เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๓)

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๓)

เงินพดด้วงจากเมืองศรีสัชนาลัยแบบแรก

สบายดีครับท่านผู้อ่าน มาคุยกันต่อเกี่ยวกับเงินตราโบราณของอาณาจักรล้านช้างนะครับ

สำหรับท่านผู้อ่านที่ติดตามเรื่องราวของเงินตราโบราณที่ผมได้เล่าให้ฟังในฉบับก่อน ๆ ท่านก็จะได้ทราบถึงความเป็นมาของเงินตราโบราณหลายชนิดที่บรรพบุรุษชาวอีสานและชาวลาวได้ประดิษฐ์คิดค้นขึ้น ด้วยรูปแบบของเงินตราที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน จึงทำให้เรื่องราวของเงินตราพวกนี้น่าศึกษาถึงที่มาที่ไปเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะได้รู้ประวัติความเป็นมาแล้ว อาจทำให้ทราบถึงวิถีชีวิตของคนในยุคอดีตด้วย แต่ก็อีกนั่นแหละครับ ข้อมูลและหลักฐานเกี่ยวกับเงินตราพวกนี้มีให้ศึกษากันน้อยเหลือเกินเพราะในอดีตเราไม่ค่อยบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตประจำวัน การค้า การอยู่การกิน การซื้อการขายรวมถึงเรื่องราวทั่วไปของราษฎรกันมากนัก เรื่องที่บันทึกส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องของศาสนา สงครามประวัติของบุคคลชั้นสูงเท่านั้น จึงทำให้การศึกษาเรื่องราวของเงินตราพวกนี้ยังมีอยู่น้อยมาก ก็ได้แต่หวังว่าบทความที่เขียนนี้จะกระตุ้นให้คนหันมาศึกษากันมากขึ้น

ฉบับนี้ผมจะได้เล่าเรื่องตราประทับที่มีอยู่บนเงินฮ้อยที่ผมพอจะค้นข้อมูลมาได้นะครับ ตราประทับที่พบอยู่บนเงินฮ้อยนั้นมีค่อนข้างหลากหลายมาก อาทิเช่น ตรางูหรือพญานาค ตราช้าง ตราจักร ตราตัวเลขต่าง ๆ ตราที่เป็นตัวอักษร ตราดอกไม้ เป็นต้น จากตราที่กล่าวมาแล้ว ตรางู หรือ ตราพญานาคจะเป็นตราที่พบมากที่สุด และมีรูปแบบที่หลากหลายมาก ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากผลิตต่างยุคต่างสมัยกัน หรือการแกะพิมพ์ต่างกัน เช่นเดียวกับลายมือของแต่ละคนที่แตกต่างกันไป

ตรางู หรือ พญานาคนี้ ผู้รู้บางท่านก็บอกว่าคือตัว “พ” ซึ่งจะเป็นเท็จหรือจริงประการใดมาคอยติดตามกันครับ สัญลักษณ์นี้ผมมีความเห็นว่ามีความสำคัญมาก เนื่องจากสามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างชาติพันธุ์ได้ เพราะจากที่ผมได้ศึกษาพบว่าสัญลักษณ์นี้พบในเงินพดด้วง (เงินหมากค้อที่ชาวอีสานเรียกกัน) ที่ขุดพบที่เมืองศรีสัชนาลัยจังหวัดสุโขทัย ซึ่งน่าจะเป็นเงินพดด้วงยุคแรก ๆ ของอาณาจักรสุโขทัย มีอยู่สองแบบด้วยกันคือ

แบบแรก ตอกตราอักษร “สร” ซึ่งหมายถึงศรี ซึ่งแปลว่า ดี หรือมงคล อีกตราตอกตราสัญลักษณ์งู หรือพญานาค

แบบที่สอง ตอกตราอักษร “ศ” ซึ่งหมายถึงศรี เช่นกัน แต่เป็นการเขียนแบบอักษรปัลลวะหรือสันสกฤต อีกตราตอกตราราชสีห์ หรือสิงห์

ตราราชสีห์ดังกล่าวเป็นความเชื่อที่ส่งผ่านมาจากอินเดีย ใช้เป็นสัญลักษณ์ของผู้ปกครองหรือกษัตริย์นั่นเอง จะเห็นถึงการเชื่อมโยงของตราดังกล่าวว่า แท้จริงแล้วตรางูหรือพญานาคก็คือสัญลักษณ์แทนกษัตริย์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ดั้งเดิมของกลุ่มคนไทที่อยู่ทางเหนือหรือลุ่มแม่นํ้าโขง จนกระทั่งกลุ่มคนไทกลุ่มหนึ่งได้อพยพลงมาทางใต้มาสร้างบ้านแปลงเมืองที่สุโขทัย จึงรับวัฒนธรรมของขอมซึ่งมีอิทธิพลอยู่ในขณะนั้นเข้ามาด้วย เปลี่ยนสัญลักษณ์ที่ใช้แทนกษัตริย์มาเป็นตราราชสีห์ และเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเขียนอักษรคำว่า “สรี(สร)” ซึ่งเป็นการเขียนแบบดั้งเดิมของกลุ่มคนไทแถบลุ่มแม่นํ้าโขงมาเป็นคำว่า “ศรี” แบบอักษรปัลลวะหรือสันสกฤต ซึ่งพบได้ทั่วไปตามศิลาจารึกหรือบันทึกโบราณอื่น ๆ

