ฮีตเดือนสิบเอ็ด (๑) วันปวารณาเปิดโอกาสชี้แนะ

ฮีตเดือนสิบเอ็ด
(๑)
วันปวารณาเปิดโอกาสชี้แนะ

คำว่า ปวารณา หมายถึง การยอมให้ใช้ ยอมให้ขอ ยอมให้ว่ากล่าว ยอมให้ตักเตือน วันออกพรรษาตรงกับวันขึ้น ๑๕ คํ่าเดือน ๑๑ เป็นประเพณีนิยมที่สืบทอดกันมานาน เป็นวันสิ้นสุดการจำพรรษา ออกจากที่อยู่ประจำในฤดูฝนของพระสงฆ์ในสถานที่ใดสถานที่หนึ่งตามกำหนดไม่ไปค้างแรมที่อื่น ตั้งแต่วันเข้าพรรษา แรม ๑ คํ่า เดือน ๘ จนถึงวันขึ้น ๑๕ คํ่าเดือน ๑๑ เมื่ออยู่ครบ ๓ เดือนเรียกว่า ไตรมาส วันออกพรรษาเรียกอีกอย่างว่า วันปวารณา ในวันนี้พระพุทธเจ้าอนุญาตให้พระสงฆ์ทำปวารณาแทนอุโบสถสังฆกรรมคือ ไม่ต้องสวดพระปาฏิโมกข์

นอกจากนี้ ยังมีการไหลเรือไฟเพื่อบูชาพระพุทธเจ้าคราวเมื่อพระองค์เสด็จลงมาสู่โลกหลังจากปฏิบัติศาสนกิจอยู่บนสวรรค์เป็นเวลา ๓ เดือน เพื่อบูชาพญานาคที่อยู่เมืองบาดาล ตกตอนกลางคืนยังได้ดูบั้งไฟพญานาคจากลำนํ้าโขงและตามบริเวณสระนํ้าอื่น ๆ ในปีหนึ่งจะมีหนเดียว เชื่อว่าการไหลเรือไฟจะทำให้ฝนดีในปีต่อไป การปล่อยไฟลงแม่นํ้าทำให้พญานาคได้รับความเดือดร้อนแล้วหอบนํ้าหนีขึ้นไปอยู่บนฟ้าพอถึงเดือนหกมนุษย์จุดบั้งไฟขึ้นไปพญานาคก็จะคืนนํ้ามายังโลกมนุษย์ตกลงมาเป็นฝน เพื่อการบวงสรวงพระธาตุจุฬามณี การรำลึกถึงพระคุณของพระแม่คงคา และการบูชารอยพระพุทธบาทพระพุทธเจ้าทั้ง ๕ อยู่ใต้แม่นํ้าเนรัญชรา และท้าวฆฏิการพรหมและบรรพบุรุษที่มาบอกฤาษี หากคิดถึงแม่เมื่อถึงวันเพ็ญเดือน ๑๑ และเดือน ๑๒ ให้เอาด้ายดิบผูกไม้เป็นรูปตีนกาปักธูปเทียนลอยกระทงในแม่นํ้า

ลูก ส.ธรรมภักดี, ประเพณีโบราณอีสาน. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ ลูก ส.ธรรมภักดี, ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์), หน้า ๑๙๒-๑๙๓.

การไต้นํ้ามัน หรือตามประทีป หรือว่าไหลเรือไฟ ทำร้านประทีปจุดในเดือน ๑๑ วันขึ้น ๑๔ คํ่า เรียกว่า ไต้นํ้ามันน้อย วันขึ้น ๑๕ คํ่า เรียกว่า ไต้นํ้ามันใหญ่ และวันแรม ๑ คํ่า เรียกว่า ไต้นํ้ามันล้าง แต่เดิมเป็นวิธีของศาสนาพราหมณ์ (ฮินดู) ทำเพื่อบูชาพระพรหม พระอิศวร และพระนารายณ์ และเพื่อเป็นวิธีการไหลบาป หรือเคราะห์เข็ญเวรร้ายเชื่อว่าบาปกรรมและเคราะห์ทั้งหลายสามารถล้างได้ด้วยนํ้า เมื่ออาบนํ้าก็เอาเส้นผมหรือเครื่องใช้บางอย่างไหลไปด้วยบาปเคราะห์ก็จะไหลไปตามสิ่งนั้นจะทำในวันพระอาทิตย์ย้ายเข้าสู่ราศีพิจิก และพระจันทร์เดินเข้าร่วมดาวฤกษ์วิสาขะ เมื่อเห็นดาวไก่น้อยตรงกับเดือน ๑๒ วิธีการไต้โคมหรือธูปบูชา ชาวอินเดียเรียกว่า ปะวาสี ปราชญ์บรรพบุรุษชาวอีสานได้รับคติความเชื่อนี้มาแล้วจัดให้มีขึ้นในวันขึ้น ๑๔ – ๑๕ คํ่า และแรมคํ่า ๑ เดือน ๑๑ เรียกว่า ร้านนํ้ามัน หรือร้านประทีป ต่อมาเป็นการไหลเรือไฟกาลต่อมาเมื่อชาวอีสานหันมานับถือพระพุทธศาสนาแล้ว จึงได้ปรับประยุกต์การบูชานั้นมาเป็นการบูชาพระธาตุ รอยพระพุทธบาทที่พญานาคได้ทูลขอเมื่อครั้งเสด็จมาริมฝั่งแม่นํ้านัมมุทานที และอื่น ๆ ตามคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนา จึงมีงานบุญนี้ขึ้นในวันออกพรรษามีความเป็นมา ดังต่อไปนี้

พระครูสุเทพสารคุณ และคณะ, มรดกไทยอีสาน. (ขอนแก่น : โรงพิมพ์คลังนานาวิทยา, ๒๕๔๔), หน้า ๑๗๕.
อดิศร เพียงเกษ, ของดีอีสาน. (สภาวัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดขอนแก่น, ไม่ปรากฏสถานที่พิมพ์และปีที่พิมพ์), หน้า ๔๘.

