เกษตรอินทรีย์ ฟื้นชีวิตเกษตร กอบกู้โลก

เกษตรอินทรีย์ ฟื้นชีวิตเกษตร กอบกู้โลก

ทางอีศานฉบับที่๕ ปีที่๑ ประจำกันยายน ๒๕๕๕
คอลัมน์: เรื่องจากปก
column: Cover story
ฝ่ายข้อมูล สหกรณ์ฯกองทุนข้าวสุรินทร์


ความแปรปรวนฤดูกาลโลกกระทบต่อพืชพรรณธัญญาหาร แต่ยังไม่ร้ายเท่าระบอบจักรวรรดิทุนนิยมโลกกระทำต่อมวลมนุษยชาติ

จากขบวนการ “ปฏิวัติเขียว” เมื่อกึ่งศตวรรษที่ผ่านมา มุ่งขยายแปลงขนาดใหญ่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว ๆ ส่งเสริมใช้ปุ๋ยเคมี สารพิษฆ่าหญ้าฆ่าแมลงกระทั่งสมดุลแร่ธาตุและโครงสร้างของดินถูกทำลาย พืชขาดภูมิต้านทานโรคผลลัพธ์คือมนุษย์มีปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมธรรมชาติเสียสมดุล ในระยะยาวจะเกิดวิกฤติห่วงโซ่อาหาร ก่อความเสียหายอย่างกว้างขวางรุนแรง

ประเทศไทยก็ไม่พ้นถูกกรอบคิดเศรษฐกิจแบบเมืองขึ้นครอบงำ เมื่อดูตัวเลขในรอบ ๒๐ ปีจะเห็นว่าประเทศไทยนำเข้าสารเคมีสังเคราะห์ทางการเกษตรเฉลี่ยปีละ ๔-๕ หมื่นล้านบาท และเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ราคาผลผลิตในรอบ ๒๐ ปีไม่สูงขึ้นตามสัดส่วนต้นทุน เฉพาะ พ.ศ.๒๕๔๖ ไทยส่งออกสินค้าพืชรวมกัน ๒๖.๖ ล้านตัน มูลค่า ๒๒.๙ หมื่นล้านบาท แต่นำเข้าปุ๋ยเคมี ๓.๘ ล้านตัน มูลค่า ๓๑.๘๘ หมื่นล้านบาท และด้วยถูกกลไกตลาดทุนนิยมสกัดตัดตอนออกจากวงต่อรองผลประโยชน์ ผู้ผลิตจึงต้องรับภาระขาดทุน เป็นหนี้ท่วม ในที่สุดที่ดินก็หลุดมือ

อย่างไรก็ตาม ช่วง ๒๐ ปีที่ผ่านมา กระแสและแนวความคิดเริ่มชัดเจนเรื่องเกษตรทางเลือก การพัฒนาอิงธรรมชาติอย่างยั่งยืนได้ก่อรูปคืนมา

“กองทุนข้าวสุรินทร์” ก่อตั้งมา ๒๐ ปีแล้วและจดทะเบียนสหกรณ์ในนาม “สหกรณ์เกษตรอินทรีย์กองทุนข้าวสุรินทร์” กันยายน พ.ศ.๒๕๕๖ ก็จะครบรอบ ๑๐ ปี ทำการผลิต แปรรูป และจำหน่ายครบวงจร แต่กว่าจะสำเร็จต้องฝ่าอุปสรรค ต้องดิ้นรนต่อสู้ และสรุปบทเรียนแสวงหาความรู้ความร่วมมือ

 

รวมตัวพึ่งพาซึ่งกันและกัน

ช่วงปลายทศวรรษ ๒๕๑๐ เป็นต้นมาเกษตรกรรายย่อยสุรินทร์ที่ยับย่อยจากเกษตรเคมีสภาพน่าสลดอดสู คือชาวนาทำนาแล้วไม่เหลือข้าวไว้กิน เจ้าหนี้มาตวงข้าวจากลานไปเกือบหมดรีบขายก็ถูกกดราคา ซื้อปุ๋ยเงินเชื่อก็ถูกบวกราคาเพิ่มอย่างมาก ได้เริ่มรวมตัวประท้วงราคาพืชผลตกต่ำหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงอะไรได้

