หลุมศพ “โนนเมือง” ชุมแพ ราวกระดูกกว่าสองพันปีที่พูดได้

เมืองโบราณโนนเมือง อยู่ในพื้นที่บ้านโนนเมือง ต.ชุมแพ อ.ชุมแพ จังหวัดขอนแก่น จากหลักฐานทางโบราณคดีที่ขุดค้น พบว่าเคยเป็นสถานที่มนุษย์อยู่อาศัยมาอย่างต่อเนื่อง
นับตั้งแต่ปลายยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยทวารวดี และมีร่องรอยการอยู่อาศัยเรื่อยมา ถ้าจะนับอายุจากหลักฐานที่พบก็ราว ๒,๕๐๐ ปี เรียกว่าร่วมสมัยกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลยทีเดียว
ชุมแพมีของดีและเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปมายาวนาน ยังไม่ต้องไปไกลถึง ๒,๕๐๐ ปี ก็ได้ สมัยศิลปินแห่งชาติไวพจน์ เพชรสุพรรณ มีชื่อเสียงโด่งดังก็มีเพลง สาวชุมแพ บทประพันธ์ของศิลปินแห่งชาติ พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา เนื้อเพลงท่อนหนึ่งว่า “ชุมแพพลเมืองหนาแน่น ดินแดนต่อแคว้นภูเวียง ภูเขียวอยู่ทิศเฉียง ๆ ติดทางเมียงก็เกษตรสมบูรณ์ ติดทางเมียงก็เกษตรสมบูรณ์..”
ยุคสมัยใกล้กัน สมัยหนังบู๊ครองตลาดก็มีหนังเรื่อง ชุมแพ ออกมาฉาย นำแสดงโดย สมบัติ เมทะนี เป็นนายอำเภอมือปราบที่โผล่มาในบทเสือเพิก ชุมแพ และยังมีนาท ภูวนัย แสดงเป็นผู้กองตงฉินชื่อผู้กองไชโย ประกอบด้วยดาวร้ายโด่งดังแห่งยุคนั้นคือเกชา เปลี่ยนวิถี แสดงเป็นจ่าถม นิยมไถ และดามพ์ ดัสกร แสดงเป็นภู น้ำพอง แถมด้วยดาราหัวโล้นพิภพ ภู่ภิญโญ เจ้าของประโยคบ้าน ๆ ว่า “ข้าจะยัดเยียดความเป็นผัวให้เอ็ง”
อยู่ ๆ เพลงสาวชุมแพ และหนังเรื่องชุมแพคงไม่เกิดขึ้นมาได้ง่าย ๆ ถ้าชุมแพไม่มีเสน่ห์ ไม่มีสิ่งใดดลใจให้พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ได้ประพันธ์เพลง และศักดิ์ สุริยา เขียนนวนิยายมาให้สร้างภาพยนตร์
เสน่ห์ของชุมแพนอกจากวิถีชีวิตผู้คนแล้วยังมีแหล่งโบราณคดีเก่าแก่ นั่นคือเมืองโบราณโนนเมือง การร่วงโรยของชุมชนโบราณแห่งนี้สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากอารยธรรมใหม่ที่แพร่เข้ามามีบทบาท ทำให้วิถีชีวิต ความเชื่อ และความเป็นอยู่เปลี่ยนแปลงไป และอาจจะมีเหตุปัจจัยอื่น ๆ เข้ามาประกอบด้วยอาทิ การเกิดโรคระบาด สงคราม และการอพยพย้ายถิ่นที่อยู่ใหม่เป็นต้น
สิ่งที่โดดเด่นเป็นประจักษ์พยานการมีอยู่ของชุมชนโบราณคือ หลุมฝังศพคนโบราณ เช่น ในอาคาร ๑ มีโครงกระดูกมนุษย์โบราณ อย่างโครงกระดูกหมายเลข ๒ มีป้ายอธิบายไว้ว่า เป็นโครงกระดูกผู้ใหญ่ที่ไม่สามารถระบุเพศวัยได้ชัดเจน เนื่องจากกระดูกถูกรบกวนมาก ทำให้กระดูกส่วนใหญ่หายไป โครงกระดูกนี้ฝังในลักษณะนอนหงายเหยียดยาว หันศีรษะไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ แขนข้างซ้ายใส่กำไลสำริดแบบเรียงกัน ๖ วง และชิ้นส่วนกำไลเปลือกหอย สันนิษฐานว่าน่าจะมีการเตรียมหลุมศพโดยการทุบภาชนะดินเผาให้แตกปูเป็นพื้นก่อนวางศพลง สิ่งของที่อุทิศให้ผู้ตายประกอบด้วยภาชนะดินเผาที่ถูกทุบให้แตกบริเวณด้านข้างกระดูกต้นขาซ้าย และทางด้านขวาพบก้อนหินทรายวางเรียงเป็นรูปวงกลม ๘ ก้อน ตรงกลางอีก ๑ ก้อน ลักษณะคล้ายเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมหรือไม่นั้นยังไม่ทราบแน่ชัด
