ฮีตเดือนสาม
คำว่า “ข้าวจี่” คือ ข้าวเหนียวนึ่งสุกแล้วนำมาปั้นเป็นก้อนทาด้วยเกลือคลุกเคล้า ให้ทั่วเอาไม้เสียบกลางแล้วย่างไฟ เมื่อข้าวสุกเกรียมแล้วก็เอาไข่ทาแล้วย่างซํ้าอีกรอบ เสร็จแล้วถอดไม้ออก ต่อมาเอานํ้าอ้อยก้อนยัดใส่แทน งานบุญข้าวจี่เป็นประเพณีที่เก่าแก่ แต่ความจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนี้ ด้วยว่าแต่ก่อนเป็นเดือนชุมนุมพวกแถน หรืองานเลี้ยงผีฟ้าแถนเดือนสุดท้ายซึ่งจัดมาตั้งแต่เดือนอ้ายและเดือนยี่ เมื่อเดือนสาม ไม่มีประเพณีในพระพุทธศาสนาปราชญ์อีสานจึงได้จัดงานบุญข้าวจี่ไว้ในเดือนนี้ จนกลายเป็นงานบุญประจำเดือนสามตั้งแต่นั้นมา แต่ก่อนในเดือนนี้จะเป็นประเพณีเลี้ยงผีฟ้าแถน มีปรากฏตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ มีมาก่อนที่พระพุทธศาสนาจะเข้ามาเผยแผ่ และในเดือนนี้ชาวนาส่วนใหญ่ถือกันว่าเป็นเดือนสู่ขวัญข้าว การถวายข้าวเปลือกแก่พระสงฆ์และนิยมทำบุญบ้านสู่ขวัญข้าวตามธรรมเนียมพราหมณ์ ทำพิธีตุ้มปากเล้าเป็นการบูชาคุณของข้าวในเล้าหรือยุ้งฉาง
ประเพณีบุญข้าวจี่นิยมทำในเดือนสาม ภายหลังมีการทำบุญวันมาฆบูชา (เดือนสาม ขึ้น ๑๔ คํ่า)
ด้วย ส่วนใหญ่จะกำหนดเอาวันแรม ๑๓ คํ่า และ๑๔ คํ่า เดือนสาม หรือในช่วงเดือนสามข้างแรม๑ วิธีทำบุญข้าวจี่ก็ไม่แตกต่างจากประเพณีการทำบุญอย่างอื่น เป็นกิจกรรมร่วมของชุมชนจึงถูกเรียกอีกอย่างว่า “บุญคุ้ม” จะทำกันเป็นคุ้มเป็นหมู่บ้าน ในวันงานบุญจะมีกิจกรรมรื่นเริงประจำแต่ละหมู่บ้านทำข้าวจี่ไปถวายพระสงฆ์หลังจากพระฉันแล้วก็เลี้ยงกันเองอย่างสนุกสนาน
๑ ปรีชา พิณทอง, ประเพณีโบราณไทยอีสาน, (อุบลราชธานี : โรงพิมพ์ศิริธรรม, ๒๔๗๙), หน้า ๕๙-๖๐.
จะเห็นได้ว่า ในประเพณีบุญเดือนสาม จะมีอยู่ด้วยกัน ๒ งานบุญคือ บุญมาฆบูชา แปลว่า การบูชาในวันมาฆะ มาจาก มฆะ เป็นชื่อของดาวฤกษ์ ในขณะดาวจันทร์โคจรผ่านดาวฤกษ์ จึงเรียกว่า พระจันทร์ถวายมาฆฤกษ์ ตรงกับเดือนสาม๒ ตามคติความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ถือว่าสำคัญที่สุด เป็นวันที่พระศิวะได้นอนกับนางอุมาภควดีจนได้ลูกมาปราบตาระกาสูร เรียกว่า วันศิวาราตรี ถือว่าวันนี้เป็นวันล้างบาปหรือไหลบาปด้วยการอาบนํ้าศักดิ์สิทธิ์ เป็นประเพณีที่ทำสืบมาก่อนมีพระพุทธศาสนา เมื่อพระพุทธศาสนาเกิดขึ้น พระพุทธเจ้ากลับคิดใหม่ทำใหม่ให้เป็นวันประชุมสงฆ์ครั้งแรก ต่อมาการทำบุญในเดือนสามก็เพื่อระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าและสงฆ์สาวก
๒ หนานเต๋จา, ประเพณีลานนาไทยและพิธีกรรมต่าง ๆ, (เชียงใหม่ : สำนักพิมพ์ประเทืองวิทยา, ๒๕๑๗), หน้า ๑๕๓.
