สโมสรนักเขียนภาคอีสาน : ตำนานคนวรรณกรรมจากที่ราบสูง (6)

สโมสรนักเขียนภาคอีสาน ก่อตั้งเมื่อเดือนกันยายน ๒๕๓๒ จะมีวาระครบ ๓๐ ปีในปีนี้ โดยมีพันธกิจและบทบาทในการขับเคลื่อนแนวรบด้านวรรณกรรม เชื่อมโยงสู่ศิลปะ วัฒนธรรมประเพณีในท้องถิ่น ภูมิภาค ระดับประเทศ  และต่างประเทศ  โดยมีคณะกรรมการบริหารสโมสรจัดกิจกรรมด้านวรรณกรรมอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ในระหว่างปี ๒๕๓๒ – ๒๕๓๙ ในยุคที่สมคิด สิงสง เป็นประธานสโมสรนักเขียนภาคอีสาน มีคณะกรรมการบริหารงานของสโมสรแต่ละช่วง ดังนี้

คณะกรรมการบริหารสโมสรนักเขียนภาคอีสาน พ.ศ. ๒๕๓๔

ประธาน (สมคิด สิงสง) รองประธาน (อภิเชษฐ ทองน้อย, ปราโมทย์ ในจิต) เลขาธิการ (สังคม เภสัชมาลา) รองเลขาธิการ (สมเกียรติ บริบูรณ์, ประยูร ลาแสง) นายทะเบียน (เยี่ยม ทองน้อย) ประชาสัมพันธ์ (จันทน์แดง คำลือหาญ) เหรัญญิก (วงเดือน ทองเจียว) วิชาการ (อรรถ นันทจักร์) สาราณียกร (วีระ สุดสังข์)

สวัสดิการ (โชติ ศรีสุวรรณ, สุภาส รัตนกุล)  ผู้ประสานงาน (มงคล ชนไธสง, สุชาติ เผ่าผม, สุนันท์ พันธ์ศรี)

คณะกรรมการบริหารสโมสรนักเขียนภาคอีสาน พ.ศ. ๒๕๓๘ – พ.ศ. ๒๕๓๙

ประธาน (สมคิด สิงสง) รองประธาน (จันทน์แดง คำลือหาญ) เลขาธิการ (เยี่ยม ทองน้อย) รองเลขาธิการ (สังคม เภสัชมาลา)  เหรัญญิก (วิวัฒน์ โรจนาวรรณ) ประชาสัมพันธ์ (ปราโมทย์ ในจิต, นฤมิตร ประพันธ์, เกษม ศรีโพนทอง) สวัสดิการ (โชติ ศรีสุวรรณ) นายทะเบียน (สุภาส รัตนกุล) ผู้ช่วยนายทะเบียน (สานิจ มาตขาว)  ผู้ประสานงาน (สุพัฒน์ คำย้าว, เด่นชัย น้อยนาง) ผู้ประสานงาน (บัณฑิต จันทศรีคำ, สุขุม คำภูอ่อน, มาโนช พรหมสิงห์, อภิเชษฐ ทองน้อย) วิชาการ (สมนึก พานิชกิจ, วีระ สุดสังข์) สาราณียกร (สนั่น ชูสกุล) ผู้ช่วยสาราณียกร (ประสิทธ์ เรืองคำ)

พันธกิจของนักเขียนและบทบาทวรรณกรรม : กรณีศึกษาจากนักเขียนสโมสรนักเขียนภาคอีสาน              

สมคิด สิงสง ได้ให้สัมภาษณ์สมิง จารย์คุณ ว่าด้วย พันธกิจของนักเขียนและบทบาทวรรณกรรม : กรณีศึกษาจากนักเขียนสโมสรนักเขียนภาคอีสาน” ไว้ว่า

“การเป็นกลุ่มเป็นก้อนมันทำให้บรรยากาศของการให้กำลังใจกันและกัน ยังเป็นโอกาสให้มีการปรึกษาหารือกัน ถ่ายทอดประสบการณ์ ให้คำแนะนำกันด้วย มันทำให้แต่ละคนกระตือรือร้นมากขึ้น เพราะคนเราไม่ใช่หิน ไม่ใช่ผา จะได้แข็งแกร่งอยู่ตลอดเวลา บางโอกาสจึงต้องการเพื่อนบ้าง”

