อีศานในสถานการณ์ไวรัส“โควิด-19” ลามระบาดทั่วโลก “ให้พี่น้องป้องปาย ซำบายดี ทุกผู่ทุกคน” – ไทลาว “บองปะโอน เซราะซะบาย คเนียนิจ” – ไทเขมร “เห้อพี้น้องป้องป๋าย ซ่ำบ๋ายดี๋ คู้คนเด้อ” – ไทผู้ไท “ให้อ้ายน้องป้องปาย สะบายดี สุคู่สุคนเด้อ” – ไทญ้อ ( 36 )
อีศานในสถานการณ์ไวรัส“โควิด-19” ลามระบาดทั่วโลก
“ให้พี่น้องป้องปาย ซำบายดี ทุกผู่ทุกคน”
– ไทลาว “บองปะโอน เซราะซะบาย คเนียนิจ”
– ไทเขมร “เห้อพี้น้องป้องป๋าย ซ่ำบ๋ายดี๋ คู้คนเด้อ”
– ไทผู้ไท “ให้อ้ายน้องป้องปาย สะบายดี สุคู่สุคนเด้อ” – ไทญ้อ ( 36 )
# วิถีชีวิตองค์รวม (holistic life)
โดย รศ.ดร.เสรี พงศ์พิศ
ความคิดเรื่องการฉีดน้ำยาซักผ้าขาวกับแสงเข้าร่างกายเพื่อรักษาโควิด-19 ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาเป็นตัวอย่างที่สุดโต่งแต่คลาสสิกที่สุดของการคิดแบบกลไก (mechanistic) คิดแบบแยกส่วน และคิดแบบลดทอน (reductionism) ลดอะไรที่ซับซ้อนให้ลงมาเรียบง่าย เป็นกลไกที่อธิบายได้มากที่สุด
เป็นการมองข้ามและไม่เข้าใจความเป็นจริงของชีวิต ของธรรมชาติ ของสรรพสิ่งซึ่งซับซ้อนกว่านั้น อธิบายได้ยาก และหลายอย่างไม่สามารถอธิบายได้ด้วย โดยเฉพาะถ้ายังคิดแบบเดิม ใช้ตรรกะเดิม สมการเดิม วิธีคิดแบบนี้มาจากตะวันตก ก่อตัวมาตั้งแต่สองพันปีก่อนตอนที่อริสโตเติลให้นิยามคนว่า ”คนเป็นสัตว์ที่มีเหตุผล”
จนพัฒนามาถึงเจ้าพ่อสำนักเหตุผลนิยมอย่างเรอเน เดการ์ต นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส (1596-1650) ที่บอกว่า “ฉันคิด ฉันจึงเป็นฉัน” (I think therefore I am) อริสโตเติลกับเดการ์ตช่วยกันทำให้สังคมลดความเป็นคนลงมาที่เหตุผล มีเหตุผลมากก็เป็นคนมาก
ผนึกเข้ากับแนวคิดวิทยาศาสตร์ของไอแซค นิวตัน (1642-1726) ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโลก เกิดการปฏิวัติทางเทคโนโลยี อุตสาหกรรม วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ทำให้คนอยากเรียนสูง ๆ เพราะการศึกษาทำให้คนฉลาด คิดเป็น มีเหตุมีผล ใบปริญญาการันตีว่ามีเหตุมีผล (ผอ.โรงเรียนไม่พอใจการโต้แย้งของกรรมการสถานศึกษาที่มาจากชุมชน ถามว่า คุณจบชั้นไหน จบอะไรมา)
ฐานคิดแบบแยกส่วนทำให้คนเชื่อในวิทยาศาสตร์เหนือสิ่งอื่นใด เพราะถือว่าเป็นผลของการคิดแบบมีเหตุผล พิสูจน์ได้ อย่างอื่นเป็นความเชื่อไปจนถึงความงมงายไสยศาสตร์ เพราะพิสูจน์ไม่ได้ (แบบวิทยาศาสตร์)
ผลจากแนวคิดแบบแยกส่วน แบบกลไก แบบลดทอนทำให้เกิดการพัฒนาที่มุ่งเอาประโยชน์ให้มากที่สุด ในนามของการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยไม่คิดถึงความสมดุลของธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงเอาเปรียบคนอื่น ทำลายธรรมชาติ สร้างแนวคิดทฤษฎีขึ้นมามากมายและแยลยลเพื่ออธิบายให้ความชอบธรรมแก่การกระทำของตนเอง
เรียกด้วยคำที่สวยหรูว่า “การพัฒนา” (development) แม้ว่าจะเป็นเพียง “ความทันสมัย” (modernization) ที่ทำให้เกิดมลภาวะ ดินเป็นพิษ น้ำเป็นพิษ อากาศเป็นพิษ อาหารก็เป็นพิษ ชีวิตเป็นพิษ เกิดโรคภัยไข้เจ็บมากมายที่ไม่เคยมีมาก่อน ไม่ว่าโรคไม่ติดต่ออย่างมะเร็ง หัวใจ เส้นเลือดตีบตัน ไขมัน เบาหวาน และอื่น ๆ รวมไปถึงโรคติดต่อมากมาย
ศตวรรษที่ 21 ที่โลกก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การแพทย์ สาธารณสุข เราได้เห็นการระบาดที่ตามกันมาถี่ ๆ ตั้งแต่ปี 2003 มี Sars, Mers, Ebola, ไข้หวัดนก, ไข้หวัดหมู และวันนี้กำลังเผชิญกับโควิด-19 ซึ่งเชื่อมาว่ามาจากการทำลายป่า ค้าสัตว์ป่า ทำให้ไวรัสกระโดดข้ามสายพันธุ์และมาสู่คน เกิดเป็นโรคระบาดที่วิทยาศาสตร์ยังหาคำตอบไม่ได้
การพัฒนาที่นอกจากทำลายความสมดุลของธรรมชาติ ยังทำลายความเป็นธรรมของความเป็นมนุษย์ไปด้วย มีคนรวยจำนวนน้อยที่เป็นเจ้าของทรัพยากรส่วนใหญ่ทั้งโลก เกิดระบบโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมที่ทำให้คนรวยรวยขึ้น คนจนจนลง และนับวันจะเลวร้ายลงไปถ้าหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงแบบรื้อทั้งระบบโครงสร้าง
ในยุคที่มีวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีในการผลิตอาหารเจริญก้าวหน้า แต่ก็มีคนนับพันล้านที่เข้านอนโดยท้องหิว ไม่มีอาหารรับประทานอย่างเพียงพอ มีเด็กหลายร้อยล้านเป็นโรคขาดอาหารในหลายประเทศ ทั้ง ๆ ที่มีอาหารเหลือทิ้งเน่าเสีย
……………………….
*อ่านเพิ่มเติมในเฟซบุ๊กของอาจารย์เสรี พงศ์พิศ | (6) วันอาทิตย์ – ความคิดคำนึง