บุญข้าวจี่ก็มีอิทธิพลในการใช้ชีวิตของชาวอีสาน มีการสร้างสรรค์วรรณกรรมเพื่อให้เกิดความศรัทธา เช่น เมื่อถึงเดือนสาม ชาวบ้านพากันนำเอาข้าวจี่ไปถวายพระภิกษุสงฆ์เพื่อทำบุญ เพราะบุญนั้นจะเป็นกุศลหนุนนำติดตัวเราไปทุกวัน เพราะนี้เป็นธรรมเนียมที่เคยประพฤติปฏิบัติมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล อย่าได้พากันละทิ้งประเพณีนี้ บ้านเมืองจะเกิดภัยพิบัติ ให้ทำกันทุกบ้านทุกครัวเรือน ท่อนที่สองว่า เมื่อถึงเดือนสามท้องฟ้าสดใส ไปทางไหนเห็นแต่คนใจบุญสุนทรทาน สาววัยรุ่นทั้งหลายพากันปั้นข้าวจี่ บ้านละสามสี่ปั้นพอได้นำไปทำบุญ บ้างก็ทำขนมจีน ตกแต่งอาหารคาวหวาน หนุ่มสาวไปร่วมกันทำบุญที่วัด๓ เป็นต้น งานบุญข้าวจี่ที่เกิดจากความศรัทธาในพระพุทธศาสนา มีเรื่องราวความเป็นมาดังนี้
๓ สวิง บุญเจิม, มรดกอีสาน, พิมพ์ครั้งที่ ๔, (อุบลราชธานี : สำนักพิมพ์มรดกอีสาน, ๒๕๓๙), หน้า ๕๓๖.
ประวัตินางปุณณาจี่ข้าวปั้น
เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้ายังมีพระชนมายุอยู่ ในคราวนั้นพระองค์ทรงอาศัยอยู่นครราชคฤห์ ประทับอยู่ที่เขาคิชฌกูฏ ทรงปรารภถึงคนรับใช้ (ทาสี) ในบ้านของท่านเศรษฐีคนหนึ่ง มีชื่อว่า นางปุณณา ในวันนั้นพระองค์ได้ทรงเล็งพระญาณ ตรวจดูหมู่สัตว์โลกในเวลาใกล้รุ่ง ก็ปรากฏเห็นนางปุณณาในฝ่ายพระญาณของพระองค์ว่า “นางปุณณาจะต้องตายในวันนี้อย่างแน่นอน ถ้าพระองค์ไม่เสด็จไปอนุเคราะห์ก็จะต้องไปสู่ทุคติ” พระองค์ทรงมีพระเมตตากรุณาแก่สัตว์โลก จึงได้ไปโปรดให้พ้นจากบาปอกุศลบรรลุถึงความสุข มีมรรคผลนิพพานตามบารมีของนางที่ได้กระทำมาแล้ว ตามที่ได้สั่งสมไว้มากน้อยเพียงใดนั้น
ก่อนถึงรุ่งเช้าในค่ำคืนวันนั้น ท่านเศรษฐีคนนี้มีบ้านอยู่ในเมืองราชคฤห์มหานคร ท่านเศรษฐีผู้นี้เป็นนายของสาวใช้ผู้มีชื่อว่า ปุณณา ได้มอบข้าวเปลือกเป็นจำนวนที่มากกว่าปกติที่ผ่านมา ให้นางปุณณาไปตำที่โรงตำข้าวซึ่งตั้งอยู่ภายนอกบ้าน ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากบริเวณเขาคิชฌกูฏมากนัก นางได้จุดไฟตำข้าวเปลือกอยู่เป็นเวลานาน เมื่อนางตำข้าวอยู่นานสองนานเหงื่อนางก็ไหลออกท่วมกาย ร่างกายจึงเปียกชุ่มไปด้วยน้ำเหงื่อจากการใช้แรงงาน นางจึงได้หยุดพักยืนตากลมที่พัดมา เพื่อให้หายเหนื่อยก่อนจึงจะทำงานต่อไป
