เครือญาติ
ทางอีศาน ฉบับที่๕ ประจำเดือนกันยายน ๒๕๕๕
คอลัมน์: อัตลักษณ์ชาติพันธุ์อีสาน
Column: Identity of the Esan Ethnics
ผู้เขียน: วีระ สุดสังข์
ข้าพเจ้ามีโอกาสไปตลาดนัดโคกระบือ ตามที่ต่าง ๆ มีพ่อค้าบรรทุกวัวควายมาจากทุกสารทิศเพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน อยากรู้ว่าเขามีการแลกเปลี่ยนซื้อขายกันอย่างไร วัวงามและควายงามนั้นมีลักษณะอย่างไร ตลาดนัดเหล่านี้มักมีร้านลาบ ก้อย เหล้า เบียร์ ไว้บริการผู้ซื้อผู้ขาย เมื่อเสร็จภารกิจซื้อขายก็จะนั่งร้านลาบ ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบตามประสาคนบ้านนอก แอบฟังการสนทนาท่ามกลางวงเหล้าขาว และมีถ้อยคำโดนใจที่มักได้ยินก็คือ “หมู่เฮาผีโตเดียวกัน” อันหมายถึงมีโคตรเหง้าวงศ์ตระกูลเดียวกัน แม้จะจากกันไปอยู่คนละทิศคนละแดนก็ยังนับถือญาติ
อัตลักษณ์ที่เด่นชัดในแต่ละชาติพันธุ์ก็คือวัฒนธรรมเครือญาติ วัฒนธรรมนี้มีผู้อาวุโสสูงสุดหรือญาติที่อยู่สูงสุด ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของญาติลดหลั่นระดับกันลงมาเป็นทอด ๆ หากนึกให้เห็นเป็นรูป เราก็เห็นใยแมงมุมที่ถักเส้นใยขยายวงออกเรื่อย ๆ เส้นใยแต่ละเส้นเชื่อมต่อกันอยู่อย่างเหนียวแน่น ยากที่จะขาดจากกัน ปรากฏการณ์ตัดญาติหรือตัดหางปล่อยวัดไม่เกิดขึ้นอย่างง่าย ๆ ในวัฒนธรรมเครือญาติของชาติพันธุ์อีศาน
ข้าพเจ้าไม่รู้ว่า แรกเริ่มเดิมทีนั้น มนุษย์กำเนิดขึ้นมาบนโลกกี่คน แต่มั่นใจว่ามีเพศชายฝ่ายหนึ่งและมีเพศหญิงฝ่ายหนึ่ง หากมนุษย์กำเนิดขึ้นมาเพียงหนึ่งคู่ มีการสืบพันธุ์สืบทอดสายเลือด ถ้าไม่มีมนุษย์คู่อื่นอีกเลย ลูกกับลูกมาสืบพันธุ์กันมนุษย์คงสิ้นสุดไปแล้ว น่าเชื่อว่า แต่ละชาติพันธุ์มนุษย์มีพัฒนาการกันมาไม่น้อยกว่าหนึ่งคู่ แล้วลูกของฝ่ายหนึ่งก็สืบพันธุ์กับลูกอีกฝ่ายหนึ่ง คือ มีการผสมพันธุ์นอกสายเลือด พัฒนาการทางกายและสมองของมนุษย์จึงสืบทอดมาถึงปัจจุบัน
การเดินทางและการตั้งชุมชนของมนุษย์แต่ละกลุ่ม นอกจากจะมีความสัมพันธ์ภายในครอบครัวอันประกอบด้วยพ่อ แม่ ลูก แล้ว ในกลุ่มนั้นต้องมีบุคคลอื่นหรือครอบครัวอื่นรวมอยู่ด้วย มนุษย์จึงมีญาติโดยสายเลือดและญาตินอกสายเลือด
ญาติโดยสายเลือดนั้น หมายถึง บุคคลที่มีผู้ให้กำเนิดเป็นคนเดียวกัน ที่เรียกกันว่า “พี่” เรียกกันว่า “น้อง” ทั้งพี่และน้องเรียกผู้ให้กำเนิดว่า “พ่อ,แม่” ส่วนญาตินอกสายเลือดนั้น หมายถึง บุคคลอื่น (สายเลือดอื่น) มาสัมพันธ์กับบุคคลในสายเลือด สัมพันธ์กันโดยผูกเสี่ยว, โดยการผูกเป็นพี่เป็นน้อง, โดยการสมรส, โดยการเป็นบุตรบุญธรรม และโดยการเป็นเพื่อน, โดยการเป็นเพื่อนของเพื่อน โยงใยเป็นเครือข่ายที่ยากจะสิ้นสุด
