หมาเก้าหาง..ดนตรีอีศานคลาสสิก
“อยากเห็นศรีสะเกษ….ในมุมนี้บ้าง” (ตอน หมาเก้าหาง… ดนตรีอีศานคลาสสิก)
มีใครเคยได้ยินเรื่องราวความเป็นมาของ “หมาเก้าหาง” บ้างไหมครับ ? คำว่า “หมาเก้าหาง”อาจจะไม่ใช่คำที่คนทั่ว ๆ ไปคุ้นเคยมากนัก แต่หมาเก้าหางนั้นมีความสำคัญในเชิงวัฒนธรรม ความเชื่อ ความศรัทธา ที่สืบทอดต่อกันมาแต่โบราณ เรื่องราวของหมาเก้าหางจะมีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของผู้คนอย่างไร เราไปค้นหาคำตอบพร้อมๆกันครับ
ผมได้ยินคำว่า “หมาเก้าหาง” ครั้งแรกในชีวิตก็เมื่อครั้งเดินทางไปศูนย์รวมใจ ทางไท ทางธรรม ทางพอเพียง บ้านหัวงัว ตำบลยางตลาด อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 3 – 4 มีนาคม 2561 เพื่อไปร่วมงาน พัฒนาศักยภาพนักสื่อสารชุมชน “รู้เท่าทันสื่อใหม่ เขียนอย่างไรไม่ตกยุค” จัดโดยนิตยสารทางอีศานร่วมกับโครงการสื่อสารสาธารณะเพื่อเสริมพลังชุมชนภาคอีสาน
เชื่อไหมครับว่า คำถามแรกที่มันโลดแล่นอยู่ในสมอง ณ ตอนนั้นคือ คำว่าหมาเก้าหาง มันคืออะไรกันแน่ มันมีความเป็นมาอย่างไร ทำไมหมาต้องมีเก้าหางด้วย ผมรีบค้นหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตทันที และพอทราบโดยคร่าวๆว่า หมาเก้าหางนั้นเป็นนิทานพื้นบ้านที่เกี่ยวข้องกับการก่อกำเนิดของข้าว
มีงานเขียนเรื่องข้าวหอมมะลิ ของคุณพัทธนันท์ โอษฐ์เจษฎา ที่ตีพิมพ์ในวารสารวัฒนธรรมรายสามเดือน ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ปีที่ 53 ฉบับที่ 4 ประจำเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2557หน้า 5-6
ตำนานการกำเนิดของข้าว ซึ่งเล่าโดย คุณตาทา ครองยุทธ ผู้เฒ่าชาวบ้านสวายสอ ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์
จากเอกสารคุณตาทาเล่าว่า “คราวหนึ่งนั้น หมาขี้เรื้อนเก้าหางได้ไปขโมยข้าวลงมาจากสรวงสวรรค์ และในระหว่างนั้นมีเทวดาองค์หนึ่งเกิดรู้ทันได้เอามีดไล่ฟัน หมายจะฟันคอให้ขาดแต่พลาดไปโดนหางแปดหาง หมาขี้เรื้อนที่ตอนนี้มีหางเหลืออยู่แค่เพียงหางเดียว พยายามดิ้นรนเอาชีวิตรอด
จนกระทั่งกลับมาถึงหมู่บ้าน พร้อมกับเมล็ดข้าวเปลือกที่ติดอยู่ตามพวงหางที่เหลืออยู่ของมัน คนในหมู่บ้านเมื่อเห็นเมล็ดข้าวจึงพากันเอาไปปลูกคนละเมล็ดสองเมล็ด กระทั่งข้าวที่ปลูกนั้นงอกงามแตกกอต่อรวงกลายเป็นข้าวเหนียวข้าวเจ้าให้พวกเรากินกันจนทุกวันนี้ “
หมาเก้าหางนอกจากจะเป็นเรื่องเล่าต่อ ๆ กันแบบนิทานพื้นบ้านในอดีตแล้ว ในยุคปัจจุบัน อ.ปรีดา ข้าวบ่อ ได้นำเรื่องราวทั้งหมดไปเขียนเป็นบทกวีและใช้ชื่อบทกวีนี้ว่า “หมาเก้าหาง”
“สายตำนานนำร่องสองฝั่งโขง หนึ่งเรื่องราวสาวโยง “หมาเก้าหาง”