ช่วงนั้น หลวงพ่อนาน สุทฺธสีโล (พระครูพิพิธประชานาถ) เจ้าอาวาสวัดสามัคคี ตำบลท่าสว่าง อำเภอเมืองสุรินทร์ (พ.ศ.๒๕๐๒-ปัจจุบัน) เกิดแรงดลใจจะพัฒนาชีวิตชาวบ้านทดแทนคุณข้าวสุกจากญาติโยม ประกอบกับทางองค์กรพัฒนาเอกชนลงมาหนุนเสริม

กระทั่ง ประมาณพ.ศ.๒๕๒๕-๒๖ หลวงพ่อนาน กับนายสัมฤทธิ์ บุญสุข ชาวนาตำบลแกใหญ่ได้ร่วมมือกับองค์กรพัฒนาเอกชน เช่น ศพพ. สุรินทร์-คณะกรรมการศาสนาเพื่อการพัฒนาสุรินทร์ คสป.สุรินทร์-โครงการเสริมประสิทธิภาพเกษตรกรสุรินทร์ (ปัจจุบัน มูลนิธิชุมชนเกษตรนิเวศน์) มีตัวแทนสถานทูตแคนาดา มาร่วมประชุมด้วย สถานที่ทำงานเริ่มแรกใช้วัดท่าสว่าง มีนักศึกษาอาสาสมัครมาช่วยงานประสานงาน

พ.ศ.๒๕๓๓ เรียกกันว่าทำเกษตรธรรมชาติปลูกข้าว เก็บใบไม้ใบหญ้า ขี้วัว ขี้ควายในคอกหมัก ๔- ๕ เดือนต่อครั้งใส่นา ก็ได้ผลพอสมควรแต่ยังได้ไม่ค่อยดีนัก โรท่า อาสาสมัครชาวสวิสฯ บอก “คนสวิตเซอร์แลนด์อยากกินข้าวไม่ใส่สารเคมี ให้ปลูกส่งไปขาย” ต้องปรับหลายอย่างให้ปลอดสารพิษเลย

หลวงพ่อนานจึงยกที่ดินของวัดท่าสว่างทั้ง ๓๒ ไร่ทดลองทำนาอินทรีย์ นายสัมฤทธิ์กับเพื่อนบ้านบางคนก็แบ่งนามาทำด้วย ในปี ๒๕๓๕ ได้สีข้าวบรรจุเครื่องสุญญากาศ ส่งไปขายสวิสฯ ๑๕ ตัน ในปีเดียวกันนี่เอง แกนนำเกษตรกรได้รวมตัวก่อตั้ง “กองทุนข้าว”

ส้มป่อย จันทร์แสง ช่วยต่อภาพให้ชัดขึ้นว่า คสป.สุรินทร์ ดำเนินงานในพ.ศ.๒๕๒๖ ได้ทุนสนับสนุนเริ่มแรกจาก “กองทุนพัฒนาแคนาดา” และต่อมาก็มีทุนลักษณะนี้มาช่วยเสริมอีก เช่น มิซีรีออ (MISEEREOR) ประเทศเยอรมัน เพื่อตอบโจทย์การสร้าง “องค์กรชาวบ้านเข้มแข็ง” โดยเริ่มอบรมการจัดการบริหารองค์กร ถอดบทเรียนวิเคราะห์ปัญหาสังคม เศรษฐกิจ และแสวงหาแนวร่วมสร้างระบบการผลิตเกษตรอินทรีย์ ตลาดทางเลือก และการค้าที่เป็นธรรม

หวนสู่หลักปรัชญาพุทธเกษตร

ปัญหาจากวิถีผลิตแบบเคมี เป็นปัจจัยภายในทำให้ต้องดิ้นรนหาทางออก ปัจจัยภายนอกคือความต้องการอาหารปลอดภัยก็มากระตุ้นด้วย แต่สิ่งสำคัญเป็นจุดเด่นเกษตรอินทรีย์สุรินทร์ คือ ศีลธรรม และวิถีวัฒนธรรม เป็นแกนการรวมตัว

หลวงพ่อนาน บรรยายไว้ในหลายโอกาสว่าข้าวอินทรีย์พัฒนาเป็นธุรกิจส่งออกเต็มตัว แต่ก็ด้วยหลักศีลธรรมกำกับ หมายถึง ถ้าคนทำเกษตรไม่มีศีล ก็ไม่เป็นอินทรีย์ คนเกษตรอินทรีย์ต้องมีศีล มีสมาธิ และมีปัญญา ผู้ซื้อผู้ขาย ก็มีกายอินทรีย์