ประวัติวันปวารณาเปิดโอกาสชี้แนะ

กาลเวลาที่ล่วงมาแล้วในสมัยพุทธกาลคราวที่พระพุทธเจ้ายังมีพระชนมายุอยู่ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นขณะพระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่นครโกสัมพี ในช่วงฤดูกาลจำพรรษาที่ ๙ ตรงกับปีมะเส็ง ได้เสด็จมาพร้อมกับพระอานนท์เลขาคนใกล้ตัวและพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย เพื่อโปรดสัตว์ในดินแดนแถบนี้ สลับผลัดเปลี่ยนไปยังบ้านอื่นเมืองอื่นบ้าง ทั้งนี้ก็เพื่อความสุขของมหาชน ที่นครแห่งนี้มีพระราชาเป็นเจ้าปกครองสูงสุด พระพุทธองค์ได้เสด็จมาโปรดชาวเมืองนี้อยู่บ่อยครั้ง มีผู้คนเลื่อมใสศรัทธาเป็นจำนวนมาก มีการสร้างวัดวาอารามใหญ่ ๆ ขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมบำเพ็ญบุญกุศลของพุทธศาสนิกชนมากขึ้นตามลำดับ

ดร.สุขพัฒน์ อนนท์จารย์, พุทธปัญญาสอนคนให้พ้นเวรกรรม. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ก้าวแรก, ๒๕๕๖), หน้า ๙๐.

สมัยนั้นมีเหตุการณ์ที่กล่าวขานสืบต่อมาว่า มีพระสงฆ์วัดโฆสิตาราม ปัจจุบันวัดนี้อยู่ที่ประเทศอินเดีย มีพระเถระอยู่สองรูปที่พำนักอยู่ด้วยกันได้แก่ พระวินัยธร มีความชำนาญการด้านพระวินัยกับพระธรรมกถึก ท่านรูปนี้ก็มีความชำนาญพระธรรม ท่านทั้ง ๒ เป็นแกนนำของหมู่คณะ ต่างก็มีบริวารรูปละ ๕๐๐ โดยประมาณ เหตุการณ์นี้มีจุดเริ่มต้นขึ้นในห้องนํ้า

วันหนึ่ง พระธรรมกถึกได้เหลือนํ้าที่ใช้ชำระล้างไม่ควํ่าไว้ แล้วหลังจากขับถ่ายหนักเบาคงไว้ในห้องนํ้าแล้วออกไป เผอิญต่อมาพระวินัยธรเข้ามาภายหลังได้เห็นนํ้านั้นคงเหลืออยู่ในภาชนะ จึงออกไปถามพระธรรมกถึกว่า “ท่านได้เหลือนํ้าไว้ในห้องนํ้านี้หรือเปล่า…?”

พระธรรมกถึกตอบด้วยความบริสุทธิ์ใจว่า“ขอรับ ผมได้เหลือนํ้าไว้อย่างที่ท่านเห็นนั่น…”

พระวินัยธรจึงถามต่อไปว่า “ท่านไม่รู้หรือว่าพฤติกรรมดังกล่าวนี้เป็นอาบัติ อย่างไรเสียท่านก็ยังเป็นอาบัติอยู่…”

พระธรรมกถึกจึงว่า “ถ้าเป็นอาบัติผมจะแสดงอาบัติก็แล้วกัน เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ถ้าเห็นว่าผิด”

พระวินัยธรจึงกล่าวต่อไปว่า “ถ้าท่านไม่แกล้งทำ ไม่มีเจตนาที่จะกระทำ ก็ไม่เป็นอาบัติแต่อย่างใด…”

ส่วนพระธรรมกถึกก็เข้าใจว่าไม่เป็นอาบัติเพราะตนไม่ได้เจตนาที่จะทำจริง ๆ แต่หลังจากนั้นมาพระวินัยธรกลับไปเล่าให้พวกศิษย์ทั้งหลายฟังว่า “พระธรรมกถึกรูปนี้ล่ะต้องอาบัติเข้าแล้ว แต่ก็ทำเป็นไม่รู้…” พวกศิษย์ทั้งหลายก็ไปเล่าให้พวกศิษย์ของพระธรรมกถึกฟังอีกต่อหนึ่ง พระธรรมกถึกเมื่อได้ยินเช่นนั้นก็ไม่สบายใจจึงว่า “ทีแรกพระวินัยธรบอกว่าไม่เป็นอาบัติ แต่ทำไมมาคราวนี้บอกว่าเป็นอาบัติเล่า พระวินัยธรคงได้กล่าวมุสาเข้าแล้ว…”

พวกศิษย์ทั้งหลายจึงพากันไปบอกพวกลูกศิษย์ของพระวินัยธรต่อว่า “พระอุปัชฌาย์ของพวกท่านกล่าวมุสา” หลังจากนั้นมาทั้งสองฝ่ายก็เกิดความไม่พอใจกัน การทะเลาะวิวาทก็เริ่มตามมา ขยายเป็นความขัดแย้งเพิ่มพูนขึ้นตามลำดับ ต่อมาพระวินัยธรได้โอกาสจึงประกาศไม่ร่วมทำกิจกรรมใด ๆ ด้วยทั้งสิ้น แยกกันอยู่อย่างเด็ดขาดกับพระธรรมกถึกด้วยอ้างว่าไม่เห็นแก่อาบัติเป็นเหตุ ต่อมาความขัดแย้งดังกล่าวได้ลุกลามเข้าไปถึงกลุ่มลูกศิษย์ที่เป็นพวกชาวบ้าน ภิกษุณี และอารักขเทวดาตลอดถึงเทวดาที่อาศัยอยู่แถบนั้น รวมถึงพรหมโลกด้วย บรรดากลุ่มปุถุชนคนธรรมดาก็ได้แยกกันเป็น ๒ ฝ่าย คือเป็นฝ่ายพระธรรมกถึกและเป็นฝ่ายพระวินัยธรพวกหนึ่ง โดยแบ่งแยกอาจารย์กันอย่างเบ็ดเสร็จไม่ร่วมทำกิจอะไรด้วยกัน แบ่งเขตอาวาสกันเป็นวัดใต้วัดเหนือ

