สโมสรนักเขียนภาคอีสาน : ตำนานคนวรรณกรรมจากที่ราบสูง (๕)

พระไม้ : จากบทเพลงชาวนาอาลัยถึงผญาแห่งยุคสมัย

ครูภาษาไทย ครูภูมิปัญญาท้องถิ่น จากเมืองพล เชี่ยวชาญทั้งอักษรไทย อักษรธรรม เขียนบทกวี บทเพลง บทวีดิทัศน์ นำเสนอเรื่องราวแสง สี เสียง ความเป็นมาของท้องถิ่น        

ประยูร ลาแสง เจ้าของนามปากกา “พระไม้” เกิดเมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน  ๒๕๐๐ ที่บ้านชัยพัฒนา ตำบลเก่างิ้ว อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น จบการศึกษาปริญญาตรี – ปริญญาโท วิชาเอกภาษาไทย จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม เป็นครูสอนภาษาไทย มีความสนใจในการศึกษาค้นคว้าแปลอักษรไทน้อย อักษรธรรม เนื่องจากบิดาเป็นหมอสูตรขวัญในงานมงคลในหมู่บ้าน จึงมีความสามารถในการอ่านบทแต่งแก้สะเดาะเคราะห์ จากอักษรธรรม หนังสือผูกพื้นบ้านอักษรไทยน้อย  แปลวรรณกรรมพื้นบ้านจากใบลาน เรื่อง กำพร้าไก่แก้ว (หอมฮู) นกกระจอก กำพร้าผีน้อย ให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ นอกจากนั้นยังแต่งบทกวี คำผญาอีสาน กลอนลำ เขียนบทการแสดง กำกับการแสดงแสงสีเสียงความเป็นมาของท้องถิ่น และผลิตสื่อมัลติมีเดียเพื่อการเรียนการสอน




ผลงานของ “พระไม้” รวมบทกวี “ใครขโมยฝันไปพันธนาการ” บทเพลง “ชาวนาอาลัย” วงคนด่านเกวียน บทเพลง “เพลงลา” ภาพยนตร์มนต์รักทรานซิสเตอร์

ผลงานบทกวี/บทเพลง

ปี ๒๕๒๖  แต่งเพลง “ชาวนาอาลัย” ให้กับวงคนด่านเกวียน

ปี ๒๕๓๐ แต่งเพลง  ฉันจะรักเธอ, นารอนาง, บ้านในฝัน ให้กับวงโฮป  เพลงประกอบภาพยนตร์ เรื่อง เกิดมาลุย ปีนเกลียว มนต์รักทรานซิสเตอร์ (ดอกลา)

ปี ๒๕๓๐ ได้รับรางวัลครูภาษาไทยดีเด่น จากกองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ 

ปี ๒๕๓๗ บทกวี “พอดี” ได้รับรางวัลชมเชย จากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย

ปี ๒๕๓๘ บทกวี “คว้า” ได้รับรางวัลดีเด่น จากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย

ปี ๒๕๔๐ รวมเล่มบทกวี  “ใครขโมยฝันไปพันธนาการ” โดยสำนักพิมพ์บ้านทุ่ง

ปี ๒๕๕๑ ได้รับคัดเลือกเป็นนักกลอนตัวอย่างภาคอีสาน จากสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย                                               

ปี ๒๕๕๗  ได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินมรดกอีสาน สาขาวรรณศิลป์ (วรรณกรรมร่วมสมัย) จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น          

บุญมา ภูเม็ง : พลังดนตรี มนต์กวีผญาอีสาน

ศิลปิน กวี นักเขียน นักดนตรี นักบริหารการศึกษา คือคำจำกัดความของความเป็น “บุญมา ภูเม็ง” 

ชาตรี เสงี่ยมวงศ์ เจ้าของนามปากกา “บุญมา ภูเม็ง” เกิดที่บ้านเป็ด อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น จบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ จากโรงเรียนบ้านเป็ด ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๗ จากโรงเรียนสวนสนุก ชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนขอนแก่นวิทยายน จบหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพช่างไฟฟ้า จากโรงเรียนการช่างขอนแก่น (วิทยาลัยเทคนิคขอนแก่น)  ระหว่างเรียนเป็นนักดนตรีคณะรำวงเพชรหนองเรือ และวงหมอลำในท้องถิ่น

ปี ๒๕๒๓ สอบเข้ารับราชการประจำเรือนจำกลางจังหวัดขอนแก่น สังกัดกรมราชทัณฑ์ เป็นสมาชิกกลุ่มวรรณกรรมลำน้ำมูล เป็นผู้ที่ชักชวนให้พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์ เข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่ม