เงินพดด้วงดังกล่าวนี้มีขนาดหนึ่งบาท แต่มีนํ้าหนักเพียง ๑๒.๕ กรัม ต่างจากพดด้วงสุโขทัยโดยทั่วไปที่หนึ่งบาทหนัก ๑๔-๑๕ กรัม ซึ่งมาตรวัดหนึ่งบาทเท่ากับ ๑๒.๕ กรัมหรือสิบเงินนี้ เป็นมาตรวัดที่ใช้กันในอาณาจักรล้านนาและล้านช้าง รวมถึงหัวเมืองที่อยู่ทางเหนืออื่น ๆ ด้วย ดังได้กล่าวมาในฉบับที่แล้ว

มาตรวัดเงินตราที่ใช้เหมือนกัน รวมถึงวัฒนธรรม ประเพณี ภาษาพูด ฯลฯ ที่คล้ายกันมากเป็นสิ่งที่บ่งบอกได้อย่างหนึ่งว่าคนไทยในสุโขทัยก็คือกลุ่มคนไทกลุ่มเดียวกันที่เคยอาศัยอยู่ทางตอนเหนือของประเทศไทยหรือแถบลุ่มนํ้าโขง ภายหลังอพยพลงมาทางใต้ มาสร้างอาณาจักรแห่งใหม่ขึ้นแล้วรับวัฒนธรรมของขอมเข้ามาใช้ กลุ่มคนไทยลุ่มแม่นํ้าเจ้าพระยาก็เป็นกลุ่มคนไทยอีกกลุ่มหนึ่งที่มีหลักฐานชี้ชัดว่าอพยพมาจากลุ่มน้ำโขงเช่นเดียวกันแต่ประวัติศาสตร์ไทยก็ยังไม่ยอมรับในเรื่องนี้มากนัก

นอกจากนี้แล้วเงินตราโบราณอีกชนิดหนึ่งที่พบสัญลักษณ์งูหรือพญานาคบนตัวเงิน ก็คือ เงินกำไลขนาดห้าบาท หรือ ๖๐ กรัม ของเมืองน่าน ที่มักตอกสัญลักษณ์นี้ไว้บนตัวเงิน รวมถึงชื่อเมืองน่านไว้ด้วย จากศิลาจารึกหรือพงศาวดารหลายที่ก็ระบุถึงความสัมพันธ์ในลักษณะเครือญาติของทั้งอาณาจักรสุโขทัย ล้านนา ล้านช้าง (หลวงพระบาง) น่านพะเยา ซึ่งในอดีตนครน่านและเมืองพะเยาไม่ได้ขึ้นกับอาณาจักรล้านนา สื่อให้เห็นว่าก่อนหน้านี้กลุ่มเมืองหรืออาณาจักรดังกล่าวก็น่าจะเคยรวมกลุ่ม เป็นอาณาจักรเดียวกันมาก่อน จึงมีวัฒนธรรมร่วมที่เหมือนกันในหลาย ๆ ด้าน รวมถึงตราสัญลักษณ์งูหรือพญานาคด้วย

เงินพดด้วงจากเมืองศรีสัชนาลัยแบบสอง (ภาพ:คุณรณชัย กฤษฎาโอฬาร)เงินกำไลเมืองน่าน (ภาพ:คุณรณชัย กฤษฎาโอฬาร)

จากที่เล่ามาซะยาวก็เพื่อจะชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของกลุ่มคนไท ที่ใช้สัญลักษณ์ตัวงูหรือพญานาคว่าเป็นวัฒนธรรมหรือความเชื่อของคนไทหรือลาวลุ่มนํ้าโขง ที่มีความเชื่อเกี่ยวกับพญานาคว่าเป็นเทพเจ้าแห่งลุ่มน้ำ ที่บันดาลในเรื่องของฝน

ฟ้าเช่นเดียวกับแถนหรือพญาแถน ซึ่งเชื่อกันว่ากษัตริย์ก็คือผู้ที่แถนส่งลงมาปกครองมนุษย์ จึงใช้สัญลักษณ์งู หรือพญานาคแทนกษัตริย์ กลุ่มคนไทลุ่มนํ้าโขงมักเรียกกษัตริย์ว่า “พญา หรือท้าว” ซึ่งคำว่าพญานั้นก็น่าจะมาจากคำว่าพญานาคนั่นเอง ตรางูหรือพญานาคก็คล้ายกับอักษร “พ”ในกลุ่มอักษรตระกูลไท ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าหมายถึง “พญา” สัญลักษณ์แทนกษัตริย์ และน่าจะไม่ใช่ “พ” พานที่เราเรียกกัน แต่คือ “พ” พญานาค นะครับ

