เนียง ด็อฮ ทม นางนมใหญ่
ปราสาทหลังใหญ่ ที่เก่าที่สุด
ตำนานเรื่อง “เนียง ด็อฮ ทม” (นางนมใหญ่) แพร่หลายอยู่ในจังหวัดสุรินทร์ มีนิทานเกี่ยวกับนางนมใหญ่ (ด็อฮ ทม หรือ เดาะทม) อยู่สองเรื่อง คือเรื่องเกี่ยวกับเมืองภูมิโปน กับเรื่องเกี่ยวกับเมืองสุรพินทนิคม เดือนนี้ขอเล่าเรื่องแรกก่อนครับ
น่าเสียดายที่ผู้คนผ่านไปผ่านมาทางสุรินทร์โดยไม่รู้ว่า ที่อำเภอสังขะมีโบราณสถานปราสาทวัฒนธรรมเจนละที่เก่าแก่ที่สุดในดินแดนไทยตั้งอยู่ นั่นคือปราสาทภูมิโปน
ปราสาทภูมิโปน ประกอบด้วยโบราณสถาน ๔ หลัง คือ ปราสาทก่ออิฐ ๓ หลัง และศิลาแลง ๑ หลัง ปราสาทก่ออิฐหลังใหญ่ นับเป็นปราสาทที่สำคัญที่สุด มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมไม้ย่อมุม เหลือเพียงฐาน กรอบประตูทางเข้าและผนังบางส่วน ทับหลังและเสาประดับกรอบประตูทำด้วยหินทรายสลักลวดลายลักษณะเทียบได้กับศิลปะขอมสมโบร์ไพรกุก สมัยรัชกาล “อีศานวรมัน” ประมาณพุทธศตวรรษที่๑๒
พระเจ้าอีศานวรมันเป็นราชโอรสของ “มเหนทรวรมัน” หรือเจ้าจิตรเสน ทรงสร้างราชธานีชื่อ “อีศานปุระ” คือกลุ่มปราสาทสมโบร์ไพรกุก ในเขตเมืองกำปงธมปัจจุบัน
ปราสาทภูมิโปนจึงเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญมาก
“ภูมิ” หมายถึงหมู่บ้าน “โปน” มีความหมายว่าหลบซ่อน หรือ “มะกอก”
ชื่อหมู่บ้านหลบซ่อน เป็นที่มาของตำนาน “เนียง ด็อฮ ทม” เขาเล่ากันต่อ ๆ มาว่า
กษัตริย์ขอมองค์หนึ่งสร้างเมืองลับไว้กลางป่าใหญ่ชื่อว่าปราสาทภูมิโปน ต่อมาเมื่อเมืองหลวง มีข้าศึกมาประชิดเมือง กษัตริย์ขอมจึงส่งพระราชธิดานามว่า พระนางศรีจันทร์ ซึ่งคนทั่วไปเรียกพระนางว่า เนียง ด็อฮ ทม แปลว่านางนมใหญ่ ไปหลบซ่อนลี้ที่ภูมิโปน
ยังมีเจ้าเมืองอีกเมืองหนึ่งจะจัดงานเลี้ยงใหญ่ จึงส่งพรานป่าเจ็ดคน และช้าง ๑ เชือก ออกล่าจับสัตว์ พรานป่ารอนแรมจนมาตั้งห้างล่าสัตว์อยู่ที่ ตระเบีย็ง เปรียน แปลว่าหนองนํ้าของนายพราน (อยู่ทางทิศใต้ของบ้านตาพรม ในปัจจุบัน) กลุ่มพรานสามในเจ็ดคน บังเอิญไปพบปราสาทภูมิโปน แล้วได้ยินกิตติศัพท์ความงามของพระนางศรีจันทร์เข้า พรานทั้งเจ็ดจึงได้ไปแอบดูพระนางศรีจันทร์สรงนํ้า เห็นว่านางมีความงามสมคำรํ่าลือจริง จึงรีบเดินทางกลับเพื่อไปรายงานพระราชา พระราชาก็จัดเตรียมกองทัพเพื่อไปรับนางมาเป็นชายา
