ศิลปะการแสดงหมอลำเป็นอัตลักษณ์ เป็นจิตวิญญาณของคนไต คนไท และพัฒนาอยู่คู่อาณาจักรล้านช้าง ประกอบส่วนขึ้นเป็นอารยธรรมสองฝั่งโขง และแพร่กระจายไปทั่วไทยทั่วโลก
หมอลำเป็นนักเล่าเรื่อง นักการสื่อสาร ตั้งแต่ยุคที่คนยังเดินมุดป่าลัดเลาะไปมาหาสู่กัน ยุคที่ยังไม่มีทางเกวียน ไม่มีรถ ตั้งแต่โลกนี้ยังไม่มีวิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ
หมอลำคือนักปราชญ์ ผู้รู้ทุกศาสตร์และทุกศิลป์ เป็นผู้เชี่ยวชาญการใช้ภาษาขั้นสูง มีปฏิภาณไหวพริบ
หมอลำเกิดจากพิธีกรรมมาตั้งแต่โบราณกาล และเกิดจากการรวมหมู่ของมนุษย์ จากหมอลำพื้น หมอลำกลอน เป็นหมอลำหมู่ – หมอลำเพลิน หมอลำซิ่ง หมอลำเวทียักษ์ใหญ่ หมอลำรถแห่ กระทั่งหมอลำออนไลน์ ผสมผสาน ปรับเปลี่ยน รับใช้ผู้ชมผู้ฟังอยู่มาได้ทุกยุคสมัย
ครั้งอดีต ช่วงเวลางานบุญในชุมชนภาคอีสาน ภายในบริเวณวัดจะมีเวทีหมอลำตั้งอยู่อย่างถาวร ครั้นถึงเวลาจัดงานก็จะมีการปัดกวาด จัดแต่งเวที ประดับฉาก มีขี้กะไต้ให้แสงสว่าง ต่อมาได้ไฟตะเกียง และแสงสีจากไฟฟ้า ผู้คนญาติพี่น้องทั้งตามละแวกบ้านและจากทางไกล เมื่อเดินทางมาร่วมงาน ในช่วงกลางวันแยกย้ายอยู่กินกันตามครัวเรือนต่าง ๆ ตกค่ำคนนับร้อยนับพันจะออกไปปูเสื่อสาดนั่งดูหมอลำจนซอดแจ้ง
ศิลปะการแสดงหมอลำไม่เคยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ไม่เคยมีหลักสูตรการแต่งกลอนลำ การฝึกหัดลำร้อง ทั้งในและนอกห้องเรียน ซ้ำยังมีคำสั่งห้ามพูดภาษาถิ่นในชั้นเรียน ห้ามเป่าแคน ถึงกระนั้นศิลปะการแสดงหมอลำยังยืนยงแนบแน่นในจิตใจคน ยังมีการถ่ายทอด สืบต่อกันมาด้วยชีวิตต่อชีวิต และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มหาศาล
การเปิดพื้นที่ให้ฝึกฝนทักษะ ฟื้นฟู ส่งเสริม สนับสนุน ให้มีการบันทึก เผยแพร่ ภาษาพูดภาษาเขียน นิทาน ตำนานพื้นบ้าน ศิลปะการแสดงพื้นถิ่นต่าง ๆ นี่จึงจะเป็นการผลักดันให้เกิดมีอำนาจนุ่ม (ซอฟต์พาวเวอร์) อย่างแท้จริง
อำนาจนุ่มเกิดจากภายในของบุคคล ที่แวดล้อมด้วยชุมชนที่เข้มแข็ง มีเสรีภาพและสร้างสรรค์ โดยเบื้องต้นได้ทำหน้าที่เพิ่มพลังชีวิต พลังแห่งความสุข พลังแห่งความสามัคคี และอำนาจนุ่มจะปลุกให้ผู้คนลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาของตนเอง เพื่อมีชีวิตอย่างมีชีวาทั่วทุกหัวระแหง