อุรังคธาตุ – นิทานพเนจร : บุกดอยนันทกังฮี – ๑ (๕)

อุรังคธาตุ – นิทานพเนจร : บุกดอยนันทกังฮี – ๑ (๕)

“เนี่ยนะถ้าเรานั่งรถไปเราจะเห็นน้ำตกระหว่างทาง แล้วก็จะได้แวะหมู่บ้านชนเผ่าด้วยนะ” แม่ผู้อยากเปลี่ยนนิสัยรีบด่วนของลูกให้รู้จักละเลียดกับเรื่องราวระหว่างทางบ้าง พูดขึ้นลอย ๆ         

แผนของแม่สำเร็จ หน้าจอคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กที่กำลังแสดงตารางบินโดนพับปิด รายการสมบุกสมบันทัวร์ตามหารอยพระบาทของมหาบุรุษที่ดอยนันทกังฮีกำลังเริ่มบทใหม่

เมื่อ ๖ เดือนก่อน…

ฉันได้รับอีเมลสำเนาเอกสารใบลานเรื่อง “ตำนานธาตุหัวอกพระเจ้า” ของวัดใหม่สุวรรณภูมาราม เมืองหลวงพระบาง จากพระอาจารย์ไพวัน มาลาวง ท่านเป็นพระนักปราชญ์ด้านวรรณกรรมโบราณจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ด้วยเห็นว่ากำลังสนใจในเรื่องนี้จึงปันความรู้มาให้

แต่สำเนาที่ได้มานั้นมีเพียง ๘ ใบ แถมลายมือที่จารก็ค่อนข้างขยุกขยุยทำให้อ่านได้ไม่ปะติดปะต่อ ฉันจึงนำหนังสือนิทานอุรังคธาตุฉบับหลวงพระบางที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม จัดทำขึ้นมาเทียบเคียง ซึ่งตามตำนานได้กล่าวถึงตอนที่พระพุทธองค์เสด็จดอยนันทกังฮีไว้ว่า…

“หลังจากมหาบุรุษทรงทรมานนาคที่ภูกู่เวียนแล้ว จึงได้เสด็จไปสู่ดอยนันทกังฮี “ศรีสัตนาค” ได้เข้ามาทูลขอให้พระศาสดาย่ำรอยพระบาทไว้ที่ดอยแห่งนี้ แต่พระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงเหยียบไว้ พระอานนท์เห็นพระพุทธเจ้าแย้มพระโอษฐ์ก็ทูลถาม

พระศาสดาจึงตรัสและทำนายถึงเมืองแห่งนี้ในอนาคตว่า ต่อมาจะได้ชื่อว่า ศรีสัตตนาค (ศรีสัตนาคนหุตล้านช้าง) ตามชื่อนาคนั้น ซึ่งพระพุทธศาสนาในที่นี้จะเจริญรุ่งเรืองและเสื่อมสูญไปในที่สุด จนกว่าจะมีการตั้งเมืองจันทบุรี (เวียงจันทน์) ก็จะเฟื่องฟูขึ้นอีกครั้ง

ถ้าหากตถาคตประทับรอยพระบาทไว้บนดอยนันทกังฮี บ้านเมืองและพระพุทธศาสนาก็จะไม่มีในที่นี้ เพราะศรีสัตตนาคจักเทียวไปมาหวงแหนรอยพระบาท

ศรีสัตตนาคได้ยินจึงอธิษฐาน สมมุติให้หงอนของตนเป็นดอยนันทกังฮีเพื่อเป็นพุทธบูชา เมื่อพระพุทธเจ้าประทับรอยพระบาทไว้ที่แผ่นหินริมแม่น้ำด้านซ้ายดอยนันทกังฮีแล้ว จึงเสด็จขึ้นดอยอธิษฐานให้เป็นรอยพระบาทบนหงอนนาค แล้วเสด็จกลับป่าเชตวัน…”

ฉันเงยหน้าจากหนังสือนวนิยายเมื่อรู้สึกตัวว่ารถโดยสารกำลังข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว สู่นครเวียงจันทน์ เยี่ยมหน้าไปมองสายน้ำสีชาเย็นผ่านหน้าต่างแล้วทักทายในใจอย่างคนคุ้นเคย “ไง…เจอกันอีกแล้วนะ”