“ตัวชี้ขาดน่าจะเป็นตัวนักเขียนท่านนั้น ๆ เอง สโมสรฯ น่าจะเป็นเพียงปัจจัยภายนอกเป็นส่วนประกอบหนึ่งเท่านั้น เพราะโดยธรรมชาติของคนเขียนหนังสือ นักเขียนต้องมีที่นั่ง มีมุมเฉพาะของตนเอง เพราะงานเขียนเป็นงานส่วนบุคคล บทบาทการรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนจะส่งผลถึงการพัฒนางานเขียนของแต่ละคนหรือไม่นั้น มันค่อนข้างเป็นเรื่องนามธรรมไปเสียแล้ว”        


 เอกสารประกอบการจัดกิจกรรมของสโมสรนักเขียนภาคอีสาน และจดหมายข่าวสโมสรนักเขียนภาคอีสาน ในยุคสมคิด สิงสง เป็นประธาน (ปี ๒๕๓๒ – ๒๕๓๙)

วรรณกรรมสร้างสรรค์ : อุปสรรคการสร้างและเผยแผ่กับบทบาทในการพัฒนาสังคม

ในระหว่างวันที่ ๑๕ – ๑๖ ธันวาคม ๒๕๓๓ สโมสรนักเขียนภาคอีสานได้จัดสัมมนานักเขียนภูมิภาคอีสาน ครั้งที่ ๒ เรื่อง “วรรณกรรมสร้างสรรค์ :  อุปสรรคการสร้างและเผยแผ่กับบทบาทในการพัฒนาสังคม”  ณ สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม  ผลสรุปและข้อเสนอแนะเผยแพร่ในวารสาร “ปากไก่” ของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ปีที่ ๒๐ ฉบับที่ ๑ เดือนพฤษภาคม ๒๕๓๔ ดังนี้  คือ

๑. เกี่ยวกับฐานะและบทบาทในสังคมของนักเขียน ในฐานะที่เป็นผู้ประกอบงานศิลปะทางด้านวรรณกรรม นักเขียนเป็นผู้สร้างสรรค์สิ่งประเทืองอารมณ์และภูมิปัญญา หล่อเลี้ยงชีวิตทางวัฒนธรรมของผู้คนในสังคม สร้างสรรค์ความงามอันสุนทรีย์ ความจริงหรือสัจธรรมแห่งปรัชญาและศีลธรรมความดีงาม โดยฐานะเช่นนี้นักเขียนจึงมีบทบาทเป็นผู้พัฒนาสังคมไปโดยปริยาย เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายดังกล่าว สโมสรนักเขียนภาคอีสานจึงให้ความสำคัญแก่ภูมิปัญญาชาวบ้านในท้องถิ่น สนใจศึกษาค้นคว้า และสร้างเงื่อนไขให้ภูมิปัญญาท้องถิ่นได้รับการเผยแผ่สู่สังคม

๒. เกี่ยวกับนโยบายสร้างความสมานฉันท์ สโมสรนักเขียนภาคอีสานสนใจที่จะเปิดเวทีให้นักคิดนักเขียนและนักวิชาการทางศิลปวัฒนธรรมมีโอกาสสร้างสรรค์เสวนากัน แลกเปลี่ยนทรรศนะและประสบการณ์ เพื่อร่วมกันค้นคว้าปัญหาเฉพาะเรื่อง และเสริมสร้างบรรยากาศทางวรรณกรรมให้คึกคักยิ่งขึ้น

ในด้านการสร้างความสมานฉันท์กับนักคิดนักเขียนนานาชาติ สโมสรนักเขียนภาคอีสานเห็นว่าผลงานวรรณกรรมสร้างสรรค์นั้นมีลักษณะความเป็นสากล ถือได้ว่าเป็นสมบัติร่วมกันของมนุษย์ ในฐานะที่ภูมิภาคอีสานของไทยมีรากเหง้าจากอารยธรรมลุ่มน้ำโขง สโมสรจึงให้ความสำคัญกับการสร้างความสมานฉันท์

ในหมู่นักคิดนักเขียนในบรรดาประเทศเพื่อนบ้านแห่งลุ่มน้ำดังกล่าว อันได้แก่ จีน พม่า ลาว ไทย เวียดนาม และกัมพูชา           