ต่อมาย้ายประจำการที่ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดขอนแก่น เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอซำสูง  จังหวัดขอนแก่น  ผู้อำนวยการสถาบันการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดอุบลราชธานี  เกษียณราชการในตำแหน่งผู้อำนวยการเชี่ยวชาญศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอพระยืน จังหวัดขอนแก่น  เป็นผู้ประพันธ์เพลง “สุดสายปลายรุ้ง”  ให้กับวงจังหัน ของสลา คุณวุฒิ  “คิดถึงสาวน้ำพอง” “หุ้นรักติดลบ”  ในชุด ยาใจคนจน ของไมค์ ภิรมย์พร  เพลง“รักไม่ตลอด” “เสียน้ำตาหน้าจอ” ของพิมพา พรศิริ ประพันธ์เพลงมาร์ชโรงเรียน และทำงานดนตรีบันทึกเสียงให้กับนักร้องลูกทุ่งชื่อดัง  เขียนคอลัมน์ดนตรีในนิตยสารอาทิตย์ – วิวัฒน์ โดยใช้นามปากกา “บุญมา ภูเม็ง”

 

ปี ๒๕๕๒ ได้รับรางวัลเครือข่ายสถานศึกษาที่สนับสนุนการศึกษาดีเด่น ด้านนวัตกรรมประเภทสื่อการเรียนรู้       

ปี ๒๕๕๓  รางวัลดีเด่นระดับประเทศ สื่อแบบเรียนส่งเสริมการรู้หนังสือจังหวัดขอนแก่น  ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นผู้ทำคุณประโยชน์ทางด้านการศึกษา ประจำปี ๒๕๕๓       

ปี ๒๕๕๔  ได้รับเชิดชูเกียรติครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๗ ด้านศิลปกรรม (ดนตรีอีสาน)

 

ปัจจุบันเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการแต่งกลอนผญา กลอนลำอีสาน เขียนคอลัมน์กวี “สาส์นลึบให้สูญ” และควบคุมคอลัมน์กวีผญาอีสาน ในนิตยสารทางอีศาน

 

ชาตรี เสงี่ยมวงศ์ (“บุญมา ภูเม็ง”) บันทึกภาพร่วมกับอังคนางค์ คุณไชย

เยี่ยม ทองน้อย : จากทุ่งนาวังโกถึงรีสอร์ตริมน้ำเจา

จากทุ่งนาวังโก โสกขุมปูน ยโสธร ถึงวังตะกู ชัยภูมิ ใช้ชีวิตริมน้ำเจาแบบพอเพียง พร้อมปฏิบัติหน้าที่รักษาการผู้บริหารสถานศึกษา เขียนสารคดีจากชีวิตจริง การศึกษาภายใต้นามปากกา “ครูแสงดาว”  ยังยืนหยัดสู้ชีวิตบนโลกใบนี้

เยี่ยม ทองน้อย เกิดวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๐๒ ที่บ้านโสกขุมปูน ตำบลนาโส่ อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร

จบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ จากโรงเรียนบ้านโสกขุมปูน ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๗ จากโรงเรียนบ้านโนนยาง ตำบล กำแมด อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร  เรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ที่โรงเรียนโสภณวิทยา บ้านไผ่ใหญ่ อำเภอ          ม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี  ย้ายมาเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ – ๓ ที่โรงเรียนสาธุวิทยาศิลป์กุดชุม  (สาขาโรงเรียนสาธุวิทยาศิลป์บ้านโพนขวา อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอุบลราชธานี)

ปี ๒๕๑๙ เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ จากโรงเรียนสิทธิธรรมศาสตร์ศิลป์  สอบเข้าเรียนต่อที่วิทยาลัยครูอุบลราชธานี ภายหลังมีปัญหาเรื่องสุขภาพจึงพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านเกิด

ปี ๒๕๒๓ สอบเข้าเรียนต่อ ป.กศ.สูง วิชาเอกเกษตรศาสตร์ ที่วิทยาลัยครูอุบลราชธานี  ร่วมก่อตั้งวงดนตรีหญ้าแพรก โดยทำหน้าที่พิธีกรและนักร้องนำ

ปี ๒๕๒๔  บทกวี “หญ้าแพรก” ได้รับการตีพิมพ์ที่นิตยสารสยามใหม่  ภายหลังก่อตั้งวงดนตรี “กระดานชนวน” ร่วมกับคม ทัพแสง และคณะ ต่อมาได้รู้จักสมชัย ศรีลาชัย จึงแนะนำให้รู้จักกับ “ฟอน ฝ้าฟาง” จึงเข้าร่วมกิจกรรมและผู้ประสานงานกลุ่มวรรณกรรมลำน้ำมูล  