มาถึงเวียงจันทน์ทั้งทีไม่กินเฝอก็นับว่ายังมาไม่ถึง ที่จริงหน้าตามันก็เหมือนก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็กบ้านเรานี่เอง มีให้เลือกทั้งแบบเนื้อหมูหรือเนื้อวัว กินแกล้มกับผักแพว ผักกาดหอม สะระแหน่ โหระพาและผักชีฝรั่ง ใครชอบเปรี้ยวก็บีบมะนาว ใครชอบความซู่ซ่าก็เติมพริกเผาตามใจชอบ อิ่มหนำสำราญพุงก็มุ่งหน้าสู่วังเวียง ทีแรกฉันยังนึกภาพไม่ออกว่าด้วยระยะทางพอ ๆ กับขอนแก่น-กรุงเทพมหานคร เหตุใดจึงใช้เวลาเดินทางยาวนานเป็นวันเป็นคืนขนาดนั้น

และแล้วฉันก็เข้าใจ จนอยากจะส่งเสียงตะโกนดัง ๆ ไปถึงบ้านให้แม่ได้ยินว่า “คุณหลอกดาว!” เพราะความคดเคี้ยว เพราะลูกรังที่มีหลุมบ่อทุกระยะ แม้จะมีทางลาดยางมะตอยจากความร่วมมือของประเทศญี่ปุ่นพอให้ตับไตไส้พุงได้กลับมาสามัคคีกัน แต่ก็เป็นเพียงระยะสั้นๆ จากนั้นก็มีแต่ฝุ่นแดงฟุ้งไปตลอดทาง ทำให้ต้องพักครึ่งทางกันที่วังเวียง

มาถึงวังเวียงเอาตอน ๕ โมงเย็น คุณป้าเจ้าของโรงแรมแนะนำว่าจะค่ำมืดแล้วไม่ควรเที่ยวถ้ำ ไปนั่งเรือล่องแม่น้ำซองดีกว่า เอาเถอะฉันเองก็เชื่อในสุภาษิตเดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัดเสียด้วย แถมท่าน้ำก็ไม่ไกลจากโรงแรมนักเปลี่ยนบรรยากาศเสียหน่อยก็ไม่เลว

เรือที่นำเที่ยวเป็นเรือหางยาวที่นั่งได้เพียง ๒ ที่ เมื่อนั่งลงเรียบร้อยดีแล้วเจ้าของเรือจึงผลักเรือออกสู่แม่น้ำที่ฉันเพิ่งรู้จัก น้ำนั้นใสแจ๋วจนมองเห็นก้อนกรวดที่ก้นแม่น้ำ ไกลออกไปภูเขาหินปูนตระหง่านประกอบเป็นทิวทัศน์ที่เหมือนภาพฝัน จำได้ว่าคุณป้าดวงเดือน บุนยาวง เคยเล่าถึงตอนหนึ่งในบทกลอนสังสินไซว่าคล้ายกับภาพที่เบื้องหน้านี่เอง วังเวียงทุกวันนี้ได้ชื่อว่าเป็นเมืองสวรรค์ของนักท่องเที่ยว ทำให้นักลงทุนต่างชาติเริ่มเข้ามาสร้างกิจการของตนเองโดยเฉพาะพี่เบิ้มจากจีน สถานที่พักริมน้ำบางแห่งเอาหินก้อนใหญ่มาเรียง ทำให้ทางน้ำเปลี่ยนเพื่อความสะดวกแก่ลูกค้าตน

“เฮลโล”  นักท่องเที่ยวหนุ่มผมทองนั่งห่วงยางในล้อรถลอยมาจับกาบเรือ มือหนึ่งทำท่ากิฟ มี ไฟว์ (give me five)

“บ่ต้องย่าน น้ำลึกแค่หัวเข่า” คนขับเรือบอกเมื่อเห็นฉันยังคงนิ่ง

“อ๋อ บ่ได้ย่านตกน้ำ ย่านคุยกับฝรั่งบ่ฮู้เรื่อง” ฉันตอบคนขับเรือพร้อมกับส่งเพียงรอยยิ้มกลับไปให้นักท่องเที่ยวนั้น

