่อสมทบทุนก่อตั้งมูลนิธิน้ำฯ …สาธุ…ในบุญบารมีของหลวงพ่อคูณ นอกจากท่านได้อนุญาตให้ตั้งตู้บริจาคแล้ว ท่านยังได้มอบปัจจัยส่วนตัวของท่านจำนวน ๑๐,๐๐๐ บาท เพื่อเป็นทุนประเดิมในการจัดตั้งมูลนิธิน้ำฯด้วย พร้อมทั้งได้กล่าวให้กำลังใจคณะฯว่า…

“กูให้เงินส่วนตัวหนึ่งหมื่นบาท

ให้พวกเอ็งไปหาวิธีเอาน้ำโขง

มาช่วยแผ่นดินอีสาน…ช่วยคนอีสาน

ให้หายยากจนเด้อ…ไอ้นาย!”

            พรอันยิ่งใหญ่จากหลวงพ่อคูณในวันนั้น เหมือนน้ำทิพย์ชโลมใจให้คณะผู้ก่อการฯ มีพลังใจที่จะขับเคลื่อนโครงการเพิ่มเป็นร้อยเท่าพันทวี จากนั้นในต้นเดือนมีนาคม ๒๕๔๓ คณะผู้ก่อการจัดตั้งมูลนิธิน้ำฯ จึงได้ประกาศและเปิดตัวจัดตั้ง “มูลนิธิน้ำและคุณภาพชีวิต” พร้อมทั้งประกาศเปิดตัวโมเดลโครงการโขง,เลย, ชี, มูล การผันน้ำด้วยระบบแรงโน้มถ่วงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างยิ่งใหญ่ ณ สนามหน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น ในงานมีกิจกรรมมากมายหลายอย่าง ทั้งเปิดเวทีคอนเสิร์ตใหญ่ ด้วยศิลปินราชินีหมอลำ “บานเย็น รากแก่น” วงเพื่อชีวิต คนด่านเกวียน, คาราวาน, พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ ฯลฯ  เชิญดาราคนดังร่วมเตะฟุตบอลการกุศล, จัดเวทีเสวนาการผันแม่น้ำโขงด้วยระบบแรงโน้มถ่วง ในแต่ละกิจกรรมได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม ทั้งพี่น้องชาวจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียง รายได้จากการจัดงานหลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว มีรายได้เหลือเกือบสี่แสนบาท จึงเพียงพอในการขอจัดตั้งมูลนิธิน้ำและคุณภาพชีวิต ที่จะต้องมีเงินฝากบัญชีประจำไม่ต่ำกว่าสองแสนบาท จึงจะสามารถขอจัดตั้งมูลนิธิฯได้

            เมื่อประกาศตัวตนเป็นทางการแล้ว ก็เหมือนหนึ่งเป็นสัญญาประชาคมที่คณะผู้ก่อการจะต้องเดินหน้า แบกภาระทั้งหมดทั้งมวลเอาไว้เต็มบ่า ภาระเฉพาะหน้าที่สำคัญที่สุด คือ จะต้องเร่งสำรวจออกแบบ เพื่อจัดทำโมเดลให้สมบูรณ์ที่สุด ต้องระดมนักวิชาการทั้งวิศวกร, นักธรณีวิทยา, นักอุทกวิทยา ร่วมกันจับระดับคอนทัวร์ (ระยะสูงต่ำ-ลาดเอียง) วางแนวทางการผันว่าจะขุดอุโมงค์ผันตรงไหน, คลองลอยคลองเปิดตรงไหนเป็นระยะทางเท่าไหร่, อ่างที่จะพักน้ำหรืออ่างที่จะต้องกระจายทำต่อมีกี่อ่าง ประมาณการมูลค่าของโครงการทั้งหมด, ศึกษาความคุ้มค่าการลงทุนเบื้องต้น, ประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเอาไว้ เนื้องานตรงนี้มากมายมหาศาล เป็นงานที่ท้าทายคณะผู้จัดทำโมเดลอย่างหนัก…ครับ ตอนหน้ามาว่ากันอีกสักตอนหนึ่ง ว่าพวกเขามีความยากง่ายในการจัดทำโมเดล, การประชาสัมพันธ์โครงการฯ และการผลักดันโครงการกันอย่างไร?

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com