พ่อมหาอยู่ สุนทรธัย ปราชญ์เกษตรชาวสุรินทร์ยุคแรก ๆ ลูกชาวนาบวชเรียนได้นักธรรมชั้นเอก และเปรียญธรรม ๓ ประโยค กลับมาเยี่ยมบ้านเห็นโยมพ่อแม่ชรามาก จึงลาสิกขาออกมาช่วยทำนา แต่งงานมีครอบครัว

ท่านวิพากษ์การพัฒนาในความหมายคับแคบของรัฐว่า มองแต่ตัวเลขเศรษฐกิจ รายได้ประชากร ไม่คำนึงถึงต้นทุนที่มองไม่เห็น สถาบันครอบครัวจึงแทบล่มสลาย สำหรับพ่อมหาอยู่ ยึดหลักอิทธิบาท ๔ คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสาในการดำเนินชีวิต จนมีประสบการณ์มากพอจะชี้แนะเป็นหลักคิดไว้ คือ
๑. ศรัทธาในแนวคิดการพึ่งตนเองและพึ่งพากันเอง
๒. ออมน้ำ ออมดิน ออมต้นไม้ใหญ่ ออมเงิน และสั่งสมปัญญา
๓.ผสมผสานความหลากหลายทางชีวภาพ

นอกจากนี้ พ่อเชียง ไทยดี ปัจจุบันวัย ๘๐ ปีเศษ เกษตรกรชาวสุรินทร์ผู้ใฝ่รู้ นักปฏิบัติขั้นเอกอุก็ยึดหลักอิทธิบาท ๔ เช่นกัน ลองผิดลองถูกจนได้องค์ความรู้เฉพาะตัว เป็นแบบอย่างเกษตรกรพึ่งตัวเองได้และเป็นที่พึ่งได้ด้วย พ่อเชียง สรุปบทเรียนไว้อย่างแยบคายว่า

“มีเกินใช้ ได้เกินกิน เราก็รวย กินเกินได้ ใช้เกินมี เราก็จน”

ซึ่งหลักคิดแนวทางดำเนินชีวิตของเกษตรกรเช่นนี้เอง นักวิชาการเรียกว่า “พุทธเกษตร”

พ่อสัมฤทธิ์ บุญสุข วัย ๘๐ ปีเศษ เคยบวชเรียนและผ่านชีวิตเกษตรลำเค็ญมาแล้ว เห่อเกษตรเคมีตามแรงโฆษณาชวนเชื่อถึงขั้นเป็นตัวแทนค้าปุ๋ยเคมีของ อ.ต.ก.จากนั้นก็หันหลังให้เกษตรเคมี ร่วมทำงานกับหลวงพ่อนาน ทำเกษตรผสมผสาน ทำนาปลอดสารเคมี แต่เกษตรผสมผสานทั่วไปก็ยังใช้สารเคมีอยู่ สูงสุดคือเกษตรอินทรีย์หรือเกษตรธรรมชาตินั่นเอง

“เกษตรดั้งเดิมคือเกษตรธรรมชาตินั่นแหละสมัยก่อนไม่มีสารเคมี พอใช้สารเคมีแล้วย่ำแย่…ไม่มีใครอยากตายผ่อนส่ง ไม่อยากเจ็บไข้ได้ป่วยกินอิ่ม แต่โรคภัยตามมาหรอก”

พ่อสัมฤทธิ์ ยังพูดเรื่องรสชาติของข้าวอินทรีย์มีความหอมความอ่อนนิ่ม ถ้าไปกินข้าวใส่สารเคมีลิ้นจะบอกความแตกต่างได้เลย

นอกจากนี้ พาณิชย์จังหวัดสุรินทร์ (นายสุทธิพร บางแก้ว) ช่วยรับประกันว่า นอกจากข้าวอินทรีย์ราคาสูงกว่าข้าวทั่วไป ๑๐-๑๕ % เกษตรกรยังได้ผลดีหลายด้าน หลังพ้นระยะปรับเปลี่ยน ๓ ปีไปแล้วดินจะฟื้นฟูสภาพ ผลผลิตสูงกว่าเดิมต้นทุนผลิตลดลง สิ่งแวดล้อมในนา กบ เขียด ปู ปลา ก็กลับคืนมา ค่าใช้จ่ายครัวเรือนลดลงสุขภาพคนทำเกษตรอินทรีย์ดีขึ้น ความเป็นครอบครัวก็กลับคืนมาด้วย