นักท่องเที่ยวต่างชาติหลากเชื้อพันธุ์ต่างแหวกว่ายในสายน้ำเดียวกันอย่างสนุกสนาน ฉันลองเอื้อมมือลงไปสัมผัสดูบ้าง ในความชุลมุนสายน้ำซองนั้นยังเย็นดีอยู่

หลังขึ้นจากท่าน้ำท้องก็เริ่มส่งเสียงประท้วง แน่นอนว่ามาต่างบ้านต่างเมืองแบบนี้ กินอาหารท้องถิ่นน่าจะเป็นการเรียนรู้วัฒนธรรมที่ดีทางหนึ่งนะ คิดดังนั้นฉันจึงจัดมาอย่างเต็มที่ทั้งลาบหมู ป่นปลา ไข่เจียว และที่ทางร้านภูมิใจนำเสนอมากที่สุดเห็นจะเป็น “ปลาทอดกระเทียมที่ทอดโดยกะเทย” และตบท้ายด้วยโรตีหวานมันเจ้าแรกของวังเวียง

หิ้วพุงแน่น ๆ กลับที่โรงแรม มีกระดาษเคลือบพลาสติกใสเสียบอยู่หน้าห้อง เป็นเรื่องกฎระเบียบต่าง ๆ ของโรงแรม ห้ามเด็ดขาดโดยเฉพาะการเล่นพนันและยาเสพติดมิฉะนั้นจะแจ้งตำรวจทันที หลังอาบน้ำเสร็จขณะกำลังเขียนบันทึกประจำวัน กลิ่นไหม้เหม็นเขียว ๆ ของพืชบางอย่างลอยอวลผ่านเข้ามาทางท่อระบายน้ำในห้องพัก มันช่างย้อนแย้งเหลือเกินกับกฎที่ทางโรงแรมเคร่งครัด ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะอิทธิฤทธิ์ของพืชนั้นหรือเปล่าที่ทำให้คืนนั้นฉันนอนหัวเราะจนหลับไม่รู้ตัว

เส้นทางล่องเรือแม่น้ำซองมีระยะประมาณ ๒๐ กิโลเมตร ไม่มีแก่งหินขนาดใหญ่ นักท่องเที่ยวจึงนิยมพายเรือคายักชมธรรมชาติกันมากเส้นทางลาดไหล่เขาทั้งแคบและวกวนเจ้าของร้านโรตีเล่าว่ามาเรียนทำโรตีที่ฝั่งไทยเมื่อกลับมาเปิดร้านทางวังเวียงยังช่วยสอนคนอื่นๆ ที่คิดอยากประกอบอาชีพด้วยปากหม้อเจ้านี้เนื้อแป้งหนึบนุ่ม ผัดไส้กลมกล่อม หอมกลิ่นหอมเจียว บีบมะนาวลงไปในน้ำจิ้ม เข้ากันได้ดีจริงๆ

วันนี้ตื่นขึ้นมาก็เป็นเวลา ๖ โมงเช้าแล้ว แต่ฟ้ายังไม่สว่างเลยคงเพราะเป็นฤดูหนาวที่กลางคืนยาวนานกว่ากลางวัน ฉันรีบจัดการธุระส่วนตัวแล้วออกไปดูบ้านเมือง คุณป้าเจ้าของโรงแรมที่มาคอยดูแลอาหารเช้าสำหรับแขกชี้ไปทางลานกว้างหน้าโรงแรมเล่าว่า

“นั่นแม่นเดิ่นยนต์ เป็นลานบินเก่าแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง”

ลานหินที่บดละเอียดและอัดจนแน่นดี ปัจจุบันได้กลายเป็นลานอเนกประสงค์ของชาวบ้านในละแวกนั้น รวมทั้งยังเป็นที่ฝึกซ้อมฟุตบอลของหนุ่มน้อยที่ประกาศตัวว่าจะเข้าร่วมทีมชาติลาวให้ได้ด้วย ฉันลองเดินไปดูบรรยากาศค้าขายของชาวบ้านที่ถนนด้านหลังโรงแรมดูบ้าง รถราค่อนข้างบางตา ร้านอาหารเช้าบ้างพร้อมให้บริการแล้ว บ้างก็กำลังเตรียมทำน้ำยาน้ำพริกสำหรับกินกับขนมจีน บ้างก็เตรียมน้ำซุปกระดูกหมูสำหรับเฝอและข้าวเปียก ฉันเป็นคนที่ไม่ชอบกินอะไรเส้น ๆ น้ำ ๆ จึงปล่อยตัวปล่อยใจไปกับข้าวเกรียบปากหม้อเสีย ๒ จาน