การนับญาติของตระกูลใดตระกูลหนึ่งเป็นการสร้างระบบอาวุโสและมีคำศัพท์เรียกตำแหน่งในระบบอย่างชัดเจน เริ่มจากญาติสูงสุดเรียกว่า “ทวด” หรืออาจเรียกว่า “เจ้าโคตร” เจ้าจึงแปลว่า “ใหญ่” แปลว่า “สูงสุด” รองลงมาคือปู่ย่าและตายาย, ลุงและป้า ลำดับถัดมาคือ พ่อและแม่, อาและน้า, พี่, น้อง, ลูก, หลาน, เหลน,โหลน ถ้าบุคคลในกลุ่มญาติโดยสายเลือดไปสมรสกับกลุ่มบุคคลอื่นก็มีตำแหน่งและคำศัพท์เรียกอีก เช่น ลูกเขย, ลูกสะใภ้, พี่เขยพี่สะใภ้, อาเขยอาสะใภ้, น้าเขยน้าสะใภ้, หลานเขยหลานสะใภ้ ฯลฯ บุคคลที่ผูกเสี่ยว, ผูกเป็นพี่เป็นน้องและเป็นเพื่อนฯลฯ ก็เรียกญาติของฝ่ายหนึ่งเสมอว่า ได้เป็นญาติกันโดยสายเลือด จนกลายเป็น “เครือญาติหรือวงศาคณาญาติ” และกลายเป็นวัฒนธรรมของระบบอาวุโส
ระบบอาวุโส คือ ระบบที่นับถือบุคคลที่มีอายุมากกว่า, มีตำแหน่งในระบบสูงกว่าอย่างเคร่งครัดและเป็นระบบที่สร้างวัฒนธรรมการเคารพนับถือและวัฒนธรรมการปกครองผู้เยาว์กว่าโดยพิธีกรรมต่าง ๆ มาเป็นส่วนประกอบ พิธีกรรมเหล่านี้ก่อเกิดเป็นข้อปฏิบัติ ระเบียบ ข้อบังคับ เป็นสายใยของระบบอาวุโสที่ผูกรัดมัดคอให้ทุกคนอยู่ในระบบระบบอาวุโสจึงครอบคลุมและครอบงำระบบญาติอานุภาพของระบบยังแผ่ขยายไปยังบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ญาติ ทั้งที่เป็นแค่คนรู้จักและคนไม่รู้จัก อาทิคนอ่อนเยาว์เรียกตำแหน่งบุคคลที่อาวุโสกว่าว่า ตา, ยาย, ลุง, ป้า, น้า, อา, พี่ จากการคาดคะเนอายุและพิจารณาบุคลิกลักษณะ ทั้งที่เป็นแค่คนรู้จักหรือไม่เคยรู้จักมาก่อนเลย เรียกตำแหน่งบุคคลที่อายุน้อยกว่า น้อง, ลูก, หลาน และใช้คำสรรพนามเรียกคนอายุรุ่นราวคราวเดียวกันว่า “คุณ”
นอกจากการนับถือญาติที่ยังมีชีวิตอยู่แล้วญาติที่เสียชีวิตไปก็ยังได้รับการนับถืออย่างเคร่งครัด จึงเกิดพิธีกรรมเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษ ใครจะอยู่ที่ไหน ไกลแค่ไหน ก็ต้องมาร่วมพิธีกรรมนี้เพื่อแสดงให้เห็นถึงความกตัญญูและความจงรักภักดีต่อผู้มีพระคุณของตน
ระบบเครือญาติ มีทวดหรือปู่ย่าตายาย เป็นเจ้าโคตรหรือเป็นที่เคารพสูงสุด แต่การดำรงชีวิตมิได้มีการเคารพกันในเพียงเครือญาติเดียวเท่านั้นแต่ละเครือญาติยังต้องเคารพนับถือผู้ที่อยู่สูงสุดในชุมชนหมู่บ้านอีกชั้นหนึ่ง นั่นคือ “พ่อธรรม”
“พ่อธรรม” คือ บุคคลอาวุโสผู้หนึ่งที่พร้อมสรรพด้วยศาสตร์ต่าง ๆ เป็นผู้ที่ผ่านการเคี่ยวกรำจากการเรียนรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม โดยเฉพาะด้านไสยศาสตร์ มีเวทย์มนต์ คาถา อาคมแก่กล้า มีวิชาเกี่ยวกับยาสมุนไพรรักษาอาการเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นผู้ที่สามารถเข้าทรง ติดต่อสื่อสารกับผีบรรพบุรุษ ผีฟ้า พญาแถน และสิ่งลี้ลับต่าง ๆ พ่อธรรมจึงเกี่ยวข้องกับคนตั้งแต่เกิดจนถึงตาย เมื่อกำเนิดทารกก็นำตัวทารกไปฝากเป็นลูก เจ็บไข้ได้ป่วยก็นำตัวไปรักษา จนถึงวันตายก็มีพิธีกรรมที่เกี่ยวข้อง หากเปรียบทวดเป็นจอมใหญ่ของเครือญาติ พ่อธรรมก็คือจอมใหญ่ของชุมชน หมู่บ้านตำบลนั่นเอง พ่อธรรมจึงเป็นญาติของทุกคนและเป็นผู้ปกครองหรือเป็นผู้นำที่แท้จริง