ฝ่ายพระนางศรีจันทร์หลังจากวันที่ไปสรงนํ้าก็เกิดลางสังหรณ์ กระสับกระส่ายว่ามีคนมาพบที่ซ่อนของนางแล้ว เมื่อบรรทมก็ฝันว่าได้ทำกระทงเสี่ยงทาย ใส่เส้นผมเจ็ดเส้น อันมีกลิ่นหอมและเขียนสาส์นใจความว่าใครเก็บกระทงของนางได้ นางจะยอมเป็นคู่ครอง ในกระทงยังให้ช่างเขียนรูปของนางใส่ลงไปด้วย เมื่อตื่นขึ้นมานางจึงได้จัดการทำตามความฝัน (ด้วยการที่นางเอาผมใส่ในผอบเครื่องหอม ผมนางจึงหอมนางจึงได้ชื่อว่า เนียง ช็อก กระโอบ หรือนางผมหอมอีกชื่อหนึ่ง) และนำกระทงไปลอย ณ สระลำเจียกหน้าปราสาท กระทงของนางได้ลอยไปยังอีกเมืองหนึ่งชื่อว่าเมืองโฮลมาน และราชโอรสของเมืองนี้ได้เก็บกระทงของนางได้ ทันทีที่เจ้าชายเปิดผอบก็หลงรักนางทันที เจ้าชายโฮลมานนั้นขี้เหร่ แต่มีฤทธานุภาพมากในเรื่องเวทมนตร์คาถาและได้ชื่อว่ารักษาคำสัตย์เป็นที่ตั้ง พระองค์จึงไปสู่ขอนางตามประเพณีเพราะเป็นผู้เก็บผอบได้ แต่เหตุการณ์กลับตาลปัตร เมื่อพระนางศรีจันทร์ได้เห็นรูปร่างของเจ้าชายโฮลมานนางก็ร้องไห้ เจ้าชายโฮลมานทรงเข้าพระทัยดีเพราะรู้ตัวว่าตัวเองมีรูปร่างอัปลักษณ์ แต่ด้วยความรักที่พระองค์มีต่อพระนางศรีจันทร์ พระองค์จึงไม่บังคับที่จะเอาตัวนางมาเป็นชายา กลับช่วยพระนางขุดสระสร้างกำแพงเมือง และสร้างกลองชัยเอาไว้ เพื่อให้พระนางตียามมีเหตุเดือดร้อนต้องการให้พระองค์ช่วยเหลือ พระองค์จะมาช่วยเหลือนางโดยทันที โดยห้ามตีด้วยเหตุไม่จำเป็นเป็นอันขาด
กล่าวถึงชายหนุ่มอีกคนหนึ่งที่มาหลงรักพระนางศรีจันทร์ นั่นคือบุญจันทร์นายทหารคนสนิท ที่พระราชบิดาของพระนางศรีจันทร์ไว้วางพระราชหฤทัย ให้รับใช้ใกล้ชิดพระนางศรีจันทร์ด้วยความใกล้ชิดทำให้บุญจันทร์หลงรักพระนางศรีจันทร์ แต่พระนางศรีจันทร์ก็ไม่ได้มีใจตอบกับบุญจันทร์ ยังคงคิดกับบุญจันทร์แค่เพื่อนสนิทเท่านั้น วันหนึ่งบุญจันทร์ได้เห็นกลองชัยที่เจ้าชายโฮลมานให้พระนางไว้ ก็นึกอยากตี จึงไปรํ่าร้องกับพระนางทุกเช้าเย็น อยากจะขอลองตีกลอง พระนางทนไม่ไหวพูดประชดทำนองว่า ถ้าอยากตีก็ตีไป เพราะคงจะไม่ได้พบกันอีกแล้วบุญจันทร์หน้ามืดตามัวด้วยคิดว่านางมีใจให้เจ้าชายโฮลมาน จึงไปตีกลอง เจ้าชายโฮลมานและไพร่พลก็ปรากฏตัวขึ้นทันที เพราะนึกว่าพระนางศรีจันทร์มีเหตุร้าย พระนางศรีจันทร์เสียใจมากเมื่อต้องบอกถึงเหตุผลที่ตีกลองให้เจ้าชายทราบเจ้าชายโฮลมานตำหนิพระนางและเป็นอันสิ้นสุดสัญญาที่ให้ไว้กับพระนางทันที พระองค์จะไม่มาช่วยเหลือพระนางอีกแล้วแม้จะตีกลองเท่าไหร่ก็ตาม