หลังเรียนจบเป็นผู้คัดเลือกเรื่องสั้นและบทกวีในนิตยสาร “ครูไทย”  “เสียงศรีสะเกษ”  ร่วมจัดทำหนังสือ “คึดฮอด” ฉบับปฐมฤกษ์  และสมัครเป็นครูช่วยสอนที่โรงเรียนบ้านกุดแดง อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร

ปี ๒๕๒๙ บรรจุเข้ารับราชการครูที่โรงเรียนบ้านโนนแฝก อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี  เริ่มต้นเขียนบทกวีและบทวิจารณ์วรรณกรรมโดยใช้นามปากกา “วิจารณ์ สนามจันทร์”  เขียนเรื่องสั้นเรื่องแรก “ปากเหวแห่งความตาย”

ปี ๒๕๓๑ ย้ายมาสอนที่โรงเรียนบ้านกุดแดง  อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร  และย้ายมาสอนที่โรงเรียนบ้านวังตะกู อำเภอภักดีชุมพล จังหวัดชัยภูมิ  จนถึงปัจจุบัน

ผลงาน/นามปากกา

เขียนสารคดีชุมชน “นาฏกรรมระบำดอกหญ้า” “ดอกจานที่บ้านโสก” “ดีเจบ้านนอก” เขียนคอลัมน์ “โรงเรียนนอกหน้าต่าง” ใช้นามปากกา “ครูแสงดาว” ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์

เขียนเรื่องผีและวิญญาณ ภายใต้นามปากกา เช่น ภูมิ วงค์โสธร, ทิดฮึม นาหนองโดน

เขียนงานวิจารณ์วรรณกรรม บทความทางวรรณกรรม ใช้นามปากกา ศรีปทุม, วิจารณ์ สนามจันทร์, ไทยอิสรา, แสงเรือง ส่องไทย  

 

ชาตรี เสงี่ยมวงศ์, วีระ สุดสังข์ และเยี่ยม ทองน้อย แห่งกลุ่มวรรณกรรมลำน้ำมูล

ความเคลื่อนไหวคนวรรณกรรมอีสาน
ปี ๒๕๖๑ – ๒๕๖๒ค

นายสังคม เภสัชมาลา ประธานสโมสรนักเขียนภาคอีสานแห่งประเทศไทย และคณะ ร่วมงานมหกรรมหนังสือภาคอีสาน ครั้งที่ 6 (I-SAN Book Fair 2018)  ระหว่างวันที่ ๑๒ – 18 ธันวาคม 2561 ณ ลานสุขภาพบึงสีฐาน ฝั่งตะวันออก มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ภายใต้แนวคิด สร้างสังคมอีสาน สู่สังคมรักการอ่าน “อ่านสร้างคน เขียนความสุข” โดยจัดให้มีการประมูลบทกวี การเปิดตัววารสารคำหอม และเปิดตัวหนังสือเรื่องสั้นและนวนิยายเรื่องแรกแห่งบรรณพิภพลาว

“คำหอม” หอมกลิ่นอักษร

หลังจากที่สังคม เภสัชมาลา รับตำแหน่งประธานสโมสรนักเขียนภาคอีสานแห่งประเทศไทย ได้ฟอร์มทีมงานเพื่อจัดทำวารสารคำหอม (The Kamhom Magazine) ราย 6 เดือน  โดยมีปราโมทย์ ในจิต เป็นบรรณาธิการ

ปราโมทย์ ในจิต ได้กล่าวถึงความเป็นมาของการจัดทำว่าเป็นสืบทอดเจตนารมณ์ของทีมงานนิตยสารของสโมสร จาก คึดฮอด จดหมายข่าวสโมสรนักเขียนภาคอีสาน แคนคูน อีสานไรเตอร์ ถึงวารสารคำหอม ต่างมีรากเหง้าเบ้าหลอม สร้างสรรค์กว้างไกล ไร้กำแพงแบ่งกั้น  เพื่อเป็นเวทีของนักคิดนักเขียน นักวิชาการ ผู้ทำงานด้านศิลปะวรรณคดี ในภาคอีสานและภูมิภาคอื่น ในการสร้างสรรค์ผลงานและเผยแพร่สู่สาธารณชน  เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนทรรศนะและประสบการณ์เพื่อให้ศิลปะวรรณคดีได้พัฒนาก้าวไกล  เสริมสร้างบรรยากาศในแวดวงศิลปะวรรณคดี ภายใต้ความหลากหลายในปัจเจกชน คณะบุคคล ให้เป็นที่ประจักษ์ และเป็นสมบัติร่วมกัน

