ผมไม่ใช่คนหัวใหม่ไอที แต่จัดอยู่ในพวกโลโบราณมากกว่า เครื่องเล่นคนรุ่นใหม่ โทรศัพท์มือถือก็ได้แต่โทรออกและรับเข้า สมาร์ทโฟนก็เล่นไม่เป็น แต่พอดูได้
ในโลกยุคใหม่ยุคดิจิทัล โซเชียลมีเดีย สื่อต่าง ๆ เขารวดเร็วทันใจ ถึงยังไงผมก็ยังเป็นคนชอบอ่านสื่อสิ่งพิมพ์มากกว่าทางหน้าจอ ยังอ่านหนังสือพิมพ์ นิตยสารต่าง ๆ อยู่ แต่หลัง ๆ ชักอ่านหนังสือพิมพ์น้อยลง ซื้อหนังสือพิมพ์ราคา ๑๐ บาท อ่านได้ไม่ถึง ๕ บาท เหตุเพราะบทความแต่ละคอลัมน์ยังเขียนอยู่แต่เรื่องเดิม ๆ ไม่พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปไหน หลายคอลัมนิสต์ในอดีตเคยเขียนหากินอยู่กับเรื่องการเมืองมานานเลยไม่รู้จะไปทางไหน ในช่วงการเมืองสงบคอลัมน์ก็กร่อยไม่คิดจะเปลี่ยนแปลง หรือหาสิ่งใหม่ ๆ มาชดเชย ผมมันคนหัวเก่าอ่านเรื่องเก่ามามากเลยอยากอ่านเรื่องใหม่บ้าง ถึงจะเป็นเรื่องเก่าก็ให้เป็นลีลาใหม่บ้างก็ยังพอไหว อาจมองได้หลายแง่หลายมุมอยู่ที่ว่าเราจะเขียนถึงมุมไหนที่มันแตกต่างเท่านั้น เหมือนธรรมชาติของกระจกเงามีแค่ ๒ ด้าน แต่ผู้รู้ผู้คิดต่างยังมองเห็นกระจกถึง ๖ ด้าน
อย่างสื่อทางโทรทัศน์ระบบดิจิทัลเกิดขึ้นมากมายหลายช่อง ในช่วงผ่านมาข่าวการเมืองเรื่องทะเลาะวุ่นวายปั่นหัวชาวบ้านไม่มี ก็มีรายการข่าวบางช่องเขาหัวดี ปรับเปลี่ยนข่าว ให้เป็นข่าวชาวบ้านประเภท (ตีหัวหมา ด่าแม่เจ็ก) เสนอข่าวจากคลิปวิดีโอ แบบฉับไวถึงลูกถึงคน กลายเป็นที่นิยมของคนเสพข่าวที่เบื่อข่าวการเมือง หันไปเสนอข่าวอุบัติเหตุ ข่าวอาชญากรรม ปล้นจี้ ฆ่ากัน ข่าวขับรถปาดหน้าลงมาต่อยกัน แม้แต่ข่าวล็อตเตอรี่ ๓๐ ล้านกลายเป็นข่าวเด่นคนดูติดตามกันเป็นเดือนเป็นปี เพราะมีข้อดีตรงการติดตามข่าวเจาะลึกตามภาษาคนข่าวเขาว่า “กัดไม่ปล่อย” โทรทัศน์ช่องหลักช่องรอง ก็เฮโลกันมานำเสนอข่าว ชาวบ้านแข่งขันกันสืบเสาะหาสาเหตุของข่าวจนจะกลายเป็นสายสืบเสียเอง แบ่งเบางานตำรวจไปได้เยอะ
โทรทัศน์เขาล้ำหน้าไปแล้ว แต่หนังสือพิมพ์ยังหากินอยู่กับอุดมการณ์เก่า ๆ ยิ่งช่วงนี้เรื่องการเมืองเริ่มโหมโรงแล้ว หนังสือพิมพ์คอลัมนิสต์ต่าง ๆ ก็ควักตำราเดิมออกมาหากินเล่นข่าวการเมืองไว้ก่อน เอาคำพูดคนนี้ไปโจมตีคนโน้น เอาคำพูดคนโน้นมาถามคนนี้ เพื่อให้เป็นข่าวขายดี โดยไม่รู้หรอกหรือว่าประชาชนเขาเบื่อเข็ดการเมืองวุ่นวายน้ำลายฟุ้ง จนเกือบจะพาชาติล่มจมมาแล้ว
ถ้าจะมองอีกมุมหนึ่ง มาเขียนอีกมุมหนึ่ง อาจจะเป็นประโยชน์ต่อชาวบ้านประชาชนคนอ่านได้ เช่น นักการเมืองพูดอะไร ก็วิเคราะห์ว่าเรื่องที่พูดเป็นไปได้แค่ไหน ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ หรือพูดเอามันก็เขียนไปตามความเป็นจริง ประชาชนคนอ่านจะได้รู้จริง นักข่าวใหญ่บางคนบอกว่า “สื่อมีหน้าที่เสนอข่าวไปตามความเห็นของแหล่งข่าว ประชาชนต้องไปพิจารณาเอาเองว่าจริงหรือเท็จ” ผู้เขียนเห็นว่า “ประชาชนชาวบ้านก็เหมือนคนไข้ไปหาหมอตรวจโรคว่าเป็นโรคอะไร เสร็จแล้วเอายามาวางให้พิจารณาเลือกยากินเอง” มันไม่ถูก