พระหัวดื้อเกินที่พระพุทธเจ้าจะบอกได้

ในคราวนั้นมีพระภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วกราบทูลรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวัดโฆสิตตารามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระสงฆ์ทั้งสองฝ่ายไม่สามัคคีกัน ไม่ทำกิจกรรมร่วมกันต่างคนต่างอยู่ต่างคนต่างทำ แม้แต่ลูกศิษย์ก็มีพฤติกรรมตามอาจารย์ด้วย ยังขืนปล่อยไปให้สถานการณ์นี้ขยายออกไปก็เดือดร้อนกันไปทั่วแน่เป็นเรื่องที่พูดยากมากพระเจ้าข้าฯ…”

เมื่อพระพุทธเจ้าได้รับรายงานเช่นนั้น จึงทรงส่งโอวาทฝากความไปว่า “เราได้ยินมาว่าพวกเราไม่สามัคคีกัน เราขอให้พระภิกษุทั้งหลายที่เป็นสาวกเรา จงพร้อมเพรียงกันให้รักใคร่สามัคคีที่ดีต่อกัน”

พระพุทธเจ้าได้โปรดให้ประพฤติเช่นนี้ถึง ๒ ครั้ง ๒ คราแต่กลับไม่เป็นผล มีพระภิกษุผู้หวังดีกลับมารายงานว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภิกษุทั้งหลายไม่ปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์เลย ยังปรารถนาจะเป็นอยู่อย่างนี้ ยังไม่พร้อมเพรียงกันเลย” หลังจากนั้นมาไม่นานพอถึงครั้งที่ ๓ ก็ได้ทรงสดับรายงานว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภิกษุสงฆ์แตกกันแล้ว พระภิกษุสงฆ์แตกแยกสามัคคีกันแล้ว”

หลังจากนั้นพระพุทธเจ้า จึงเสด็จไปสู่วัดโฆสิตาราม ตรัสโทษในการแตกแยกกัน และโทษในการไม่ปฏิบัติตามพระวินัยจนเป็นอาบัติของพวกพระภิกษุแล้วทรงอนุญาตให้ทำอุโบสถสังฆกรรมในสีมาเดียวกันที่โฆสิตาราม พร้อมทั้งทรงบัญญัติข้อปฏิบัติที่ดีต่อกันในโรงฉันว่า “ภิกษุทั้งหลาย ต่อจากนี้ไปให้นั่งเป็นแถว เว้นช่องว่างไว้ให้พระภิกษุอื่นเข้าแทรกนั่งได้รูปหนึ่งด้วยเป็นการสลับที่นั่งกัน” ให้พระภิกษุทั้งหลายที่เกิดการแตกร้าวได้ทำกิจกรรมในสถานฉันด้วยกันนั้น

เมื่อเสด็จมาแก้ปัญหาในวัดนี้แล้ว จึงได้เสด็จไปปฏิบัติศาสนกิจที่อื่นต่อไป อยู่ต่อมาไม่นานก็มีพระภิกษุผู้หวังดีกลับมารายงานให้ทรงสดับอีกว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญสถานการณ์ปัจจุบันในวัดโฆสิตาราม พระภิกษุทั้งหลายก็ยังเกิดการแตกร้าวกันอยู่ไม่ดีต่อกันเลย” จึงได้เสด็จกลับไปที่วัดโฆสิตารามอีกครั้ง แล้วเรียกทั้งสองฝ่ายมาตรัสห้ามว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อย่าเลย พวกท่านอย่าได้ทำการแตกร้าวกันเลย ให้สมัครสมานสามัคคีที่ดีต่อกัน ทุกท่านก็เป็นสาวกของเราทั้งนั้น ขึ้นชื่อว่าความแตกแยกการทะเลาะวิวาท การแก่งแย่งและชิงดีชิงเด่นกันนั่น มีแต่ความฉิบหาย เห็นไหมว่า อย่างนางนกลฏุกิกาทะเลาะกัน แล้วทำให้พระยาช้างสิ้นชีวิตได้เลยในลฏุกิกชาดกเป็นอย่างนั้น ภิกษุทั้งหลายขอพวกท่านจงสามัคคีพร้อมเพรียงกันเถิด อย่าทะเลาะวิวาทกันเลย อย่างเรื่องนกกระจาบมีมากเป็นพัน ๆ ตัวที่ทะเลาะวิวาทกันเป็นเหตุให้สิ้นชีวิตนั้น ในวัฏฏกชาดก เป็นตัวอย่างนั้น…” แล้วพระพุทธเจ้าก็ตรัสเล่าเรื่องพระเจ้าทีฆีติโกศลราชถูกพระเจ้าพรหมทัตชิงเอาราชสมบัติ ปลอมเพศไม่ให้ใครรู้จักเสด็จอยู่ในเมืองพาราณสีแล้วถูกจับปลงพระชนม์ และเหตุการณ์ที่พระเจ้าพรหมทัตและทีฆาวุกุมารสามัคคีกัน คราวที่ทีฆาวุกุมารยกพระชนม์ของพระองค์ถวาย แล้วตรัสต่อไปว่า “ภิกษุทั้งหลายเรื่องอย่างนี้ได้เคยมีแล้วในเมืองพาราณสี ได้มีพระเจ้ากรุงกาสีพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระเจ้าพรหมทัต ภิกษุทั้งหลาย ความอดกลั้นและความสงบเสงี่ยมอย่างนี้ได้มีแล้วแก่พระราชาในครั้งนั้น ถึงแม้จะมีค้อนหรือมีศัสตราที่ถือไว้แล้วก็ตามที ท่านทั้งหลายที่บวชแล้ว ในธรรมวินัยแล้วอย่างนี้ ควรเป็นผู้มีความอดทนอดกลั้นกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นผู้สงบตัวเอง จึงจะมีความงามในพระพุทธศาสนา” ถึงแม้ว่าจะกล่าวสอนถึงเพียงนี้ก็ไม่สามารถจะทำให้มีจิตสำนึกคิดได้ยังดื้ออยู่อย่างเดิมยังไม่สามัคคีพร้อมเพรียงกันได้เลย แม้ว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดถึงเพียงนี้ พวกพระภิกษุก็ไม่เชื่อถือในถ้อยคำ

ขุ.ชา. ๒๗/๓๙-๔๒/๒๐๖.