๓. เกี่ยวกับการเสริมสร้างบุคลิกภาพ “รักอ่าน – รักเขียน – รักหนังสือ” กับการส่งเสริมนักเขียนรุ่นใหม่ โดยให้ความสนใจกลุ่มเป้าหมายเยาวชนในโรงเรียนตั้งแต่ระดับมัธยมขึ้นไป อันดับต่อไปคือปัญญาชนซึ่งปฏิบัติงานภาคสนามอยู่ในพื้นที่ของภูมิภาค เช่น ครู พระนักพัฒนา นิสิตนักศึกษา ปัญญาชนในเมือง เป็นต้น เกี่ยวกับการปรับปรุงองค์กรประสานงาน สโมสรจะกระจายศูนย์ประสานงานสู่กลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ  เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่สมาชิกในการติดต่อสื่อสารกับสโมสร ศูนย์ประสานงานดังกล่าวจะอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาในตัวเมืองใหญ่ในภูมิภาค และจะมีศูนย์ประสานงานในกรุงเทพมหานครด้วย                           

๔. เกี่ยวกับงบประมาณ สโมสรจะมีการรณรงค์หาทุนมาดำเนินงานตามแผนปฏิบัติงานประจำปี และมีระบบการบริหารงบประมาณเหล่านั้นอย่างมีคุณภาพ

 

จากคึดฮอดถึงจุลสารของสโมสรนักเขียนภาคอีสาน

ภายหลังการประชุมใหญ่ประจำปีของสโมสรนักเขียนภาคอีสาน ที่สถาบันราชภัฏบุรีรัมย์เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๓๗  ได้มีมติให้จัดทำจุลสารของสโมสรนักเขียนภาคอีสานขึ้น  โดยมี นฤมิตร ประพันธ์ ทำหน้าที่บรรณาธิการ  และวิวัฒน์  โรจนาวรรณ  ร่วมจัดทำ โดยมีจุดมุ่งหมายคือ

๑. เพื่อเป็นแหล่งกลางสำหรับรายงานความเคลื่อนไหวของสโมสรและสมาชิก

๒. เพื่อเป็นสนามการประพันธ์ขนาดย่อมให้สมาชิกทำงานอย่างต่อเนื่อง

๓. เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมและบันทึกผลงานการประพันธ์ของสมาชิกสโมสรที่ผ่านการตีพิมพ์ในหน้าหนังสือต่าง ๆ

จดหมายข่าวสโมสรนักเขียนภาคอีสาน นับเป็นหนังสือทำมือในรุ่นแรกผ่านการโรเนียว ถ่ายเอกสารเย็บเล่มแจกจ่ายในกลุ่มสมาชิก

ในจดหมายข่าวสโมสรนักเขียนภาคอีสาน ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๔ ประจำเดือนเมษายน ๒๕๓๘ มีเนื้อหาที่น่าสนใจ เช่น รวมกลุ่มนักเขียนแล้วได้อะไร โดย ไพฑูรย์ ธัญญา ปลอกเปลือก “ดอกติ้วป่า” โดย สนั่น ชูสกุล เยี่ยมไร่ปากช่องของ ลาว คำหอม โดย นฤมิตร ประพันธ์ 

นอกจากนั้นยังมีเนื้อหาในแต่ละเล่ม  เช่น  คอลัมน์ แปลเรื่องสั้น “กระดูกอเมริกัน” ของ “บุญทะนอง ชมไซผน”  ปริวัตรแบบการแต่งกลอนลาวที่เรียบเรียงโดย มหาสีลา วีระวงค์ (๒๕๓๔) “วรรณกรรมลุ่มน้ำโขง” (๒๕๓๘ – ๒๕๔๐) โดย ปราโมทย์ ในจิต รำลึกและอาลัย ๒๑ ปี แห่งการจากไปของรมย์ รติวัน “นักรบผู้ขาดเหรียญ” (ปี ๒๕๓๘) ไปฟังเสวนา “รำลึกประเสริฐ จันดำ” ณ ศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพฯ สาขาผ่านฟ้า (ปี ๒๕๓๙) 

 

ครูกับงานด้านวรรณกรรม 

สมาชิกของสโมสรนักเขียนภาคอีสานส่วนใหญ่มีอาชีพรับราชการครูในโรงเรียนประถมศึกษา และโรงเรียนมัธยมศึกษาในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ทั้งนี้มีพื้นฐานการจัดกิจกรรมการอ่านการเขียนในระหว่างศึกษาเล่าเรียนจนรวมตัวกันเป็นกลุ่มวรรณกรรมในเวลาต่อมา ได้จัดกิจกรรมด้านวรรณกรรมอย่างต่อเนื่องทั้งในโรงเรียนและต่างจังหวัด  นอกจากนั้นยังมีกลุ่มนักพัฒนาเอกชน นักกิจกรรม นักสื่อสารมวลชน เครือข่ายนักคิด นักเขียนจากส่วนกลาง องค์กร มูลนิธิ กลุ่มวรรณกรรมในภาคอีสาน กลุ่มนักศึกษา อาจารย์ผู้สอนในสถาบันอุดมศึกษา ได้ให้การสนับสนุนส่งเสริมกิจกรรมของสโมสรนักเขียนภาคอีสานอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน  

