อนาคตของอีสานอยู่ที่การเกษตร
ทางอีศาน ฉบับที่ ๗ ประจำเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๕
คอลัมน์: ส่องเมือง
Column: Focusing on the City
ผู้เขียน: เสรี พงศ์พิศ
ภาพ: ธมนันท์ ประทุม
Agriculture is the Future of Esarn
Two most important issues in the world today is food and energy. The crucial production means of these is land. The Northeastern region of Thailand counts more than one third of agricultural production areas of the country. It has more rain per year than the Central and the Northern region, but the least developed, and farming land yields the least of rice production. There is a need for communities to fi nd most effi cient ways to develop the own land. There are many best practices and role models, which confi rm the assumption that if Esarn has a good strategic plan and start to do it by themselves, without waiting for the government, Esarn will not only survive, but will have a much more sustainable development.
วันนี้โลกหมุนกลับ กลับมาหาชาวบ้าน กลับมาหาคนที่อยู่ในชนบท อยู่ใกล้ธรรมชาติ มนุษยโลกกำลังหาทางคืนดีกับธรรมชาติที่ตนได้ทำลายไปในนามของการพัฒนา
วันนี้ดินเป็นพิษ น้ำเป็นพิษ อากาศเป็นพิษ อาหารเป็นพิษ ชีวิตเป็นพิษ เกิดโรคภัยไข้เจ็บที่ไม่เคยเกิดมาก่อน มะเร็ง เบาหวาน หัวใจ ความดันเส้นเลือดตีบตันเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตทั่วบ้านทั่วเมือง ป่วยกันมากทั้ง ๆ ที่อาหารการกินก็มีมากมาย แต่คนมีเงินซื้ออาหารได้ แต่ซื้อสุขภาพไม่ได้ เพราะเลือกไม่ได้ หรือเลือกไม่เป็น กินอยู่ไม่พอดีก็มีแต่โรค
ปัญหาของโลกวันนี้มีเพียง ๒ อย่าง คือ อาหารและพลังงาน คนที่น่าจะโชคดีที่สุดจึงเป็นคนที่มีดินซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตสองอย่างนี้พลังงานใต้ดินกำลังจะหมดไป พืชเศรษฐกิจคือพลังงานทดแทนที่สำคัญ คนมีเงินเริ่มกว้านซื้อที่ดินกันเป็นแสนเป็นล้านไร่เพื่อผลิตน้ำมัน
ถ้าพี่น้องชาวอีสานตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก และขายที่ดินเหมือนกับที่กำลังขายกันวันหนึ่งข้างหน้า ลูกหลานเราจะเป็นเพียงแรงงานที่เขาจ้างไปทำไร่ทำนาในที่ดินที่เคยเป็นของพ่อแม่บรรพบุรุษ วันนั้นไม่ต้องพูดกันเรื่องประชาธิปไตยอีกแล้ว เพราะประชาธิปไตยคือประชาชนปกครองตนเอง ถ้าประชาชนพึ่งตนเองไม่ได้ แก้ปัญหาความยากจนไม่ได้ ประชาธิปไตยไม่เกิดอย่างแน่นอน
คนอีสานควรหันกลับมาเรียนรู้ว่า ทำอย่างไรจึงจะทำนาทำสวน ทำการเกษตรแล้วอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีและมีกิน มีความมั่นคงในชีวิต ทั้งวันนี้และยามแก่เฒ่า
พ่อเชียง ไทยดี คนศรีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์เคยมีนา ๗ ไร่ ทำนาเลี้ยงลูกเลี้ยงครอบครัวไม่พอจึงตัดสินใจเปลี่ยนนาเป็นสวน พ่อเชียงส่งลูกเรียนจบปริญญาตรีปริญญาโท ๕ คน โดยไม่เคยกู้ยืมเงินใครเลย และยังท้าว่า คนทำนา ๕๐ ไร่มีรายได้สู้ลุงทำสวนผสมผสาน ๗ ไร่ไม่ได้
ที่เล่าเรื่องลุงเชียงไม่ได้อยากบอกว่า ชาวอีสานต้องเปลี่ยนจากทำนามาทำสวนกันหมด ทำนาต่อไปก็ได้ แต่ต้องทำให้ได้ดีกว่าเดิม เคยได้ข้าวเพียง ๓๐๐ กิโลต่อไร่ ทำอย่างไรให้ได้สัก ๑ ตันทำอย่างไรจึงจะเจียดที่สัก ๒ ไร่มาทำเกษตรผสมผสาน ทำ ๑ ไร่ให้ได้ ๑ แสน ๒ ไร่ให้ได้ ๒ แสน