แต่มาคิด ๆ ดู คอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์รายวัน ต้องหาเรื่องมาเขียนทุกวัน ขนาดเราเขียนบทความลงใน “นิตยสารทางอีศาน” แค่เดือนละครั้งยังงง ๆ ว่าจะเขียนอะไรดี แล้วเหล่าซือแป๋ คอลัมนิสต์ใหญ่ ในหนังสือพิมพ์รายวันต้องเขียนทุกวันจะเอาเรื่องใหญ่อะไรมาเขียนให้ทัน เรื่องที่หาได้ง่าย ๆ คือข่าวการเมือง จับคำพูดคนโน้นไปโยงกับคนนี้ ก็เลยพอกล้อมแกล้มเขียนข่าวได้ทุกวันตามความถนัด
แต่เชื่อเถิดว่า ถ้ายังเล่นมุกเดิม ๆ ไม่ยอมเปลี่ยนมุมมองกระจกให้ถึง ๕ – ๖ ด้านบ้าง ผู้อ่านคงเบื่อ สื่อสิ่งพิมพ์คงไปเร็วกว่าที่คาด เหมือนของเก่าถ้าไม่อยากตกยุคเร็วเกินไป ก็น่าปรับไอเดียให้ทันยุคทันสมัยอีกหน่อย หลายคนอาจจะยังไม่คิด หรือคิดแล้วไม่ทำก็ได้
เรื่องของข่าว หลัก ๆ ก็มี “ข่าวการเมือง” “เศรษฐกิจ” และ “สังคม” ยุคนี้คนไทยหันมาสนใจเรื่องใกล้ตัวมากกว่า สังเกตจากข่าวทางโทรทัศน์เสนอข่าวจากคลิปวิดีโอ พวกโซเชียลก็ตอบรับวิพากษ์วิจารณ์กันต่อ ๆ ไป คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์รายวันก็น่ามาเล่นข่าวสังคมก็ได้ ถ้าจะมาวิเคราะห์วิจารณ์ก็เชื่อแน่ว่าทำได้ดี และตรงไปตรงมามากกว่าพวกโซเชียลแน่นอน เช่นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์ฉบับหลัก ๆ หลายท่านก็ทำได้ดีเป็นมาตรฐานอยู่แล้ว โซเชียลมีเดียเร็วกว่าแต่เชื่อถือไม่ได้ คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์อาจช้ากว่าแต่เชื่อถือได้ประชาชนผู้อ่านจะเลือกทางไหน
เรื่องของสังคมจะมีเรื่องหลากหลายให้เขียนได้ไม่มีสิ้นสุด เพราะสังคมเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย ถ้าชี้แนะให้ข้อเปรียบเทียบแก่ผู้อ่านก็จะได้ประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมด้วย
ยุคของการ “ยุให้รำ ตำให้รั่ว” “หวังดี ประสงค์ร้าย” “ข่าวดีขายไม่ได้ ข่าวร้ายขายดี” น่าจะหมดไปจากสื่อมาตรฐาน สังคมไทยหรือสังคมไหน ๆ ทั่วโลกสื่อมีความสำคัญและมีอิทธิพลต่อสังคม ไม่แพ้ศิลปวัฒนธรรม ที่โน้มน้าวสังคมให้คล้อยตาม บ้านเมืองไหนมีสื่อที่มาตรฐาน บ้านเมืองนั้นประเทศนั้นก็มีมาตรฐานไปด้วย แต่สื่อก็คือมนุษย์ ย่อมมีทั้งดีทั้งไม่ดี มีความคิดแตกต่าง มีความเชื่อและทัศนะไม่ตรงกัน
ข้อความบทนี้ เขียนขึ้นขณะที่ผู้เขียนรู้สึกว่าอ่านหนังสือพิมพ์น้อยลง เพราะเหตุผลที่เกริ่นไว้แต่ต้นก็เลยวิเคราะห์ตัวเอง บันทึกไว้เป็นข้อคิดหนึ่งในฐานะเป็นผู้อ่าน แต่ดูเหมือนผู้เขียนเองก็ดีแต่ติคนอื่น ตัวเองบางครั้งก็ใช้วิชาเอาตัวรอดเหมือน “บักเซียงเมี่ยง” มาทำเป็น “กินเข้าโต โสควมเพิ่น” เผลอขึ้นธรรมาสน์ บังอาจเทศน์ให้สังฆราชฟัง “เอามะพร้าวห้าวมาขายสวน” อย่างนี้แหละ เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้แล