ขุ.ชา ๒๗/๓๕/๓๕.

ในคราวนั้นมีพระภิกษุรูปหนึ่งไม่พอใจในพฤติกรรมพระพวกนี้ ที่ทำให้พระพุทธเจ้าทรงลำบากด้วย จึงกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญขอพระองค์ผู้เป็นเจ้าของพระธรรมทรงรอไว้ก่อนข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์ทรงมีความขวนขวายน้อย ๆ ก่อน ขอให้พระองค์อยู่เป็นสุขในธรรมนั้นเถิดพวกข้าพระองค์จะจัดการปัญหาความแตกร้าว การทะเลาะ การแก่งแย่ง และการวิวาทนั่นเอง”

เช้าวันหนึ่งพระพุทธเจ้าดำริว่า “การอยู่ร่วมกับพระดื้อด้านพวกนี้คงจะลำบากไปไม่มีสิ้นสุด” จึงเสด็จหลีกไปอยู่แต่เพียงลำพัง ได้เข้าไปบิณฑบาตในเมืองโกสัมพี แต่ไม่แจ้งให้พระภิกษุสงฆ์ทราบ ปฏิบัติเองช่วยเหลือตนเองทุกอย่างในคราวที่จาริกไปคนเดียว จนเสด็จไปถึงพาลกโลณการามมีพระภคุเถระอาศัยอยู่ในที่นั้น หลังจากนั้นก็เสด็จไปแวะที่ปราจีนวังสะมฤคทายวัน ได้ตรัสอานิสงส์สามัคคีรสประทานแก่กุลบุตร ๓ คน แล้วเสด็จเข้าไปประทับที่ร่มไม้ภัทระสาละพฤกษ์ในราวไพรรักขิตวันอย่างมีความสุข

สมัยนั้นได้มีพญาช้างเชือกหนึ่งชื่อว่า ปาลิไลยกะ เป็นเจ้าแห่งโขลงช้างใหญ่เกิดเบื่อหน่ายบริวารช้างทั้งหลายเช่นกัน จึงคิดว่า ‘อยู่ร่วมด้วยบริวารช้างเป็นสิ่งลำบากน่าเบื่อหน่าย’ ทุกครั้งที่น้าวกิ่งไม้หักลงมา บรรดาช้างต่างก็แย่งกันหักยอดไม้กินก่อนเวลาลงนํ้าใสพวกช้างก็พากันลงทำให้นํ้าขุ่นจะต้องทนกินน้ำขุ่น จะต้องเบียดเสียดกันไมมี่ความสะดวกสบายเอาเสียเลย จึงหลีกออกมาอยู่แต่เพียงลำพังเวลากลางคืนเมื่อช้างทั้งหลายหลับแล้วจึงได้หนีออกจากโขลงนั้น เผอิญเดินเที่ยวมาในป่าใหญ่ถึงมาประทับของพระพุทธเจ้า แล้วเกิดความเลื่อมใสนับแต่แรกเห็นนั้น จึงเดินเข้ามาใกล้หมอบถวายบังคมแทบพระยุคลบาทด้วยความเคารพรัก พร้อมกับมอบกายถวายชีวิตรับเป็นภาระอยู่อุปัฏฐาก ด้วยการหักกิ่งไม้มาปัดกวาด ถอนต้นหญ้าให้บริเวณเตียนสะอาดน่าอยู่ ไปตักน้ำใช้น้้ำฉัน ตลอดจนจัดหาผลไม้สุกในป่ามาถวาย เช่น กล้วย ขนุน เป็นต้น เวลาเสด็จไปบิณฑบาตก็เอาบาตรตามไปส่งแทบตีนป่าและรออยู่จนจะเสด็จกลับ รับบาตรจากพระหัตถ์มาที่ประทับ ช้างปาลิไลยกะได้ปฏิบัติพระพุทธเจ้าเป็นอย่างดี ครั้นเสร็จกิจปฏิบัติประจำวันแล้วก็จะหักกิ่งไม้มาเป็นอาวุธคอยรักษาความปลอดภัย ไม่ให้สัตว์ร้ายมากลํ้ากลายได้ ป่าใหญ่แห่งนี้จึงได้ชื่อว่า รักขิตวัน นับตั้งแต่นั้นมา

อยู่มาวันหนึ่งพญาลิงตัวหนึ่งได้เที่ยวมาตามยอดไม้ ได้เห็นพญาช้างทำงานปฏิบัติพระพุทธเจ้าด้วย ความเคารพเช่นนั้น ก็เกิดความพอใจอยากจะเข้าไปปฏิบัติอย่างนั้นบ้าง เฝ้าดูอยู่ว่าเราควรจะทำอะไรดี แล้วได้เห็นรวงผึ้ง จึงคิดได้ว่า “นํ้าผึ้งรวงนี้มนุษย์ชอบกินกัน เราเคยเห็นพรานป่าค้นหาเอารวงผึ้งชนิดนี้ไปเป็นประจำ เราจะเอาไปถวายพระพุทธเจ้า จะแปลกกว่าพญาช้างนำมาถวาย” จึงได้ปีนขึ้นยอดไม้ หักเอารวงผึ้งลงมาแล้วไล่ตัวออกก็น้อมเข้าไปถวาย แล้วนั่งเฝ้ามองดูอยู่ว่า “พระพุทธเจ้าจะทรงพระกรุณาเสวยหรือไม่ ครั้นเห็นเสวยให้ก็กระโดดโลดเต้นไปมาด้วยความดีใจ กระโจนจากกิ่งนี้ไปจับกิ่งนั้นเผอิญว่ากิ่งไม้ที่ลิงเหยียบนั้น รับนํ้าหนักไม่ไหวจึงหักหล่นลงมาพร้อมกันกับกิ่งไม้ ก็เลยตกลงมาโดนที่ปลายตอเข้าอย่างจังถึงกับเสียชีวิตคาที ด้วยอานิสงส์ที่มีจิตเลื่อมใสพระพุทธเจ้า เมื่อสิ้นใจตายแล้วก็ไปเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีนางเทพอัปสรหนึ่งพันเป็นบริวาร