สมัยนั้นเองพระทัพพมัลลบุตร เป็นพระรูปหนึ่งในพระพุทธศาสนาได้รับหน้าที่เป็นผู้แจกแจงจัดที่พัก (เสนาสนะ) แก่พระภิกษุสามเณรทั้งหลาย๔ ว่ารูปไหนควรจะอาศัยอยู่ ณ ห้องไหนหลังใด (เสนาสนปัญญาปกะ) ในราตรีวันนั้นเองหลังจากพระเถระพระภิกษุหนุ่ม และสามเณรทั้งหลาย ฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าแล้ว ท่านได้จุดโคมไฟมอบให้พระสงฆ์สามเณรทั้งหลายให้ถือไปคนละอัน เพื่อส่องทางเดินกลับไปสู่ที่พักของตนเอง และวานให้พระภิกษุที่ชำนาญทางเป็นผู้นำทางไป โดยสภาพทั่วไปของภูเขาคิชฌกูฏเวลานั้น จึงมีแสงสว่างโชติช่วงเป็นเส้นยาวเป็นระยะ ๆ หากมองจากตัวเมืองนครราชคฤห์ จะเห็นคล้ายดวงดาวเปล่งแสงเป็นสาย ๆ ลอยย้ายตามกันไปจำนวนมากมาย ดูแล้วสวยงามอย่างยิ่ง
๔ http://www.wikisource.org
ในขณะที่นางปุณณากำลังหยุดพักเหนื่อยอยู่พอดี นางได้มองขึ้นไปทางภูเขาคิชฌกูฏพบเห็นแสงสว่าง จึงแปลกใจแล้วคิดว่า
“เวลานี้เป็นเวลานอนแต่ว่าเราไม่อาจหลับนอนได้เลย เป็นเพราะว่าหน้าที่การงานบังคับ จะต้องทำงานหนักได้รับความเหน็ดเหนื่อยจากการซ้อมข้าวเปลือก มีแต่ความทุกข์มาเบียดเบียนอยู่ตลอดทั้งคืนเลยเรา แต่ว่าพระคุณเจ้าทั้งหลายไม่ได้หลับไม่ได้นอนเป็นเพราะเหตุอะไรหนอ…? หรือว่าจะเหตุไม่ดีเกิดขึ้น หรือว่าจะมีอุบัติเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นแก่ท่าน มีโรคภัยไข้เจ็บที่รุนแรงเกิดกับพระสงฆ์สามเณรรูปใดรูปหนึ่งแน่เลย หรืออาจมีพระภิกษุบางรูปถูกงูกัดกระมัง”
นางก็ได้แต่คิดเดาไปเองเพราะไม่เคยขึ้นไปวัดบนภูเขาคิชฌกูฏเลยสักครั้ง แล้วนางก็กลับไปทำงานจนเสร็จแล้วจึงเข้านอน
พอรุ่งเช้าวันใหม่นางก็ต้องรีบลุกแต่เช้าตรู่ เพื่อออกทำหน้าที่เป็นแม่บ้านที่ดี วันนี้นางต้องออกจากบ้านไปตักนํ้าที่ท่าห่างจากบ้านไม่ไกลนัก และจะเข้าไปทำงานในสวนด้วย เพื่อรดนํ้าพรวนดินผัก ถางหญ้าที่ขึ้นตามสวน ในวันนี้พอดีนางนำขนมที่ทำด้วยแป้งขยำด้วยมือให้เป็นก้อนแบ ๆ แล้วนำไปปิ้งบนถ่านเพลิง ทำเป็นข้าวจี่ไปย่างไฟจนกรอบแล้วเก็บซ้อนใส่พกผ้าติดตัวไปด้วย ตั้งไว้ใจว่า “เวลาตนกำลังเดินไปท่านํ้าและไปสวนนั้นก็จะกินไปด้วยจะได้ไม่ให้เสียเวลา กะว่าในระหว่างทางก็จะกินหมดและอิ่มพอดีก่อนที่จะถึงที่ทำงาน”