สังเกตเห็นพวงเครื่องปรุงมีขิงปั่นมาให้ตักปรุงได้ตามใจชอบก็รู้สึกแปลกดีไม่หยอก เสียดายว่าปั่นเตรียมไว้นานจึงไม่ค่อยหอมแล้ว จากร้านอาหารข้างทางฉันกลับไปใช้สิทธิ์ของโรงแรมต่อ เป็นข้าวผัดแบบโบราณ ๆ คือ ผัดข้าวกับหมูสับ ปรุงด้วยซีอิ๊วดำและโรยต้นหอมซอย ลิ้นฉันไม่ค่อยคุ้นนัก แต่นักท่องเที่ยวที่สูงวัยหน่อยชอบกันมากทีเดียว

เมื่อเข็มนาฬิกาชี้ไปที่เลข ๘ ก็ได้เวลาเดินทางสู่เมืองที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทลำดับที่ ๔ เส้นทางทั้งคดเคี้ยวทั้งขรุขระไต่ไปตามไหล่เขา บางทีต้องหลบหลุมจนกินพื้นที่ไปยังเลนข้าง ๆ เวลารถอีกคันวิ่งสวนมาแต่ละทีเล่นเอาใจหายใจคว่ำด้วยความหวาดเสียว

จู่ ๆ อ้ายคนขับก็เบรกกึก! เปิดประตูรถผัวะ! วิ่งหายไปในพงหญ้าข้างทาง ก่อนจะเปิดประตูขึ้นมาถามผู้โดยสารบนรถด้วยน้ำเสียงร้อนรน

“มีรถตู้ทัวร์ไทยตกเขา มีผู้ใด๋เป็นหมอ หรือมีความฮู้พอบัวละบัดได้เชิญแด่”

ทั้งคันรถเงียบกริบ   

“ข้อยเป็นหมอ แต่เป็นหมอปัวสัตว์ได้บ่ล่ะ” ฉันจึงยกมือขึ้นแบบขลาดๆ

 “หมอหยังกะได้ มาเถาะ” อ้ายคนขับรถกวักมือเรียกระรัว

เดชะบุญที่รถตู้คณะนั้นไม่ได้ตกลงไปลึก ทุกคนจึงสามารถไต่ขึ้นพักบนไหล่ทางได้อย่างปลอดภัย มีคุณป้าคนหนึ่งเจ็บบริเวณบ่ามามาก เมื่อลองจับคลำตามเทคนิคในการตรวจร่างกายรู้สึกว่ามีเสียงกรอบแกรบ แสดงว่ากระดูกไหปลาร้าหัก! ยังไงดีล่ะเนี่ยไม่เคยปฐมพยาบาลคนมาก่อน ฉันเริ่มเหงื่อแตกกลางฤดูหนาว

พื้นฐานความเป็นหมอทำให้จัดการกับสติที่กำลังกระเจิงได้อย่างรวดเร็ว จากนั้นไม่นานปัญญาก็ค่อยตามมา ฉันปลุกปลอบกำลังขวัญให้กับตนเอง คิดว่าหลักการคงไม่ต่างจากการรักษาสัตว์หรอกน่า คือต้องจัดการให้บริเวณที่มีกระดูกหักเคลื่อนไหวน้อยที่สุดโดยใช้ผ้าพัน ตามหลักการแพทย์การจำกัดความเคลื่อนไหวจะช่วยลดความเจ็บปวดและอาการบาดเจ็บไม่ให้รุนแรงขึ้น

โชคดีที่กระดูกไหปลาร้านั้นไม่ได้ทะลุเนื้อออกมา ว่าแต่วิธีพันผ้าตรึงไว้แบบคนเขาทำอย่างไรเนี่ย กลางป่าเขาที่ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้ถามใครได้ เอา (วะ) เป็นไงเป็นกัน! ฉันจัดท่าให้คุณป้าอยู่ในท่าต้นแขนแนบลำตัวเอามือซ้ายทับมือขวาที่อกอย่างมัมมี่ แล้วพันผ้าเป็นรูปเลขแปด (figure of eight) แบบที่พันกับให้นกปีกหัก!

