“หัวดำออกก่อน หัวด่อนนำหลัง”
ปราชญ์แห่งอารยธรรมลุ่มแม่น้ำโขงกล่าวไว้นานมาแล้ว “หัวดำออกก่อน หัวด่อนนำหลัง” “หัวดำ” ได้แก่ คนที่ผมยังดกดำ “หัวด่อน” ได้แก่ คนที่ผมเริ่มออกสีดอกเลา
ในทางความคิดและการกระทำเพื่อแปลงสร้างสิ่งใหม่ คนหนุ่มสาวผู้เปี่ยมด้วยความคิดสร้างสรรค์ กระตือรืนร้นและห้าวหาญ จะก้าวรุดหน้ากว่าคนทุกรุ่นวัย
ในเรื่อง การเมือง ที่ถือเป็นโครงสร้างที่ครอบทุกองคาพยพของสังคม การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่จะเกิดขึ้น ก็เป็นไปตามครรลองวาทะของปวงปราชญ์ – – “หัวดำออกก่อน หัวด่อนนำหลัง”
ห้วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานก่อนวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ ประเด็นหนึ่งที่ “คณะราษฎร” ประชุมปรึกษากันคือ ถ้าปฏิวัติสำเร็จจะแก้แค้นให้ “คณะ ร.ศ.๑๓๐” เลยไหม… นี่คือสายธารจิตวิญญาณ เลือดนักสู้ คือความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์จากจุดก่อเกิด และจะระโยงระยางจากรุ่นสู่รุ่นไปไม่สิ้นสุด…
“คณะ ร.ศ.๑๓๐” นักปฏิวัติประเทศไทยคณะแรกทำการล้มเหลว ถูกจับก่อนวันลงมือ ซึ่ง ๑ ใน ๓ ของคณะนี้เป็นนายทหารสังกัดกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว อีก ๒๐ ปีต่อมา “คณะราษฎร” ก่อการสำเร็จ แต่สังคมไทยก็ไม่ได้มีวิวัฒนาการที่ราบรื่น สวยงาม แม้ต่อมาได้เกิดการ “ปฏิวัติประชาธิปไตย” เมื่อวัน ที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๖ และมีขบวนลุกขึ้นต้านเผด็จการมาตลอด สุดท้ายสังคมไทยก็ย่ำเท้าอยู่กับที่ กระแสความคิดฝ่ายอนุรักษ์ยังครอบงำ
จากความพยายามเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคม “ศรีวิไล” โดยเริ่มต้นจากกลุ่มบุคคลที่เรียกตัวเองว่า “คณะ ร.ศ.๑๓๐” เมื่อพ.ศ.๒๔๕๕ ผ่านมาถึงวันนี้เป็นเวลา ๑๐๘ ปีล่วงไปแล้ว ผลจากเลือดเนื้อชีวิตที่อุทิศพลี ส่วนหนึ่งถูกตัดตอนทำลายล้าง ส่วนหนึ่งเกิดสภาพดังฝ่ายความคิดเก่าปรามาสไว้ คือ เกิดมีพรรคการเมืองสามานย์มากมาย มีผู้ยึดอาชีพนักการเมืองเข้ามาหาผลประโยชน์ทุกด้านจำนวนมาก มีการซื้อสิทธิ์ขายเสียง แต่ส่วนหนึ่งก็หยัดยืนต้านพายุและเกิดหน่อเนื้อพืชพันธุ์ใหม่ทะลึ่งตัวทรงกายขึ้น
เนื้อนาบุญสังคมไทยได้ให้กำเนิดลูกหลานที่ดีเลิศมาหลายรุ่น หลายยุคสมัย พวกเขารักชาติ รักประชาธิปไตย รักอิสรภาพเสรีภาพ ทุ่มโถมตนผลักดันให้ประเทศเจริญก้าวหน้า
ภายใต้วิกฤติพลโลกติดไวรัสเกือบ ๒๐ ล้านคน สงครามเย็นครั้งใหม่ระหว่างประเทศอภิมหาอำนาจกำลังปะทุเข้มข้น การนำของผู้นำประเทศไร้ภาวะผู้นำ ลิ่วล้อแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ ข้ารัฐการด้อยประสิทธิภาพและฉ้อราษฎร์บังหลวง สังคมเต็มไปด้วยอภิสิทธิ์ชน ความยุติธรรมสองมาตรฐาน คุกมีไว้ขังคนจน ทรัพยากรสาธารณะและช่องทางการทำมาหากินถูกผูกขาด วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมธรรมชาติถูกเร่ขาย
ภายใต้ภาวะการณ์สังคมที่หยุดนิ่งล้าหลังอนุรักษ์ ย่อมเป็นเชื้อมูลให้พืชพันธุ์แห่งการต่อสู้เติบใหญ่ ห้วงเวลาเช่นนี้ปราชญ์แห่งอารยธรรมลุ่มแม่น้ำโขงกล่าวไว้เนิ่นนานมาแล้ว…