และยังมีโครงกระดูกอื่น ๆ อีก แต่ละหลุมมีป้ายบอกข้อสันนิษฐานเอาไว้ เพื่อให้ทราบข้อมูลการขุดค้น สิ่งที่มีค่าต่อประวัติศาสตร์นอกจากโครงกระดูกคือ ข้าวของ เครื่องมือของใช้ต่าง ๆ ที่ฝังอยู่กับศพ เพราะสิ่งเหล่านั้นสามารถนำมาประกอบการสันนิษฐานอายุของศพ และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ตายว่า สมัยมีชีวิตอยู่นั้นทำมาหากินอย่างไร
เกี่ยวกับเรื่องทำศพของชาวอีสาน โดยเฉพาะเรื่องการฝังศพและนำข้าวของเครื่องใช้มาไว้กับศพ อาจารย์ปรานี วงษ์เทศ อาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร อธิบายว่าคนอีสานเมื่อประมาณ ๔,๐๐๐ ปี เชื่อว่าคนที่นอนตายอยู่นั้นยังไม่ตาย แต่เป็นการเปลี่ยนสภาพไปอีกสถานที่หนึ่งซึ่งศักดิ์สิทธิ์กว่า แล้วยังเชื่อว่าจะฟื้นขึ้นมาอีก จึงไม่มีการเผาศพ แต่ใช้วิธีฝังลงในดิน หรือเก็บไว้ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์
คำถามที่ว่าทำไมศพจึงมีข้าวของเครื่องใช้อยู่ด้วย คำตอบเรื่องนี้อาจารย์ปรานี วงษ์เทศ อธิบายว่า ด้วยความเชื่อว่า คนตายไปอยู่ในแดนศักดิ์สิทธิ์และฟื้นขึ้นมาอีก จึงจำเป็นต้องมีข้าวของเครื่องใช้ติดตัวไปด้วย สิ่งที่พบได้แก่ เครื่องประดับ ของใช้ในชีวิตประจำวัน และเครื่องมือทำมาหากิน เป็นต้น เฉพาะที่พบที่เมืองโบราณโนนเมืองนั้นอาทิ ภาชนะดินเผารูปทรงต่าง ๆ แวดินเผา ลูกกระสุนดินเผา เบี้ยดินเผา ท่อดินเผา ตะคันดินเผา ตุ๊กตาดินเผารูปควาย ชิ้นส่วนเศียรพระพุทธรูปดินเผา เครื่องมือเหล็ก เครื่องประดับสำริด ลูกปัดแก้ว ตะกรันเหล็ก เครื่องมือหิน กำไลหิน แม่พิมพ์ขวานมีบ้อง ลูกปัดหิน แท่งหินบด เครื่องมือจากกระดูกสัตว์ และเครื่องประดับจากกระดูกสัตว์ และเปลือกหอย เป็นต้น
ข้าวของเครื่องมือของใช้เหล่านี้ แม้คนโบราณอุทิศให้กับศพ ด้วยความเชื่อว่าผู้ตายจะได้นำไปใช้ แต่เกิดประโยชน์อย่างสูงกับนักโบราณคดี เพราะช่วยบอกยุคสมัยของศพ ตลอดจนการทำมาหากิน โดยดูจากข้าวของต่าง ๆ ที่ขุดค้นพบบริเวณหลุมศพ
เมืองโบราณโนนเมือง ยังมีอาคารจัดแสดงหลุมขุดค้น และหลุมฝังศพของคนก่อนประวัติศาสตร์ ทั้งโครงกระดูก เครื่องมือของใช้ต่าง ๆ และมี “ศูนย์ข้อมูลเมืองโบราณโนนเมือง” ที่พร้อมให้ทั้งข้อมูลประวัติการศึกษาการขุดค้น และการพัฒนาเมืองโบราณโนนเมืองอีกด้วย
เอาเข้าจริง…หลักฐานที่พบที่เมืองโบราณโนนเมืองนั้น ก็คล้ายกับถ้อยคำของคนในยุคบรรพกาล ที่ฝังฝากไว้บอกเล่าคนรุ่นต่อ ๆ มา “ราวกระดูกกว่าสองพันปีที่พูดได้”


******
ติดตามเรื่อง หลุมศพ “โนนเมือง” ชุมแพราวกระดูกกว่าสองพันปีที่พูดได้ ในคอลัมน์อีศานโจ้โก้ นิตยสารทางอีศาน ฉบับที่ ๑๐๖ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๔
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
shopee : https://shp.ee/texe8nd
LnwShop : https://www.thaibookfair.com/seller/chonniyom-eshann
โทร. 086-378-2516 บริษัท ทางอีศาน จำกัด 244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220