กล่าวฝ่ายพระราชาที่ส่งพรานป่าเจ็ดคนมาล่าสัตว์แล้วมาพบพระนางในตอนแรกนั้น ก็ส่งทัพมาล้อมเมืองภูมิโปนไว้ พระนางจึงหนีเข้าไปหลบภัยในปราสาทและคิดที่จะยอมตายเสียดีกว่า เพราะคนที่มาหลงรักพระนางแต่ละคนนั้น คนหนึ่งแม้จะเพียบพร้อมก็มีความอัปลักษณ์ คนหนึ่งก็มีความต่างศักดิ์ด้านชนชั้นจนไม่อาจจะรักกันได้ และยังมีข้าศึกมาประชิดเมืองหมายจะเอาพระนางไปเป็นชายาอีกพระนางจึงพยายามหลบไปด้านที่มีการยิงปืนใหญ่ ตั้งใจจะโดนกระสุนให้ตาย แต่พระนางก็กลับไม่ตายแต่ได้รับบาดเจ็บ แขนซ้ายหักและมีแผลเหนือราวนมด้านซ้ายเล็กน้อย (ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านดม-ภูมิโปนจะสังเกตเด็กผู้หญิงคนใดมีลักษณะแขนด้านซ้ายเหมือนเคยหัก และมีแผลเป็นเหนือราวนมด้านซ้าย จะสันนิษฐานว่าพระนางด็อฮ ทม กลับชาติมาเกิด)
เมื่อพระราชาตีเข้าเมืองได้จึงรีบรักษานางไม่ช้าพระนางก็หาย พระราชาจึงเตรียมยกทัพกลับและจะนำพระนางกลับเมืองด้วย พระนางจึงขออนุญาตพระราชาเป็นครั้งสุดท้าย ขอไปอาบนํ้าที่สระลำเจียก และปลูกต้นลำเจียกไว้กอหนึ่ง พร้อมกับอธิษฐานว่าถ้าพระนางยังไม่กลับมาที่นี่ขอให้ต้นลำเจียกอย่าได้ออกดอกอีกเลยหลังจากนั้นพระนางก็ถูกนำสู่นครทางทิศตะวันตก ไปทางบ้านศรีจรูก พักทัพและฆ่าหมูกินที่นั่น(ซี จรูก แปลว่ากินหมู) ทัพหลังตามไปทันที่บ้านทัพทัน (ซึ่งกลายเป็นชื่อบ้านในปัจจุบัน) และเดินทางต่อมายังบ้านลำดวน พักนอนที่นั่น มีการเลี้ยงฉลองรำไปล้มไป รำล้มในภาษาเขมรคือเรือ็ม ดูล ซึ่งเป็นชื่อของ อ.ลำดวนในปัจจุบัน
พระนางศรีจันทร์ไม่ได้กลับไปที่ภูมิโปนอีกเลย ต้นลำเจียกในสระจึงไม่เคยมีดอกเลยตราบจนทุกวันนี้
วันที่ ๖ – ๗ เมษายนของทุกปี ชาวชุมชนตำบลดม ที่ตั้งของปราสาทภูมิโปนจัดงานบุญและมีการแสดงแสงสีเสียงตำนานเนียงด็อฮทมขอชวนให้ไปเที่ยวกัน จะได้ทั้งความรู้และความสนุกสนานบันเทิงครับ เส้นทางไปมาก็สะดวกจากจังหวัดสุรินทร์ ใช้ทางหลวงหมายเลข ๒๐๗๗ (สุรินทร์ – สังขะ) ระยะทาง ๔๙ กิโลเมตร จากแยกอำเภอสังขะ เข้าทางหลวงหมายเลข ๒๑๒๔ (สังขะ – บัวเชด) ตรงต่อไป จนถึงชุมชนบ้านภูมิโปน ระยะทางอีก ๑๐ กิโลเมตรจะเห็นปราสาทตั้งอยู่ริมถนนด้านซ้ายมือ
***
คอลัมน์ ตํานานเก่าเว่าม่วน นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๔๘ | เมษายน ๒๕๕๙
.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220