เมื่อกฎหมายการปกครองของรัฐกำหนดให้มีตำแหน่ง “ผู้ใหญ่บ้าน” อันถือเป็นตำแหน่งทางราชการ แต่การเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านโดยวิธีการใดก็ตาม ความเป็นเครือญาติก็ยังเป็นตัวกำหนดบุคคลไปรับตำแหน่งนั้นอยู่ นั่นคือ บุคคลใดมีญาติพี่น้องมากก็คนนั้นแหละจะได้เป็นผู้ใหญ่บ้านและตัวผู้ใหญ่บ้านก็ยังต้องอยู่ภายใต้ระบบอาวุโสของเครือญาติ การที่ผู้ใหญ่บ้านจะตัดสินใจทำอะไรลงไป แม้จะยึดระเบียบกฎหมายเป็นสำคัญแล้วก็ยังต้องยึดเจ้าโคตรและพ่อธรรมเป็นสำคัญด้วยปัจจุบันตำแหน่งพ่อธรรมอาจเสื่อมหายไปตามสมัยวิทยาการ แต่ระบบอาวุโสในหมู่เครือญาติยังดำรงอยู่
สิ่งที่น่าสนใจในหมู่เครือญาตินั้นคือ ความเชื่อและค่านิยมที่ได้รับการปลูกฝังและสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน จนกลายเป็นรากแก้วหยั่งลึกแตกเป็นรากแขนง แตกเป็นรากฝอย ยากต่อการโค่นล้ม ทำลายล้าง อาจจะทำลายรากฝอยได้ทำลายรากแขนงได้ นั่นก็เป็นเพียงการทำลายเปลือกเท่านั้น แต่สำหรับแก่นแท้หรือรากแก้วแล้วต้องใช้เวลาไม่น้อยหรืออาจจะทำลายไม่ได้เลยความเชื่อและค่านิยมเหล่านี้เองที่เป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง การปกครอง วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี การสาธารณสุข ฯลฯ
สังคมชนบทดั้งเดิมมักยึดถือความซื่อสัตย์และความจงรักภักดีเป็นที่ตั้ง คือ ยึดเป็นหลักการหรือแนวทางในการดำรงชีวิตและมีกฎระเบียบต่าง ๆ เป็นบรรทัดฐานเพื่อให้เครือญาติอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข ตัวอย่างเช่น หากผัวเมียทะเลาะกันด้วยเรื่องใดก็ตาม ถือว่าเป็นการละเมิดจารีตประเพณีต้องเซ่นไหว้ขอขมาผีบรรพบุรุษและพ่อแม่ในบ้านโดยใช้ผ้าไหมขอขมา (ซิ่น, โสร่ง) ดอกไม้ ธูป เทียน พลู บุหรี่ อย่างละคู่ หากกระทำผิดร้ายแรงก็ต้องปรับเงินด้วย หากญาติพี่น้องทะเลาะกันเองจนเกิดเจ็บไข้ไม่สบาย จะเชื่อว่าผีบรรพบุรุษมาทักท้วงเมื่อรักษาที่ไหนไม่หายก็ต้องไปเข้าทรงดู แล้วเซ่น ษมาด้วยไก่หรือหมู และต้องเปิดเผยเรื่องราวที่ทะเลาะกันนั้นให้ทุกคนรู้ มีปรับไหมไถ่ถอนตามเรื่องราวหนักเบา
ปัจจุบันนี้ หากมีการตัดญาติขาดมิตรก็อาจทำได้เพียงตัดญาติห่าง ๆ หรือญาติที่อยู่นอกสายเลือด และการตัดญาติก็ต้องมีเหตุผลพอสมควร อาทิเช่น ความประพฤติอันไม่พึงประสงค์ที่กระทำต่อกัน โดยพิจารณาแล้วว่าไม่สามารถแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นดังเดิมได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะ “ตัดไม่ได้ขายไม่ขาด”
สรุปว่า ระบบเครือญาติสร้างระบบอาวุโส และระบบอาวุโสก็ขยายอิทธิพลไปสู่ระบบราชการ ระบบการเมือง การปกครอง จนใคร ๆ เรียกว่า ระบบอุปถัมภ์ ไม่เพียงแต่ชาติพันธุ์อีศานที่ตกอยู่ภายใต้เงื้อมเงาของระบบเหล่านี้ อาจกล่าวได้ว่ามันเป็นไปทั่วอุษาคเนย์…