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี พูดถึงวิกฤติอาหารจากภาวะภูมิอากาศโลกวิกฤต ซึ่งเกษตรอินทรีย์จะช่วยปกป้องโลกได้ดังนี้
๑) เน้นสร้างอินทรีย์วัตถุ ซึ่งเป็นคาร์บอนรูปแบบหนึ่งเก็บอยู่ในดิน
๒) ไม่ใช้ปุ๋ยไนโตรเจน การใช้จะเกิดไนตรัสออกไซด์ ร้ายกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ ๓๐๐ เท่า
๓) ไม่เผาตอซัง ลดคาร์บอนไดออกไซด์รักษาดิน น้ำในดิน สัตว์เล็ก ๆ ในดิน
๔) ไม่ใช้ปุ๋ยไนโตรเจน (ทำจากก๊าซธรรมชาติ) ปุ๋ยยูเรีย (จากน้ำมัน) จึงลดการใช้พลังงาน
๕) เลี่ยงการเลี้ยงสัตว์จำนวนมาก ลดการปล่อยก๊าซมีเทน

ทั่วโลกกำลังปรับตัว สวิตเซอร์แลนด์มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ร้อยละ ๑๓ ลิกเกนสไตน์เกือบร้อยละ ๔๐ สวีเดนร้อยละ ๑๐ อีกสิบปีจะเพิ่มเป็นครึ่งหนึ่ง ๒๐ ปีอาจเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เมืองไทยถ้าไม่มีสุรินทร์จะเท่ากับ ๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะเกษตรอินทรีย์เมืองไทยมีไม่ถึง ๑ เปอร์เซ็นต์

ประเทศชั้นนำมีกฎหมายอาหารอินทรีย์ เช่น สหรัฐฯ มี พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์อาหารอินทรีย์ (Organic Food Production Act-OFPA) พ.ศ.๒๕๓๓ แก้ไขฉบับที่ ๒ พ.ศ.๒๕๓๙ ตลาดร่วมกลุ่มประเทศยุโรป (European Unity : EU) มีข้อกำหนดผลิตผลเกษตรอินทรีย์ของสภาตลาดร่วมยุโรป (EEC No.2092/91) ภายใต้มาตรฐานเหมือนกัน ส่วนญี่ปุ่น ประกาศมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ตั้งแต่ ๑ เมษายน ๒๕๔๔

สมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (International Federation of Organic Agriculture Movement – IFOAM) จัดทำเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำตรวจสอบรับรองผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ซึ่งเป็นที่ยอมรับในยุโรป

องค์กรเครือข่าย (Pesticide Network Action: PNA) สหราชอาณาจักร(อังกฤษ) และเนเธอร์แลนด์ ก็วางมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากลส่วนประเทศไทยนั้น กำหนดมาตรฐานพืชอินทรีย์เมื่อ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๔๓

ตลาดทางเลือกสุรินทร์

องค์กรพัฒนาเอกชน และแกนนำเกษตรกรได้สรุปบทเรียนและอุดช่องว่างด้วยการจัดกระบวนการทำตลาดทางเลือกในสุรินทร์ ซึ่งมีพัฒนาการมาร่วม ๑๕ ปี เป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจของเกษตรกรรายย่อยที่ทำการผลิตระบบเกษตรยั่งยืน คือสอดคล้องกับวิถีชีวิตเกื้อกูลต่อสิ่งแวดล้อม มีความเป็นธรรม และเอื้ออาทรต่อผู้บริโภค มีรูปแบบดังนี้

๑. ตลาดส่งออกข้าวอินทรีย์ สหกรณ์ฯกองทุนข้าวสุรินทร์ ส่งข้าวอินทรีย์จำหน่ายในประเทศและต่างประเทศ