ต้นตำนานที่มาของการควํ่าบาตร

หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จจากโฆสิตาราม มาประทับอยู่ป่ารักขิตวันแล้วไม่นาน ข่าวคราวก็แพร่กระจายไปให้รู้กันทั่วไปในชมพูทวีป ผู้คนที่ใจบุญที่เคารพศรัทธาชาวเมืองโกสัมพีจำนวนมาก เข้าไปวัดแล้วไม่พบ สอบถามได้ความว่าไม่อยู่ก็น้อยใจจึงพากันตำหนิพระสงฆ์พวกนั้นว่า “พวกท่านบวชกับพระพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ให้โอวาทแนะนำให้สามัคคีกันแล้วก็ยังไม่เชื่อฟังอีก ไม่อยู่ในพระโอวาทร้ายมากเลย เป็นเหตุที่ทำให้พระองค์ต้องเดือดร้อนหลบหนีไปอยู่ป่าแต่พระองค์เดียว ทำให้ไม่ได้ทำบุญกุศล ได้ถวายบังคมและได้ฟังธรรม”

ต่อมาเมื่อชาวเมืองโกสัมพีรู้ว่าพระพุทธเจ้าหนีไปจำพรรษาอยู่ในป่าห่างไกลจากหมู่บ้านมาก ก็พากันประชุมปรึกษาหารือ จึงสรุปมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า “มาจากการทะเลาะกันของพระทั้ง ๒ กลุ่มนี้” จึงลงมติออกมาตรการเด็ดขาดเลิกใส่บาตรพระ จะไม่บำรุง จะไม่ให้การต้อนรับ จะไม่กราบไหว้ จะไม่ทำดีต่อทุกอย่าง แล้วต่างก็เพิกเฉยหันหลังให้ ด้วยเห็นว่าเป็นพวกไม่เชื่อฟังพระพุทธเจ้า แต่ก็มีผู้ใส่บาตรเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ที่ยืนอยู่ข้างกลุ่มพระดังกล่าวแต่ก็ไม่พอกันฉัน ครานั้นพระเมืองโกสัมพีพากันลำบากด้วยอาหารบิณฑบาตอยู่ตลอดภายในพรรษา (ด้วยเหตุการณ์ดังกล่าวที่ว่ามานี้ จึงเป็นต้นเหตุที่มาของสำนวนไทยว่า ควํ่าบาตร ซึ่งใช้กันอยู่ในปัจจุบัน)

เมื่อพระเหล่านั้นไม่ได้รับการบำรุง ไม่กี่วันร่างกายก็ซูบผอม อดอยากปากแห้งหมดแรงดื้อด้านเมื่อตนลำบากก็พากันคิดได้กลับมองเห็นโทษของการทะเลาะกันและไม่อยู่ในพระโอวาท จึงสำนึกได้พากันสิ้นพยศ ต่างยอมรับผิด ยอมให้อภัยและประพฤติดีต่อกัน แล้วพากันเข้าไปหาญาติโยมสารภาพในความผิดของพวกตนว่า “ท่านทั้งหลายพวกข้าพเจ้าสามัคคีกันแล้ว ขอท่านทั้งหลายจงอุปถัมภ์ให้ความช่วยเหลืออย่างเช่นแต่ก่อนเถิด” ฝ่ายญาติโยมเมื่อรับทราบแล้วจึงพากันถามว่า “พระคุณเจ้าทั้งหลาย ก็พระคุณท่านได้ทูลขอขมาโทษจากพระพุทธเจ้าแล้วหรือยัง? ถ้าพระคุณท่านไปทูลขอขมาโทษแล้ว เมื่อพระพุทธเจ้าทรงให้อภัยแล้ว พวกกระผมจึงจะใส่บาตรถวายบำรุงเช่นเดิม” แต่บังเอิญว่าเวลานั้นยังอยู่ในช่วงเข้าพรรษา จึงไม่อาจไปเฝ้าได้จึงจำต้องอดทนลำบากต่อไปก่อน

ครั้นถึงเวลาออกพรรษาแล้วบรรดาตระกูลเศรษฐีคฤหบดีใหญ่ ๆ ในพระนครสาวัตถี มีท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีและนางวิสาขา ได้ส่งหนังสือมาถวายพระอานนท์ผู้เป็นพระอุปัฏฐากว่า “ขอให้พระอานนท์ได้กราบทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าให้เสด็จไปพระนครสาวัตถีให้ด้วย”

แม้พระภิกษุตามชนบทต่าง ๆ มีประมาณ ๕oo รูป ต่างก็พากันเดินทางไปหาพระอานนท์เถระเรียนว่า “ท่านอานนท์ นานแล้วที่พวกกระผมไม่ได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า ขอท่านให้พวกกระผมได้เข้าเฝ้าด้วยเถิด”

www.oknation.net

พระอานนท์จึงได้พาพระภิกษุเหล่านั้นเดินทางไปยังป่ารักขิตวัน ก่อนจะเข้าป่านั้นจึงคิดได้ว่า ตอนนี้เรายังไม่ควรพาพระภิกษุทั้งหมดเข้าไปเฝ้าเลย ให้ประทับอยู่แต่เพียงลำ พังก่อนเพราะยังไม่ได้กราบทูลขออนุญาต จึงให้พักรอยู่นอกป่าก่อน แล้วพระอานนท์เข้าไปเฝ้าแต่เพียงรูปเดียว พอมาถึงที่ประทับช้างปาลิไลยกะเห็น ก็เอื้อมงวงหยิบท่อนไม้วิ่งเข้าไปจะทำร้าย พระพุทธเจ้าเห็นก่อนจึงมีรับสั่งไปว่า “หยุดก่อน… ! ปาลิไลยกะ ท่านเข้ามาเลย ท่านเป็นพระอุปัฏฐากของเราเอง”