มีคนทำได้มากมายหลายคนในทุกจังหวัดแล้ววันนี้ มีแต่ว่าจะขยายปริมาณและเพิ่มคุณภาพกันอย่างไรเท่านั้น อันนี้ไม่ต้องรอรัฐบาล ไม่ต้องพึ่งแต่เรื่องจำนำข้าว หาทางพึ่งพาตนเองดีกว่า รัฐบาลนี้จะอยู่นานเท่าไรก็ไม่ทราบ โครงการจำนำข้าวจะยั่งยืนแค่ไหนก็ไม่รู้ ถ้ามันล้มเลิกไป ชาวนาจะได้ไม่อดตาย เพราะทางออกที่ตนเองพัฒนาขึ้นมากับมือนั้นดีกว่า ยั่งยืนกว่า
ปัญหาของพี่น้องชาวอีสานในการทำนาไม่ได้มีแต่น้ำ แต่ปัญหาพันธุ์ข้าว ปัญหาปุ๋ย ปัญหาดินปัญหาวิธีการทำนาที่ยังไม่ได้พัฒนา
ถ้าดูสถิติข้อมูลน้ำฝนทั้งประเทศจะพบว่า ฝนตกภาคอีสานมากกว่าภาคกลางและภาคเหนือ แต่เนื่องจากภาคกลางมีระบบชลประทาน จึงทำนาได้ ๒ ปี ๕ ครั้ง ภาคอีสานมีชลประทานไม่ถึงร้อยละ ๑๐ ของระบบชลประทานทั้งประเทศ ซึ่งกว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในภาคกลาง
ด้วยเหตุนี้ แทบจะเรียกได้ว่า คนอีสานทำนาปีด้วยน้ำฝนเพียงอย่างเดียว เทวดาท่านใจดีก็มีน้ำ ไม่มีก็แห่นางแมว จึงทำนาเฉลี่ยต่อปีได้เพียง ๓๑๖ ก.ก. ต่อไร่ ขณะที่ภาคกลางทำได้ ๕๖๒ ก.ก. ต่อไร่ คนภาคกลางทำนาปรังได้ ๖๘๙ ก.ก. ต่อไร่ คนอีสานที่อยู่ใกล้น้ำ ใกล้ชลประทานก็ทำนาปรังได้ข้าว ๔๙๗ ก.ก. ต่อไร่ ไม่ได้น้อยกว่าภาคกลางสักเท่าไร ลงทุนน้อยกว่า ใช้ปุ๋ยใช้ยาน้อยกว่าด้วย
ประเทศไทยมีพื้นที่ทำนาประมาณ ๖๐ ล้านไร่ อยู่ที่ภาคอีสาน ๓๓ ล้านไร่ ภาคกลาง ๑๐ ล้านไร่เศษ ภาคเหนือ ๑๒ ล้านไร่ ภาคใต้ ๒ ล้านไร่ มีพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิ ๑๖ ล้านไร่ เกือบทั้งหมดอยู่ในภาคอีสาน แม้จะปลูกที่ภาคอื่นบ้างแต่คุณภาพสู้ที่อีสานไม่ได้
คนอีสานจึงโชคดีที่มีพันธุ์ข้าวที่อร่อยมาก เป็นที่ต้องการของคนไทยและตลาดโลก ถ้าคนอีสานจัดการเรื่องพันธุ์ข้าวอย่างมีประสิทธิภาพ การทำนาจะดีขึ้น ต้นทุนการทำนาจะลดลง เพราะวันนี้พันธุ์ข้าวเป็นเรื่องใหญ่ แม้ว่าชาวนาส่วนหนึ่งจะพึ่งตนเองได้ แต่ส่วนมากก็ต้องพึ่งพารัฐและพ่อค้า พึ่งร้านค้าย่อยในตลาดที่เขาให้ทั้งปุ๋ยทั้งยาทั้งพันธุ์ข้าววันนี้มียักษ์ใหญ่กำลังหาทางผูกขาดพันธุ์ข้าวอีกต่างหาก
เรื่องน้ำที่เป็นหัวใจของการทำนา ชาวนาคงไม่ต้องรอโครงการยักษ์โขงชีมูล เพราะอย่างไรก็คงไม่สามารถช่วยชาวนาส่วนใหญ่ได้ ทำอย่างไรจึงจะแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง พร้อมกับท้องถิ่นที่คิดเป็นซึ่งมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ช่วยกันจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็ก เหมืองฝาย ขุดบ่อขุดสระ หาวิธีง่าย ๆ ไม่ให้น้ำซึมออกทางก้นสระและด้านข้างสระ น้ำก็จะขังทั้งปี
ส่วนโครงการจำนำข้าวนั้น พี่น้องคนอีสานได้รับอานิสงส์น้อยมาก เพราะเป็นชาวนาขนาดเล็กทำนาไม่กี่ไร่ ชาวนากว่า ๑ ล้านครอบครัวที่ไม่ได้นำข้าวไปจำนำ เพราะเอาไว้กิน เอาไปขายให้โรงสีให้พ่อค้าเพื่อใช้หนี้ค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าพันธุ์ข้าว ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ต้องไปขอให้เขาช่วย
คนอีสานไม่ได้อานิสงส์จากโครงการนี้ ตรงกันข้าม ต้องกินข้าวสารราคาแพงขึ้น ต้องซื้อปุ๋ยซื้อยาราคาแพงขึ้น ค่าแรงแพงขึ้น ค่าขนส่ง ค่ารถไถ ค่ารถเกี่ยวรถขนแพงขึ้นหมด อาหารการกินในตลาดก็ขึ้นตามไปด้วย ลูกหลานที่ไปรับจ้างในโรงงานหรือที่อื่นก็ต้องกินข้าวราคาแพงขึ้น วันนี้คนในภาคแรงงานมีมากกว่าชาวนา ผลกระทบของการจำนำข้าวจึงเป็นเหมือนบูมเมอแรง มันย้อนกลับมาหาชาวนาและลูกหลานชาวนาที่ต้องซื้อข้าวกิน
วันนี้คนทั้งโลกต้องการอาหารปลอดสารเคมีอาหารอินทรีย์ แผ่นดินอีสานมีศักยภาพที่จะเป็นครัวของโลกได้ถ้าร่วมกันพัฒนาด้วยความรู้ด้วยวิชาการ
ศรีสะเกษหลายปีก่อนว่ากันว่าจนที่สุดในประเทศไทย มีเด็กกินดิน วันนี้ศรีสะเกษพิสูจน์ว่าถ้าพัฒนาให้เป็น พัฒนาให้ดีก็รวยได้ ปลูกอะไรก็ขึ้น ขายไปทั่วประเทศ.