ส่วนเงินฮ้อยของอาณาจักรล้านช้างนั้นก็ยังคงใช้ตราสัญลักษณ์งูหรือพญานาคนี้เรื่อยมา ส่วนมากที่พบจะเป็นขนาดประมาณ ๑๒๐ กรัม ที่พบจำนวนรองลงมาคือขนาด ๖๐-๘๐ กรัม ส่วนขนาด ๒๔๐ กรัมนั้นพบค่อนข้างน้อย นั่นแสดงให้เห็นว่าตรางูหรือพญานาคนั้นคงเป็นเงินฮ้อยที่ผลิตมาแต่ดั้งเดิม(เงินฮ้อยในอดีตผลิตเฉพาะขนาด ๑๒๐ กรัม) อาจร่วมยุคสมัยสุโขทัยหรือก่อนสมัยสุโขทัย การใช้ตราสัญลักษณ์นี้น้อยลงในยุคต่อ ๆ มา เมื่อมีการใช้สัญลักษณ์อื่นมาเพิ่มเติมดังจะได้กล่าวต่อไป

เงินฮ้อยตรางูหรือพญานาคนี้มีความหลากหลายของรูปแบบตราและรูปทรงของเงินมาก ส่วนมากมักตอกตรา ๓ ตรา แต่บางตัวก็ตอกตราเพิ่มมากกว่า ๓ ตรา (แต่พบจำนวนน้อย) ดังรูป

เงินฮ้อยตอกตรางูหรือพญานาค ๓ ตรารูปแบบต่างๆตอกตรา ๔ ตราตอกตรา ๕ ตราตอกตรา ๘ ตรา

เงินฮ้อยที่ตอกตรางูหรือพญานาคเหล่านี้ พบเป็นจำนวนมากทั้งในประเทศลาวและภาคอีสานของไทย โดยเฉพาะภาคเหนือของลาวนั้นพบจำนวนมากกว่าที่อื่น นั่นแสดงให้เห็นว่าเงินฮ้อยตรางูหรือพญานาคนี้น่าจะมีการผลิตเป็นจำนวนมากตั้งแต่ที่อาณาจักรล้านช้างยังมีเมืองหลวงอยู่ที่หลวงพระบางหรือเชียงทอง ก่อนที่จะย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่เวียงจันทน์ในสมัยสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ซึ่งก็ตรงกับสมัยสุโขทัย หรือขณะเมืองน่านยังเป็นอิสระ สอดคล้องกับตราสัญลักษณ์ที่พบในเงินพดด้วงและเงินกำไลเมืองน่านดังได้กล่าวมาแล้ว

อาณาจักรที่สามารถผลิตเงินตราขนาดใหญ่ได้ทั้งยังผลิตเป็นจำนวนมากได้นั้น แสดงว่าอาณาจักรล้านช้างแห่งนี้น่าจะมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ที่ระบุไว้ในช่วงที่อาณาล้านช้างรุ่งเรืองอยู่นั้นว่า มีดินแดนและอาณาเขตกว้างขวางมาก ตั้งแต่สิบสองปันนาประเทศลาว ภาคอีสานของไทย และดินแดนอื่น ๆ อีกมากมาย คิดอย่างง่าย ๆ เลยก็ได้ว่า คนลาวหรือคนอีสานรวมทั้งที่มีเชื้อสายลาวนั้นที่อยู่ในเมืองไทยมีอยู่เกินครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศ ก็เพราะความยิ่งใหญ่ในอดีต ประชากรเชื้อสายลาวเหล่านี้ได้กลายมาเป็นประชากรไทยด้วยเหตุผลทางการเมือง ซึ่งท่านสามารถไปศึกษาเพิ่มเติมได้

จากเรื่องราวของเงินฮ้อยที่เล่ามา จะเห็นได้ว่าเรื่องราวของตราประทับได้ไปเกี่ยวโยงกับเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างชาติพันธุ์ไท ที่มีวัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อ ร่วมกันมาตั้งแต่ในอดีต อีกทั้งเงินฮ้อยยังสื่อให้เห็นถึงความสามารถของบรรพบุรุษในการสร้างสรรค์เงินตราที่มีรูปลักษณ์ที่เป็นลักษณะเฉพาะของตนเอง เรื่องราวของเงินตราโบราณของอาณาจักรล้านช้างยังมีอีกมากครับ ยิ่งศึกษาไปยิ่งสนุก ได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ มากมาย ดังจะได้เล่ารายละเอียดให้ท่านผู้อ่านได้รับฟังในฉบับต่อ ๆ ไปครับ

ฉบับนี้พอสํ่านี้ก่อนเนาะพี่น้อง สบายดี !!!

Related Posts

มหัศจรรย์สี่พันดอน
ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ลักษณะลาว
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com