เมื่อช้างปาลิไลยกะได้ยินเช่นนั้นจึงได้วางท่อนไม้ แล้วเดินตรงเข้าไปขอรับบาตรจีวร แต่พระอานนท์ไม่ยอมให้ ฝ่ายช้างปาลิไลยกะคิดว่า ‘ถ้าท่านรูปนี้เป็นพระดีมีมารยาท มีการศึกษาขนบธรรมเนียมมาดีแล้ว จะต้องไม่วางบริขารของตนลงบนแผ่นหินที่ประทับ’ เมื่อเห็นการวางบาตรจีวรของท่านบนพื้นดินก็มีความเลื่อมใส แล้วได้ถวายความเคารพรักใคร่ด้วยดี

เมื่อพระพุทธเจ้าเห็นพระอานนท์ตามมาจึงตรัสถามว่า “ดูก่อนอานนท์ เธอมารูปเดียวเท่านั้นรึ ก็แล้วพระ ๕๐๐ รูปเหล่านั้นอยู่ที่ไหนกันเล่า ให้เขาเข้ามาพบเราได้เลย…” พระอานนท์จึงได้ปฏิบัติตามพระบัญชา

ครั้นภิกษุทั้งหลายได้เข้าเฝ้าได้กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์เป็นพระพุทธเจ้า เป็นเชื้อสายกษัตริย์ที่ดี ได้เสด็จประทับอยู่พระองค์เดียวตลอดพรรษาอย่างนี้ คงจะไม่ใครถวายการปฏิบัติ เห็นจะไม่มีพระเจ้าข้าฯ”

ครั้นฉันเสร็จ พระพุทธเจ้าทรงนำพระสงฆ์ทั้งหลายเสด็จออกจากที่นั้น ส่วนช้างปาลิไลยกะได้เดินตามไปส่งพระพุทธเจ้าพร้อมกับพระสงฆ์ทั้งหลายเพื่อรักษาความปลอดภัยในระหว่างการเดินทาง เมื่อเดินไปได้หน่อยหนึ่งก็ยืนขวางทางข้างหน้าพระพุทธเจ้า เพราะต้องการแสดงออกว่าขอให้พระพุทธเจ้าไม่ต้องกลับไป และมีความยินดีที่จะปฏิบัติไปตลอดชีวิต พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสกับช้างปาลิไลยกะว่า “ปาลิไลยกะ ฉันไปครั้งนี้แล้วจะไม่กลับมาอีก ในชาตินี้เธอจะยังไม่สามารถเข้าถึงคุณธรรมอะไรไม่ได้หรอก ก็อย่าคิดอะไรมากก็แล้วกันนะ…”

ฝ่ายช้างปาลิไลยกะฟังเช่นนั้นจึงหลีกทางให้เสด็จไป ตนเองเอางวงยัดเข้าไปในปากพร้อมกับร้องไห้ด้วย

เมื่อเดินทางถึงเขตแดนหมู่บ้านนั้นจึงหันพระพักตร์มาหาช้างปาลิไลยกะตรัสว่า “ปาลิไลยกะตั้งแต่ตรงนี้ไปไม่ใช่ดินแดนของเธอ เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ มีอันตราย เธอจงหยุดแต่เพียงเท่านี้ก่อน” แล้วทรงนำพระสงฆ์เดินทางต่อไป

ฝ่ายช้างปาลิไลยกะได้แต่ยืนร้องไห้มองดูพระพุทธเจ้าอยู่ที่นั้น พอลับสายตาไปช้างปาลิไลยกะก็พลันหัวใจวายล้มลงตายทันที ด้วยความเลื่อมใสพระพุทธเจ้าจึงได้ไปเกิดเป็นเทาดาบนชั้นดาวดึงส์มีนางเทพอัปสรหนึ่งพันเป็นบริวาร มีชื่อว่า ปาลิไลยกะเทพบุตร ส่วนพระพุทธเจ้าพร้อมคณะสงฆ์ก็ได้เดินทางถึงวัดพระเชตวันมหาวิหาร ในเขตพระนครสาวัตถีตามลำดับมา

เมื่อภิกษุชาวเมืองโกสัมพีทราบข่าวการเสด็จถึงเมืองสาวัตถีแล้วก็ดีใจ จึงพร้อมกันเดินทางไปเข้าเฝ้าเพื่อขอให้พระองค์อภัยโทษให้ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีผู้สร้างวัดเชตวันมหาวิหาร ได้เข้าเฝ้ากราบทูลไม่ให้เข้าวัด พระเจ้าปเสนทิโกศลเจ้าผู้ปกครองเมืองทราบข่าวว่า มีพวกพระภิกษุที่ก่อความวุ่นวายแตกแยกสามัคคีกัน ก่อความบาดหมาง ก่อความทะเลาะ ก่อความวิวาท ก่อเรื่องอื้อฉาว อีกทั้งเป็นพระดื้อด้านที่วัดโฆสิตารามในเมืองโกสัมพี กำลังจะเดินทางเข้ามาก็เสด็จไปทูลพระพุทธเจ้าว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันจะไม่ยอมให้พระเกเรพวกนั้น เข้ามายังแว่นแคว้นของหม่อมฉันโดยเด็ดขาด…”

วิ.ม. ๕/๔๗๑-๔๗๒/๓๖๖.