สโมสรนักเขียนภาคอีสานในฐานะที่เป็นองค์กรในภูมิภาค ได้ทำหน้าที่ในการชี้ให้เห็นถึงสภาพปัญหาต่าง ๆ ในท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง โดยมีวรรณกรรมเป็นสื่อกลางในการสื่อสารกับผู้คน สิ่งที่นักเขียนกลุ่มนี้ยังคงมุ่งมั่นและสร้างสรรค์งานเขียนเพื่อสะท้อนปัญหาสังคมต่าง ๆ ในท้องถิ่นเพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหาทางแก้ไขต่อไปก็คือ ความเชื่อมั่นและศรัทธาในอำนาจของวรรณกรรม             

บทสรุป : จากยุคกลุ่มวรรณกรรมลำน้ำมูลถึงสโมสรนักเขียนภาคอีสาน (๒๕๒๕ – ๒๕๓๙)

จากยุคกลุ่มวรรณกรรมลำน้ำมูลถึงสโมสรนักเขียนภาคอีสานในระหว่างปี ๒๕๒๕ – ๒๕๓๙  โดยมีสมคิด สิงสง ทำหน้าที่เป็นประธานสโมสร  เป็นยุคคนป่าคืนเมืองของนักคิดนักเขียน ปัญญาชน หลังคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 ทำให้มีงานวรรณกรรมแนวบาดแผล อันเป็นอิทธิพลของนักเขียนรุ่นใหม่ในยุคต่อมา เกิดเป็นแนวร่วมกลุ่มวรรณกรรมทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยเริ่มจากสถาบันการศึกษาเป็นหลัก หลังจบการศึกษาได้รวมกลุ่มวรรณกรรมในแต่ละท้องถิ่น จัดกิจกรรมการอ่านการเขียนในกลุ่มและสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะกลุ่มวรรณกรรมลำน้ำมูลถือเป็นต้นธารวรรณกรรมของคนหนุ่มสาวในยุคคนป่าคืนเมืองอย่างแท้จริง แม้ว่าจะไม่เป็นกลุ่มวรรณกรรมอย่างเป็นทางการ ผลัดใบสานต่อยุคสโมสรนักเขียนภาคอีสาน ผลิตหนังสือเฉพาะกิจในวาระต่าง ๆ  เช่น คึดฮอด จดหมายข่าวสโมสรนักเขียนภาคอีสาน 

นอกจากนั้นยังมีกลุ่มวรรณกรรมนักเขียนอีสานรุ่นใหม่ในต่างจังหวัด และสถาบันการศึกษาอีกหลายกลุ่ม ซึ่งจะได้กล่าวในตอนต่อไป

 

 

 









 ผลงานของนักเขียนอีสาน จากยุคกลุ่มวรรณกรรมลำน้ำมูลถึงสโมสรนักเขียนอีสาน






 ผลงานของนักเขียนอีสานในยุคสโมสรนักเขียนอีสาน รุ่นต่อมา

อ้างอิง  : 

จดหมายข่าวสโมสรนักเขียนภาคอีสาน ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๔ เดือนเมษายน ๒๕๓๘

สมิง จารย์คุณ.  พันธกิจของนักเขียนและบทบาทวรรณกรรม : กรณีศึกษาจากนักเขียนสโมสรนักเขียนภาคอีสาน  กรุงเทพฯ  : วิทยานิพนธ์ศิลปะศาสตร์มหาบัณฑิต (วรรณคดีไทย) สาขาวรรณคดีไทย ภาควิชาวรรณคดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ๒๕๕๐.

วารสาร “ปากไก่” ของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ปีที่ ๒๐ ฉบับที่ ๑ เดือนพฤษภาคม ๒๕๓๔.

Related Posts

อุรังคธาตุ – นิทานพเนจร : ที่จุดเริ่มต้นคือที่สุดท้าย – ตอนจบ
ดอกขะเจียวจากโคกขี้แลน ตอนที่ 5
วิญญาณการเมืองอีสาน
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com