เบื้องหลังสิทุกข์ทน และขมขื่นจนเขียวคาว

เบื้องหลังสิทุกข์ทน และขมขื่นจนเขียวคาว

ทางอีศาน ฉบับที่๑๒ ปีที่๑ ประจำเดือนเมษายน ๒๕๕๖
คอลัมน์: ถนนสายอนาคต
Column: Road to the Future
ผู้เขียน: อภิชาติ ญัคค์


โครงสร้างสังคมเศรษฐกิจ “ชาวนาไทย” ยุคก่อนที่จะถูกรัฐฯขับเคลื่อนเข้าสู่โลกสมัยใหม่ ในช่วงตั้งแต่ต้นทศวรรษ ๒๕๐๐ เป็นต้นมา สังคมชาวนาเป็นสังคมที่ใช้ “พลังทางวัฒนธรรม” เป็นกลไกขับเคลื่อน เป็นสังคมจารีตที่ผู้คนดำรงชีวิตกลมกลืนอยู่กับธรรมชาติแวดล้อมหรือโลกแวดล้อม ความเคลื่อนไหวในการดำรงชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายห่อคลุมด้วยจารีตและสภาวะที่ธรรมชาติกำหนด มีวัฒนธรรมการรวมกลุ่มในการอยู่อาศัยแบบหมู่บ้าน ที่มีนัยของการเป็น “มาตุภูมิแห่งชีวิต” ถูกหล่อหลอมกล่อมเกลาจากวัฒนธรรมชุมชนและโลกแวดล้อมรอบตัว พิธีกรรม/ผู้นำครอบครัว/ผู้นำชุมชนเป็นกลุ่มแก่นแกนในการหล่อหลอมกล่อมเกลาทุกชีวิต

โลกของชาวนาและชีวิตหมู่บ้าน ในช่วงก่อนและช่วงขยับตัวเข้าสู่โลกสมัยใหม่นั้น ความเคลื่อนไหวของชีวิตได้แสดงให้เห็นถึงการอ่อนน้อมถ่อมตนกับโลกแวดล้อมอย่างยิ่ง ชาวนาจะทำนาตามฤดูกาลที่มีน้ำให้ทำนา ไม่ใช่ทำในฤดูฝน ! เพราะหลายหมู่บ้านในท้องถิ่นชนบทอาจไม่มีฝนให้ทำนาตามชื่อเรียกของฤดูกาลได้ ถ้าจะเข้าใจถึง “เศรษฐกิจครัวเรือนชาวนา” ก็จะต้องเริ่มเข้าใจจาก “ทุนในระบบเศรษฐศาสตร์ชาวนา” ที่เป็นเรื่องของ “แรงงาน” ในครอบครัวชาวนา ไม่ใช่เป็น “ทุนเงินตรา” แบบในระบบตลาด ในยุคนั้นครอบครัวชาวนาเป็นเหมือน “องค์กรการผลิต” ที่ช่วยกันทำการผลิตในไร่นา เพื่อนำมากระจายกันบริโภคก่อนจะนำไปแลกเปลี่ยนค้าขายในระบบตลาด ครัวเรือนที่มีแรงงานมากจึงเป็นครัวเรือนที่มีต้นทุนมาก ที่ครัวเรือนอื่น ๆ ในหมู่บ้านต้องพึ่งพาปัญหาภายในครัวเรือนชาวนาจะเป็นเรื่องของความสมดุลระหว่างผู้ผลิตที่เป็นแรงงานในครัวเรือนกับจำนวนผู้บริโภคเป็นหลัก ที่จะชี้บอกถึงความพอเพียง ความล้นเหลือ หรือความขาดแคลน !

กระบวนการทำนาหรือกระบวนการผลิต จะขึ้นอยู่กับฟ้าฝนและธรรมชาติแวดล้อมเป็นสำคัญ ความทุกข์ทนและขมขื่นในอดีตที่ผ่านมาของชาวนา มีปัจจัยพื้นฐานด้านธรรมชาติและโลกแวดล้อมรอบตัวชาวนาเป็นตัวกำหนดหลัก ไม่ใช่กลไกของ “ทุน” หรือ “การเมือง” อย่างเช่นทุกวันนี้ ในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านจากอดีตเข้าสู่โครงสร้างเศรษฐกิจสมัยใหม่ การส่งเสริมกึ่งกดดันจากรัฐ และการแสวงประโยชน์ของระบบทุนนิยมเป็นตัวการกระตุ้นให้สภาพโดยรวมของชาวนา และสถานการณ์ของเศรษฐกิจครัวเรือนชาวนาต้องเผชิญกับความทุกข์ยากขมขื่นอย่างสาหัสสากรรจ์ ระบบทุนนิยมใช้ระบบตลาดส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมกับชาวนา ดึงเอาผลผลิตของชาวนาออกสู่ตลาดและร่วมมือกับรัฐสร้างกลไกการบริโภคให้ชาวนาตกอยู่ใต้กลไกนั้นอย่างมีนัยสำคัญและต่อเนื่อง ผ่านหน่วยงานรัฐ สถาบันการเงิน และกลไกสหกรณ์ที่ล้าหลัง ผ่านเข้าสู่การบริโภคหลายมิติ ทั้งการศึกษา เทคโนโลยี การสื่อสารคมนาคม การพัฒนาปรับตัวเข้ากับโลกแวดล้อมแบบใหม่ ฯลฯ ซึ่งผลรวมที่เกิดขึ้นได้ตอบกลับสู่เศรษฐกิจครัวเรือนชาวนาในฐานะของหนี้สิน ความยากจน ความขาดแคลน ความหมดหวังหดหู่ในชีวิต และการถูกมองเป็นกลุ่มสังคมที่ล้าหลังน่ารังเกียจ เป็นภาระสังคม และเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่ไร้อนาคต ! นี่คือรางวัลตอบแทนความดิ้นรนแสวงหาตัวเองในยุคเปลี่ยนผ่านสู่ความทันสมัยที่รัฐฯ ทุน และสังคมยุคใหม่มอบให้ !