“กลับเมืองไทยแล้วคุณป้าอย่าฟ้องยึดใบประกอบโรคศิลปะของหนูนะคะ”

“จ้ะ อย่าทำให้ป้าหัวเราะมากแล้วกัน มันกระเทือนแผล” มนุษย์ป่วยรายแรกของฉันยิ้มแหยด้วยความปวดแผล

เมื่อรถกระบะมารับคนเจ็บไปส่งโรงพยาบาลในเมือง ทุกคนจึงถอนหายใจโล่งอกแทบจะพร้อมกัน

แม้ว่าถนนที่ใช้เดินทางจะแคบและฝุ่น แต่ก็มีอยู่สิ่งหนึ่งที่ฉันชอบใจและรอให้รถแล่นผ่านอยู่ทุกระยะ ก็คือ “โรงเรียนประจำหมู่บ้าน” แม้จะไม่ใช่โรงเรียนใหญ่โต เป็นเพียงเพิงไม้ยาว ๆ มุงด้วยสังกะสี แต่ก็เห็นได้ว่ารัฐบาลของเขาพยายามใส่ใจการศึกษาของเด็ก ๆ อยู่ไม่น้อย หมอกที่ลอยคลุมโรงเรียนเล็ก ๆ นั้นทำให้ฉันนึกถึงหนังสือเรื่อง เสียงก้องจากโรงเรียนเชิงเขา

จากที่รถวิ่งได้เรื่อย ๆ กลับมาติดเอาตอนใกล้เข้าเมืองเสียนี่ ผู้โดยสารบนรถทำได้เพียง “ทำใจเย็น ๆ” ขณะที่รถเคลื่อนที่ไปได้เพียงกระดืบ ๆ เห็นสาว ๆ ในชุดชนเผ่าม้งเต็มยศเดินกันขวักไขว่ ที่แท้ก็เป็นช่วงเทศกาล “กินเจียง” ที่เริ่มกันระหว่างวันที่ ๑๐-๑๕ ธันวาคม ของทุกปี

“คือบ่ลงมาถ่ายรูปข้างล่าง สิได้มาโยนลูกช่วงนำกัน” เจ้าหนุ่มชนเผ่าในชุดเต็มยศหล่อเหลา และกลุ่มเพื่อนตะโกนแซวเมื่อเห็นฉันเลื่อนหน้าต่างชะโงกออกไปถ่ายรูป

ฉันรีบหดหน้ากลับเข้ามาแล้วปิดหน้าต่าง รู้สึกว่า ๒ แก้มร้อนผ่าว ก็แน่ละสิ เพราะงานกินเจียง มันเป็นช่วงเวลาสำหรับคนโสดเขาออกมาหาคู่กันโดยใช้วิธีโยนลูกช่วงรับส่งกัน เสียงผู้โดยสารคนหนึ่งตะโกนแซวสารถีหนุ่มลาวเวียงว่าไหน ๆ รถก็ติดแล้วไม่ลงไปร่วมกินเจียงกับเขาด้วยรึ

“บ่ ๆ แต่งกันบ่ได้ผิดประเพณี ลาวลุ่มต้องแต่งกับลาวลุ่ม ลาวเทิงต้องแต่งกับลาวเทิง” สารถีหนุ่มปฏิเสธพัลวัน เหตุผลที่แท้จริงคงหมายถึงว่า ลาวลุ่มนับถือพุทธ ลาวเทิงนับถือผี คนละศาสนา สังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างย่อมเข้ากันได้ยากเป็นธรรมดา