ในเช้าวันนั้น หลังจากพระพุทธเจ้าทรงเล็งพระญาณ ตรวจดูหมู่สัตว์โลกในเวลาใกล้รุ่ง ก็ปรากฏเห็นนางปุณณาในฝ่ายพระญาณแล้ว ก็ได้เสด็จไปโปรดในช่วงเวลาออกรับบิณฑบาต มีพระอานนท์เป็นผู้ติดตาม ได้ถือเอาบาตรตามเสด็จไปหานางปุณณาเพื่อโปรดหญิงคนใช้ของท่านเศรษฐีให้เข้าถึงคุณธรรม และให้ดำรงตนอยู่ในศรัทธาอันดีงามตามคติความเชื่อของพระพุทธศาสนา
ในช่วงเวลานั่นเองพอดีนางได้เดินสวนทางกับพระพุทธเจ้า ที่กำ ลังเสด็จผ่านมาเพื่อเข้าไปบิณฑบาตในตัวเมืองราชคฤห์ เมื่อนางได้เห็นพระพุทธเจ้าเช่นนั้นแล้วนางก็คิดได้ว่า
“ในวันอื่น ๆ ที่ผ่านมาเราก็เคยได้เห็นพระพุทธเจ้าอยู่บ้าง แต่ว่าเราก็ไม่มีโอกาสได้ทำบุญเลย เพราะเราไม่มีสิ่งของอันใดจะถวายท่าน บางวันเรามีสิ่งของพอที่จะให้ใส่บาตรได้ แต่ก็ไม่ได้พบพระพุทธเจ้าเลยไม่ประสบโอกาสดีสักที แต่มาบัดนี้สิ่งของไทยธรรมของเราก็มีอยู่แล้วพอดิบพอดีพระพุทธเจ้ากำลังเดินผ่านต่อหน้าเรา ท่านก็ปรากฏอยู่ตรงหน้าเราแล้วนี่… อีกอย่างที่เราเกิดมาจนต้องทำงานอาบเหงื่อต่างนํ้า พอได้รับค่าจ้างเป็นข้าวปลาอาหารกินในแต่ละวัน บางวันก็กินไม่อิ่มด้วยซํ้าไปเป็นเพราะในอดีตชาติปางก่อนเราไม่เคยทำบุญไว้จึงเกิดมาเป็นทาสรับใช้ผู้อื่นเช่นนี้”๕
เมื่อนางคิดได้เช่นนี้แล้วก็หยุดยืนวิเคราะห์ตัวเองอยู่พักหนึ่ง ก็ฉุกคิดได้ว่า “ถ้าหากว่า… พระพุทธเจ้าท่านจะคิดอย่างไรกัน พระองค์คงจะรับของ ๆ เราโดยไม่ทรงดำริว่า ‘อาหารที่เป็นข้าวจี่ สิ่งนี้สกปรกไม่สะอาด ไม่น่าอร่อย’ เป็นไงเป็นกันเราขอถวายข้าวจี่นี้แด่พระองค์ก่อน ถวายไปก่อนท่านจะว่าอย่างไรค่อยว่ากันตอนหลัง”
เมื่อนางตัดสินใจได้อย่างว่านี้แล้ว จึงได้วางหม้อนํ้าเปล่าไว้ข้างถนน แล้วถวายบังคมพระพุทธเจ้าพร้อมทั้งหยิบข้าวจี่ออกจากพกผ้าแล้วกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ… ขอพระองค์จงได้โปรดรับข้าวจี่อันนี้ ที่ข้าพระองค์มีอยู่นี้เถิด เพื่ออนุเคราะห์แก่หม่อมฉันผู้ยากไร้ด้วยเถิดพระเจ้าข้า”
ด้วยความเมตตาธรรมของพระพุทธเจ้า จึงทรงเหลียวมองพระอานนท์เป็นเชิงสัญญาณบอก เพื่อให้นำบาตรมาถวายพระองค์ พระอานนท์รู้ในพระอาการนั้นจึงได้น้อมบาตรเข้าไปถวาย แล้วพระพุทธเจ้าก็ทรงเปิดบาตรรับข้าวจี่อันเป็นของกินพื้นบ้านนั้น แล้วนางปุณณาก็ยื่นข้าวจี่วางลงในบาตรแล้วถวายบังคมด้วยเบญจางคประดิษฐ์ พร้อมทั้งกราบทูลด้วยความน้อยเนื้อตํ่าใจว่า “ข้าพระองค์เกิดมาด้อยวาสนา หากว่ามีธรรมใดที่พระองค์ได้ทรงรู้ทรงเห็นแล้ว ขอธรรมนั้นจงสำ เร็จแก่ข้าพระพุทธเจ้าด้วยเถิดพระเจ้าข้า…!”