๒. ตลาดท้องถิ่น ได้แก่ ร้าน “ข้าวหอม” ดำเนินการ พ.ศ.๒๕๓๗ ภายใต้ มูลนิธิชุมชนเกษตรนิเวศน์ จำหน่ายข้าวอินทรีย์ของกองทุนข้าวสุรินทร์ และสินค้าสมุนไพรจากเครือข่าย ส่วนตลาดนัดสีเขียว ๒ แห่ง คือ ตลาดสีเขียวเมืองสุรินทร์ เปิดทุกวันเสาร์ เริ่มเมื่อ ๑๙ เมษายน ๒๕๔๖ กับตลาดนัดสีเขียวอำเภอปราสาท ทุกวันอังคาร เริ่ม ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ ตลาดสีเขียว อำเภอกาบเชิง ทุกพฤหัสบดีและศุกร์ เริ่มเมื่อต้นพ.ศ.๒๕๕๓

นอกจากนี้ยังจัดตลาดนัดเคลื่อนที่ เริ่ม ๒๒ มกราคม ๒๕๕๐ ทุกวันพฤหัสบดีสมาชิกจะนำผลผลิตอินทรีย์มารวมกันขาย ณ ร้านข้าวหอม

ล่าสุด ณ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๕ สหกรณ์ฯ กองทุนข้าวสุรินทร์ ส่งข้าวสารขายต่างประเทศรวม ๓๘๐.๐๓ ตัน รวมมูลค่า ๑๖,๓๙๗,๖๘๓.๘๘ บาท แบ่งเป็น สหรัฐอเมริกา ๘๘.๔๐ ตัน, ฝรั่งเศส ๕๙.๔๔ ตัน, สวิตเซอร์แลนด์ ๑๘๓ ตัน, อิตาลี ๑๗ ตัน, ออสเตรเลีย ๙.๒๒ ตัน และสิงค์โปร์ ๒๒.๙๗ ตัน ส่วนยอดขายภายในประเทศ ๑๓๗ ตันเศษ มูลค่า ๒,๙๐๐,๒๔๖ บาท

สหกรณ์ฯ กองทุนข้าวสุรินทร์ สมัครขอรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) พ.ศ.๒๕๓๙ ซึ่งจะมีการตรวจแปลงนา โรงสี และโรงบรรจุข้าวสาร ภายใต้องค์กรการค้าที่เป็นธรรม FLO (Fairtrade Labelling Organization International) กำกับดูแลความเป็นธรรมทั้งผู้ผลิต ผู้ค้า และผู้บริโภค มีสมาชิก ๖๐ ประเทศ กว่า ๙๐๐ กลุ่มเกษตร จำนวนประมาณ ๑.๒ ล้านคน ส่วนมากอยู่แถบอเมริกาใต้

พาณิชย์จังหวัดสุรินทร์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า พ.ศ.๒๕๔๒ สุรินทร์ประกาศเป็นจังหวัดเกษตรอินทรีย์ เป็นเกษตรแบบยั่งยืนยึดโยงหลักเศรษฐกิจพอเพียง พ.ศ.๒๕๔๖ ประกาศวิสัยทัศน์เกษตรอินทรีย์จะเป็นเลิศ เป็นประตูสู่อินโดจีนขยายตลาดโดยมีมาตรฐานสินค้ารองรับ

ประเทศไทยทำเกษตรอินทรีย์เกือบ ๓ แสนไร่ส่วนใหญ่ปลูกข้าวหอมมะลิ สุรินทร์ซึ่งเป็นแหล่งใหญ่เนื้อที่ปลูก ๑๒๐,๐๐๐ ไร่ ได้รับรองทุกๆ มาตรฐานอินทรีย์เกือบ ๔๐,๐๐๐ ไร่ จำนวน ๑๓,๐๐๐ ตันข้าวเปลือก

“ตัวเลขภาวะตลาดโลกถดถอย การค้าโลกหดตัวลง แต่กลุ่มสินค้าเกษตรอินทรีย์ไม่กระทบเลยกลับดีขึ้น ไม่ขยายอย่างหวือหวาแต่ไม่หดตัว กลุ่มบริโภคสินค้านี้มีกำลังเงินเยอะจึงไม่กระทบเท่าไหร่” พาณิชย์จังหวัดสุรินทร์ช่วยยืนยัน

ถึงวันนี้ พี่น้องเกษตรกรสมาชิกสหกรณ์ฯ กองทุนข้าวสุรินทร์ มั่นใจยืนยันว่าวิถีการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์คือคำตอบของชีวิต และเป็นคำตอบของประเทศไทยและของโลกด้วย.

 

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com