เป็นนิทานพื้นบ้านสานเส้นทาง บรรพบุรุษสรรค์สร้างถากถางมา
ยุคปู่สังกะสาย่าสังกะสี กินทุกอย่างกลอยมันมีที่ดงป่า
ครั้นลูกหลานเกิดมากเกินพึ่งพา ต้องช่วยหาพันธุ์ผักหญ้ามาปลูกกัน
ปู่ย่าส่งหมาเก้าหางดั้นเมฆฟ้า ลอบใช้หางจุ่มแนวกล้ายุ้งสวรรค์
นำมาปลูกตามไร่นาสารพัน จึงได้ทันเลี้ยงพี่น้องทั้งป้องปาย
วีรกรรมบรรพหมาอ่าองอาจ เปรี้ยง! สายฟ้าเทวาฟาดปาดหางหาย
โทษขโมยหางแปดเส้นกระเด็นกระจาย เหลือหางเดียวกระดิกดายในวันนี้
คนจึงต้องสดุดีวีระหมา มุดน้ำเต้าเกิดมาไม่ประสาประสี
ภักษาหารมังสาหารบรรดามี สัตว์พืชพลีชีวีเลี้ยงเฮาเอย”
เรื่องราวของบทกวีที่ อ.ปรีดา ข้าวบ่อ ได้ประพันธ์ไว้อย่างงดงามนั้น ยังคงทำหน้าที่สื่อเรื่องราวของวัฒนธรรมคนอีสานไปอีกก้าวหนึ่ง เมื่อวงดนตรีที่ชื่อว่า “วงหมาเก้าหาง” ได้นำบทกวีนี้ไปประพันธ์ทำนองและเรียบเรียงดนตรีขึ้นมาใหม่ โดย น้องซัน ปรัชญา นันธะชัย (หัวหน้าวง) และสมาชิกวงหมาเก้าหาง ประกอบด้วย น้องอุ้ม วิมลรัตน์ (แคน) น้องเชษ ธัญเทพ (พิณ) น้องเบส ไพโรจน์ (กีตาร์) น้องเทิด ธีรศักดิ์ (จิมเบ้) น้องนัท นัทพงศ์ (ไข่ โปงลาง) โดยใช้ชื่อเพลงเดียวกันกับบทกวีว่า เพลงหมาเก้าหาง
วงดนตรีหมาเก้าหางเป็นวงดนตรีแบบอีสานคลาสสิก ที่มีความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะคือ มีการหยิบเอาเครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสานมาบรรเลงร่วมกันกับเครื่องดนตรีสากล ถือว่าเป็นมิติใหม่อีกมิติหนึ่งของวัฒนธรรมดนตรีร่วมสมัย มีการนำเอาเครื่องดนตรีสากลอย่างกีตาร์โปร่ง เครื่องดนตรีของชาวอัฟริกันอย่างจิมเบ้ มาบรรเลงร่วมกันกับเครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสาน เช่น พิณ แคน ซอ โหวด ปี่ภูไท
บทเพลงหมาเก้าหาง ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของคนอีสาน ที่ซ่อนเงื่อนไขของการสร้างสังคมให้เกิดความกล้าหาญและการทำสิ่งที่ดีงามเพื่อส่วนรวม อย่างเช่นวีรกรรมของหมาเก้าหาง นอกจากนั้นแล้วเพลงหมาเก้าหางยังบ่งบอกถึงตัวตนของคนอีสานโดยแท้ว่า คนอีสานนั้นต้องเป็นคนที่อ่อนน้อม รู้จักตอบแทนบุญคุณต่อผู้มีพระคุณ
ดนตรีอีศานคลาสสิกของวงหมาเก้าหาง “ยังเทียวทางบ่สุดเส้น…” ยังคงทำหน้าที่เผยแพร่งานวัฒนธรรมของคนอีสานอยู่ต่อไป เป็นไปได้ไหมครับว่า ถ้าเรานำเรื่องราวของหมาเก้าหางไปบรรจุไว้ในหลักสูตรของโรงเรียน แล้วครูนำเรื่องราวเหล่านี้ไปสอนให้กับเด็กๆนักเรียน วัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าเหล่านี้ก็จะยังคงอยู่คู่บ้านคู่เมืองเราต่อไปตราบนานเท่านาน เห็นด้วยกับผมไหมครับท่าน…