หลังจากนางได้กราบทูลขออย่างนั้นแล้วพระพุทธเจ้าที่ประทับยืนอยู่อย่างนั้น ก็ได้ทำการอนุโมทนาอยู่สถานที่แห่งนั้นเลย พร้อมทั้งตรัสให้พรกับนางว่า “จงเจริญเถิด… ขอเธอจงสำเร็จตามความประสงค์ตามที่กล่าวนั้นเถิด”
เมื่อประทานพรแล้วพระพุทธองค์ก็ทำท่าทางด้วยอาการว่า ‘จะเสด็จดำเนินต่อไป’ แต่ด้วยกระแสความคิดอันเป็นบุญของนาง จึงมีอำนาจบารมีธรรมได้หยุดพระองค์ไว้ก่อน ด้วยความนึกคิดของนางที่คิดว่า “พระพุทธเจ้าทรงสงเคราะห์เรา… โดยได้รับเอาข้าวจี่ขนมพื้นบ้าน ที่ดูแล้วสกปรกเศร้าหมองไม่ค่อยน่ากินนี่ก็จริง แต่ว่าคงรับไว้อย่างนั้นล่ะ…! คงรับเพื่อรักษานํ้าใจเราไว้อย่างงั้นแหละ… ไม่เสวยเป็นแน่เลย คงจะโยนทิ้งให้นกหนูหรือสุนัขที่อยู่ข้างหน้าและแล้วคงจะเสด็จไปเสวยอาหารอันน่าอร่อยอันประณีตสวยงาม ที่บ้านเรือนของท่านผู้ดีมีอันจะกินนั้น มีบ้านเศรษฐี บ้านมหาอำมาตย์ หรือพระราชวังของพระราชา คงจะเมินของ ๆ เราแน่เลย”๖
๖ ขุ.ชา. ๒๗/๓๖๑/๔๕๘.
นางปุณณาก็คิดด้วยความน้อยเนื้อตํ่าใจตนเองในความที่ตนเกิดมาเป็นคนจน ต้องไปอยู่รับใช้ในบ้านของอื่น แต่นางกลับนึกไม่ได้ว่าส่วนด้อยนั้นเป็นผลดีของนาง พระพุทธเจ้าทรงทราบวารจิตของนางปุณณาที่คิดได้เช่นนั้นแล้ว๗ จึงทรงเหลียวดูพระอานนท์ทำสัญญาณให้ปูผ้านั่งในที่อันเหมาะสม (ผ้านิสีทนะ) พระอานนท์ได้รับสัญญาณจึงปูผ้านั่งลงถวาย แล้วพระพุทธเจ้าจึงประทับนั่ง ณ ที่นั้น จึงได้เสวยข้าวจี่ของนางปุณณาผู้นั้น ด้วยพระทัยกรุณาแสดงให้เห็นถึงความไม่รังเกียจ และมีความสม
เกียรติกับพระสงฆ์ด้วย และข้าวจี่ที่นางนำมาถวายนั้นเป็นอาหารที่ทรงคุณค่าเป็นไทยทานที่บริสุทธิ์
๗ http://www.tairomdham.net
ฝ่ายนางปุณณาได้เฝ้าติดตามมองดูพระพุทธเจ้าที่เสวยข้าวจี่ ที่ตนปิ้งข้าวมาด้วยมือของตน พร้อมทั้งเกิดความปราโมทย์ยินดี และมีความสุขใจเป็นล้นพ้นอย่างที่ไม่เคยพบไม่เคยมีมาก่อนในชีวิตของนาง จนถึงอายุปูนนี้แล้วก็ไม่เคยที่จะได้รับความสุขใจเท่านี้ ก็ด้วยความเมตตาของพระพุทธเจ้าอันบริสุทธิ์ ผู้ไม่มีบาปมลทินอะไร ผู้ทรงเป็นที่พึ่งนำพาทำความดี