เนื้อหาภายในเล่มที่น่าสนใจ  เช่น เรื่องเล่าประสบการณ์ชีวิตนักกวีระดับสากล กวีไกลบ้านคือว่านต่างสวน โดย ไชสุวัน แพงพง (Xaysouvanh Phengphong)  แปลโดย จินตรัย  เรื่องสั้น “พลับพลึงไพร”  โดย กวี ศรีธรรมานุกูล เรื่องสั้นแปล “สาส์นถึงการ์เซีย” (A Message to Garcia) โดย เอลเบิร์ต ฮับบาร์ด แปลโดย สรวงอัปสร กสิกรานันท์       

บทความทางวิชาการ “ความจริงในวรรณกรรม” ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ “ความเชื่อ และวัฒนธรรมดั้งเดิมในมหากาพย์ท้าวฮุ่งท้าวเจือง”  โดย ไพวัน มาลาวง  แปลโดย จินตรัย “กลวิธีแห่งเรื่องสั้นและนวนิยาย” โดย ประชาคม ลุนาชัย และบทความพิเศษ  “วรรณกรรม : สะพานทองเชื่อมของสองฝั่ง” โดย สมคิด สิงสง

สารคดี “นรกของชุมชนอีสานในจิตรกรรมฝาผนังอุโบสถวัดยางช้าอำนาจเจริญ” โดย ศุภชัย สิงห์ยะบุศย์  “กวย : ราชอาณาจักรที่หายไป” โดย หนานอ้น “เรื่องเล่า วิถีเกษตรอินทรีย์ที่นาสะเม็ง” โดย ประกาศิต คนไว

บทกวี “ดอกแคบาน บนลานปูน” โดย บ่าวเจดี เมืองขอนแก่น “ท่องเที่ยว เยือนเกาะครีต แห่งแอ่งอารยธรรมแรกเริ่มของโลก”  โดย MARIA “แดดตีห้า” โดย สันต์ธวัช ศรีคาแท้ “มหามาตุฆาต” โดย นนทพัทธ์ หิรัญเรือง  “ประวัติศาสตร์ที่เราไม่ได้เขียน” โดย สิริวตี  “แด่ คันเชงจุงก้า ขุนเขาสูงแห่งหิมาลัย” โดย แม่น้ำ เรลลี่ และบทเพลง “หลงเวลา” คำร้อง/ทำนอง โดย ศรีดาวเรือง  ปิดท้ายเล่มด้วยคอลัมน์แนะนำหนังสือสื่อหอม โดย “หนอนกระดึบ” แนะนำหนังสือน่าอ่าน

เรื่องสั้นและนวนิยายเรื่องแรกแห่งบรรณพิภพลาว

เรื่องสั้นและนวนิยายเรื่องแรกแห่งบรรณพิภพลาว แปลโดย จินตรัย  เนื้อหาภายในเล่มเป็นการปริทัศน์วรรณกรรมล้านช้างในอดีต ว่าด้วย “เสือยุติธรรม” นิทานก้อมหรือเรื่องสั้นเรื่องแรกของลาวซึ่งนำต้นฉบับมาจากไมโครฟิล์มที่ฝรั่งเศส เรื่องยาวเรื่องแรกของลาวต้นฉบับจากหอสมุดแห่งชาติลาว เรื่องสั้นวรรณกรรมปฏิวัติของลาวเรื่องแรก เรื่องสั้นเรื่องแรกนักเขียนสตรีลาว และเรื่องสั้นของมหาสิลา วีระวงส์ มหาปราชญ์ลุ่มน้ำโขง พร้อมชีวประวัติที่น่าสนใจ  สนใจสั่งซื้อได้ที่สำนักพิมพ์รวงคำ

164 หมู่ 3 ตำบลทรายมูล อำเภอทรายมูล จังหวัดยโสธร 35170

โทร. 062-198-5488,

081-799-7575

อีเมล์ pnaijit@gmail.com

 

ข้อมูลอ้างอิง/ภาพประกอบhttps://e-shann.com/?p=11671




กิจกรรมสโมสรนักเขียนภาคอีสานแห่งประเทศไทย ในงานมหกรรมหนังสือภาคอีสาน ครั้งที่ 6 จังหวัดขอนแก่น

บรรยากาศบนเวทีในงานมหกรรมหนังสือภาคอีสาน ครั้งที่ 6 (I-SAN Book Fair 2018) ที่จังหวัดขอนแก่น

Related Posts

เมืองนครจำปาศักดิ์ – ๓ –
ดอกขะเจียวจากโคกขี้แลน ตอนที่ 4
ตามรอย “คำพิพากษา” ที่ชุมชนบ้านบ่อ
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com