หลังจากผ่านฝูงชนชาวม้งมาได้ก็เข้าสู่เขต “เมืองหลวงพระบาง” ใช่…ฟังไม่ผิดหรอกเมืองหลวงพระบางนี่ล่ะคือ “ดอยนันทกังฮี” ตามหลักฐานอ้างอิงจากตำนานเรื่องขุนบูลมที่ได้กล่าวถึงไว้ ที่เมืองมรดกโลกนี้จะแบ่งโซนอนุรักษ์ออกเป็น ๓ โซน ตามความเข้มงวดในการอนุรักษ์เมืองโบราณที่ระเบียบยูเนสโกกำหนด โซนที่ ๑ ห้ามมีสิ่งปลูกสร้างใดๆ เพิ่มเติม รวมถึงห้ามต่อเติมอาคารด้วย โซนที่ ๒ ต่อเติมอาคารได้แต่ต้องเป็นไปอย่างแบบที่หน่วยงานยูเนสโกอนุมัติ โซนที่ ๓ อยู่ในบริเวณเมืองนั้นเช่นกันแต่ออกไปค่อนข้างนอกเมือง สามารถก่อสร้างได้ไม่เข้มงวดเท่าโซนที่ ๑

ที่พักของฉันอยู่ในโซน ๓ ซึ่งเป็นเขตชานเมือง ถึงจะไกลจากแหล่งท่องเที่ยวสักหน่อยแต่นักท่องเที่ยวไม่พลุกพล่านทำให้สงบเงียบดี หลังเก็บสัมภาระเรียบร้อยก็ต้องเติมพลังกันเสียหน่อย ฉันมีเมนูไว้ในใจอยู่แล้วเป็นเมนูพื้นเมืองที่ติดอกติดใจมาจากนวนิยายเรื่อง คู่สันยา ประพันธ์โดย คุณดาลา กันละยา ศิลปินแห่งชาติลาว เรื่องนี้นางเอกเป็นสาวลาวเวียง นำลูกทัวร์มาเที่ยวที่เมืองหลวง เกิดชอบใจบ้านไม้ทรงโบราณของพระเอกที่ประกาศขาย ในวันเซ็นสัญญาพระเอกได้ทำอาหารเลี้ยงแขกทำให้หล่อนเกิดติดอกติดใจรสมือของเขาเป็นอันมาก เมนูในวันนั้นเป็นต้นว่าฉู่ฉี่ไก่บ้าน เอาะหลาม สลัดผักน้ำ และแจ่วบองที่เป็นของฝากขึ้นชื่อบ้านพระเอก เป็นต้น

เดินทอดน่องไปจนพบร้านอาหาร “เทพบุปผา” เป็นชื่อที่ไพเราะมาก แม้จะไม่มีลูกค้าเลยสักโต๊ะเดียว แต่ฉันก็ยินดีที่จะเสี่ยงเพราะอย่างน้อยก็มั่นใจว่าจะได้อาหารเร็ว และแล้วสลัดผักน้ำ เอาะหลาม และปลานิลแดดเดียวทอด ก็ไม่ทำให้ฉันผิดหวัง คืนนั้นกระเพาะของฉันยิ้มอย่างเปี่ยมสุข  น้ำหนักไม่ขึ้นตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าจะขึ้นตอนไหนแล้ว

สาวน้อยชาวม้งแต่งตัวสวยเป็นพิเศษในงานวันกินเจียงเอาะหลาม ปรุงโดยใช้เนื้อสัตว์ ต้นหอม พริก ตะไคร้ มะเขือ ยอดพริกอ่อน ใบแมงลักและผักชีลาว นำมาต้มใส่ปลาร้ากรอง

นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๗๙
ปีที่ ๗ ประจำเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๑
นิตยสารรายเดือนของชาวอีสานและคนไททุกภูมิภาค
ลึกซึ้งรากเหง้า เข้าใจปัจจุบัน รู้ทันอนาคต

ติดตามตอนต่อไป

อุรังคธาตุ – นิทานพเนจร : แผนการจาริก (๑)

อุรังคธาตุ-นิทานพเนจร : จุดเริ่มต้น (๒)

อุรังคธาตุ-นิทานพเนจร : สู่เมืองหนองหานหลวง (๓)

อุรังคธาตุ – นิทานพเนจร : พญานาคเกเรแห่งรอยพระพุทธบาท หมายเลข ๓ (๔)

Related Posts

เฮ็ดกิ๋นแซบ
การเมืองเรื่องส่วยในภาคอีสาน
ตระกูลภาษา “ไท-กะได” กับ ไป่เยวี่ย (๒)
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com