เป็นที่เคารพสักการะแก่ผู้คนทั้งหลายในเวลานั้นนางได้เห็นกับตาของตนเองกับเหตุการณ์ที่พระองค์ประทับนั่งลงเสวยข้าวจี่ที่ทำด้วยแป้งข้าวธรรมดาตามท้องถิ่นที่มีด้วยพระจริยวัตรของพระองค์ที่ทรงปฏิบัติเช่นนี้และเป็นแบบอย่างแล้ว ยังได้สั่งสอนพระสงฆ์สามเณรอยู่เสมอว่า “อาหารจากการบิณฑบาตที่ชาวบ้านชาวเมืองนำมาถวายด้วยความศรัทธานั้นเป็นอาหารบริสุทธิ์” พระองค์จึงไม่ได้ทรงถือว่าอาหารนั้นเศร้าหมองเลยแม้แต่น้อย
นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงพรํ่าสอนพระสงฆ์สามเณรอยู่เสมออีกว่า “การดำรงชีวิตประจำวันของพระสงฆ์สามเณรนั้น เนื่องจากความเป็นอยู่มาจากการสงเคราะห์ของคฤหัสถ์ นักบวชจึงควรพอใจในปัจจัยสี่ตามมีตามได้ ไม่ควรทำตนให้เป็นคนเลี้ยงยาก…” ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้พระองค์จึงเสวยข้าวจี่ ซึ่งมีการปรุงขึ้นอย่างง่าย ๆ ของนางปุณณาได้ ที่พระองค์ทรงกระทำเช่นนั้นก็เป็นเพราะว่า “อาหารของนางนั้นเป็นของบริสุทธิ์ ไม่มีความเศร้าหมอง ได้มาอย่างถูกต้องชอบธรรม แล้วพระองค์จึงทรงกระทำให้ตนเป็นผู้เลี้ยงง่าย เพื่อดำเนินตามพระพุทธโอวาทที่ทรงสอนผู้อื่นอยู่เสมอ เพื่อทรงเป็นตัวอย่างแก่พระสงฆ์สามเณรทั้งหลาย และเพื่อทรงอนุเคราะห์นางปุณณาผู้มีศรัทธาต่อพระองค์ เพื่อจะให้นางได้รับผลบุญที่มาจากการถวายข้าวจี่ในวันนั้น”
หลังจากที่พระพุทธเจ้าเสวยข้าวจี่เสร็จแล้วพระอานนท์ก็ได้นำนํ้ามาถวายเพื่อล้างพระหัตถ์และบ้วนพระโอษฐ์ เมื่อทำภารกิจส่วนตัวเสร็จแล้วพระองค์ได้หันหน้ามาตรัสกับนางปุณณาว่า “ปุณณา…! เหตุไฉนเมื่อคืนนี้เธอจึงนึกคิดในทางที่ไม่ค่อยดีกับพระสงฆ์สาวกของเราอย่างนั้นเล่า…?”
เมื่อนางได้ยินเช่นนั้นก็ตกใจ พระองค์รู้เรื่องที่คิดเมื่อคืนนี้ได้อย่างไรกัน จึงทูลถามว่า “เรื่องอะไรกันหนอ พระเจ้าข้า…! ”
พระพุทธเจ้าจึงตรัสขึ้นมาว่า “ก็เมื่อคืนนี้ไงเล่า… ก็เธอเห็นพระสงฆ์สาวกของเราถือโคมไฟเดินอยู่บนภูเขาคิชฌกูฏมิใช่หรือ…?”
นางกราบทูลพระพุทธเจ้าด้วยความแปลกใจว่า“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เป็นจริงอย่างที่ว่านั้นพระเจ้าข้า” แล้วพระพุทธเจ้าถามนางต่อไปว่า “เมื่อเธอคิดอย่างนี่แล้ว เธอคิดว่าเป็นเพราะอะไรกัน…?”