พระพุทธเจ้าได้สดับเช่นนั้นจึงตรัสชี้แจงให้เป็นที่เข้าใจดีว่า “มหาบพิตร…! พระสงฆ์สามเณรเหล่านั้นเป็นผู้มีศีลอยู่ มีเสียก็เพียงทะเลาะวิวาทกันและไม่รับโอวาทของอาตมา แต่บัดนี้เธอสำนึกในความผิดคิดชอบแล้ว ที่พากันมาคราวนี้เพื่อจะให้อาตมาอภัยโทษให้ ขอให้พวกเขาเข้ามาเถิดมหาบพิตร”

หลังจากพระสงฆ์สามเณรชาวเมืองโกสัมพีมาถึงเมืองสาวัตถีแล้ว พระพุทธเจ้าก็โปรดให้จัดเสนาสนะให้เป็นที่พัก บรรดาพระสงฆ์สามเณรต่างถิ่นทราบเรื่องนี้เข้าก็ไม่คบค้าสมาคมด้วย จึงพากันเข้ามาเฝ้าพระพุทธเจ้าทูลถามว่า “พระพวกนี้ใช่ไหมพระเจ้าข้าที่ก่อความแตกแยกวุ่นวายกันขึ้นในเมืองโกสัมพี…?”

พระพุทธเจ้าตรัสบอกตามความเป็นจริงนั้นตลอดเวลาที่พระภิกษุพวกนั้นถูกพระหัตถ์ชี้ว่าเป็นพวกก่อความแตกแยก พระสงฆ์สามเณรชาวโกสัมพีรู้สึกอัปยศมาก มีความละอายมาก จนไม่อาจยกศีรษะขึ้นมองดูอะไรได้ หมอบลงกราบแทบพระยุคลบาททูลขอให้พระองค์ทรงกรุณาอภัยโทษให้

พระพุทธเจ้าเสด็จกลับวัดแล้ว แต่พวกชาวเมืองก็ไม่ยอมให้พระเหล่านั้นเข้าวัด พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลายนี้ยังมีศีลธรรมดีทั้งนั้น เพียงแต่ไม่ถูกกันเท่านั้นเอง บัดนี้ได้ดีกันแล้ว อย่าห้ามเลย” เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสเช่นนี้ชาวเมืองจึงยอมให้เข้าวัดได้ เมื่อเข้าวัดแล้วพระพุทธเจ้าจึงทรงอบรมสั่งสอนภิกษุทั้งหลายว่า “พวกเธอบวชในสำนักเรา เมื่อเราสอนให้พร้อมเพรียงกันแต่กลับไม่เชื่อฟัง พวกบัณฑิตในปางก่อนได้ฟังโอวาทของมารดาบิดาแล้วจดจำไว้ถึงมารดาสิ้นชีวิตไปแล้วก็ไม่ล่วงละเมิดคำสอน จึงได้รับแต่สิ่งดี ๆ ในชีวิต…”

ตรัสอย่างนี้แล้วจึงทรงแสดงเรื่องทีฆาวุกุมารให้ฟังอีก แล้วทรงแสดงธรรมให้ฟังต่อว่า “พวกอื่นย่อมไม่รู้ว่า เรื่องนี้พวกเราต้องตาย พวกใดรู้อย่างนี้ความวุ่นวายก็จะหายไป โดยพวกนั้นคือพวกใดรู้สึกได้ว่าการกระทำของพวกตนจักเป็นผลร้าย แล้วก็จะระงับความวุ่นวายนั้นได้”

เวลาจบพระโอวาทแล้วพระภิกษุในที่ประชุมอยู่นั้นได้เข้าถึงคุณธรรมเป็นจำนวนมาก

ต้นตำนานการปวารณาที่ดีต่อกัน

หลังจากออกพรรษาในปีนั้นเอง มีสงฆ์คณะหนึ่งที่เคยเป็นเพื่อนกินเพื่อนเล่นมาก่อนที่จะบวชเมื่อบวชแล้ว ก็ยังอยู่ด้วยกัน พระสงฆ์คณะนี้ได้ไปจำพรรษาในวัดแห่งหนึ่งเขตแคว้นโกศล เป็นสถานที่มีความอุดมสมบูรณ์ทุกอย่าง มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างสบาย อยู่มาวันหนึ่งจึงพากันตั้งกติกาในการอยู่ร่วมกันว่า “ในพรรษาปีนี้จะไม่พูด ต่างคนต่างอยู่ ถ้าจำเป็นต้องพูดจะใช้ภาษามือเอา หากว่าใครกลับจากบิณฑบาตก่อนจะต้องจัดเตรียมที่ฉัน นํ้าดื่มนํ้าใช้และนํ้าล้างเท้าให้เรียบร้อย ส่วนผู้กลับจากบิณฑบาตภายหลังหากอาหารยังเหลืออยู่ จะฉันหรือจะทิ้งก็แล้วแต่เห็นสมควร และต้องจัดเก็บทำความสะอาดที่ฉันให้เรียบร้อยตามเดิม และหากว่าเห็นถังนํ้าดื่มนํ้าใช้ไม่มีนํ้า เช่น ในห้องนํ้า ในโรงฉัน เป็นต้น จะต้องตักให้เต็มพร้อมใช้อยู่ตลอดเวลา หากทำไม่ไหวก็ใช้มือเรียกท่านอื่นมาช่วย” เมื่อตกลงกันเรียบร้อยแล้วก็พากันปฏิบัติตามตลอดจนออกพรรษา

เมื่อออกพรรษาแล้วจึงพากันเดินกลับมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่วัดพระเชตวันมหาวิหาร กรุงสาวัตถีเมืองหลวงแคว้นโกศล พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสถามสารทุกข์สุขต่าง ๆ พระสงฆ์คณะนี้จึงกราบทูลรายงานที่พวกตนได้ตั้งกติกาปฏิบัติต่อกันภายในพรรษา พร้อมทั้งชีวิตความเป็นอยู่อื่น ๆ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบอย่างนั้นจึงตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การทำอย่างนั้นเป็นการปฏิบัติของโมฆบุรุษ ไม่ใช่แนวทางของบัณฑิตผู้มีปัญญา เป็นพฤติกรรมของสัตว์เลี้ยงดังพฤติกรรมของแพะแกะเป็นลักษณะของพระผู้ประมาทในชีวิต ทำตัวเหมือนเป็นคนใบ้ไม่ใช่พระที่ดี ไม่ใช่แนวทางให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธาแก่ผู้คนเลย” เมื่อตรัสเช่นนี้แล้วจึงทรงห้ามไม่ให้ปฏิบัติหากฝ่าฝืนปรับอาบัติทุกกฎนับตั้งแต่นี้ไป และพระพุทธเจ้าตรัสต่อไปว่า “นับแต่นี้ไปให้พระภิกษุที่อยู่ด้วยกันตลอดพรรษา แล้วให้ปวารณาต่อกันด้วยอาการ ๓ อย่างคือ การได้เห็นกัน การได้ยินได้ฟังกัน และการไม่รังเกียจสงสัยกันเพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้แนะนำกันได้ จะไม่เป็นอาบัติและเป็นการรักษาพระศาสนาให้เจริญในอนาคต ด้วยการกล่าวว่า ท่านทั้งหลายข้าพเจ้าปวารณาต่อสงฆ์ หากได้เห็น ได้ยินและรังเกียจสงสัยขอท่านจงอนุเคราะห์ว่ากล่าวแล้วข้าพเจ้าจะแก้ไขปรับปรุงตนเอง ให้ปฏิบัติในวันขึ้น ๑๔ หรือ ๑๕ คํ่า ในวันออกพรรษาแทนการทำอุโบสถกรรม”