การดำเนินชีวิตในโลกแวดล้อมธรรมชาติ ที่สืบทอดวัฒนธรรมอย่างเป็นตัวของตัวเองมาหลายศตวรรษได้เปลี่ยนจาก “ผู้ประกอบการเกษตรกรรมผู้พึ่งพิงธรรมชาติ” มาเป็น “แรงงานทาสติดที่นาของตัวเองในระบบตลาด” เป็นภาพที่ชาวนาทุกคนรับรู้มันอยู่ในการดำรงชีวิตยุคใหม่แต่ยากที่จะอธิบายมันออกมาในเชิงเศรษฐศาสตร์และจัดกลุ่มสังคมเศรษฐกิจให้กับตัวเองได้ การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ความทันสมัยได้เปลี่ยนกลไก “เศรษฐกิจครัวเรือนชาวนา” ไปด้วย ในช่วงราว ๔ ทศวรรษย้อนหลังลงไป ครัวเรือนชาวนาที่มีสภาวะเป็นองค์กรการผลิต เป็นกงสีของครอบครัวได้แตกตัวเติบโตออกสู่การลงหลักปักฐานของครอบครัวใหม่ที่แตกออกมาจากครอบครัวเดิมที่เป็นชาวนา หลายครอบครัวไปปักหลักกับภาคอุตสาหกรรม หลายครอบครัวปักหลักอยู่ในสาขาบริการ และหลายครอบครัวกลายไปเป็นผู้ประกอบการรายย่อยไปจนถึงใหญ่ ฯลฯ ซึ่งเป็นการปลดปล่อยตัวเองออกจากการจองจำของความขาดแคลน และเป็นการสร้างความอยู่รอดแนวทางใหม่ที่เป็นจริงในโลกยุคใหม่ ด้วยกระบวนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว “แรงงาน” จึงไม่ใช่ทุนหลักของเศรษฐกิจครัวเรือนชาวนาอีกต่อไป “เงินตรา” คือปัจจัยที่เข้าไปทดแทน สภาวะที่เปลี่ยนแปลงไป ชาวนาและหมู่บ้านในทัศนะของเศรษฐกิจยุคใหม่จึงเป็นเพียง “วาทกรรมที่พร่าเลือน” ของการเคยมีอยู่ของชาวนาที่เคยเป็นอยู่คือในชนบทเท่านั้น !

ที่น่าทุกข์รันทดคือความเปลี่ยนแปลงล่าสุดที่เข้ามาผสานเข้ากับ “ทุนการเมือง” ในยุคสมัยที่อบอวลไปด้วย “วาทกรรมประชาธิปไตย” สภาพของชาวนากลับไม่ได้มี “พื้นที่ทางสังคม” มากขึ้นกว่าที่เคยมี เพราะเข้าใจผิดว่า “เงินตรา” เป็นทุนแบบของตัวเอง จึงทำให้สภาพการดำเนินชีวิตยุคหลังประสานเข้ากับทุนการเมืองนั้นทำให้ตัวเองกลายเป็นแค่ “เหยื่อ” และ “ผู้บริโภคทางการเมือง” ที่ไม่ได้มีมูลค่ามากมายอะไรเลย และยังไม่สามารถสร้างคุณค่าหรือพื้นที่ทางสังคมให้กับมนุษย์ที่ดำรงชีพด้วยการทำไร่ไถนาตามแบบของตัวเองอีกต่อไปได้ เป็นแต่เพียงการเดินตกลงไปในหลุมพรางที่รัฐฯและระบบทุนได้วางกับดักไว้ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ

นี่คือสภาวะ เบื้องหลังที่ทุกข์ทน และขมขื่นจนเขียวคาว

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
งานสงกรานต์ของคนอีสาน

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors
Search in posts
Search in pages