นางจึงกราบทูลด้วยความบริสุทธิ์ใจว่า “กราบนมัสการด้วยความเคารพอย่างสูง ข้าพระพุทธเจ้าไม่ได้คิดไปในทางเสียหายหรือดูหมิ่นเลยพระเจ้าข้า… ข้าพระองค์เพียงแต่คิดว่า ‘เพราะเหตุไรกันหนอ… พระคุณเจ้าทั้งหลายจึงไม่ยอมหลับยอมนอนกัน เวลานี้ก็เป็นเวลานอนแล้วนี้ อาจจะเป็นเพราะมีเหตุร้ายหรือถูกงูร้ายกัดเข้าแล้ว เพราะอยู่ในป่านั้นมีสัตว์ร้ายมาก หรือมีอาการป่วยไข้กัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์คิดเพียงเท่านี้แหละพระเจ้าข้า…”
เมื่อนางตอบเช่นนี้แล้วพระพุทธเจ้าจึงตรัสบอกว่า “ปุณณา คนเรามีหน้าที่ต่างกัน ที่เธอไม่ได้หลับนอนนั้นเป็นเพราะว่า มีหน้าที่รับผิดชอบจะต้องทำงานเพื่อเลี้ยงชีพ จะต้องเหน็ดเหนื่อยมีเหงื่อไหลท่วมกายด้วยความลำบาก เธอทำงานตามหน้าที่ของตนฉันใด ส่วนพระสงฆ์สาวกของเราก็ทำหน้าที่เจริญสมณธรรมตามหน้าที่ของพระก็ฉันนั้น เธอไม่ได้หลับนอนเพราะทำหน้าที่ เหมือนกับพระสงฆ์สามเณรที่บำเพ็ญเพียร ปุณณาเอย… กิเลสความชั่วร้ายที่หมักดองอยู่ในสันดาน จะไม่อยู่ในใจของผู้มีความเพียรผู้มีความตั้งใจศึกษาทั้งกลางวันและกลางคืน และผู้มีจิตใจที่น้อมไปในพระนิพพานอันเป็นธรรมชาติสงบระงับความทุกข์”๙
๙ ขุ.ธ. ๒๕/๒๒๕-๒๒๗/๑๐๓.
หลังจากนั้นพระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงธรรมอื่นอีก ที่สมควรแก่อัธยาศัยของนางปุณณานั้นว่า “ขึ้นชื่อว่าโภคสมบัติของบุคคลผู้ตระหนี่ ที่มีอยู่ในมนุษย์โลกนี้ จะมากสักหมื่นแสนหรือมากกว่านั้นก็ตาม หาได้ประเสริฐเท่ากับข้าวจี่ปั้นหนึ่งอันบุคคลให้ทานแล้วนั้นไม่ เพราะว่าโภคทรัพย์ทั้งหลายที่มีอยู่กับบุคคลผู้ตระหนี่เหนียวแน่น ไม่เป็นประโยชน์อันใดเลย หลังจากผู้ตระหนี่นั้นตายลงสมบัติเหล่านั้นก็เป็นของคนอื่นไป ไม่ได้ติดตามไปสู่ปรภพเบื้องหน้าหลังตายแล้วได้ แต่ทานที่มีประมาณน้อยที่ได้ถวายแล้วในพระอริยเจ้า ทานนั้นจะเป็นบันไดไปสู่สุคติโลกสวรรค์ และเป็นเสบียงเลี้ยงตนไปในหนทางทุรกันดารในคราวที่ดับขันธ์ตายแล้ว”
ต้นตำนานอานิสงส์การถวายข้าวจี่
เมื่อพระองค์แสดงธรรมจบลงแล้ว นางปุณณาได้สาธุการมีความยินดีในทานสมบัติ นางก็ได้เข้าถึง
ธรรมขั้นโสดาบันในขณะนั้นเลย๑๐ ถือได้ว่าเป็นพุทธจริยาที่ทรงอนุเคราะห์เกื้อกูลแก่บุคคลโดยไม่เลือก
เพศ วัย ชั้น วรรณะ ทรงมุ่งประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น ทุกคนที่เข้าใกล้พระองค์ หากเขามีความเลื่อมใส ใคร่
อยากได้ความบริสุทธิ์แก่ตน และปฏิบัติตามโดยชอบแล้วจะได้รับผลประโยชน์อันควรแก่อุปนิสัยเสมอ
พระองค์ทรงอุบัติมาเพื่อประโยชน์แก่ชาวโลก เพื่อทรงผดุงธรรมให้มีอยู่ในโลก ใครไหนเล่าในโลกนี้จะ
มีนํ้าใจเสมอเหมือนพระพุทธเจ้า
๑๐ปุ้ย แสงฉาย อนงคาราม. พระไตรปิฎกมหาวิตถารนัย ๕๐๐๐ กัณฑ์ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕๑. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ ส.ธรรมภักดี, ๒๕๑๘), หน้า ๑๙๐ – ๑๘๒.