ปุ้ย แสงฉาย อนงคาราม. พระไตรปิฎกมหาวิตถารนัย ๕๐๐๐ กัณฑ์ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ ส.ธรรมภักดี, ๒๕๑๘), หน้า ๓๐๘-๓๑๒.

ด้วยเหตุการณ์ดังกล่าวนี้จึงเป็นต้นเหตุให้พระสงฆ์ นำเอาบทสาราณิยธรรมสูตรสวดพระพุทธมนต์ในวันปวารณา ซึ่งเป็นธรรมที่ตั้งแห่งความให้ระลึกถึงซึ่งกันและกันมี ๖ อย่าง ดังนี้

๑. เข้าไปตั้งกายกรรมประกอบด้วยเมตตา ในเพื่อนทั้งหลายทั้งต่อหน้าและลับหลัง กล่าวคือช่วยขวนขวายในกิจธุระของเพื่อนด้วยกาย มีการงานที่พอจะกระทำได้ตามกำลังของตน เป็นต้น ด้วยจิตเมตตา

๒. เข้าไปตั้งวจีกรรมประกอบด้วยเมตตา ในเพื่อนทั้งหลายทั้งต่อหน้าและลับหลัง กล่าวคือช่วยขวนขวายในกิจธุระของเพื่อนด้วยกันด้วยวาจา เช่นกล่าวแนะแนวชี้ทางที่ถูก กล่าววาจาที่สุภาพ เป็นต้นด้วยจิตเมตตา

๓. เข้าไปตั้งมโนกรรมด้วยจิตประกอบด้วยเมตตา ในเพื่อนทั้งหลายทั้งต่อหน้าและลับหลัง กล่าวคือคิดแต่สิ่งที่มีประโยชน์ มีคุณค่าแก่เพื่อนด้วยกัน

๔. แบ่งปันผลประโยชน์ ผลลาภที่ตนได้มาแล้วโดยชอบธรรม ให้แก่เพื่อนทั้งหลาย ไม่หวงไว้บริโภคอุปโภคเฉพาะตนผู้เดียว

๕. รักษาศีลบริสุทธิ์ หรือมีพฤติกรรมตามค่านิยมที่สังคมยอมรับเสมอกันกับเพื่อนคนอื่น ๆ ไม่ทำตนให้เป็นที่รังเกียจ

๖. มีความเห็น ความเชื่อ วิสัยทัศน์ร่วมกันกับผู้อื่น ๆ โดยไม่ขัดต่อขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม ไม่วิวาทกับใคร ๆ อันเนื่องมาจากวิสัยทัศน์ไม่ตรงกัน

หลักธรรมทั้ง ๖ อย่างนี้ จะทำให้ผู้ประพฤติปฏิบัติตามเป็นที่รักที่เคารพที่เมตตาของผู้อื่นที่อยู่ด้วยหรือผู้ร่วมงานกัน เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน อยู่กันด้วยความรักสามัคคีกลมเกลียวกัน จะเห็นได้ว่าวัดหรือองค์กรบริษัทใด มีปัญหาเรื่องความไม่สามัคคีกัน เป็นเพราะมีสกุลที่ต่างกันมีการศึกษาที่ไม่เหมือนกัน มีพื้นฐานชีวิตแตกต่างกันแม้แต่สำเนียงภาษายังไม่เหมือนกัน เมื่อมาทำงานร่วมกัน บางท่านนำนิสัยดั้งเดิมติดตัวมาด้วย

นับตั้งแต่เรื่องนี้ถูกเปิดเผยขึ้นให้สาธารณชนทราบ ปวงประชาเห็นด้วยคล้อยตามจนกลายเป็นความศรัทธา มีคติความเชื่อตามหลักปรัชญาและเหตุผลทางตรรกะ ปราชญ์ชาวอุษาคเนย์จึงได้นำเหตุการณ์ดังกล่าวมาเป็นอุทาหรณ์สอนใจให้กับชาวพุทธ จึงได้คิดริเริ่มงานบุญออกพรรษาร่วมกันขึ้นเป็นประจำ ทุกปี โดยเลือกเอาเหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าตรัสหลักธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความให้ระลึกถึงกัน ในการอยู่ร่วมกันโดยการเปิดโอกาสให้ต่างฝ่ายต่างกล่าวชี้แนะ และแบ่งปันนํ้าใจ พร้อมทั้งสิ่งของที่เป็นวัตถุให้กันและกันตามกำลังของตน จึงเป็นที่มาของปวารณาในครั้งนั้น ซึ่งเหมาะกับช่วงเวลาที่ควรออกจากเขตในฤดูฝน และมีความสมดุลยภาพต่อวิถีชีวิตในช่วงเดือนนี้ จึงเรียกว่า บุญเดือนสิบเอ็ด

Related Posts

กลอนลำฮีต-คอง ประเพณีเดือนสิบเอ็ด
ฮีตเดือนห้า
ฮีตเดือนสิบสอง พระชาวเมืองปาฐาลุยโคลน
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com