ต่อจากนั้นนางปุณณาก็ได้ทำการถวายอภิวาทพระพุทธเจ้าแล้วจะเดินหลีกไป ในขณะที่นางกำลัง
เดินไปตามเส้นทางไปท่าน้ำอยู่นั่้นด้วยความอิ่มเอิบยินดียังไม่ได้ทันพิจารณาดูความปลอดภัยบนหนทาง
เดิน เผอิญว่านางก้าวเท้าไปเหยียบงูเห่าที่อาศัยอยู่ในระหว่างริมทางเข้าอย่างจัง งูเห่าตกใจก็เลยกัดเข้าที่
เท้าของนางเข้าด้วยพิษร้ายของงูตัวนั้นได้แล่นเข้าสู่หัวใจ นางปุณณาก็สิ้นลมหายใจตายคาที่อย่างทันควัน
ตรงทางเดินไปในที่นั้นเลย แล้วดวงวิญญาณของนางก็ได้ไปเกิดบนสวรรค์ ได้เสวยทิพย์สมบัติ มีนางฟ้าพัน
หนึ่งแวดล้อมเป็นบริวาร ก็เพราะอานิสงส์ที่นางได้ถวายข้าวจี่ปั้นแก่พระพุทธเจ้าก่อนหน้านี้แล
นับตั้งแต่เรื่องนี้ถูกเปิดเผยขึ้นให้สาธารณชนทราบ ปวงประชาเห็นด้วยคล้อยตามจนกลายเป็น
ความศรัทธา มีคติความเชื่อตามหลักปรัชญาและเหตุผลทางตรรกะ ปราชญ์ชาวอุษาคเนย์จึงได้นำ
เหตุการณ์ดังกล่าวมาเป็นอุทาหรณ์สอนใจให้กับชาวพุทธ จึงได้คิดริเริ่มงานบุญข้าวจี่ร่วมกันขึ้นเป็น
ประจำทุกปี โดยเลือกเอาเหตุการณ์ถวายทานในครั้งนั้น ซึ่งเป็นของกินพื้นบ้านแต่ก็มีอานิสงส์มาก และ
เหมาะกับช่วงเวลาเก็บเกี่ยวข้าวใหม่ ในฤดูหนาวก่อไฟผิงอยู่แล้ว มีความสมดุลยภาพต่อวิถีชีวิตในช่วง
เดือนนี้ จึงเรียกว่า บุญเดือนสาม
ดังนี้ การถวายอาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ จะถวายอะไรก็ได้ขอให้ได้มาด้วยความชอบธรรม ถึงแม้จะเป็นอาหารแบบพื้นบ้านอาจดูแล้วไม่ประณีต แต่เป็นสิ่งที่พระสงฆ์สามเณรมักฉันหรือใช้ประโยชน์จากสิ่งของอันนั้น ก็ควรถวายสิ่งนั้นถึงจะได้บุญได้อานิสงส์ดีเลิศเช่นกัน และถือได้ว่าเป็นการทำบุญที่ดีในพระพุทธศาสนา ตั้งใจให้ด้วยความสมัครใจ เป็นการทำบุญที่สมบูรณ์แบบ ด้วยเหตุนี้ นักปราชญ์จึงได้จัดให้มีวิธีการทำบุญในเดือนนี้ ดังคำกล่าวที่ว่า “เมื่อเดือนสามเพ็งนั้นให้พากันกระทำข้าวนํ้าโภชนะอาหารข้าวจี่เป็นต้นแล้วจึงพากันไหว้สมณเจ้าทั้งหลายให้ตั้งมุงคุล สูตะชัย และตักบาตร สวดพาหุง แล้วให้ฟังรสธรรมเทศนา เป็นต้น และให้กินทานไปอย่าขาดนั้นเทอญ”๑๑
๑๑ อรรถ นันทจักร์, “ประวัติศาสตร์นิพนธ์ : การศึกษาเชิงวิเคราะห์ประเพณีการจดบันทึกประวัติศาสตร์หัวเมืองอีสานถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐”, วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์, (นครปฐม : มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๒๙), หน้า ๓๒๑.